โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง รัตนวดี ณ นคร
- 15 เมษายน 2555
- Tweet
- โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองคืออะไร?
- โรคแพ้ภูมิกับโรคภูมิแพ้เป็นโรคเดียวกันใช่หรือไม่?
- โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ใช่หรือไม่?
- โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองพบได้บ่อยหรือไม่?
- ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง?
- จะรู้ได้อย่างไรว่าเราน่าจะป่วยเป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง?
- แพทย์สาขาไหนบ้างที่รักษาโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง?
- โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองมียารักษาหรือไม่?
- โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด จำเป็นต้องกินยาตลอดชีวิตจริงหรือไม่?
- มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองได้หรือไม่?
- เป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองแล้วจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร?
- เป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองจะตั้งครรภ์มีบุตรได้หรือไม่?
- จะใช้ชีวิตอย่างไรถ้าทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง?
- จะมีวิธีจัดการกับตัวเองอย่างไรหากโรคกำเริบ?
- ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองกำเริบมีอะไรบ้าง?
- คนที่เป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเมื่อไรจะต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด?
- ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแต่ไม่สามารถไปพบแพทย์ได้จะใช้วิธีสื่อสารทางโทรศัพท์ได้หรือไม่?
- ควรปฎิบัติตัวอย่างไรระหว่างรักษาโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง?
โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองคืออะไร?
โรคออโตอิมมูน (Autoimmune) .. ชื่อโรคฟังดูไม่ค่อยคุ้นหู.. แต่ถ้าเรียกว่า “โรคแพ้ภูมิ (คุ้มกัน) ตนเอง หรือโรคภูมิต้านตนเอง ” ฟังเข้าใจมากขึ้น แต่ยังไม่แน่ใจว่าเป็นคำเดียวกับ “โรคภูมิแพ้ (Allergy)” หรือไม่ หรือพอได้ยินคำว่า “ภูมิคุ้มกัน” บางคนอาจคิดไปไกลถึงโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ จนทำให้ตกอกตกใจไปตามกัน
โรคออโตอิมมูนนั้นไม่ใช่ “โรค” เพียงโรคเดียว แต่เป็น “กลุ่มโรค” ซึ่งมีสาเหตุ (พยาธิกำ เนิด) คล้ายๆกัน ปัจจุบันพบว่าโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคออโตอิมมูนนั้นมีมากกว่า 100 ชนิด
เรามารู้จักกับคำว่า “ออโตอิมมูน” กันก่อน : โดยปกติระบบภูมิคุ้มกัน (ภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรค) จะทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากการจู่โจมจากศัตรูภายนอก เช่น เชื้อโรค สารเคมีหรือสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญคือเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ละชนิดจะทำหน้าที่ต่างๆกัน การทำงานต้องสอดคล้องและประสานกันเป็นเครือ ข่าย เปรียบดังทหาร (เซลล์เม็ดเลือดขาว) ซึ่งทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติ ทหารหลายกรมกองจะร่วมกันทำหน้าที่ลาดตระเวนสอดส่องดูแลไม่ให้ข้าศึก (เชื้อโรค สารเคมี) เข้ามาทำร้ายประชา ชน (เนื้อเยื่อ/อวัยวะร่างกาย)
คำว่า “ออโต (Auto)” แปลว่า “ตัวเอง หรือตนเอง” ส่วนคำว่า “อิมมูน (Immune)” นั้นหมายถึงภูมิต้านทานหรือภูมิคุ้มกัน ดังนั้นคำว่า “ออโตอิมมูน (Autoimmune)” จึงหมายถึงการที่ภูมิคุ้มกันร่างกายเข้าทำร้ายเนื้อเยื่อร่างกายของตัวเอง
พบว่าเซลล์เม็ดเลือดขาวของคนที่เป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองจะสูญเสียความทรงจำ ไม่สามารถแยกแยะเนื้อเยื่อตัวเองออกจากสิ่งแปลกปลอม หลงผิดเข้าจู่โจมและทำร้ายเนื้อเยื่อตนเองจนทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะขึ้นอย่างต่อเนื่องจนโครงสร้างของเนื้อ เยื่อ/อวัยวะถูกทำลายเสียหาย และทำงานไม่ได้ในที่สุด บางครั้งแพทย์จึงเรียกโรคออโตอิมมูนว่า “โรคแพ้ภูมิ (คุ้มกันของตัวเอง) หรือ โรคภูมิต้านตนเอง”
โรคแพ้ภูมิกับโรคภูมิแพ้เป็นโรคเดียวกันใช่หรือไม่?
