สารให้ความหวาน (Sweeteners) น้ำตาลเทียม (Artificial sweetener)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

สารให้ความหวานคืออะไร?

สารให้ความหวาน (Sweetener) คือ สารที่ใช้แต่งรสหวาน แต่งกลิ่น ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาใช้ในการปรุงอาหาร เครื่องดื่ม และเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ

สารให้ความหวานมีกี่ประเภท?

 

สารให้ความหวานแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามคุณค่าทางโภชนาการ  ได้แก่

ก. สารให้ความหวานที่’มีคุณค่าทางโภชนาการ’ (Nutritive sweetener): ซึ่งแบ่ง ออกเป็น 2 ชนิดย่อย ได้แก่

  • น้ำตาล (Sugar): เป็นอาหารที่อยู่ในหมู่คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) ที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เช่น น้ำตาล กลูโคส (Glucose), ฟรักโตส (Fructose), แล็กโทส (Lactose), ซูโครส (Sucorse)
  • น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohols): เป็นสารประกอบในกลุ่มแอลกอฮอล์ของน้ำตาล เช่น แมนนิทอล (Mannitol), ซอร์บิทอล (Sorbitol), ไซลิทอล (Xylitol), ไอโซมอลต์ (Isomalt), มอลทิทอล (Maltitol),  แลคทิทอล (Lactitol), ทากาโลส (Tagalose),  อิริทริทอล (Erythritol)

ข. สารให้ความหวานที่’ไม่มี’คุณค่าทางโภชนาการ (Non-nutritive sweetener) หรือ  “น้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานเทียม (Artificial sweeteners, High intensity sweeten ers หรือ Sugar substitute)”:   สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (The United states food and drug administration, U.S. FDA) ได้กำหนดชนิดของน้ำตาลเทียมที่อนุญาตให้ใช้ในอาหารได้อย่างปลอดภัย  เช่น

  • แซคคาริน หรือ ขัณฑสกร (Saccharin)
  • แอสพาแตม (Aspartame)
  • อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม หรือ อะซีซัลเฟม เค (Acesulfame potassium, Acesulfame-K)
  • ซูคราโลส (Sucralose)
  • นีโอเทม (Neotame)
  • แอดแวนเทม (Advantame)

นอกจากนี้ ยังมีสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่ U.S. FDA กำหนดให้เป็นสารจำพวกที่สามารถใช้เติมลงไปในอาหารได้อย่างปลอดภัย (Generally recognized as safe, GRAS) เช่น

  • สเตวิออลไกลโคไซด์ (Steviol glycosides): สกัดมาจากใบของหญ้าหวาน (Bertoni) มีสาระสำคัญที่ให้ความหวาน คือ สเตวิโอไซด์ (Stevioside), และ เรบาวดิโอไซด์ เอ (Rebaudioside A)
  • สารสกัดจากหล่อฮังก๊วย (Luo Han Guo fruit extracts): มีสารให้ความหวานสำคัญ คือ โมโกรไซด์ (Mogrosides)

สารให้ความหวานอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?

รูปแบบสารให้ความหวานที่มีจัดจำหน่าย:  เช่น

  • เป็นผง (Powder)
  • เป็นผงบรรจุซอง (Sachet)
  • เป็นของเหลว (Liquid)
  • เป็นเม็ด (Tablet)

สารให้ความหวานมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

สารให้ความหวานมีข้อบ่งใช้:  เช่น

ก. น้ำตาล: เป็นสารให้ความหวานที่ใช้ประกอบอาหารและเครื่องดื่มที่มี Sucrose เป็น น้ำตาลทรายที่ใช้กันทั่วๆไป  ถูกย่อยและดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร  ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเร็ว จึงไม่เหมาะที่จะใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานเพราะทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ Sucrose เป็นตัวเปรียบเทียบความหวานกับน้ำตาลชนิดอื่นๆ โดยกำหนดให้ค่าความหวานของ Sucrose เท่ากับ 1, Fructose มีความหวาน 1.3 หมายความว่า หวานกว่า Sucrose 1.3 เท่า เป็นต้น

ข. Sugar alcohols: ให้ความหวานประมาณ 25 - 100 เท่าของ Sucrose แต่ให้พลัง งานน้อยกว่า, ไม่ทำให้ฟันผุ, ร่างกายดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ช้าทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นช้า จึงสามารถใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้,  นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารให้ความหวานในหมากฝรั่ง  ลูกอมต่างๆ  และคุกกี้  เป็นต้น

