สายตายาว (Farsighted)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

นิยามสายตายาว

สายตายาว (Farsighted) เป็นภาวะที่กำลังหักเหแสงของกระจกตาและของแก้วตา มีน้อย เกินไป หรือลูกตาเล็กเกินไป ทำให้แสงจากวัตถุทั้งระยะไกลและใกล้ไม่ไปโฟกัสบนจอประสาทตา (จอตา) กลับไปโฟกัสหลังลูกตาหรือหลังจอประสาทตาแทน จึงทำให้ผู้นั้นมองไม่ชัดทั้งไกลและใกล้

ผู้ที่สายตายาวมักจะมีดวงตาที่เล็ก แม้แต่กระจกตาก็อาจจะมีขนาดเล็กกว่าคนทั่วไปเล็ก น้อย ดวงตาที่เล็กยังทำให้ผู้ที่สายตายาวมีโอกาสเกิดต้อหินเฉียบพลันขึ้นได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

คำว่า สายตายาว ในทางการแพทย์หมายถึง อาการสายตายาวที่เกิดตั้งแต่อายุยังน้อย ยัง ไม่ถึงวัยสูงอายุ (เมื่อสูงอายุมักตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปและมีสายตายาวเกิดขึ้น ทางแพทย์เรียกว่า สายตาผู้สูงอายุ) แก้ไขด้วยแว่นเลนส์นูนซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังหักเหของแสง และต้องใช้แว่นทั้งชนิดมองไกลและชนิดมองใกล้ ซึ่งต่างจากสายตาผู้สูงอายุที่แก้ไขด้วยเลนส์นูนเหมือนกัน แต่ใช้เฉพาะมองใกล้เท่านั้น

โดยความเป็นจริง ผู้ที่สายตายาวจะมองชัดหรือไม่ขึ้นกับขนาดสายตาที่ยาวและกำลังการเพ่งของตา (กำลังการปรับรูปร่างของแก้วตา) ซึ่งขึ้นกับอายุ

ตัวอย่างเช่น กำลังหักเหแสงของคนปกติประมาณ 63 ไดออปเตอร์ (เกิดจากกระจกตา 43 ไดออปเตอร์ และจากแก้วตา 20 ไดออปเตอร์) ถ้าผู้ป่วยมีกำลังหักเหของแสงเพียง 60 ไดออปเตอร์ขาดไป 3 ไดออปเตอร์ หรือมีสายตายาว 3 ไดออปเตอร์

  • ในขณะที่มีอายุ 10 ปีมีกำลังเพ่งปกติสูงถึง 8 ไดออปเตอร์ ซึ่งหมายถึงสามารถเพิ่มกำลังของแก้วตาจาก 20 เป็น 28 ไดออปเตอร์ แต่ผู้ป่วยออกกำลังเพ่งเพิ่มเพียง 3 ไดออปเตอร์จากมีสาย ตายาว 3 ไดออปเตอร์ก็พอชดเชยความผิดปกติได้ เพราะทำให้กำลังหักเหแสงโดยรวมเป็น 63 ไดออปเตอร์ตามปกติ ผู้ป่วยจึงมองเห็นเป็นปกติไม่ต้องใช้แว่น
  • เมื่ออายุมากขึ้นเป็น 20 ปี กำลังเพ่งลดลงบ้าง (กำลังเพ่งจะลดลงตามอายุ) อาจจะยังเพ่งเพิ่มได้ถึง 4 ไดออปเตอร์ก็ยังเห็นชัดอยู่
  • แต่เมื่ออายุ 40 ปี กำลังเพ่งลดลงไปอีกและมีไม่ถึง 3 ไดออปเตอร์ คราวนี้สายตาจะมัวลง เป็นต้น

คนสายตายาวมีอาการอย่างไร?

สายตายาว

อาการพบบ่อยของคนสายตายาวได้แก่

1. มองภาพไม่ชัด: ขึ้นอยู่กับความยาวของสายตาและกำลังเพ่งที่มี ตามที่กล่าวแล้ว ถ้าสายตายาวมากและกำลังเพ่งเหลือน้อยก็จะมองภาพไม่ชัด แต่ถ้ากำลังเพ่งยังมีมากสายตาอาจปกติ

2. มองใกล้ไม่ชัดเร็วกว่าวัยปกติ: หรือนัยหนึ่งมีอาการของสายตาผู้สูงอายุเร็วกว่าคนทั่ว ไป กล่าวคือ คนทั่วไปจะมีภาวะสายตาผู้สูงอายุเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ผู้ที่มีสายตายาวอยู่ก่อนแล้วอาจจะเกิดภาวะสายตาสูงอายุเมื่ออายุเร็วกว่าอาจเป็น 37 ปี โดยในระยะแรกการมองใกล้ไม่ชัดมักเกิดเมื่อร่างกายอ่อนล้า เช่น ทำงานมาแล้วทั้งวันหรือเมื่อแสงไม่พอ

3. ปวดหัว: มักจะปวดบริเวณหน้าผาก และอาการมากขึ้นเมื่อใช้สายตามากขึ้น จึงมักไม่มีอาการในตอนเช้า แต่จะปวดหัวในตอนเย็น และถ้างดใช้สายตามองใกล้ อาการปวดจะหาย ไป

มีผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดศีรษะเรื้อรัง เป็นที่ทราบดีว่าอาการปวดศีรษะเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่จากสายตามักจะคิดถึงน้อย ทำให้ผู้ป่วยไปรับการตรวจทางระบบประ สาทอยู่นาน จนหมดกำลังใจที่จะรับการตรวจอีกแล้ว บางรายได้รับยามามากหลายชนิด อาการปวดศีรษะยังไม่หาย แต่มาหายอย่างปลิดทิ้งเมื่อตรวจพบสายตายาวและได้รับการแก้ไข

4. ไม่สบายตา: อาจเรียกอีกคำว่า เมื่อยตาหรือตาล้า ผู้ป่วยอาจจะบอกว่าเมื่อมองภาพต้องใช้เวลาถึงจะชัดโดยเฉพาะมองภาพที่เคลื่อนไหวเช่น การดูภาพยนตร์จะมีอาการปวดและเมื่อยตาได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

5. ตาสู้แสงไม่ได้/ตาไม่สู้แสง: หรือมีความไวต่อแสงมากกว่าคนปกติ มีผู้ป่วยสายตายาวหลายรายมาด้วยอาการนี้ เมื่อแก้ไขสายตายาวให้แล้ว อาการสู้แสงไม่ได้ก็หายไปด้วย

6. บางคนอาจมาด้วยมองเห็นวัตถุเป็นสองสิ่ง (เห็นภาพซ้อน): เนื่องจากต้องเพ่งตามากทำให้ลูกตามารวมกันตรงกลาง

7. ตาเข/ ตาเหล่: เด็กที่มีสายตายาวขนาดปานกลาง ทำให้ต้องเพ่งตามากตลอดเวลา ตาจึงเขเข้าใน แต่หากสายตายาวมาก เด็กเพ่งไม่ไหวจึงเลิกเพ่ง จึงไม่เกิดตาเข ส่วนเด็กที่สายตายาวไม่มากใช้กำลังเพ่งไม่มาก ตาจึงไม่เข ซึ่งโดยทั่วไปเด็กเกิดใหม่จะมีสายตายาว หลังจากนั้นเมื่อเด็กโตขึ้นความโค้งของกระจกตา ตลอดจนขนาดลูกตาค่อยๆเปลี่ยนไป เพื่อไปสู่สายตาปกติเป็นส่วนใหญ่

มีวิธีแก้ไข (รักษา) สายตายาวอย่างไร?

ไม่มีกฎตายตัวลงไปว่าสายตายาวเท่าไรควรแก้ไข และสายตายาวเท่าไรไม่ต้องแก้ไข ในคนสายตายาวหากพบว่ามีภาวะตาเขเข้าในด้วย ให้สันนิษฐานว่าตาเขเข้าในนั้นเกิดจากสายตายาว ทำให้เด็กต้องเพ่งตาตลอดเวลาเป็นเหตุให้ตาหมุนเข้าใน ในกรณีเช่นนี้ต้องแก้ไขด้วยใส่แว่น เพื่อเด็กไม่ต้องเพ่งอีก

ในกรณีที่สายตายาวโดยไม่มีตาเขร่วมด้วย จะตัดสินใจใช้แว่นแก้ไขหรือไม่ขึ้นอยู่กับการใช้สายตาของผู้ป่วย ถ้าใช้สายตามากอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตา ก็ควรแก้ไข หากไม่มีอา การก็อาจปรับดูจากดวงตาเอาเอง หรือถ้าสายตายาวแต่การมองเห็นยังไม่บกพร่อง ยังไม่ก่อให้ เกิดผลกระทบในชีวิตประจำวันก็อาจไม่ต้องแก้ไข

อนึ่ง การวัดสายตาดูว่าสายตายาวเป็นเท่าไรในเด็กที่มีสายตายาวมักจะมีปัญหา การวัดทำได้ไม่แม่นยำ โดยเฉพาะการวัดด้วยคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเด็กมักจะเพ่งสายตาจนเป็นนิสัย ขณะเด็กเพ่งจะวัดสายตาออกมาเป็นสั้นกว่าปกติ สายตายาวจึงอาจออกมาเป็นสายตาปกติได้ หรือแม้ แต่สายตาปกติอาจกลายเป็นสายตาสั้น หรือถ้ามีสายตาสั้นเล็กน้อย อาจจะกลายเป็นสายตาสั้นมาก

การวัดสายตาในเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตัดแว่นครั้งแรก ควรจะวัดสายตาในขณะที่เด็กไม่เพ่ง โดยการใช้ยาหยอดตาซึ่งจะขจัดความสามารถในการเพ่งออกไปได้แก่ การใช้ยาซึ่งทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้เพ่งเกิดเป็นอัมพาตชั่วคราว

อีกประการหนึ่ง การตัดแว่นสายตายาวให้แก่ผู้ป่วยคู่แรกไม่ว่าในเด็กหรือคนโตแล้ว มักจะมีปัญหา เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะเพ่งสายตาจนเคยชิน เมื่อตัดแว่นเท่าที่วัดได้ จึงทำให้ผู้ป่วยรู้ สึกว่ามองไม่ชัด จำเป็นต้องมีการอธิบายและอาจต้องปรับแว่นใหม่ที่เหมาะสม

ควรพบหมอตาเมื่อไร?

เมื่อมองภาพไม่ชัดหรือมีการมองเห็นผิดปกติไปจากเดิม ควรพบหมอตา (จักษุแพทย์) ก่อนเสมอ เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่ามีสาเหตุจากอะไร เพื่อการรักษาได้ถูกต้อง ไม่ควรไปร้านตัดแว่นเลย