ลีเจียนแนร์ (Legionnaires’ disease) ลีเจียเนลโลซิส (Legionellosis) ไข้พอนเตียก(Pontiac fever)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 ธันวาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคลีเจียเนลโลซิสเกิดจากอะไร? ติดต่อได้อย่างไร?
- ใครคือกลุ่มเสี่ยงของโรคลีเจียเนลโลซิส?
- โรคลีเจียเนลโลซิสมีอาการอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรครุนแรง?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยโรคลีเจียเนลโลซิสอย่างไร?
- รักษาโรคลีเจียเนลโลซิสอย่างไร?
- โรคลีเจียเนลโลซิสรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันโรคลีเจียเนลโลซิสอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- ไข้ อาการไข้ ตัวร้อน (Fever)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือ โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Influenza-like illness: ILI)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ลีเจียเนลโลซิส(Legionellosis) คือ โรคติดเชื้อเฉียบพลันซึ่งเกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียในสกุล (Genus) Legionella โดยเป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ
ลีเจียเนลโลซิส เป็นโรคที่มีลักษณะทางคลินิกหรือมีธรรมชาติของโรคเป็น 2 แบบ คือ
- โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires’ disease หรือ Legionnaires disease หรือ Legion fever หรือ Legionella Infection): เป็นโรคกลุ่มมีธรรมชาติของโรคที่รุนแรงอาจเป็นสาเหตุให้ถึงตายได้ โดยมักก่อให้เกิดปอดอักเสบ/ปอดบวม
- โรคไข้พอนเตียก บางคนออกเสียงว่า ปอนเตียก (Pontiac fever): เป็นโรคกลุ่มอาการไม่รุนแรง มีอาการที่เรียกว่าโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่ และผู้ป่วยส่วนใหญ่หายเองได้ด้วยการดูแลรักษาตนเองตามอาการ มักไม่ทำให้เสียชีวิต
ลีเจียเนลโลซิส/โรคลีเจียนแนร์/โรคไข้พอนเตียก พบทุกอายุ แต่พบได้สูงในผู้ใหญ่โดยเฉพาะในผู้ชายสูงอายุที่สูบบุหรี่ ซึ่งพบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 เท่า
ลีเจียเนลโลซิส/โรคลีเจียนแนร์/โรคไข้พอนเตียก เป็นโรคพบทั่วโลก พบได้ประปราย ทุกฤดูกาล และสามารถก่อให้เกิดโรคระบาดได้เป็นครั้งคราว ซึ่งถ้ามีการระบาดมักระบาดในช่วงฤดูร้อนหรือช่วงก่อนฤดูใบไม้ร่วงเพราะเป็นช่วงมีอากาศเหมาะกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดนี้ โดยทั่วโลกพบโรคลีเจียนแนร์ได้ประมาณ 2% - 15% ของผู้ป่วยปอดบวมทั้งหมดที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล
อนึ่ง:
- โรคลีเจียเนลโลซิส/โรคลีเจียนแนร์: ได้ชื่อมาจากการระบาดรุนแรงในหมู่ทหารที่เข้าร่วมการประชุมประจำปีของสมาคมทหารผ่านศึกแห่งสหรัฐอเมริกา (American Legion) ในปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519)
- บางคนออกเสียง’โรคลีเจียเนลโลซิส’ เป็น ‘โรคลีจิโอเนลโลซิส’, คนไทยเรียกว่า “โรคจากเครื่องปรับอากาศ”
- โรคไข้พอนเตียก: ได้ชื่อจากชื่อเมือง Pontiac รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ที่เกิดโรคนี้ระบาดเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ.1968 (พ.ศ.2511)
โรคลีเจียเนลโลซิสเกิดจากอะไร? ติดต่อได้อย่างไร?
