สเตรปโตไคเนส (Streptokinase)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- สเตรปโตไคเนสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- สเตรปโตไคเนสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- สเตรปโตไคเนสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- สเตรปโตไคเนสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- สเตรปโตไคเนสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้สเตรปโตไคเนสอย่างไร?
- สเตรปโตไคเนสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาสเตรปโตไคเนสอย่างไร?
- สเตรปโตไคเนสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism)
บทนำ: คือยาอะไร?
สเตรปโตไคเนส (Streptokinase)คือ ยาละลายลิ่มเลือด ที่เป็นเอนไซม์ที่ถูกหลั่งออกมาจากแบคทีเรียประเภท Streptococci หลายชนิด เอนไซม์สเตรปโตไคเนสสามารถจับกับ Plasminogen ซึ่งเป็นเอนไซม์ของมนุษย์ที่พบในกระแสเลือด มีหน้าที่ลดปริมาณโปรตีนต่างๆของร่างกายรวมไปถึงลิ่มเลือดด้วย ทางคลินิกจึงนำเอาสเตรปโตไคเนสมาทำเป็นยาละลายลิ่มเลือดที่อุดตันบริเวณหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและปอด
องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาสเตรปโตไคเนสเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับชุมชน คณะ กรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุสเตรปโตไคเนสลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รูปแบบของยาแผนปัจจุบันจะเป็นยาฉีด สำหรับชื่อการค้าที่รู้จักกันทั้งในและต่างประเทศคือ Streptase และสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน
สเตรปโตไคเนสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาสเตรปโตไคเนสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาภาวะหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือดจนเป็นสาเหตุให้เกิด
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
- โรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดปอด/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary thromboembolism)
สเตรปโตไคเนสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาสเตรปโตไคเนสคือ ตัวยาจะเข้ารวมตัวเป็นสารประกอบกับเอนไซม์ Plasminogen ในกระแสเลือด จากนั้นจะทำให้ Plasminogen เปลี่ยนเป็นสาร Plasmin ซึ่งจะคอยทำหน้าที่ละลายลิ่มเลือด
สเตรปโตไคเนสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาสเตรปโตไคเนสมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาฉีดขนาด 250,000 IU, 750,000 IU และ 1,500,000 IU/ยูนิตสากล/International unit
สเตรปโตไคเนสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาสเตรปโตไคเนสมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
ก.สำหรับภาวะ/โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction):
- ผู้ใหญ่: เมื่อเริ่มมีอาการภาวะหัวใจล้มเหลว หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1.5 ล้านยูนิตสากลในเวลานาน 1 ชั่วโมงขึ้นไป
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เนื่องจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเป็นโรคของผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงยังไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงความปลอดภัยและขนาดยานี้ที่จะใช้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กกรณีนี้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้ รักษา
ข.สำหรับภาวะ/โรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดปอด/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary thromboembolism):
- ผู้ใหญ่: หยดยาขนาด 250,000 ยูนิตสากลเข้าหลอดเลือดดำโดยใช้เวลานาน 30 นาทีขึ้นไป จากนั้นลดขนาดยาลงมาเป็น 100,000 ยูนิต/ชั่วโมงเป็นเวลา 24 - 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- เด็ก: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2,500 - 4,000 ยูนิตสากล/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมใน ช่วงเวลานาน 30 นาทีขึ้นไป จากนั้นปรับขนาดการให้ยาเป็น 500 - 1,000 ยูนิตสากล/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมงเป็นเวลา 24 - 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาสเตรปโตไคเนส ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาสเตรปโตไคเนสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
สเตรปโตไคเนสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาสเตรปโตไคเนสสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่างๆดังนี้เช่น
- มีไข้
- หนาวสั่น
- ปวดหลัง
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้อาเจียน
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง
- ไตวายเฉียบพลัน
- ความดันโลหิตต่ำ
- ตรวจเลือดพบระดับเอนไซม์การทำงานของตับผิดปกติ
- อาจเกิดภาวะตกเลือด
- อาจมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นได้
มีข้อควรระวังการใช้สเตรปโตไคเนสอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาสเตรปโตไคเนส เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดสมองแตก (โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออก) เนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และ/หรือในลำไส้ มีการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ/ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีภาวะเกิดลิ่มเลือดที่มีสาเหตุจากโรคไตหรือโรคตับ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด สตรีที่เพิ่งคลอดบุตร และสตรีตั้งครรภ์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีบาดแผลฉีกขาด
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ ผู้ป่วยวัณโรคในระยะลุกลาม
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในผู้สูงอายุ
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาสเตรปโตไคเนสด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
สเตรปโตไคเนสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาสเตรปโตไคเนสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาสเตรปโตไคเนส ร่วมกับยา Warfarin หรือ Heparin อาจก่อให้เกิดภาวะตกเลือดโดยสังเกตจากการมีเลือดปนมากับปัสสาวะ (ปัสสาวะเป็นเลือด) อุจจาระ (อุจจาระเป็นเลือด) หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาสเตรปโตไคเนส ร่วมกับยา Ibuprofen, Aspirin, Naproxen, Salsalate อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะตกเลือด หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาสเตรปโตไคเนสอย่างไร?
ควรเก็บยาสเตรปโตไคเนส:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- กรณีที่ยานี้ถูกเตรียมเป็นสารละลายแล้ว
- ให้เก็บในตู้เย็น แต่ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- ต้องใช้ยาสารละลายนั้นภายใน 24 ชั่วโมง
- เก็บยาทุกประเภทในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
สเตรปโตไคเนสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาสเตรปโตไคเนส มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Streptase (สเตรปเทส) | CSL Behring Canada, Inc. |
Thromboflux (ทรอมโบฟลักซ์) | Bharat Serums and Vaccines |
บรรณานุกรม
- https://www.rxlist.com/streptase-drug.htm [2022,Jan15]
- https://www.mims.com/India/drug/info/streptokinase/?type=full&mtype=generic [2022,Jan15]
- https://www.drugs.com/cons/streptokinase-intravenous-intracoronary.html [2022,Jan15]
- http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/essential_book_56.pdf [2022,Jan15]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Thromboflux/?type=brief [2022,Jan15]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/streptokinase-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Jan15]
- https://www.mims.com/hongkong/drug/info/streptase?type=full [2022,Jan15]