สายตาสั้น (Nearsighted)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

นิยามสายตาสั้น

คำว่าสายตาสั้น ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Nearsighted หมายถึง ดูเห็นชัดในระยะใกล้ๆ เห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ๆชัดเจนดี แต่ของอะไรอยู่ไกลจะมองไม่ชัด

สายตาสั้นมีปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สายตาสั้น

สาเหตุของสายตาสั้นแม้ว่าจะมีการศึกษากันมากก็ยังไม่อาจสรุปได้ แต่จากการศึกษาพบมีปัจจัยต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องเช่น เชื้อชาติ ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ภาวะสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตลอด จนการทำงานใช้สายตาดูใกล้ๆนานๆ เป็นต้น

มีรายงานว่าชาวยุโรปเช่น ชาวเยอรมันพบสายตาสั้นได้ประมาณ 13% ในประชากรอายุ 25 ปีขึ้นไป ชาวออสเตรเลียพบได้ประมาณ 14.5% ชาวรัสเซียก็มีสายตาสั้นพอๆกับยุโรป อัง กฤษพบประมาณ 26% สำหรับชาวเอเชียพบว่า จีน ญี่ปุ่น อินเดีย มีประชากรที่สายตาสั้นค่อน ข้างสูงเมื่อเทียบกับชาวไทย ชนชาติที่พบสายตาสั้นน้อยได้แก่ เอสกิโม อเมริกัน อินเดีย และ อัฟริกัน

การศึกษาส่วนใหญ่พบว่า เพศหญิงสายตาสั้นมากกว่าเพศชาย สายตาสั้นยังพบมากในคนเมืองเมื่อเทียบกับชนบท บางคนเชื่อว่าคนสายตาสั้นมักจะมีเชาว์ปัญญาโดยเฉลี่ยสูงกว่าคนปกติ ดังจะเห็นจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีสายตาสั้นมากกว่าคนทั่วไป แต่ข้อสันนิษฐานอันนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์

สายตาสั้นเกิดได้อย่างไร?

เพื่อความเข้าใจง่ายๆ การที่คนเรามีสายตาปกติจะต้องประกอบด้วยอวัยวะที่ช่วยการหักเหแสงได้สัดส่วนกับความยาวของดวงตา ส่วนของตาที่ทำหน้าที่หักเหของแสงคือ กระจกตา และแก้วตา ซึ่งในคนปกติกำลังหักเหแสงของกระจกตาเป็น +43 ไดออปเตอร์ (หน่วยวัดสาย ตา) รวมกับของแก้วตา +20 ไดออปเตอร์ เป็น +63 ไดออปเตอร์ ในขณะที่มีความยาวของลูกตาเป็น 24 มม.(มิลลิเมตร)

ตัวอย่างเช่น แสงขนานหรือแสงจากวัตถุที่อยู่ไกล 20 ฟุตขึ้นไปวิ่งผ่านกระจกตาและ แก้วตา แสงตกบนจอตาพอดี จึงทำให้ผู้นั้นเห็นวัตถุนั้นได้ชัด แต่หากผู้ใดมีกำลังหักเหแสงของกระจกตามากเกินไปกลายเป็น +45 ไดออปเตอร์ (เกินมา 2 ไดออปเตอร์) รวมกับของแก้วตาอีก +20 ไดออปเตอร์ เป็น +65 ไดออปเตอร์ โดยที่ความยาวของลูกตายังเป็น 24 มม. แสงจากวัตถุไกลจะตกหน้าก่อนถึงจอตา จึงทำให้มองไม่ชัด ต้องใช้เลนส์เว้าขนาด -2 ไดออปเตอร์ มาหักล้าง แสงจึงจะตกที่จอตาพอดี นั่นคือผู้นั้นมีสายตาสั้น -2 ไดออปเตอร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสั้น 200 นั่นเอง

แต่ถ้าผู้ใดมีกำลังการหักเหแสงของกระจกตาเป็น +45 ไดออปเตอร์ ของแก้วตาคงเป็น +20 ไดออปเตอร์เหมือนคนปกติ แต่ดวงตามีขนาดสั้นกว่า 24 มม. ก็อาจจะมีสายตาปกติได้

ในทางตรงข้าม ถ้าผู้ใดมีกำลังหักเหของแสงของกระจกตาปกติ แต่มีดวงตายาวกว่า 24 มม. ก็ทำให้เกิดสายตาสั้นขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สายตาสั้น แสงจากวัตถุใกล้ๆสามารถตกลงบนจอตาพอดีตามกฎและหลักการของการหักเหของแสง ดังนั้นผู้มีสายตาสั้นจึงเห็นวัตถุใกล้ชัดเจนดี

สายตาสั้นเกิดจากโรคได้ไหม?