ลีเจียเนลโลซิส/โรคลีเจียนแนร์/โรคไข้พอนเตียก เกิดจากแบคทีเรียในสกุล Legionella ซึ่งเป็นแบคทีเรียเจริญเติบโตในน้ำอุ่นสะอาดที่แช่ค้าง ไม่ค่อยมีการไหลเวียน และมีอุณหภูมิประมาณ 25 - 45 องศาเซลเซียส (Celsius) แต่ที่เหมาะสมที่สุดคือประมาณ 35 องศาเซลเซียส ดังนั้นแหล่งของเชื้อโรคชนิดนี้ คือ บ่อน้ำร้อน น้ำพุ ระบบหล่อเย็นของเครื่องปรับอากาศ หรือที่ทำน้ำอุ่นของสถานที่ต่างๆเช่น โรงแรม สปาร์ โรงพยาบาล เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความชื้น เครื่องช่วยหายใจในสถานพยาบาล และอะควาเรียม (Aquarium) โดยเชื้อจะแพร่กระจายอยู่ในละอองน้ำจากแหล่งน้ำเหล่านี้ ทั้งนี้รวมถึงผ้าน้ำอุ่นที่ปนเปื้อนเชื้อนี้
เมื่อคนหายใจเอาเชื้อโรคนี้เข้าสู่ร่างกายก็จะก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยเป็นการติดเชื้อเฉียบพลัน ซึ่งในผู้สูงอายุและในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เชื้อจะรุน แรงจนก่อให้เกิดปอดอักเสบ/ปอดบวมรุนแรง ซึ่งถ้าให้การรักษาไม่ทันอาจเป็นสาเหตุให้ถึงตายได้สูง บางรายงานอัตราตายสูงถึง 100%
อนึ่ง โรคลีเจียเนลโลซิส/โรคลีเจียนแนร์/โรคไข้พอนเตียก ยังไม่พบติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คน หรือ จากคนสู่สัตว์
ใครคือกลุ่มเสี่ยงของโรคลีเจียเนลโลซิส?
บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลีเจียเนลโลซิส/โรคลีเจียนแนร์ คือ
- ผู้สูงอายุอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- สูบบุหรี่
- มีโรคปอดอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น คนมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง
- คนที่ทำงานเกี่ยวกับระบบน้ำหล่อเย็นต่างๆเช่น คนล้างทำความสะอาดระบบน้ำหล่อเย็นดังกล่าว
โรคลีเจียเนลโลซิสมีอาการอย่างไร?
ไม่มีอาการเฉพาะของโรคลีเจียเนลโลซิส/โรคลีเจียนแนร์/โรคไข้พอนเตียก
- ถ้าเป็นจากโรคกลุ่มที่ไม่รุนแรง/โรคไข้พอนเตียก จะไม่มีการติดเชื้อที่ปอด/ปอดบวม อาการจะคล้ายอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ และอาการมักหายภายใน 2 - 7 วัน
อาการที่พบได้ของไข้พอนเตียก เช่น
- ไข้สูงเฉียบพลัน
- ปวดหัว
- ปวดกล้ามเนื้อ
- เบื่ออาหาร
- อ่อนเพลีย
- อาจมีคลื่นไส้อาเจียนบ้าง อาจมีท้องเสียเล็กน้อย
- อาจมีน้ำมูกและ/หรือไอแต่ไม่มากและมักไม่มีเสมหะ
- ถ้าเป็นอาการของโรคกลุ่มรุนแรงหรือโรคลีเจียนแนร์ อาการเริ่มต้นจะคล้ายอาการจากโรคไข้พอนเตียก แต่รุนแรงกว่าและจะมีการติดเชื้อในปอด(ปอดอักเสบ/ปอดบวม) ร่วมด้วย เสมอ
อาการที่พบได้ในโรคกลุ่มนี้ได้แก้
- มีไข้สูงเฉียบพลัน
- หนาวสั่น
- ปวดหัวและปวดกล้ามเนื้อมาก
- ท้องเสียเป็นน้ำ พบได้ประมาณ 20 - 40% ของผู้ป่วย และ
- มีอาการของปอดอักเสบหรือปอดบวมคือ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ไอ มีเสมหะ อาจไอเป็นเลือด ผู้ป่วยจะดูมีอาการรุนแรง อ่อนเพลียมาก อาจสับสน และถ้าให้การรักษาไม่ทันมักเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและถึงตายได้
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรครุนแรง?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคลีเจียเนลโลซิสรุนแรงจนอาจถึงตายได้คือ
- ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี
- ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังหรือมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ที่ติดเชื้อโรคชนิดนี้จากโรงพยาบาล
- ได้รับการรักษาล่าช้าเมื่อเกิดปอดบวม
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อมีประวัติท่องเที่ยว หรือใช้บริการต่างๆ หรืออยู่ในสถานที่ ดังกล่าวในหัวข้อ โรคเกิดจากอะไร และในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 1 – 2 วันหลังเกิดอาการหรือเมื่ออาการต่างๆเลวลง
แพทย์วินิจฉัยโรคลีเจียเนลโลซิสอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคลีเจียเนลโลซิส/โรคลีเจียนแนร์/โรคไข้พอนเตียก ได้จาก
- การซักถามประวัติอาการ ประวัติการทำงาน การเดินทางท่องเที่ยว
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) เพื่อแยกระหว่างการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส
- การตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทาน
- การตรวจปัสสาวะดู สารก่อภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้
- การตรวจเชื้อจากเสมหะ
- การเพาะเชื้อจากเลือดและจากเสมหะ และ
- การถ่ายภาพปอดด้วยเอกซเรย์ปอดและ /หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน)
รักษาโรคลีเจียเนลโลซิสอย่างไร?
