ยาอะทีโนลอล (Atenolol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 ธันวาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ :คือยาอะไร?
- ยาอะทีโนลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ยาอะทีโนลอลออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอะทีโนลอลมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอะทีโนลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ยาอะทีโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาอะทีโนลอลมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาอะทีโนลอล?
- ควรเก็บรักษายาอะทีโนลอลอย่างไร?
- ยาอะทีโนลอลมีชื่ออื่นๆอีกไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยา(Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคความดันโลหิตสูง(Hypertension)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ(Arrhythmia)
- หัวใจขาดเลือด(Angina Pectoris)
- ไมเกรน (Migraine)
- กล้ามเนื้อหัวใจตาย(Acute myocardial infarction)
- ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drugs)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ :คือยาอะไร?
อะทีโนลอล (Atenolol) คือ ยาที่จัดอยู่ในกลุ่มเบต้าบล็อคเกอร์/Beta-blocker ใช้รักษาโรคทางหลอดเลือดของหัวใจ ถูกสังเคราะห์และนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2519 ข้อดีของยานี้คือไม่ซึมผ่านเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางจึงสามารถหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่จะเกิดต่อสมอง
ในทางการแพทย์ ยานี้ถูกนำมาใช้รักษาโรค/สภาวะความดันโลหิตสูง, ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดฉับพลัน, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Superaventicular tachycardia} ในบางครั้งยังถูกนำไปรักษาผู้ป่วยที่เสพติดเหล้า ช่วยบำบัดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน), หรือแม้แต่ใช้ป้องกันการเกิดไมเกรน (Migraine) เป็นต้น
ยาอะทีโนลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอะทีโนลอลมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้: รักษาโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น
- ลดความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Supraventicular tachycardia & ventricular tachycardia,
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina)
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarc tion)
- ป้องกันการเกิดไมเกรน (Migraine)
ยาอะทีโนลอลออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะทีโนลอลออกฤทธ์โดย ตัวยาจะปิดกั้นการทำงานของสารเคมีบางตัวในร่างกายที่เรียกว่า แคทีโคลามีน (Catecholamines) ทำให้ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และหลอดเลือดบีบตัวน้อยลงส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง
ยาอะทีโนลอลมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะทีโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ด ขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม
ยาอะทีโนลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดของยาอะทีโนลอลที่รับประทานในผู้ใหญ่และเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)มีขนาดที่ต่างกัน สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ การดูดซึมเข้าร่างกายได้รวดเร็วและเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2 - 4ชั่วโมงหลังกินยา แต่ไม่ควรซื้อยากินเอง ต้องได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
ขนาดใช้รักษาความดันโลหิตสูง, รักษาภาวะเจ็บหน้าอก (Angina Pectoris), และป้องกันไมเกรน (Migraine) รับประทานในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อวัน
*การได้รับยานี้เกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ, หัวใจเต้นช้า, หลอดลมหดเกร็ง, น้ำตาลในเลือดต่ำ, ซึ่งแพทย์รักษาแก้ไขโดยการล้างท้องหรือทำให้อาเจียนเอายาออกมา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะทีโนลอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/ หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะทีโนลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ยาอะทีโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ยาอะทีโนลอลมีผลข้างเคียงหรือผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เช่น
- อาจก่อให้เกิดภาวะหลอดลมตีบ/หายใจลำบาก
- มีอาการโรคหืด
- อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
- นอนไม่หลับ หรือ ง่วงนอน
- หงุดหงิด
- รบกวนระบบทางเดินอาหาร
- ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
- ปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย
รวมถึงความรู้สึกสัมผัสสูญเสีย
ยาอะทีโนลอลมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
ยาอะทีโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- เมื่อกิน ร่วมกับ ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถก่อให้เกิดอาการหัวใจเต้นช้าลง ซึ่งกลุ่มยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่นยา อะมิโอดาร์โรน (Amiodarone)
- เมื่อกิน ร่วมกับ ยาปฎิชีวนะสามารถส่งผลให้ฤทธิ์ในการรักษาของยาอะทีโนลอลลดลง ซึ่งกลุ่มยาปฎิชีวนะดังกล่าว เช่นยา แอมพิซิลลิน (Ampicillin), ไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
- เมื่อกิน ร่วมกับ ยาโรคกระดูก เช่นยา แคลเซียม จะทำให้ระดับยาอะทีโนลอลในกระแสเลือดลดลงมากกว่า 50%
มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาอะทีโนลอล?
ข้อควรระวังและข้อห้ามเมื่อใช้ยาอะทีโนลอล เช่น
- ห้ามใช้ยากับ ผู้ที่แพ้ยานี้ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ ผู้ที่มีการไหลเวียนเลือดบริเวณหัวใจผิดปกติ
- ระวังการใช้ยาอะทีโนลอลกับ ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะตับและ/หรือไตทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างเฉียบพลัน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
********** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาอะทีโนลอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาอะทีโนลอลอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาอะทีโนลอล: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือ ในรถยนต์
ยาอะทีโนลอลมีชื่ออื่นๆอีกไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อยาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตยาอะทีโนลอล เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Atenol (อะทีนอล) | T. O. Chemicals |
Betaday-50 (เบตาเดย์ 50) | Vesco Pharma |
Catenol (คาทีนอล) | Zydus adila |
Enolol (อีโนลอล) | Charoon Bhesaj |
Esnolol (เอสโนลอล) | Emcure Pharma |
Eutensin (ยูเทนซิน) | Greater Pharma |
Oraday (ออราเดย์) | Biolab |
Tenocard (ทีโนคาร์ด) | IPCA |
Tenormin (ทีนอมิน) | AstraZeneca |
Tenrol (เทนโรล) | Unique |
Velorin (เวโลริน) | Remedica |
บรรณานุกรม
- Drug Information Handbook 20th edition with Charles Flacy RPh. Ms, Pharm D FCSHP , Lora L.Armstrong RPh, PharmD BCPS , Morton P.Goldman, RPh, PharmD BCPS,FCCP , Leonard L. RPh. BSPharm
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/atenolol?mtype=generic [2021,Dec25]
- https://www.drugs.com/atenolol.html [2021,Dec25]