วิตามินซี (Vitamin C or Ascorbic acid)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- วิตามินซีมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- วิตามินซีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- วิตามินซีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- วิตามินซีมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- วิตามินซีมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วิตามินซีอย่างไร?
- วิตามินซีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาวิตามินซีอย่างไร?
- วิตามินซีมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วิตามิน (Vitamin)
- โรคลักปิดลักเปิด โรคขาดวิตามิน-ซี (Scurvy)
- วิตามินรวม มัลติวิตามิน เอ็มทีวี (Multivitamin: MTV)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- หลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
- อนุมูลอิสสระ สารต้านอนุมูลอิสสระ (Free radical and Antioxidant)
บทนำ: คือยาอะไร?
วิตามินซี อีกชื่อคือ กรดแอสคอบิก (Ascorbic acid หรือ L-Ascorbic acid เรียกง่ายๆว่า Ascorbate) มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี เป็นวิตามินที่พบได้ตามธรรมชาติ เช่น ในผัก ผลไม้ หน้าที่ของวิตามินซีที่ร่างกายมนุษย์นำไปใช้ เช่น
- ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์คอลลาเจน (Collagen) และ แอลคาร์นิทีน (L-carnitine, สารที่ช่วยให้ร่างกายใช้พลังงานได้อย่างปกติ)
- เป็นส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ชนิดต่างๆ
- เป็นส่วนประกอบในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการสมานบาดแผล
- เป็นส่วนร่วมของกระบวนการเปลี่ยนแปลงโปรตีนเพื่อการใช้งานในร่างกาย
- เป็นสารต้านอนุมูลอิสระของร่างกายรวมถึงมีส่วนร่วมในการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่นเช่น วิตามินอี หรือ Tocopherol อีกด้วย
หากร่างกายขาดวิตามินซีจะแสดงออกมาให้เห็นในลักษณะของเลือดออกตามไรฟัน (โรคลักปิดลักเปิด/โรคขาดวิตามินซี) อ่อนเพลีย และทำให้หลอดเลือดฝอยขาดความยืดหยุ่นไม่แข็ง แรงหลอดเลือดฯจึงแตกได้ง่าย
วิตามินซีสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้อย่างรวดเร็วและถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ โดยปกติผู้ชายควรได้รับวิตามินซี 90 มิลลิกรัม/วัน ในขณะที่ผู้หญิงต้องการ 75 มิลลิกรัม/วัน แต่สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรควรได้รับวิตามินซีสูงถึงประมาณ 120 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งอาจมีความแตกต่างทางมาตรฐานการบริโภคของแต่ละประเทศที่ต่างกันเล็กน้อย
ยังมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการขาดวิตามินซี เช่น
- ผู้ที่สูบบุหรี่หรือผู้ที่ดมควันบุหรี่ (Passive smoker/สูบบุหรี่มือสอง) เป็นประจำ
- เด็กทารกที่ต้องดื่มนมผงดัดแปลงชนิดที่ต้องผสมกับน้ำร้อนก่อนซึ่งน้ำร้อนเป็นตัวทำลายวิตามินซีได้อย่างรวดเร็ว
- ผู้บริโภคอาหารซ้ำๆขาดความหลากหลายของสารอาหารก็จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะขาด วิตามินซีได้
- ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการดูดซึมสารอาหารต่างๆก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินต่างๆรวมถึงวิตามินซีลดน้อยลง
อนึ่ง: ยังมีคุณประโยชน์ของวิตามินซีที่ถูกนำมาประยุกต์ในการรักษาอาการโรคต่างๆอาทิ
- มีการใช้วิตามินซีร่วมกับผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งพบว่าช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
- ลดภาวะ/โรคหลอดเลือดอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
- ลดภาวะเป็นต้อกระจก
- การใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคหวัดก็พบรายงานว่าการฟื้นตัวของร่างกายดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังพบข้อมูลเปรียบเทียบของการใช้วิตามินซีมากเกินไป อาจส่งผลให้มีอา การท้องเสีย คลื่นไส้ เป็นตะคริวที่ท้อง การบริโภควิตามินซีมากเกินความจำเป็นยังส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณเกลือออกซาเลต (Oxalate) และกรดยูริค (Uric acid) อันเป็นสาเหตุเกิดนิ่วในไตได้อีกด้วย หรือการอมวิตามินซีชนิดเม็ดสำหรับรับประทานเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่ควรกระทำด้วยวิตามินซีมีฤทธิ์เป็นกรดสามารถทำให้เคลือบฟันและฟันสึกกร่อนได้
ยาวิตามินซีถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย การเลือกใช้วิตามินซีได้อย่างเหมาะสมปลอดภัย ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้วิตามินซีได้จากแพทย์หรือเภสัชกรตามร้านขายยาโดยทั่วไป
วิตามินซีมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาวิตามินซีมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บำบัดอาการจากภาวะขาดวิตามินซี(โรคลักปิดลักเปิด)ของร่างกาย
- รักษาโรคลักปิดลักเปิด/เลือดออกตามไรฟัน
- ช่วยเพิ่มสภาวะเป็นกรดให้กับน้ำปัสสาวะในการรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบบางสาเหตุ
วิตามินซีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาวิตามินซีคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อร่างกายโดยช่วยในกระบวนการสังเคราะห์คอลลาเจน (Collagen) รวมถึงช่วยสนับสนุนการสร้างองค์ประกอบต่างๆของเซลล์ในร่างกาย
วิตามินซีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาวิตามินซีมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50, 100 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
- เป็นส่วนประกอบกับวิตามินชนิดอื่นในลักษณะยาเม็ด ยาแคปซูล ชนิดรับประทาน
วิตามินซีมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
วิตามินซีมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาได้หลากหลายขึ้นกับอาการโรคและความรุนแรง ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างดังนี้ เช่น
ก. สำหรับอาการขาดวิตามินซี: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้าผิวหนัง ขนาด 50 - 200 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เช่น รับประทานหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้าผิวหนัง ขนาด 35 - 100 มิลลิกรัม/วัน
ข. สำหรับรักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน/โรคลักปิดลักเปิด: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้าผิวหนังขนาด 100 - 250 มิลลิกรัมวันละ 1 - 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ
- เด็ก: เช่น รับประทานหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้าผิวหนังขนาด 100 - 300 มิลลิกรัม หรือตามคำสั่งแพทย์ เป็นเวลา 2 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ
* อนึ่ง: วิตามินซีชนิดรับประทานสามารถรับประทานก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาวิตามินซี ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาวิตามินซีอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาวิตามินซี สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาวิตามินซีให้ตรงเวลา
วิตามินซีมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
สำหรับวิตามินซีสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ท้องเสีย
- วิงเวียน
- เป็นลม
- ใบหน้าแดง
- ปวดหัว
- ปัสสาวะบ่อย
- คลื่นไส้อาเจียน
- เป็นตะคริวที่ท้อง
- การอมวิตามินซีชนิดรับประทานสามารถทำลายเคลือบฟันได้
- บางกรณีกับผู้ที่ได้รับวิตามินซีเป็นปริมาณมากจะทำให้มีอาการปวดหลังช่วงล่าง
มีข้อควรระวังการใช้วิตามินซีอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้วิตามินซี เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่ได้มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- การใช้วิตามินซีชนิดฉีดควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ ผู้บริโภคไม่ควรซื้อหาและนำมาฉีดด้วยตนเอง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมวิตามินซีด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
วิตามินซีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาวิตามินซีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้วิตามินซี ร่วมกับยา Dextroamphetamine อาจทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยา Dextroamphetamine ด้อยประสิทธิภาพลงไป กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้วิตามินซี ร่วมกับยา Deferoxamine อาจก่อให้เกิดปัญหากับหัวใจ และมีภาวะต้อกระจก กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกัน ควรเว้นระยะเวลาหลังการใช้ยา Deferoxamine ไปแล้วประมาณ 1 เดือน
- การใช้วิตามินซี ร่วมกับยารักษาโรคมะเร็ง เช่นยา Bortezomib อาจทำให้ประสิทธิภาพของยา Bortezomib ด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาวิตามินซีอย่างไร?
ควรเก็บยาวิตามินซี:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยน
วิตามินซีมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาวิตามินซีที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ascorbic Acid A.N.H. (แอสคอบิก แอซิด เอ.เอ็น.เฮช) | A N H Products |
Ascorbic Acid Osoth Interlab (แอสคอบิก แอซิด โอสถ อินเตอร์แล็บ) | Osoth Interlab |
Ascorbic Acid Patar (แอสคอบิก แอซิด พาตาร์) | Patar Lab |
Ascorbic Acid Pharma Square (แอสคอบิก แอซิด ฟาร์มา สแควร์) | Pharma Square |
Blackmores Bio C (แบล็คมอร์ ไบโอ ซี) | Blackmores |
บรรณานุกรม
- https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminC-HealthProfessional/#h2 [2023,Feb4]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_C [2023,Feb4]
- https://food.fda.moph.go.th/Rules/dataRules/4-4-2ThaiRDI.pdf [2023,Feb4]
- https://oryor.com/media/checkSureShare/media_specify/847 [2023,Feb4]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=ascorbic%20acid [2023,Feb4]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/ascorbic%20acid?mtype=generic [2023,Feb4]
- https://www.drugs.com/sfx/ascorbic-acid-side-effects.html [2023,Feb4]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/ascorbic-acid-index.html?filter=2&generic_only= [2023,Feb4]