ทั้ง 2 โรค ไม่ใช่โรคเดียวกัน โรค“ภูมิแพ้ (Allergy)” เกิดจากการที่ร่างกายแพ้สิ่งกระตุ้นจากภายนอก เซลล์เม็ดเลือดขาวยังทำหน้าที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมได้ตามปกติ แต่จะไวและตอบสนองรุนแรงเป็นพิเศษต่อสิ่งกระตุ้นบางอย่าง เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ขนสุนัข หรือยาบางชนิด (ที่เรียกว่า การแพ้ยา) การตอบสนองที่ไวและรุนแรงผิดปกติมีผลพลอยทำให้เนื้อเยื่อร่างกายโดนลูกหลงไปด้วย จนเกิดอาการที่เรียกว่า “แพ้” เช่น เกิดอาการจาม คัดจมูก คันจมูก คันตา น้ำตาไหล หรือ โรคหืดเมื่อสัมผัสฝุ่นละออง บางคนเรียกการตอบสนองของระบบภูมิคุ้ม กันที่ไวผิดปกตินี้ว่า “ปฏิกิริยาภูมิไวเกิน (Hypersensitivity)”
สำหรับ “โรคแพ้ภูมิ/โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง” เกิดจากความแปรปรวนของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ปัจจัยกระตุ้นภายนอกไม่ใช่สาเหตุ แต่มีกระตุ้นให้โรคออโตอิมมูนกำเริบหรือรุนแรงขึ้นได้
โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง แต่เชื่อว่า น่าจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน บางรายอาจมีลักษณะทางพันธุกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคออโตอิมมูนเป็นพื้นฐาน (ผู้ป่วยประมาณ 10% ให้ประวัติว่า มีญาติพี่น้องสายตรงป่วยเป็นโรคออโตอิมมูนเช่นเดียวกัน) แต่จะยังไม่แสดงอาการของโรคออโตอิมมูนจน กว่าจะได้รับแรงกระตุ้นจากภายนอก เช่น การติดเชื้อ ความเครียด แสงแดด การมีหรือได้รับ ฮอร์โมนเพศหญิง รวมทั้งการสูบบุหรี่ ปัจจัยเหล่านี้ทำหน้าที่กระตุ้นให้สารพันธุกรรม (ยีน/จีน/ Gene) เสี่ยงเหล่านี้ให้เริ่มทำงาน จนเกิดอาการของโรคออโตอิมมูนขึ้น สารพันธุกรรมเสี่ยงเหล่านี้ในระยะที่ยังไม่ทำงาน เปรียบเสมือนหลอดไฟซึ่งปิดอยู่ แรงกระตุ้นจะช่วยเปิดสวิทช์ให้หลอดไฟส่องสว่างขึ้นมา
โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ใช่หรือไม่?
ไม่ใช่ โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุ กรรม เหมือนโรคฮิโมฟิลเลีย ตาบอดสี หรือ ธาลัสซีเมีย แม้ว่าโรคออโตอิมมูนจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านพันธุกรรมก็ตาม แต่ต่างกันที่ความผิดปกติของสารพันธุกรรม หรือเรียกว่า “ยีน/จีน” โดยโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม มักเกิดจากความผิดปกติของยีนเพียงตัวเดียวจึงถ่ายทอดได้ง่ายกว่า แต่พันธุกรรมของโรคออโตอิมมูนนั้นเกี่ยวข้องกับยีนหลายตัว โอกาสถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานครบทุกตัวจึงทำได้ยากกว่า
โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองพบได้บ่อยหรือไม่?
โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เป็นโรคพบได้บ่อยพอสมควร ในประเทศไทยไม่มีข้อ มูลด้านความชุกของโรคออโตอิมมูนในภาพรวมทั้งหมด มีแต่ข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคออโตอิมมูนบางชนิดเท่านั้น เช่น โรคเบาหวานประเภทที่ 1 (ซึ่งเป็นโรคออโตอิมมูนที่เกิดกับตับอ่อน) พบได้ประมาณ 5-10% ของโรคเบาหวานทั้งหมด (คนไทยป่วยด้วยโรคเบาหวานประ มาณ 7-9% แล้วแต่ภูมิภาค) โรคลูปัส (Lupus,หลายท่านออกเสียงว่า ลูปุส) หรือ โรคเอสแอลอี (SLE) หรือที่รู้จักกันในนามของ “โรคพุ่มพวง” และโรคข้อรูมาตอย์ พบได้น้อยกว่า ทั้งสองโรคมีความชุกใกล้เคียงกันคือประมาณ 2-3 คนต่อประชากรพันคน ในขณะที่โรคหนังแข็ง (Scleroderma) พบได้น้อยมาก ไม่ถึง 100 คนต่อประชากรไทย 1 ล้านคน
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง?
โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเกิดได้กับคนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ทารกจนถึงผู้สูงอายุ แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่นได้แก่
- หญิงวัยเจริญพันธุ์ (วัยยังมีประจำเดือน) โรคออโตอิมมูนเกือบทุกชนิดพบในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย 5-10 เท่า จึงเชื่อว่าน่าจะสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคออโตอิมมูนชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวานประเภทที่ 1 โรคข้อรูมาตอยด์ โรคลูปัส/โรคเอสแอลอี โรคผิวหนังแข็ง เป็นต้น
- อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้โรคออโตอิมมูนแสดงอาการ เช่น สัมผัสแสงแดด มีการติดเชื้อแบคทีเรีย สูบบุหรี่ ได้รับสารเคมีบางชนิด และ/หรือ อยู่ในภาวะเครียดหรืออดนอน
- เชื้อชาติ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโดยตรง แต่เป็นตัวกำหนดความรุนแรงของโรคได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราน่าจะป่วยเป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง?
เนื่องจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองมีนับร้อยชนิด อาการของโรคจึงมีหลาก หลาย เพื่อความเข้าใจง่ายๆ อาจแบ่งโรคออโตอิมมูนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
-
โรคออโตอิมมูนที่เกิดกับอวัยวะหรือระบบของร่างกายเพียงระบบเดียว อาการที่เกิดขึ้นจะสัมพันธ์กับการทำงานของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง เช่น
- โรคออโตอิมมูนของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ (เดินขึ้นบันไดลำบาก ยกแขนไม่ขึ้นเนื่องจากกล้ามเนื้อต้นแขนต้นขาอ่อนแรง หนังตาตกเนื่อง จากกล้ามเนื้อหนังตาไม่มีแรง กลืนลำบากหรือสำลักง่ายเนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนไม่ทำงาน เป็นต้น
- โรคออโตอิมมูนของต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกง่าย หงุดหงิด กินจุแต่น้ำหนักตัวลด)
- โรคออโตอิมมูนของผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นขึ้นตามผิวหนัง เล็บ และเยื่อบุต่างๆ (เช่น ผื่นพุพองตามผิวหนังและเยื่อบุช่องปาก ด่างขาว แผลเรื้อรังจากหลอดเลือดอักเสบ เป็นต้น)
- โรคออโตอิมมูนของระบบประสาท (เช่น ชา หรือไม่มีแรงจากปลายประสาทอักเสบ)
