ลำไส้เล็กอักเสบ (Enteritis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ลำไส้เล็กอักเสบ(Enteritis) คือ กลุ่มโรค/ภาวะที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อบุผิวหรือเนื้อเยื่อเมือกของผนังลำไส้เล็ก โดยอาจเกิดอย่างเฉียบพลัน คือ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือเกิดเรื้อรังเป็นเดือนหรือเป็นปี,   อาการที่พบบ่อย เช่น  ท้องเสีย  ปวดท้อง   มักมีไข้ อาจเป็นไข้ต่ำ หรือไข้สูง ขึ้นกับสาเหตุ  อ่อนเพลีย   เกิดภาวะขาดน้ำ  และมีภาวะทุพโภชนา ฯลฯ   

 ลำไส้เล็กอักเสบอาจเกิดร่วมกับกระเพาะอาหารอักเสบก็ได้ เรียกว่า “กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ(Gastroenteritis)”  และ/หรือเกิดร่วมกับลำไส้ใหญ่อักเสบ เรียกว่า “ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)”

ลำไส้เล็กอักเสบ เป็นกลุ่มโรคที่ประกอบด้วยโรคที่มีสาเหตุหลากหลาย  พบทุกเพศ และทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ เป็นโรคพบบ่อย แต่ไม่มีรายงานสถิติเกิดในภาพรวมเนื่องจากมักรายงานสถิติแยกเป็นแต่ละสาเหตุๆไป

ลำไส้เล็กอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

ลำไส้เล็กอักเสบ

ลำไส้เล็กอักเสบ เกิดจากหลากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย  เช่น

ก. ลำไส้เล็กอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรีย: เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุด เช่น โรคอาหารเป็นพิษจากติดเชื้อ อีโคไลcoli(Escherichia coli)หรือจากเชื้อ Staphylococcus aureus หรือเชื้อ Clostidium butulism,   โรคไทฟอยด์จากเชื้อ Salmonella,   โรคบิดไม่มีตัวจากเชื้อ Shigella

ข. โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง  เช่น โรคโครห์น

ค. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: เช่น ยาในกลุ่มเอ็นเสด  เช่น ยา Ibuprofen,  Naproxen

ง. ผลข้างเคียงจากสารเสพติดบางชนิด เช่น โคเคน     

จ. ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย เช่นในโรค   มะเร็งกระเพาะอาหาร    มะเร็งลำไส้ใหญ่   มะเร็งปากมดลูก

ฉ. ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดบางชนิด เช่นยา Irinothecan,  Methotrexate

ช. อื่นๆ: เช่น โรคซีลิแอก (โรคผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบน้อยที่ทำให้ผู้ป่วยแพ้โปรตีนชนิดที่เรียกว่า Gluten/โปรตีนที่มักพบในธัญพืช)

ลำไส้เล็กอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของลำไส้เล็กอักเสบ ที่พบบ่อย เช่น

  • ท้องเสีย ร่วมกับ ปวดท้อง
  • ถ้าท้องเสียรุนแรงจะมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย
  • อาจมีคลื่นไส้อาเจียน
  • มักมีไข้ พบได้ทั้งไข้สูง หรือไข้ต่ำ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลีย
  • ผอมลง น้ำหนักลด  และภาวะทุพโภชนา จากการขาดสารอาหารจากลำไส้เล็กดูดซึมอาหารได้น้อยลง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆที่รวมถึงอาการที่กล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองใน 2-3 วัน ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ แต่หากอาการแย่ลง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้อรอถึง 2-3 วัน

แพทย์วินิจฉัยลำไส้เล็กอักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยลำไส้เล็กอักเสบ ได้จาก   

  • ประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย เช่น อาการ  โรคที่เป็นอยู่  การใช้ยาต่างๆ 
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือดดูการอักเสบ เช่น ซีบีซี/CBC  
  • การตรวจอุจจาระ
  • การเพาะเชื้อจากอุจจาระ 
  • การตรวจภาพช่องท้อง/ลำไส้ ด้วย อัลตราซาวด์   เอกซแรย์กลืนแป้ง   เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน)  
  • การตรวจส่องกล้องตรวจ หลอดอาหาร  กระเพาะอาหาร  ลำไส้เล็ก อาจร่วมกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ถ้ามีอาการลำไส้ใหญ่อักเสบร่วมด้วย  ร่วมกับ
    • การตรวจเชื้อและการเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งจากลำไส้เล็ก
    • และการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาและการตรวจเพาะเชื้อจากรอยโรค

รักษาลำไส้เล็กอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาลำไส้เล็กอักเสบประกอบด้วย การรักษาตามอาการ และ การรักษาสาเหตุ