การรักษาโรคลีเจียเนลโลซิส/โรคลีเจียนแนร์/โรคไข้พอนเตียก ในรายที่รุนแรงต้องเป็นการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้แนวทางการรักษาประกอบด้วย
- การให้ยาปฏิชีวนะ: ซึ่งอาจต้องให้ทางหลอดเลือดดำในรายที่โรครุนแรง โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้ได้ผลมีหลายชนิด เช่น Azithromycin, Tetracycline, Erythromycin, Ofloxacin ซึ่งจะเลือกใช้ยาตัวใดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- การรักษาควบคุมโรคประจำตัว: เช่น การรักษา โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น
- การรักษาตามอาการ: เช่น การให้ออกซิเจน การให้สารน้ำและสารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่ออ่อนเพลียมาก กินได้น้อย การให้ยาบรรเทาอาการไอ และ/หรือยาละลายเสมหะ/ยาขับเสมหะ เป็นต้น
โรคลีเจียเนลโลซิรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
ความรุนแรง(การพยากรณ์โรค)ของโรคลีเจียเนลโลซิส:
- โรคลีเจียเนลโลซิส ชนิด ไข้พอนเตียกเป็นโรคไม่รุนแรง บางคนโรคหายได้เองโดยไม่ต้องได้ยาปฏิชีวนะ ทั่วไปโรคมักหายภายใน 2 - 10 วัน
- ส่วนโรคชนิดรุนแรงหรือโรคลีเจียนแนร์จะไม่หายเอง จำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะอย่างพอเพียงเสมอ ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที ผู้ป่วยมักจะหายได้ภายใน 1 - 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม มีรายงานอัตราตายได้ประมาณ 20 - 50% ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงของโรคดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง’
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนของโรคลีเจียนแนร์ คือ
- ภาวะหายใจล้มเหลว
- ภาวะช็อกจากการติดเชื้อ
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และ
- ไตวายเฉียบพลัน
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองที่สำคัญโดยเฉพาะบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสโรค เช่น จากการท่องเที่ยวบ่อน้ำพุร้อน การพักในโรงแรม การทำสปาร์น้ำอุ่น ฯลฯ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอภายในไม่เกิน 1 - 2 วันนับจากมีอาการ
ส่วนเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ การดูแลตนเองที่บ้านคือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาที่แพทย์สั่งอย่างถูกต้องครบถ้วนเมื่อเป็นการรักษาที่บ้าน และต้องไม่ขาดยา ไม่ปรับยา ไม่หยุดยาเอง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ไม่สูบบุหรี่, เลิก/งดสูบุหรี่
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง เช่น หายใจลำบากมากขึ้น ไอมากขึ้น มีเสมหะมากขึ้น เสมหะเหม็น หรือมีสีเปลี่ยนเป็นเหลือง เขียว หรือมีเลือดปน
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ไอเป็นเลือดจากที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน
- กลับมามีอาการที่เคยรักษาหายไปแล้ว เช่น กลับมามีไข้ หรือเป็นเลือดอีกหลังรักษาหายไปแล้ว
- กังวลในอาการ
ป้องกันโรคลีเจียเนลโลซิสอย่างไร?
การป้องกันโรคลีเจียเนลโลซิส/โรคลีเจียนแนร์/โรคไข้พอนเตียก ได้แก่
- ในด้านสังคม: คือ สถานบริการต่างๆที่ต้องใช้ระบบหล่อเย็นต้องรักษาความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ตามมาตรฐานสากล โดยกระทรวงสาธารณสุขเองก็ต้องเข้มงวดตรวจตราสม่ำเสมอให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์สากลเช่นกัน
- ในด้านบุคคล: การเลือกใช้โรงแรม สปาร์ต่างๆ โดยเฉพาะคนกลุ่มเสียง ต้องคำนึงถึงโรคนี้ไว้ด้วยเสมอเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ใช้บริการดังกล่าวในกรณีไม่แน่ใจในมาตรฐานการรักษาความสะอาด
บรรณานุกรม
- Murdoch,D. (2003). Diagnosis of legionella infection. Clin Infect Dis.36,64-69.
- Stout,J., and Yu,L. (1997). Legionellosis. NEJM.337,682-686.
- https://emedicine.medscape.com/article/220163-overview#showall [2021,Dec18]
- https://emedicine.medscape.com/article/965492-overview#showall [2021,Dec18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Legionnaires%27_disease [2021,Dec18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pontiac_fever [2021,Dec18]