ฟีโนเทอรอล (Fenoterol)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ฟีโนเทอรอล (Fenoterol) คือ ยาขยายหลอดลม, ทางคลินิกใช้ช่วยขยายหลอดลมและบำบัดอาการหอบหืด, รูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาพ่นผ่านเครื่องพ่น ซึ่งทั่วไปพ่นเข้าทางเดินหายใจโดยพ่นผ่านช่องปาก, หรือใช้พ่นผ่านเครื่องพ่นครอบทั้งจมูกและปากกรณีเป็นเครื่องพ่นเฉพาะชนิดที่เรียกว่า Nebuliser ที่ใช้เมื่อผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาล, และเพื่อประสิทธิผลของการรักษา จึงใช้ยานี้ร่วมกับยา 'ไอปราโทรเปียม (Ipratropium)'

ฟีโนเทอรอลจัดเป็นยาในกลุ่ม Beta 2 adrenergic agonist, มีการออกฤทธิ์ได้ในระยะเวลาสั้นๆ, ซึ่งมิได้ออกฤทธิ์กับหลอดลมเท่านั้น แต่ยังออกฤทธิ์ต่อการทำงานของระบบอวัยวะอื่นๆของร่างกายได้อีก เช่น ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น, มีความดันโลหิตในช่วงหัวใจบีบตัวสูง แต่ขณะที่หัวใจคลายตัวกลับทำให้ความดันโลหิตลดต่ำ, เกิดอาการสั่นของกล้ามเนื้อ, มีระดับของเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ,  หากใช้กับสตรีตั้งครรภ์จะทำให้มดลูกเกิดการคลายตัวซึ่งทางคลินิกได้นำมาใช้เป็นยาป้องกันการคลอดบุตรก่อนกำหนด

ข้อห้าม/ข้อควรระวัง: มีข้อห้าม/ข้อควรระวังอีกหลายประการที่ผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาฟีโนเทอรอล เช่น

  • ห้ามและหลีกเลี่ยงการใช้ยาฟีโนเทอรอลกับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมชนิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic obstructive cardiomyopathy), หรือผู้ที่มีภาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Tachyarrhythmia
  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ยาในกลุ่มอะโทรปีน (Atropine-like substances)
  • การใช้ยาฟีโนเทอรอล ร่วมกับยากลุ่มอนุพันธุ์แซนทีน (Xanthine derivatives) เช่นยา Theophylline จะทำให้เกิดการขยายหลอดลมมากเกินไป อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆตามมาอย่างมากมาย
  • การใช้ยาฟีโนเทอรอล ร่วมกับยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์/ Beta blocker จะทำให้ฤทธิ์ของการขยายหลอดลมลดลงอย่างมาก จนเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ยาฟีโนเทอรอล ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และระบุให้ใช้ร่วมกับยา Ipratropium เพื่อนำมาเป็นยาขยายหลอดลม, และจัดให้อยู่ในหมวดของยาอันตราย, การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ผู้บริโภคไม่สมควรไปซื้อหายามาใช้เองโดยมิได้มีการตรวจคัดกรองจากแพทย์ก่อน, ยานี้มีการวางจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป, อีกทั้งสามารถพบเห็นการใช้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน

ฟีโนเทอรอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาฟีโนเทอรอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น    

  • ใช้ขยายหลอดลมในผู้ป่วยโรคหืด
  • ใช้ป้องกันและรักษาบรรเทาอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/โรคซีโอพีดี

ฟีโนเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟีโนเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้หลอดลมขยายตัว, และยังทำหน้าที่ต่อต้านสารที่ทำให้หลอดลมหดตัว เช่น Histamine, Methacholine, รวมถึงสารที่กระตุ้นให้มีอาการแพ้ จนเป็นสาเหตุของการหอบ/หลอดลมหดตัวเกิดขึ้น

ฟีโนเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟีโนเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาพ่นผ่านทางช่องปากและ/หรือเป็นยาพ่นผ่านทั้งทางช่องปากและช่องจมูกชนิดสารละลายที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น        
    • Ipratropium Br/Bromide 20 ไมโครกรัม + Fenoterol HBr/Hydrobromide 50 ไมโครกรัมต่อการพ่นยา 1 ครั้ง
    • Ipratropium Br 0.25 มิลลิกรัม + Fenoterol HBr 0.5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร 
    • Ipratropium Br 0.5 มิลลิกรัม + Fenoterol HBr 1.25 มิลลิกรัมต่อ 4 มิลลิลิตร (unit-dose vial)

ฟีโนเทอรอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาฟีโนเทอรอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น

ก. ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป: เช่น

  • ขณะมีอาการเฉียบพลัน: ให้พ่นยา 2 - 4 ครั้ง
  • สำหรับบำบัดรักษาอาการทั่วไป: ให้พ่นยา 1 - 8 ครั้ง/วัน

