ผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ หรือ เดอร์มาโตมัยโอไซทิส (Dermatomyositis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

         ผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ(เดอร์มาโตมัยโอไซทิส/Dermatomyositis) คือ โรคซึ่งเกิดร่วมกันระหว่างกล้ามเนื้ออักเสบที่ตามมาด้วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมกับมีผิวหนังอักเสบที่มองเห็นชัดเจนโดยเกิดได้ทั่วตัวรวมถึงบนใบหน้าและรอบๆข้อกระดูกต่างๆ เป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุ   พบทุกอายุ แต่พบบ่อยในผู้ใหญ่  ปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง /โรคออโตอิมมูน

         ผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ/เดอร์มาโตมัยโอไซทิส เป็นโรคพบน้อย พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ มีรายงานพบได้ 9.6 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ไปจนถึง 1-22รายต่อประชากร 1 แสนคน พบสูงในช่วงอายุ 40-50 ปี,  ในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)พบน้อยกว่าในผู้ใหญ่มากโดยพบสูงในช่วงอายุ 5-10ปี  เพศหญิงพบบ่อยกว่าเพศชายประมาณ 2 เท่า

ผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบแบ่งเป็นกี่กลุ่ม?

         ผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ/เดอร์มาโตมัยโอไซทิส แบ่งย่อยเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบในผู้ใหญ่(Adult dermatomyositis) เป็นกลุ่มพบบ่อยกว่ากลุ่มอื่น
  • กลุ่มผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบในเด็ก(Juvenile หรือ Childhood dermatomyositis):กลุ่มนี้ พบน้อย และมีการพยากรณ์โรคดีกว่ากลุ่มผู้ใหญ่
  • กลุ่มผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบแต่ไม่มีอาการทางกล้ามเนื้อ(Dermatomyositis sine myositis หรือ Amyopathic Dermatomyositis): กลุ่มนี้พบน้อย การพยากรณ์โรคในระยะยาวเช่นเดียวกับกลุ่มโรคในผู้ใหญ่ และส่วนใหญ่ในระยะยาวประมาณ 4-7 ปีหลังอาการทางผิวหนังก็จะมีอาการทางกล้ามเนื้อตามมา  

ทั้งนี้ ในภาพรวม โรคทั้ง 3กลุ่มจะคล้ายกันที่รวมถึงวิธีรักษา ต่างกันบ้างเฉพาะอาการ ความรุนแรงของอาการ *ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะกลุ่ม’โรคนี้ในผู้ใหญ่’เท่านั้น*

ผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากอะไร?

         ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ/เดอร์มาโตมัยโอไซทิส แต่จากการศึกษาเชื่อว่า อาจเกิดจากโรคภูมิต้านตนเอง(โรคออโตอิมมูน)ที่อาจมีสาเหตุสัมพันธ์กับ

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • เกิดตามหลังร่างกายมีโรคติดเชื้อไวรัสบางชนิด ที่มีรายงาน เช่น ไวรัสในกลุ่มโรคมือ-เท้า-ปาก, โรคเฮอร์แปงไจนา, โรคเอชไอวี
  • เกิดร่วมกับโรคมะเร็ง: การศึกษาพบว่าประมาณ 7-30% ของผู้ป่วยโรคนี้พบร่วมกับโรคมะเร็ง(ซึ่งอาจพบพร้อมกัน, หรือพบโรคมะเร็งหลังเกิดโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบก็ได้ซึ่งส่วนใหญ่มักพบภายใน1ปี)    ทั้งนี้ มะเร็งที่พบสัมพันธ์กับโรคนี้มีหลายชนิด เช่น มะเร็งโพรงหลังจมูก  มะเร็งรังไข่  มะเร็งเต้านม    มะเร็งปากมดลูก  มะเร็งปอด     มะเร็งลำไส้ใหญ่    มะเร็งในระบบโรคเลือด  ซึ่งมักพบในผู้ป่วยอายุตั้งแต่60ปีขึ้นไป
  • ผลข้างเคียงจากยารักษาโรคหลายชนิด: เช่นยา Hydroxyurea,  Statin, เพนนิซิลลามีน, Cyclophosphamide, วัคซีนบีซีจี,  Interferon, Quinidine

ผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ มีอาการอย่างไร?

อาการจากโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ/เดอร์มาโตมัยโอไซทิส ประกอบด้วย 4  กลุ่มอาการ  ได้แก่  อาการด้านกล้ามเนื้อ, อาการทางผิวหนัง,  อาการทั่วไป, และอาการที่เกิดกับอวัยวะภายใน

ก. อาการทางกล้ามเนื้อ: เกิดกล้ามเนื้ออักเสบโดยไม่ติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ ร่วมกับกล้ามเนื้อค่อยๆอ่อนแรงโดยมักเริ่มมีอาการที่กล้ามเนื้อลำตัวส่วนหลังและกล้ามเนื้อส่วนอยู่ติดลำตัว เช่น กล้ามเนื้อใบหน้า หัวไหล่ ต้นแขน ต้นขา สะโพก, อาจรู้สึกกล้ามเนื้อตึง เคลื่อนไหวลำบาก คลำจะเจ็บ และเมื่อมีอาการนานต่อเนื่องอาจพบ

  • กล้ามเนื้ออาจลีบ
  • ข้อติด เคลื่อนไหวติดขัด ลำบาก ยกแขนไม่ได้ ก้าวขา/ยกขาไม่ได้
  • อาจเริ่มพูดลำบาก เสี่ยงเปลี่ยน จากกล้ามเนื้อกล่องเสียงอักเสบ
  • อาจกลืนลำบากจากกล้ามเนื้อหลอดอาหารอักเสบ
  • ลุกนั่ง เดิน ยืน ลำบากจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงและกล้ามเนื้อลีบ

ข. อาการทางผิวหนัง: เช่น  

  • ผื่นผิวหนังอักเสบ สีออกม่วงแดง คัน
    • อาจเกิดทั่วตัว
    • หรือ ที่หนังตา และ/หรือรอบตา
    • หรือ บริเวณข้อต่างๆ เช่น ข้อนิ้ว ข้อศอก  ข้อเข่า
    • หรือ บริเวณคอ
    • หรือ บริเวณหน้าอกช่วงบน
  • ผมบาง, ขนบาง
  • ผิวแห้ง, ผิวหยาบ,  ผิวเป็นสะเก็ด
  • มีก้อนแข็งใต้ผิวหนังจากมีแคลเซียมมาเกาะใต้ผิวหนัง และ/หรือเกาะกล้ามเนื้อที่อักเสบ

ค. อาการทั่วไป: เช่น

  • อ่อนเพลีย
  • มีไข้
  • น้ำหนักลดผิดปกติ

ง.อาการเกิดกับอวัยวะภายใน: ซึ่งจัดเป็นอาการรุนแรง เช่น

  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • ปอดเกิดพังผืด(พังผืดในปอด)
  • โรคเรเนาด์
  • โรคมะเร็ง

(แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆดังกล่าวรวมถึงอาการได้จากเว็บ haamor.com)

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

         เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ ไม่ควรรอเวลาดูแลตนเอง 

แพทย์วินิจฉัยผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบได้อย่างไร?

         แพทย์วินิจฉัยโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ/เดอร์มาโตมัยโอไซทิส ได้จาก

  • ซักถามประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วย โดยเฉพาะอาการทางผิวหนังและอาการทางกล้ามเนื้อ รวมถึงประวัติโรคในครอบครัว, การเคยมีการติดเชื้อไวรัสต่างๆมาก่อน, และประวัติโรคมะเร็งต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือดตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น เพื่อดู
    • ค่าการอักเสบ เช่น ของเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น อีเอสอาร์ (ESR), ของกล้ามเนื้อ เช่น ซีพีเค (CPK),
    • สารภูมิต้านทาน,
    • สารก่อภูมิต้านทาน  
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ
  • ตรวจผิวหนัง/กล้ามเนื้อส่วนที่คลำได้ก้อนแข็งร่วมกับเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีแคลเซียมเกาะจับหรือไม่
  • อาจตรวจภาพกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงด้วย เอมอาร์ไอ
  • แต่การวินิจฉัยที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจาก ผื่นผิวหนัง และ/หรือจากกล้ามเนื้อที่มีอาการเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

 

รักษาผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ อย่างไร?

         แนวทางการรักษาโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ/เดอร์มาโตมัยโอไซทิส ได้แก่ การรักษาผื่นผิวหนังอักเสบ,  การให้ยาต่างๆรักษาทั้งผื่นผิวหนังอักเสบและกล้ามเนื้ออักเสบ, กายภาพบำบัด, การผ่าตัด

ก. รักษาผื่นผิวหนังอักเสบ: เช่น

  • หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง เพราะผิวหนังจะไวต่อแสงแดด ส่งผลให้อาการทางผิวหนังแย่ลง
  • ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ โดยเป็นยาทา และอาจร่วมกับยากินขึ้นกับอาการรุนแรง
  • อาจร่วมกับกินยา/ทายาในกลุ่มยาแก้คัน(Antihistamine)

ข. ให้ยาอื่นๆมักเป็น ยากิน หรือ ยาฉีด:เพื่อรักษาอาการทางผิวหนังและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรค โดยมียาหลายชนิดซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ตามอาการผู้ป่วย, การตอบสนองต่อยาที่เคยใช้แล้ว, และดุลพินิจของแพทย์   เช่น  

  • ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ(ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ) กลุ่มสเตียรอยด์ เช่นกลุ่มยา  Corticosteroid
  • ยากดภูมิคุ้มกัน เช่นยา Azathioprine, Methotrexate, Cyclosporine , Cyclophosphamide,  Tacrolimus, ยากลุ่มยาต้านมาลาเรียบางชนิด เช่น Hydroxychloroquine
  • ยาอิมมิวโนโกลบูลิน โดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำ  กรณีโรคไม่ตอบสนองต่อยาต่างๆดังกล่าว

ค. กายภาพบำบัดและกายภาพฟื้นฟู กล้ามเนื้อและข้อที่มีอาการฝ่อลีบและ/หรือยึดติด    

ง. การผ่าตัด: ผ่าตัดเอาก้อนแคลเซียม/หินปูนออก กรณีมีหินปูนจับในผิวหนังหรือกล้ามเนื้อจนก่ออาการ เช่น เจ็บมาก,  กล้ามเนื้อมัดนั้นๆเสียการทำงานที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

จ. อื่นๆ: เช่น การฟอกพลาสมา(Plasmapheresis): เพื่อกรองภูมิคุ้มกันที่อาจเป็นสาเหตุก่อโรคออกจากร่างกายซึ่งจะใช้ในกรณีการรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล

ผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

         โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ/เดอร์มาโตมัยโอไซทิส มีความรุนแรง/การพยากรณ์โรคโดย

  • เป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่แพทย์สามารถรักษาควบคุมอาการโรคให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตได้ แต่การรักษาต้องใช้ระยะยาวนานต่อเนื่อง อาจตลอดชีวิตของผู้ป่วย
  • การพยากรณ์โรคในแต่ละผู้ป่วยจะต่างกัน ขึ้นกับ อายุ , ความรุนแรงของอาการ, และการตอบสนองต่อการรักษา, ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยเท่านั้นที่จะสามารถให้การพยากรณ์โรคแก่ผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม  
  • อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ผู้ป่วยโรคนี้มีอายุสั้นกว่าคนทั่วไป
  • ในบางผู้ป่วย โรคนี้อาจค่อยๆหายไปได้เองซึ่งพบได้ประมาณ 20%ของผู้ป่วย แต่แพทย์ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าเป็นผู้ป่วยรายใดที่อยู่ในกลุ่มนี้
  • ประมาณ 5% โรครุนแรงมาก ไม่ตอบสนองต่อการรักษาจนเป็นเหตุให้ถึงตาย มักพบในกลุ่มผู้ป่วยดังนี้
    • มีอาการทางหัวใจ และ/หรือทางปอด และ/หรือทางหลอดอาหาร
    • อายุมากกว่า 60 ปี
    • มีโรคมะเร็งร่วมด้วย

 

ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

         การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ/เดอร์มาโตมัยโอไซทิส ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำอย่างเคร่งครัด
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะดังกล่าวแล้วว่า การรักษาต้องใช้เวลายาวนานและต่อเนื่อง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพราะเป็นโรคผิดปกติของภูมิคุ้มกันต้านทานโรคซึ่งทำให้ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนอย่างน้อยในทุกๆวัน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการโรคแย่ลง
    • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น คลำพบก้อนเนื้อ หรือต่อมน้ำเหลืองบวม
    • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้ ช่องปากเป็นแผล  เบื่ออาหาร  ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
    • กังวลในอาการ

ป้องกันเกิดผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบได้ไหม?

          ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ/เดอร์มาโตมัยโอไซทิส เพราะไม่ทราบทั้งสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นวิธีดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อพบมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dermatomyositis [2021,Nov6]
  2. https://emedicine.medscape.com/article/332783-overview#showall [2021,Nov6]
  3. https://rarediseases.info.nih.gov/diseases/6263/dermatomyositis [2021,Nov6]