อีเซทิไมบ์ (Ezetimibe)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อีเซทิไมบ์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- อีเซทิไมบ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อีเซทิไมบ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อีเซทิไมบ์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อีเซทิไมบ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อีเซทิไมบ์อย่างไร?
- อีเซทิไมบ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอีเซทิไมบ์อย่างไร?
- อีเซทิไมบ์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- ยาสแตติน (Statin)
- ยาลดไขมัน (Lipid-lowering drugs)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
บทนำ: คือยาอะไร?
อีเซทิไมบ์ (Ezetimibe) คือ ยากลุ่มยาลดไขมันในเลือด โดยลดการดูดซึมไขมันคอเลสเตอรอลจากลำไส้เล็ก อาจจะใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษาเมื่อร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองกับยาลดไขมันตัวอื่น เช่น กลุ่มยาสแตติน(Statin) แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกเพียงพอที่รับ รองว่า อีเซทิไมบ์ช่วยลดอัตราตายของผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวหรือภาวะ/โรค กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้จริงหรือไม่
รูปแบบการจำหน่ายของยาอีเซทิไมบ์ที่พบเห็นในท้องตลาดจะเป็นยาชนิดรับประทาน ยา อีเซทิไมบ์สามารถดูดซึมได้จากทางเดินอาหารประมาณ 35 - 65% ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ยาจะรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนมากกว่า 90% โครงสร้างทางเคมีของยาจะถูกเปลี่ยนแปลงมาจากลำไส้เล็ก และยังมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีต่อที่อวัยวะตับอีก ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 19 - 30 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด ก่อนที่จะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะ แต่ส่วนใหญ่ถูกขับออกไปกับอุจจาระ
โดยทั่วไปยาหลายตัวจะมีผลข้างเคียงมากน้อยแตกต่างกันออกไป รวมถึงมีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยหลายกลุ่ม ดังนั้นการจะใช้ยาอีเซทิไมบ์จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยหาซื้อยามารับประทานเอง
อีเซทิไมบ์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอีเซทิไมบ์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ลดไขมันคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด โดยอาจใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาลดไขมันตัวอื่น เช่น กลุ่มสแตติน หรือ ยาฟีโนไฟเบรท (Fenofibrate)
- ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ/โรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง
อีเซทิไมบ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอีเซทิไมบ์คือ ตัวยาจะลดการดูดซึมไขมันคอเลสเตอรอลจาก ลำไส้ ส่งผลให้ลดการสะสมไขมันในตับ หากใช้ยาอีเซทิไมบ์ร่วมกับยาลดไขมันกลุ่มสแตตินจะทำให้ลดไขมันได้หลายตัว เช่น Total cholesterol, LDL-cholesterol, Non-HDL cholesterol, Apolipoprotein และ Triglyceride กับส่งผลให้เพิ่มไขมัน HDL-cholesterol ซึ่งเป็นไขมันดีต่อร่างกาย จากกลไกเหล่านี้ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
อีเซทิไมบ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีเซทิไมบ์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ด ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดที่ผสมรวมกับยาลดไขมันตัวอื่น เช่น
- Ezetimibe 10 มิลลิกรัม + Simvastatin 10 มิลลิ กรัม/เม็ด
- Ezetimibe 10 มิลลิกรัม + Simvastatin 20 มิลลิกรัม/เม็ด
- Ezetimibe 10 มิลลิกรัม + Simvastatin 40 มิลลิกรัม/เม็ด
อีเซทิไมบ์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอีเซทิไมบ์มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดถึงขนาดยาที่เหมาะสมในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
อนึ่ง:
- การใช้ยานี้ร่วมกับยาลดไขมันกลุ่มอื่นต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น และห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานยาเอง
- สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลัง อาหาร ก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอีเซทิไมบ์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาอีเซทิไมบ์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอีเซทิไมบ์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อีเซทิไมบ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีเซทิไมบ์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- มีอาการเหมือนเป็นไซนัสอักเสบ
- ท้องเสีย
- เจ็บหน้าอก
- อ่อนแรง
- เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- คออักเสบ
- ปวดข้อ
มีข้อควรระวังการใช้อีเซทิไมบ์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้อีเซทิไมบ์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับในระดับรุนแรงปานกลางจนถึงระยะรุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีภาวะเอนไซม์ ทรานซามิเนส (Serum transaminase, เอนไซม์การทำงานของตับ) สูง
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคไต หรือผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการของโรคตับ
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติทางกล้ามเนื้อ
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นรับประทาน
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีเซทิไมบ์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อีเซทิไมบ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอีเซทิไมบ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาอีเซทิไมบ์ ร่วมกับยา Cholestyramine อาจทำให้ระดับยาอีเซทิไมบ์ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอีเซทิไมบ์ ร่วมกับ ยากลุ่มสแตติน เช่นยา Lovastatin, Simvastatin อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย(Rhabdomyolysis) และอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายกับไตตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาอีเซทิไมบ์ ร่วมกับ ยาลดไขมัน Fenofibrate อาจทำให้เกิดอันตรายกับถุงน้ำดี โดยก่อให้เกิดอาการถุงน้ำดีอักเสบ เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้-อาเจียน อ่อนเพลีย หรือมีไข้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยาทั้ง 2 ตัวให้เหมาะสมและเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- การใช้ยาอีเซทิไมบ์ ร่วมกับยา Cyclosporin สามารถเพิ่มระดับความเข้มข้นของยาอีเซทิไมบ์ในกระแสเลือดได้จนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงติดตามมา เช่น เกิดความเสียหายที่ตับ หรือเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ตลอดจนทำให้เกิดโรคไตและตาย การใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจต้องปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาอีเซทิไมบ์อย่างไร?
ควรเก็บยาอีเซทิไมบ์ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดดและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อีเซทิไมบ์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีเซทิไมบ์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ezetrol (อีเซโทรล) | MSD |
Vytorin (ไวโทริน) | MSD (ยาร่วม) |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ezetimibe [2022,July9]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Ezetrol/?type=brief [2022,July9]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Vytorin/?type=brief [2022,July9]
- https://www.drugs.com/ezetimibe.html [2022,July9]