อนึ่งผู้ที่สายตาสั้น อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม

  • กลุ่มแรก ได้แก่ ผู้ที่มีสายตาสั้นไม่เกิน 6 - 8 ไดออปเตอร์ มักจะเริ่มสั้นเมื่อเข้าโรงเรียน และสายตาจะค่อยๆสั้นทีละน้อยไปจนอายุประมาณ 20 ปีจะหยุดไม่มีการสั้นต่อไปอีก กลุ่มนี้ถือว่าเหมือนคนปกติทั่วไปไม่ใช่โรค
  • กลุ่มที่สอง ถือว่าเป็นสายตาสั้นชนิดที่เป็นโรค โดยจะมีสายตาสั้นได้มากๆ ส่วน มากจะเป็น 10 ไดออปเตอร์ขึ้นไป มักจะเริ่มสั้นตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก และสั้นลงๆอย่างรวดเร็วมากขึ้นทุกๆปี และไม่หยุดสั้นแม้ว่าจะอายุเกิน 20 ปี ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีการผิดปกติของจอตา และมีการเสื่อมของวุ้นตา (น้ำวุ้นตา) และนำไปสู่โรคของจอตาที่ร้ายแรงคือ จอตาหลุดลอก ซึ่งต้องรีบรับการผ่าตัดแก้ไข หรือบางรายมีการเสื่อมของจอตาส่วนกลางทำให้สายตาเลวลงโดยไม่มีวิธีแก้ไข จึงเรียกผู้ป่วยกลุ่มที่สองนี้ว่า โรคสายตาสั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ (หมอตา) สม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง หากพบจอตาเริ่มเสื่อมอาจแก้ไขไม่ให้ลุกลามด้วยแสงเลเซอร์ได้

รู้ได้อย่างไรว่าสายตาสั้น?

วิธีสังเกตว่าบุตรหลานของท่านอาจจะสายตาสั้น คงจะต้องเริ่มด้วยกรรมพันธุ์ ถ้าท่านหรือครอบครัวมีคนสายตาสั้น โอกาสที่บุตรหลานจะสั้นย่อมมี เด็กที่เริ่มสายตาสั้นมักจะมีพฤติ กรรมต่างๆ เช่น มองอะไรชอบมองใกล้ๆ ชอบหยีตาหรือหรี่ตา หรือบางครั้งอาจตะแคงหรือเอียงศีรษะเวลามองของไกลๆ ทำอะไรชอบเข้าไปใกล้ๆ เช่น ดูโทรทัศน์เข้าไปยืนชิดจอ เวลาอ่านหนังสือก็ก้มหน้าจนชิดหนังสือ มีอาการปวดศีรษะเป็นประจำ เป็นต้น

อีกประการหนึ่ง เราพบว่าเด็กสายตาสั้นที่ไม่รับการแก้ไข มักจะเป็นกุ้งยิงบ่อยกว่าเด็กสายตาปกติ (ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ทำไม?)

ควรใส่แว่นสายตาสั้นเมื่อไร?

ปัญหาต่อไปก็คือ สั้นเท่าไรจึงควรใส่แว่น และการใช้แว่นควรใส่ๆถอดๆ หรือใส่เป็นประ จำ

ถ้าท่านมีสายตาสั้น ท่านมองไกลไม่ชัด ถ้าท่านอยากมองชัดก็ใส่แว่น ถ้าท่านสั้นไม่มากและงานของท่านไม่จำเป็นต้องมองไกล ท่านก็ไม่จำเป็นต้องใส่แว่น ถ้าเป็นเด็กนักเรียนต้องเรียนหนังสือ ดูหนังสือที่กระดานดำในระยะค่อนข้างไกล ถ้าไม่ใส่แว่นก็จะมองไม่เห็น จดงานผิดๆถูกๆ ก็จำเป็นอยู่เองที่ต้องใช้แว่น

จักษุแพทย์มักจะแนะนำว่า เมื่อทำแว่นสายตาสั้นแล้วควรใส่ตลอดไม่ว่าจะมองไกลหรือใกล้ เพื่อให้ตามีการทำงานได้ตามปกติเหมือนคนธรรมดา โดยทั่วไปคนสายตาสั้นมองใกล้เห็น ชัดอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเพ่ง จึงมักไม่ใส่แว่นเวลามองใกล้ ทำให้ตาไม่ได้ออกกำลังฝึกเพ่ง (Accommodation) ซึ่งการเพ่งเป็นกลไกโดยอัตโนมัติเมื่อเราต้องการมองใกล้ ดังนั้นเมื่ออายุมากเข้าและไม่ได้รับการฝึกเพ่ง อาจมีปัญหาเวลามองใกล้

ความเชื่อที่ว่าการใส่แว่นประจำยิ่งจะทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นนั้นไม่เป็นความจริง บางท่านจะโวยวายว่าเมื่อก่อนนั้นไกลขนาดนี้ลูกยังพอเห็น หลังจากใส่แว่นมา 1 ปี พอถอดแว่น ของที่เคยเห็นกลับมองไม่เห็น ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะเด็กสายตาสั้นเพิ่มขึ้น หรือเพราะเด็กเกิดการเปรียบเทียบ ใส่แว่นแล้วเห็นชัดเกิดความมั่นใจจึงตอบว่าเห็น ขณะที่เดิมไม่เคยเห็นภาพชัดมาก่อน ก็อาศัยการเดามากกว่า มิใช่ว่าเด็กจะเห็นชัดจริงๆ

