สายตาเอียง (Astigmatism)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 19 กรกฎาคม 2563
- Tweet
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- สายตาผิดปกติ (Refractive error)
- สายตาสั้น (Nearsighted)
- สายตายาว (Farsighted)
- สายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia)
- เลสิค (Lasik)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
นิยามสายตาเอียง
สายตาเอียง (Astigmatism) เป็นภาวะซึ่งการหักเหของแสงในแต่ละแนวไม่เท่ากัน โดย ทั่วไป แนวที่มีกำลังหักเหสูงสุดและต่ำสุดมักจะอยู่ในแนวตั้งฉาก ถือเป็นสายตาเอียงสม่ำเสมอ ที่พบทั่วไปในคนทั่วไป แก้ไขได้โดยใช้เลนส์กาบกล้วยหรือทรงกระบอก (Cylinder) ซึ่งมีกำลังเพียงแนวเดียว
แต่ยังมีสายตาเอียงอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า สายตาเอียงไม่สม่ำเสมอ กล่าวคือ แนวกำลังหักเหสูงสุดและต่ำสุดไม่ตั้งฉากกัน มักเกิดในคนที่เกิดแผลของกระจกตา ซึ่งตาเอียงในกลุ่มนี้ ไม่อาจแก้ด้วยเลนส์ทรงกระบอก ต้องใช้เลนส์สัมผัส (คอนแทคเลนส์/Contact lens) หรือผ่าตัดด้วยเลเซอร์ (Excimer laser)
นอกจากนี้ สายตาเอียงสม่ำเสมอที่พบทั่วไปยังมีหลายแบบ คือ
- แนวหนึ่งอาจปกติ อีกแนวหนึ่งอาจจะสายตาสั้นหรือสายตายาว
- หรือเป็นสายตาสั้นทั้ง 2 แนวแต่ต่างกำลังกัน
- หรือเป็นสายตายาวทั้ง 2 แนวแต่ต่างกำลังกัน
- หรืออาจเป็นแนวหนึ่งสายตาสั้นอีกแนวหนึ่งเป็นสายตายาว
สายตาเอียงมีอาการอย่างไร?
อาการจากสายตาเอียงที่พบบ่อย คือ
1. ถ้าสายตาเอียงมาก มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการตามัว ไม่ค่อยมีอาการปวดศีรษะ หรือปวดตา หรือปวดเมื่อยตา การที่ผู้ป่วยสายตาเอียง ไม่ค่อยมีอาการปวดตา เนื่องจากการเพ่งไม่สามารถแก้ไขการเห็นภาพได้ ผู้ป่วยจึงมักไม่เพ่ง คงปล่อยให้ตาพร่ามัวไป
2. เด็กที่สายตาเอียงมาก อาจมาพบแพทย์ด้วยมีท่าทางที่ผิดปกติ เช่น เอียงศีรษะ เอียงคอ เพื่อช่วยการเห็นภาพให้ชัดขึ้น
3. บางรายที่มีสายตาเอียงมาก อาจมาด้วยมีพฤติกรรมชอบหันหน้าไปทางใดทางหนึ่ง เพื่อจะได้หันไปหาแนวที่ไม่เอียงหรือเอียงน้อยกว่า เพื่อเห็นภาพได้ชัดขึ้น
4. ชอบหรี่ตาหรือทำตาหยี ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ต่างจากสายตาสั้นตรงที่แม้มองวัตถุระยะใกล้ก็ยังคงหยีตาอยู่ดี
5. ในผู้ป่วยสายตาเอียงมาก มักจะชอบอ่านหนังสือระยะใกล้ ทั้งนี้เพื่อให้ภาพที่เกิดบนจอตามีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ต่างกับคนสายตาสั้นมองใกล้ เพราะระยะวัตถุที่ใกล้จะโฟกัสบนจอประสาทตาพอดี
6. ในผู้สายตาเอียงไม่มาก สายตาอาจจะยังดีอยู่ แต่อาจมาพบแพทย์ด้วยตาเมื่อยล้า หากทำอะไรจ้องอยู่กับที่นานๆ เช่น อ่านหนังสือ พิมพ์ดีด หรือใช้งานคอมพิวเตอร์
7. ผู้ซึ่งสายตาเอียงไม่มาก อาจมาพบแพทย์ด้วยมองใกล้ไม่ชัดเป็นบางครั้ง แต่เมื่อหลับตาหรือขยี้ตาจะกลับมาเห็นชัดอีก หรือบางคนอาจไม่ตระหนักถึงการมองไม่ชัดของตัวเอง เนื่องจากเขาจะเลือกโฟกัสกลับไปมาระหว่าง 2 แนว จึงทำให้มีโอกาสตาเมื่อยล้าได้ง่าย
8. มีบางรายที่สายตาเอียงไม่มาก อาจมาด้วยอาการปวดบริเวณหน้าผากได้ จากมีการเพ่งสายตามากกว่าปกติ
9. โดยทั่วไปผู้มีสายตาเอียงเล็กน้อย จะไม่มีอาการอะไร ถ้าไม่ได้ทำงานที่ต้องใช้สายตา
มีวิธีแก้ไข (รักษา) สายตาเอียงอย่างไร?
การแก้ไข (รักษา) สายตาเอียงใช้หลักทั่วไปของการแก้ไขสายตาผิดปกติ คือ ถ้าสายตาเอียงนั้นก่อให้เกิดการมองเห็นไม่ชัด มีอาการปวดเมื่อยล้าสายตา มีพฤติกรรมแปลกๆดังกล่าว ก็ควรรับการแก้ไข ซึ่งอาจทำได้โดยใช้เลนส์ทรงกระบอกในรูปของแว่นตา การใส่เลนส์สัมผัส หรือตลอดจนการผ่าตัดด้วยมีดหรือด้วยแสงเลเซอร์
เลนส์ทรงกระบอกที่แก้ไขสายตาเอียง อาจทำให้ภาพที่เห็นผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้ไม่ยอมใช้ ต้องอาศัยการปรับตัวสักระยะหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่มีสายตาเอียงมาก ภาพจะออกมาผิดเพี้ยนมาก อาจต้องแก้ไขโดยเลนส์สัมผัสหรือผ่าตัด
ควรพบหมอตาเมื่อไร?
เมื่อมีอาการผิดปกติทางสายตา เช่น เห็นภาพไม่ชัด หรือเมื่อยตามาก หรือแม้แต่ปวดหัว/ปวดศีรษะเรื้อรัง ควรพบหมอตา (จักษุแพทย์) เสมอ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคทางตา อย่าเพิ่งตัดแว่นเองโดยไม่พบหมอตาก่อน