ค. น้ำตาลเทียม: เป็นสารให้ความหวานที่มีความหวานมาก ทำให้ใช้ในอาหารได้ในปริมาณที่น้อยมาก, ไม่ทำให้ฟันผุ, ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด จึงใช้ในผู้ป่วยโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน และ โรคเบาหวานได้

นอกจากนี้ ยังใช้ในการแต่งรสหวานและแต่งกลิ่นในอาหาร เช่น หมากฝรั่ง, ขนมอบ, พุดดิ้ง, ขนมหวานแช่แข็ง, โรยหน้าขนมหวาน, และเครื่องดื่มทั่วๆไป เช่น น้ำผลไม้, น้ำอัดลม, ชา, กาแฟสำเร็จรูป, ยาแก้ไอ

มีข้อห้ามใช้สารให้ความหวานอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้สารให้ความหวาน:  เช่น

  • ห้ามใช้ Aspartame ในผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโทนยูเรีย (Phenylketonuria) เนื่องจาก Aspartame ประกอบด้วยกรดอะมิโน 2 ชนิดคือ กรดแอสพาร์ติก (Aspartic Acid) และฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ขาดเอนไซม์ที่ใช้ย่อย Phenylalanine หากบริโภคเข้าไปจะทำให้มี Phenylalanine สะสมในร่างกายสูงจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง, สีผมและสีผิวมีสีอ่อนกว่าปกติ, และทำให้เกิดภาวะปัญญาอ่อนได้,  ดังนั้นอาหารที่มี Aspartame ต้องมีคำเตือนบนฉลากว่า “ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโทนยูเรีย”

มีข้อควรระวังในการใช้สารให้ความหวานอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้สารให้ความหวาน: เช่น

  • การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไปอาจทำให้ฟันผุได้ เพราะน้ำตาลเป็นอาหารของแบคทีเรียในช่องปากที่ย่อยน้ำตาลให้กลายเป็นกรดจนทำให้เคลือบฟันเสียไป
  • ผู้ป่วยโรค/ภาวะขาดเอนไซม์แลคเตส (Lactose deficiency, แนะนำอ่านเพิ่มเติมบทความนี้ในเว็บ com) โดยผู้ป่วยจะขาดเอนไซม์แล็กเทส (Lactase) ที่ใช้ในการย่อยน้ำตาล Lactose,  ดังนั้นหากดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมซึ่งมีน้ำตาล Lactose เป็นส่วนประกอบอยู่อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้
  • การรับประทานน้ำตาลเทียมแทนน้ำตาลเพียงอย่างเดียวนั้น อาจยังไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ ผู้ ป่วยยังต้องลดการรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตจากอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว, ขนมปัง และลดไขมันจากน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร และจากอาหารที่มีไขมันสูงร่วมด้วย
  • น้ำตาลเทียมไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือในผู้ที่ต้องการลดไขมันในเลือด หรือลดน้ำหนัก, โดยสามารถใช้น้ำตาลปกติได้แต่ต้องลดปริมาณอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานจากน้ำตาลแทน
  • น้ำตาลเทียมมีความหวานมากกว่าน้ำตาลหลายเท่า ควรใช้ในปริมาณน้อยๆก่อนแล้วจึงค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นจนกว่าจะได้รสชาติที่พอใจ เพื่อหลีกเลี่ยงรสหวานจัดหรือรสขมติดลิ้นเมื่อใช้ในปริมาณมาก
  • การใช้น้ำตาลเทียมนั้น สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่ควรใช้เกินค่า Acceptable Daily Intake (ADI) ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดต่อวันที่ยอมรับว่าใช้ได้อย่างปลอดภัยในคน, ซึ่งค่า ADI ที่กำหนดโดย U.S. FDA ของ Saccharin, Aspartame,  Acesulfame-K, Sucralose, Neotame, Advantame เท่ากับ 15, 50, 15, 5, 0.3, 33 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวของผู้บริโภค (เป็นกิโลกรัม)/วัน ตามลำดับ

การใช้สารให้ความหวานในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคน้ำตาลได้อย่างปลอดภัย กรณีแพทย์ไม่สั่งจำกัดการบริโภคน้ำตาล (เช่น มารดาเป็นโรคเบาหวาน),  ในขณะที่น้ำตาลเทียมนั้นควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม นั่นคือไม่เกินค่า ADI ของน้ำตาลเทียมแต่ละตัว และควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอถึงการบริโภคน้ำตาลเทียม,  รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำตาลเทียมในกรณีต่อไปนี้  เช่น                       

  • หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรค Phenylketonuria: ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค Aspartame เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ทารกในครรภ์จะไม่สามารถย่อยสาร Phenylalanine ได้  จึงทำให้มีสาร Phenylalanine สะสมอยู่ในร่างกายทารกจนเกิดอันตรายต่อทารกได้ดังได้กล่าว ในหัวข้อ “ข้อห้าม”
  • หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค Saccharin: เพราะทารกในครรภ์ยังมีความสามารถในการกำจัด Saccharin ออกจากร่างกายได้ไม่เต็มที่ อาจทำให้มี Saccharin สะสมในร่างกายทารกได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาว่า Saccharin อาจทำให้เกิดผลในระยะยาวได้อย่างไรเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น

การใช้สารให้ความหวานในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวหลายชนิดอยู่แล้ว เช่น โรคไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน ดังนั้นการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณมากในผู้สูงอายุนั้น เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะอาจทำให้อาการของโรคประจำตัวต่างๆแย่ลง

ในทางกลับกัน น้ำตาลเทียมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคประจำตัวดังกล่าวเหล่านี้ เพราะให้พลังงานต่ำ และไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นทันที โดยผู้สูงอายุสามารถบริโภคน้ำตาลเทียมได้อย่างปลอดภัยเมื่อบริโภคไม่เกินค่า ADI ที่กำหนดไว้

การใช้สารให้ความหวานในเด็กควรเป็นอย่างไร?

ผู้ปกครองควรดูแลเด็กๆให้บริโภคอาหารหลากหลาย และได้รับสารอาหารครบถ้วนเพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง, ไม่ควรให้เด็กรับประทานอาหารที่มีรสหวานจากน้ำตาล เช่น ลูกอม ช็อกโกแลต หรือน้ำอัดลม ในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจทำให้ฟันผุ และเกิดภาวะโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน /โรคอ้วนในเด็กได้

ในส่วนของการบริโภคน้ำตาลเทียมในเด็กนั้น พบว่ายังสามารถบริโภคน้ำตาลเทียมได้ปลอดภัยหากไม่เกินค่า ADI ที่กำหนด  

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองไม่ควรใช้น้ำตาลเทียมแทนน้ำตาลปกติในการประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มให้เด็กรับประทานเป็นประจำในชีวิตประจำวัน เพราะปัจจุบันยังมีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้น้ำตาลเทียมในเด็กไม่มากนัก  จึงยังไม่มีข้อมูลถึงความปลอดภัยที่ชัดเจนของการใช้น้ำตาลเทียมในเด็ก

อาการไม่พึงประสงค์จากสารให้ความหวานมีอะไรบ้าง?

โดยทั่วไป ยังไม่มีรายงานที่พบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา  (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการใช้น้ำตาลเทียมหากใช้ตามค่า ADI ที่กำหนด, ซึ่งโดยทั่วไปพบว่าน้ำตาลเทียมขนาดทั่วไปที่คนบริโภคกันนั้นไม่เกินค่า ADI อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม น้ำตาลเทียมในกลุ่ม Sugar alcohols เป็นน้ำตาลชนิดที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นหากรับประทานในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้ท้องเสียได้

สรุป

น้ำตาลเทียมเป็นสารให้ความหวานที่ใช้แทนน้ำตาล  และการใช้ในผู้ใหญ่โดยทั่วไปยังไม่มีรายงานพบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายกรณีใช้ในปริมาณที่ 'ไม่เกินค่า ADI'

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์, หญิงให้นมบุตร, และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ควรต้องใช้น้ำตาลเทียมเฉพาะตามคำ แนะนำของแพทย์เท่านั้น

บรรณานุกรม

  1. วรรณคล เชื้อมงคล. สารให้ความหวาน: การใช้และความปลอดภัย. Thai Pharmaceutical and Health Science Journal. 3 (January-April 2008): 161-168
  2. พิชญานิน เพชรล้อมทอง และปุณฑริกา รัตนตรัยวงศ์. น้ำตาลและสารให้ความหวานกับแนวทางการบริโภคในยุคปัจจุบัน. วารสารเกษตรพระจอมเกล้า. (2557) : 77-86
  3. รองศาสตราจารย์วิมล ศรีสุข ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. เป็นเบาหวาน...เลือกอะไรใส่กาแฟแทนน้ำตาล. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/100/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%99/   [2022,Dec10]
  4. https://www.fda.gov/food/food-additives-petitions/high-intensity-sweeteners [2022,Dec10]
  5. https://www.fda.gov/food/food-additives-petitions/additional-information-about-high-intensity-sweeteners-permitted-use-food-united-states [2022,Dec10]
  6. https://www.andeal.org/files/Docs/NNSResourceDraft3.pdf  [2022,Dec10]