สำหรับผู้ปกครองที่คอยเตือนบุตรหลานว่าอย่าดูอะไรชิดตาเกินไปเดี๋ยวสายตาสั้น ขอยาบำรุงป้องกันสายตาสั้น ขอให้เข้าใจใหม่ว่าการที่บุตรหลานของท่านดูอะไรชิดตา เพราะว่าเขาสายตาสั้นจึงทำเช่นนั้น และไม่มียาบำรุงหรือยาที่รักษาโรคสายตาสั้นได้ในขณะนี้

ควรพบหมอตา เมื่อไร? และมีวิธีวัดสายตาสั้นอย่างไร?

เมื่อสงสัยบุตรหลานสายตาสั้น ควรพบหมอตาก่อนเสมอ เพราะแว่นตาคู่แรกควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดด้วย

มีอยู่บ่อยครั้งการวัดแว่นตาในเด็กเล็กทำได้ยาก เพราะเด็กไม่ให้ความร่วมมือ บางครั้งแพทย์อาจจะต้องหยอดยาขยายม่านตาเพื่อจะได้วัดสายตาได้ถูกต้อง เนื่องจากเด็กจะมีกำลังเพ่งสูงและมักเพ่งเวลาแพทย์วัด ทำให้ค่าของสายตาสั้นมากกว่าความเป็นจริง การขยายม่านตาก่อนวัดแว่น จะช่วยให้การวัดทำได้แม่นยำยิ่งขึ้น อีกทั้งแพทย์จะได้ถือโอกาสตรวจจอตาได้ละเอียดยิ่งขึ้นด้วย

ข้อเสียของการหยอดยาขยายม่านตาทำให้เด็กตาพร่าอยู่ระยะหนึ่ง มองใกล้ไม่ชัดเจนชั่ว คราวจนกว่าจะหมดฤทธิ์ยา

การวัดสายตาเพื่อประกอบแว่น หรือนัยหนึ่งการวัดเพื่อหาค่าหรือกำลังของเลนส์ที่ต้องใช้แก้ไขสายตา ในสมัยก่อนใช้วิธีลองผิดลองถูก ใช้เลนส์เว้ากำลังต่างๆ ทดลองให้ผู้ป่วยมองผ่านและให้ผู้ป่วยตัดสินใจว่าเลนส์กำลังเท่าใดดีที่สุด ก็นำกำลังนั้นไปตัดแว่น วิธีนี้ไม่ต้องใช้เครื่อง มืออะไรพิเศษ เพียงแค่มีเลนส์แว่นตากำลังต่างๆให้ผู้ป่วยทดลองก็พอ วิธีนี้โอกาสผิดพลาดสูง อาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยอย่างเดียว จึงใช้ไม่ได้เลยสำหรับเด็กเล็กที่ไม่ให้ความร่วมมือ

ในปัจจุบันเรามีเครื่องมือคล้ายกระบอกไฟฉายส่องเข้าไปในตาผู้ป่วย แพทย์ดูลักษณะแสงที่สะท้อนออกมาและใช้เลนส์ช่วย จึงสามารถบอกได้ว่าสายตาสั้นยาวหรือเอียงเท่าไร โดยไม่ต้องถามผู้ป่วย หลังจากนั้น ผู้ประกอบแว่นจะนำขนาดแว่นที่วัดได้ให้ผู้ป่วยทดสอบ แล้วดูความพึงพอใจตลอดจนความชัดอีกที ปรับจนได้เบอร์เลนส์ที่เหมาะสม ผู้ป่วยมองเห็นชัด ไม่มึนงง หากผู้ป่วยใส่แล้วไม่พอใจมีอาการมึนงง ก็จะปรับจนได้ขนาดที่พอใจ

ล่าสุดมีการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาวัดแทน เป็นการใช้เครื่องมือตรวจภาพที่เกิดขึ้นในจอประสาทตาของผู้ถูกตรวจ โดยใส่โปรแกรมเข้าไปในเครื่องมือ ซึ่งสามารถอ่านออกมาเป็นตัว เลขว่า สายตาที่ผิดปกติเป็นเท่าไร โดยไม่ต้องอาศัยทั้งผู้ตรวจและผู้ถูกตรวจ ปัจจุบันมีเครื่อง มือชนิดนี้แล้วจากหลายบริษัท ความแม่นยำของเครื่องอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า ไม่ควรนำตัวเลขที่บอกจากเครื่องฯไปตัดแว่นเลย จำเป็นต้องทดสอบลองใส่เลนส์ขนาดดังกล่าวเป็นแนวทางในการเลือกขนาดที่เหมาะสมอีกทีก่อนตัดแว่นจริงเสมอ