ข. เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีลงมา:  ขนาดใช้ยานี้กับเด็กกลุ่มนี้ยังมิได้มีการยืนยันและจัดทำในทางคลินิก การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่ง: สำหรับสูตรตำรับยานี้ที่มีการบรรจุหลอดและใช้พ่นหมดหลอดหรือที่เรียกว่า ‘Unit-dose-vial’ ต้องใช้เครื่องพ่นยาที่มีลักษณะเฉพาะ (Nebuliser) ซึ่งโดยมากจะพบเห็นการใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟีโนเทอรอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น  

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำ บาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีโนเทอรอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้ อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?

กรณีที่ลืมพ่นยาฟีโนเทอรอล ให้พ่นยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการพ่นยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดการพ่นยาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพของการรักษา ควรพ่นยาฟีโนเทอรอลให้ตรงเวลา

ฟีโนเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟีโนเทอรอล สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ   ชีพจรเต้นเร็วหรืออาจช้าก็ได้  เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง  ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดหัว กระสับกระส่าย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบผื่นคัน หรือ มีอาการบวมของผิวหนัง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้ฟีโนเทอรอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีโนเทอรอล:  เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามซื้อยานี้มาใช้เองโดยมิได้รับการตรวจคัดกรองจากแพทย์ก่อน
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามให้ยานี้เข้าตา หรือควรหลับตาทุกครั้งที่ต้องพ่นยา, กรณีตัวยาสัมผัสตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคความดันโลหิตสูง  โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน  โรคต้อหิน   โรคเบาหวาน
  • ฝึกหัดวิธีใช้ยานี้อย่างถูกต้องจากแพทย์หรือเภสัชกรหรือพยาบาลก่อนนำยากลับมาใช้ที่บ้าน
  • กรณีที่ไม่ได้ใช้ยาพ่นนี้นานเกิน 3 วัน ก่อนการใช้ทุกครั้งให้ทดสอบพ่นยาทิ้งประมาณ 2 ครั้ง เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าระบบการพ่นยายังใช้ได้เป็นปกติหรือไม่
  • หากต้องพ่นยาเกิน 1 ครั้ง, ให้รอเวลาประมาณ 15 วินาที, แล้วจึงค่อยพ่นยาครั้งถัดไป
  • กรณีที่มีอาการวิงเวียนหลังการใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆรวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้
  • *กรณีที่ใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือการใช้ยานี้ขณะที่มีอาการหอบแบบเฉียบพลันแล้วไม่ได้ผล, ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีโนเทอรอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟีโนเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟีโนเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาฟีโนเทอรอล ร่วมกับยา Atomoxetine อาจทำให้มีภาวะความดันโลหิตสูงมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟีโนเทอรอล ร่วมกับยากลุ่ม Corticosteroid, Beta 2 adrenergic agonist, ยาขับปัสสาวะ, ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ จนส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย
  • การใช้ยาฟีโนเทอรอลกับผู้ป่วยเบาหวานที่มีการใช้ยาอินซูลิน: สามารถส่งผลให้ระดับอินซูลินของร่างกายทำงานได้มากขึ้นจนอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่ใช้ยาอินซูลินเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาฟีโนเทอรอลอย่างไร?

ควรเก็บยาฟีโนเทอรอล: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ฟีโนเทอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟีโนเทอรอล  มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aerobidol (เอโรบิดอล) Aerocare
Berodual (เบโรดูออล) Boehringer Ingelheim
Berodual Forte (เบโรดูออล ฟอร์ด) Boehringer Ingelheim
Combivent UDV (คอมบิเวนท์ ยูดีวี) Boehringer Ingelheim
Inhalex Forte (อินแฮเล็กซ์ ฟอร์ท) Silom Medical
Iperol (ไอเพอรอล) L. B. S.
Iperol Forte (ไอเพอรอล ฟอร์ท) L. B. S.
Iprateral (อิพราเทอรอล) Pharma Innova
Punol (พูนอล) Biolab

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Beta2-adrenergic_agonist   [2022,Dec31]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Fenoterol   [2022,Dec31]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=fenoterol   [2022,Dec31]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/berodual-berodual%20forte/?type=full#Indications  [2022,Dec31]
  5. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/pdf/10.1111/j.1527-3466.1999.tb00006.x  [2022,Dec31]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/berodual-berodual%20forte/?type=full#Actions   [2022,Dec31]
  7. https://www.medicinenet.com/fenoterol_inhalation_solution-oral/article.htm  [2022,Dec31]
  8. https://go.drugbank.com/drugs/DB01288  [2022,Dec31]