ก. การรักษาตามอาการ/การรักษาประคับประคองตามอาการ: เป็นการรักษาคล้ายกันในผู้ป่วยลำไส้เล็กอักเสบทุกสาเหตุ   เช่น 

  • ยาแก้ปวดท้อง  เช่น ยา Hyoscine   
  • ยาลดการเคลื่อนไหว/การบีบตัวของลำไส้ เช่น ยา Loperamide
  • ยาลดไข้ เช่นยา  Paracetamol   
  • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อมีภาวะขาดน้ำ  

ข. รักษาสาเหตุ:   จะแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • หยุดยาต่างๆที่เป็นสาเหตุถ้าสาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงจากยา  
  • ให้ยาปฏิชีวนะเมื่อโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย   
  • รักษาโรคโครห์น เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคนี้(แนะนำอ่านรายละเอียด ’โรคโครห์น’ เพิ่มเติมจากเว็บcom)   

ลำไส้เล็กอักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากลำไส้เล็กอักเสบ ที่พบบ่อย คือ ภาวะทุพโภชนาจากลำไส้เล็กดูดซึมอาหารได้น้อย นอกนั้นที่อาจพบได้ เช่น

  • ลำไส้อุดตันจากลำไส้เล็กเกิดพังผืดจากร่างกายซ่อมแซมการอักเสบจึงทำให้ช่องทางเดินอาหารตีบแคบลง
  • ลำไส้เล็กทะลุ/ลำไส้ทะลุ ถ้าการอักเสบรุนแรงจนลำไส้เล็กเกิดเป็นแผล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  • เสียคุณภาพชีวิต กรณีมีภาวะท้องเสียเรื้อรัง

ลำไส้เล็กอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของลำไส้เล็กอักเสบขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ  จึงแตกต่างกันเป็นกรณีไป แพทย์ผู้รักษาจึงเป็นผู้ให้การพยากรณ์โรคได้อย่างเหมาะสม โดยการพยากรณ์โรคมีได้ตั้งแต่ มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาโรคให้หาย, ไปจนถึงการพยากรณ์โรคแย่,  ผู้ป่วยถึงตายได้โดยเฉพาะกรณีเกิดผลข้างเคียงจากลำไส้เล็กอักเสบร่วมด้วย

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นลำไส้เล็กอักเสบ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงกับน้ำที่เสียไปกับอุจจาระ อย่างน้อยวันละ 8-10แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม หรือตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • รักษาความสะอาด อาหารและน้ำดื่ม
  • หลีกเลี่ยงอาหาร เครื่องดื่มที่ก่อให้เกิด อาการท้องเสีย เช่น เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เช่น  กาแฟ ฯลฯ
  • ไม่ซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษา แพทย์ เภสัชกร
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อเป็นโรคลำไส้เล็กอักเสบ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง เช่น ท้องเสียบ่อยครั้งขึ้น   อุจจาระเป็นเลือด  ปวดท้องมากขึ้น
  • อาการที่รักษาหายแล้ว กลับมามีอาการอีก เช่น มีไข้สูง   ท้องเสีย  อุจจาระเป็นเลือด
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น ปวดท้องรุนแรงโดยเฉพาะเมื่อร่วมกับปวดท้องมากและ/หรือไม่ผายลม เพราะเป็นอาการของลำไส้อุดตัน หรือลำไส้ทะลุ  ที่ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที
  • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกมาก ฯลฯ
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันลำไส้เล็กอักเสบอย่างไร?

การป้องกันโรคลำไส้เล็กอักเสบ คือการป้องกันสาเหตุที่ป้องกันได้ ซึ่งคือ

  • สาเหตุจากการติดเชื้อ ซึ่งการป้องกันที่สำคัญ คือ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)  และรักษาความสะอาด อาหาร และน้ำดื่ม เช่น  โรคไทฟอยด์,   โรคอาหารเป็นพิษ,    โรคบิดไม่มีตัว
  • อื่นๆ: เช่น  
    • กินยาแต่เฉพาะกรณีจำเป็น ไม่ซื้อยาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน ซึ่งยาสำคัญที่เป็นสาเหตุลำไส้เล็กอักเสบบ่อยที่ไม่ควรซื้อกินเอง ต้องปรึกษา แพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ  เช่น
      • ยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะ และ
      • ยาในกลุ่มยาเอ็นเสด   

บรรณานุกรม

  1. https://medlineplus.gov/ency/article/001149.htm [2022,June4]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Enteritis [2022,June4]
  3. https://www.mountsinai.org/health-library/diseases-conditions/enteritis [2022,June4]