- โรคออโตอิมมูนของระบบเลือด (เช่น ซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก เกิดจุดจ้ำเลือดตามตัวจากเกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น)
- โรคออโตอิมมูนของหู (เช่น หูหนวกฉับพลัน)
- โรคออโตอิมมูนของตา (เช่น จอประสาทตาอักเสบ ตาแห้ง ตาแดงและปวดตา เป็นต้น)
- โรคออโตอิมมูนที่เกิดกับอวัยวะหรือระบบของร่างกายหลายระบบพร้อมกัน ผู้ป่วยจะมีอาการหลายๆอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน โรคที่รู้จักกันดีในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคลูปัส หรือ โรค เอสแอลอี ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการ ปวดตามข้อ ผมร่วง มีผื่นแพ้แสงแดด ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคหลายโรค บางครั้งโรคออโตอิมมูนในกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดอาการทั่วๆไปที่ไม่จำเพาะ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยไม่มีอา การอย่างอื่นที่ส่อให้เห็นเค้าของโรคออโตอิมมูนเลย ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการแบบนี้มักจะสร้างความยากลำบากใจให้กับแพทย์ในการวินิจฉัย เพราะโรคอื่นๆก็ทำให้เกิดอาการแบบเดียวกันนี้ได้ เช่น โรคติดเชื้อเรื้อรัง (เช่น วัณโรค) หรือ โรคมะเร็ง แพทย์จึงมักจะขอตรวจเลือดเพิ่มเติมอีกหลายอย่างเพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย แต่บางครั้งผลการตรวจทางห้องปฎิบัติการก็ยังไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยโรคและให้การรักษาได้ แพทย์จะขอดูอาการต่อไปก่อน จนกว่าจะมีอาการที่ชัดเจนขึ้น หรือต้องตรวจเลือดซ้ำในเวลาต่อมา ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะวินิจฉัยโรคได้ บ่อยครั้งที่สร้างความอึดอัดใจให้กับทั้งแพทย์และผู้ป่วยมาก
แพทย์สาขาไหนบ้างที่รักษาโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง?
โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองรักษากับแพทย์ได้หลายสาขา แต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในความดูแลของอายุรแพทย์ โดยเฉพาะอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม (ที่เรียกว่า รูมาโต โลจีสท์,Rheumatologist) ซึ่งเชี่ยวชาญในการดูแลโรคออโตอิมมูนที่เกิดกับหลายระบบพร้อมกัน เช่นโรคลูปัส/โรคเอสแอลอี โรคผิวหนังแข็ง หรือ โรคข้อรูมาตอยด์
แต่ถ้าเป็นโรคออโตอิมมูนที่เกิดกับอวัยวะเดียวก็อาจอยู่ในความดูแลของอายุรแพทย์สา ขาอื่น เช่น โรคออโตอิมมูนที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบ อาจรักษากับอายุรแพทย์ระบบประ สาท โรคไตอักเสบจากลูปัส อาจดูแลโดยอายุรแพทย์โรคไต ผู้ป่วยที่มีอาการซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก หรือเกล็ดเลือดต่ำอาจรักษากับอายุรแพทย์สาขาโลหิตวิทยา ต่อมไทรอยด์เป็นพิษอาจดูแลรักษาโดยอายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ ผื่นผิวหนังรักษาโดยแพทย์ผิวหนัง หรือถ้าเป็นออโต อิมมูนที่เกิดกับตาหรือหูโดยเฉพาะ ก็มักอยู่ในความดูแลของจักษุแพทย์ หรือแพทย์โสตศอนา สิก/หูคอจมูก เป็นต้น
โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองมียารักษาหรือไม่?
ในโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง มียารักษามากมาย ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคออโตอิมมูนชนิดไหน ยาที่ใช้ในการรักษาแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ดังนี้
- ยาที่ใช้บรรเทาอาการ เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือที่แพทย์มักเรียกย่อๆว่า “ยาเอ็นเสดส์ (NSAIDs,Non-steroidal anti inflammatory drugs) ” ใช้เพื่อลดอาการปวดข้อเนื่องจากข้ออักเสบ ยารักษาอาการซึมเศร้าหมดเรี่ยวหมดแรง ยานอนหลับ หรือยาที่ช่วยบรรเทาอาการใจสั่น มือสั่น เป็นต้น
- ยาที่ใช้ทดแทนฮอร์โมน หรือสารที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ เช่น ยาอินซูลิน (Insu lin) ที่ใช้รักษาเบาหวานประเภทที่ 1 หรืออาจเป็นยาที่ใช้เพื่อต่อต้านการทำงานของฮอร์ โมน ในกรณีที่ร่างกายปลดปล่อยฮอร์โมนออกมามากเกินไป ตัวอย่างเช่น ใช้ยาเข้าไปต่อต้านการทำงานของต่อมไทรอยด์ในรายที่ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น
- ยากดภูมิคุ้มกัน ใช้เพื่อควบคุมโรคไม่ให้อวัยวะของร่างกายถูกทำลายเนื่องจากระบบภูมิ คุ้มกันทำงานมากเกินไป ตัวอย่างเช่น ยาสเตียรอยด์ที่ใช้ควบคุมไตอักเสบจากโรคลูปัส/โรคเอสแอลอี หรือยาในกลุ่มเคมีบำบัดที่แพทย์มักจะสั่งให้ในรายที่ใช้ยาสเตียรอยด์ไม่ได้ผล หรือลดขนาดยาสเตียรอยด์ลงไม่ได้ หรือเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูง เป็นต้น ผู้ป่วยโรคออโตอิมมูนที่ต้องกินยาสเตียรอยด์และยาเคมีบำบัดจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากยาออกฤทธิ์กดการทำงานของเม็ดเลือดขาวอย่างมาก ผู้ป่วยที่กินยากลุ่มนี้ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แพทย์จะนัดติดตามดูอาการและเจาะเลือดตรวจเป็นระยะๆ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้ยากดภูมิ คุ้มกันมากเกินไป แพทย์จะลดขนาดยาลงเมื่อเห็นว่าโรคสามารถควบคุมได้ดีแล้ว แต่จะ ต้องกินยาไปนานเพียงใดนั้น ขึ้นกับชนิดของโรคออโตอิมมูน ผู้ป่วยจะต้องทำการพูดคุย และซักถามจากแพทย์ผู้รักษาเป็นรายๆไป
โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด จำเป็นต้องกินยาตลอดชีวิตจริงหรือไม่?
ถึงแม้โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ “ไม่จำเป็นต้องกินยาตลอดชีวิตเสมอไป” ขึ้นกับว่าป่วยด้วยโรคออโตอิมมูนชนิดไหน ตัวอย่างเช่น โรคออโต อิมมูนของต่อมไทรอยด์ที่ทำให้เกิดอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ แพทย์จะให้กินยาควบคุมอาการประมาณ 2 ปีแล้วหยุดยา จะมีผู้ป่วยราวครึ่งหนึ่งที่หยุดยาได้โดยโรคไม่กำเริบขึ้นอีก และไม่ต้องกินยาซ้ำ ในทางกลับกันคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 ที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนอินซูลินเองไม่ได้ ก็จำเป็นต้องฉีดยาอินซูลินทดแทนตลอดชีวิต แต่สำหรับโรคออโตอิมมูนที่เกิดพร้อมกันหลายระบบ เช่น โรคลูปัส/โรคเอสแอลอี จำเป็นต้องได้รับการรักษาและติดตามอา การระยะยาว แม้จะมีผู้ป่วยบางรายที่สามารถหยุดยาได้ แต่แพทย์ก็มักจะนัดติดตามดูอาการ และเจาะเลือดเป็นระยะๆ เพื่อเฝ้าระวังอาการกำเริบที่อาจเกิดขึ้น และในบางโรคแพทย์จะแนะ นำให้ผู้ป่วยกินยาต่อไปเรื่อยๆตราบเท่าที่ไม่มีอาการแทรกซ้อนจากยา เพื่อลดการกำเริบของโรค เป็นต้น
มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองได้หรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เพราะการแก้ไขด้านพันธุกรรมเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก แต่เราอาจลดความรุนแรง หรือลดการกำเริบของโรคลงได้โดยควบคุมปัจจัยกระตุ้นบางอย่าง เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรืออยู่ท่ามกลางควันบุหรี่ เนื่องจาก จากการศึกษาพบว่าการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการแสดงออกของยีน/จีน ที่เกี่ยวข้องกับโรคข้อรูมาตอยด์ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจกระตุ้นให้โรคกำเริบ แนะนำให้รักษาสุขภาพช่องปาก และโรคเหงือกเพราะพบว่ามีความสัม พันธ์กับความรุนแรงของโรคข้อรูมาตอยด์ หลีกเลี่ยงการกินยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนขนาดสูงเพราะสัมพันธ์กับการกำเริบของโรคลูปัส/โรคเอสแอลอี ทำจิตใจให้แจ่มใส ร่าเริง และปล่อยวาง สามารถบริหารความเครียดในชีวิตประจำวันได้
เป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองแล้วจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร?
ในโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่แปรปรวนจะเข้าทำลายเนื้อเยื่อร่างกายตามอวัยวะต่างๆ เกิดการอักเสบเรื้อรัง จนในที่สุดไม่สามารถทำงานต่อไปได้ การเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นโรคออโตอิมมูนอาจเกิดจากอวัยวะเสียหายอย่างหนักจนไม่ทำงานหรือ เสียชีวิตจากการติดเชื้อแทรกซ้อนรุนแรง ตัวอย่างเช่น
- โรคออโตอิมมูนของตับอ่อน จะทำลายเนื้อเยื่อของตับอ่อนที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซู ลิน ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน กลายเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 ที่ต้องฉีดอิน ซูลินทดแทนตลอดชีวิต
- โรคออโตอิมมูนของกล้ามเนื้อ อาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบและฝ่อลีบ หายใจเองไม่ได้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ กลืนอาหารไม่ได้ และสำลักอาหารบ่อย ซึ่งในที่สุดมักจะเสียชี วิตจากปอดอักเสบติดเชื้อ
- โรคออโตอิมมูนของไตที่ไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ไตอักเสบเรื้อรัง ไตทำหน้าที่บก พร่อง เกิดโรคไตเรื้อรัง และไตวาย จนเป็นเหตุให้ระบบเกลือแร่และน้ำในร่างกายแปร ปรวนจนต้องล้างไต หรือผ่าตัดเปลี่ยนไต
- โรคออโตอิมมูนของระบบประสาทอาจทำให้เกิดอาการเสียสติ เพ้อคลั่ง ประสาทหลอน หรือทำให้เกิดอาการชักอย่างต่อเนื่อง ซึม หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
- โรคออโตอิมมูนของเกล็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ (ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ) ลงอย่างมาก เลือดออกไม่หยุดเกิดภาวะซีดและภาวะช็อคจากการสูญเสียเลือด ถ้ามีเลือดออกในสมองจะทำให้สมองบวม หมดสติและเสียชีวิตจากศูนย์ควบคุมการหายใจและความดันโล หิตบริเวณก้านสมองถูกทำลาย
- โรคออโตอิมมูนของข้อต่างๆ จะทำให้ข้ออักเสบเรื้อรัง ทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ กระ ดูกใต้ผิวข้อ ทำให้ข้อเคลื่อน หลุด และพิการ
อนึ่ง การรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที สามารถยับยั้งการอักเสบจากโรคที่เกิดขึ้นตามอวัยวะต่างๆ ป้องกันไม่ให้เซลล์ระบบภูมิคุ้มกันเข้าทำลายเนื่อเยื่อร่างกาย ซึ่งจะกลับมาทำหน้าที่ตามปกติได้ดังเดิม แต่หากได้รับการรักษาล่าช้า แม้ยาจะมีประสิทธิภาพเพียงพอในการควบคุมการอักเสบ แต่ไม่สามารถทำให้เนื่อเยื่อที่เสียหายไปแล้วกลับมาทำหน้าที่ตามปกติได้ การหายของโรคจึงมักจะมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น ไตเสื่อม สมองพิการ ข้อเคลื่อนหลุด หรือกล้ามเนื้อฝ่อลีบเดินไม่ได้ เป็นต้น
เป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองจะตั้งครรภ์มีบุตรได้หรือไม่?
ผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง สามารถมีบุตรได้ แต่ถ้าโรคยังไม่สงบ แพทย์มักจะแนะนำให้คุมกำเนิดไปก่อน จะอนุญาตให้ตั้งครรภ์ได้ภายหลังจากที่ควบคุมโรคได้แล้ว การตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อแม่และลูกบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคออโตอิมมูนและยาที่แพทย์ใช้รักษา ผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตรจึงต้องปรึกษาหารือกับแพทย์ เพื่อวางแผนตั้งครรภ์ในระยะเวลาที่เหมาะสม แพทย์อาจแนะนำให้หยุดยาบางตัวก่อนตั้งครรภ์เพื่อไม่ให้ส่ง ผลต่อทารกในครรภ์ และจะแนะนำให้ฝากครรภ์กับสูติแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อประเมินพัฒนาการของทารกในครรภ์เป็นระยะๆจนกระทั่งคลอดและจนหลังคลอด
ผู้ป่วยที่เป็นโรคออโตอิมมูนบางรายอาจมีบุตรยาก สาเหตุมีหลายอย่าง เช่นจากความรุน แรงของโรคออโตอิมมูนเอง ทำให้สุขภาพโดยรวมอ่อนแอไม่พร้อมจะมีบุตร เช่น โรคลูปัส/โรคเอสแอลเอ ที่ทำให้ไตอักเสบรุนแรงหรือไตเสื่อม โรคออโตอิมมูนบางชนิดที่ทำให้แท้งบุตรบ่อย เช่น โรคแอนติ-ฟอสโฟไลปิด-ซินโดรม (Anti-phospholipid syndrome หรือ APS) หรือ ภาวะ การมีบุตรยากที่เกิดจากยา เช่น ได้รับยาสเตียรอยด์ในขนาดสูง หรือต้องกินยาเคมีบำบัดบางตัวที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของรังไข่ ภาวะการมีบุตรยากบางชนิด สามารถรักษาได้โดยให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดตลอดการตั้งครรภ์ เช่น โรคแอนติ-ฟอสโฟไลปิด-ซินโดรม แต่บางชนิดจำเป็นต้องปรึกษากับสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีบุตรยากเพื่อใช้เทคโนโลยีช่วยในการตั้งครรภ์
จะใช้ชีวิตอย่างไรถ้าทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง?
ผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง ควรใช้ชีวิตตามปกติ แม้ว่าโรคออโตอิมมูนบางโรคจะไม่หายขาด แต่ด้วยวิธีการรักษาในปัจจุบัน จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ สามารถแต่งงาน มีบุตร ใช้ชีวิตครอบครัวได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป เพียงแต่จะต้องมาพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อทำการควบคุมโรค เรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวโรค รู้จักหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้โรคกำเริบ และสามารถจัดการกับตัวโรคได้ด้วยตนเองหากเกิดการกำเริบเล็กๆน้อยๆ
จะมีวิธีจัดการกับตัวเองอย่างไรหากโรคกำเริบ?
เมื่อพบว่าโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองกำเริบ (กลับมามีอาการผิดปกติอีก หลัง จากอาการเหล่านั้นดีขึ้น หรือหายไปแล้ว) ผู้ป่วยควรต้องตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ การกำเริบของโรคออโตอิมมูนถือเป็นเรื่องปกติ ให้สำรวจว่ามีอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้โรคกำเริบ การกำเริบของโรคอาจทำให้มีอาการเพิ่มขึ้นเล็กๆน้อยๆ ถ้าเป็นผู้ป่วยรายใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคยกับการกำเริบของโรค ควรรีบปรึกษาแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้ หรือรอจนกว่าอาการรุนแรงแล้วค่อยมาพบแพทย์ หน้าที่ของผู้ป่วยคือต้องซักถามแพทย์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหากเกิดโรคกำเริบขึ้นอีก แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคออโตอิมมูนนานๆ มักจะรู้วิธีจัดการกับการกำเริบของโรคด้วยตนเองหากมีอาการไม่มากนัก ที่สำคัญคืออย่าหลงเชื่อคำโฆษณาว่า จะมีวิธีการรักษาที่ทำให้โรคออโตอิมมูนหายขาดได้โดยการใช้การแพทย์ทางเลือก (การแพทย์สนับสนุนการแพทย์ทางเลือก) เพียงอย่างเดียว
ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองกำเริบมีอะไรบ้าง?
ปัจจัยกระตุ้นให้โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองกำเริบ คือ
- การขาดยา ผู้ป่วยบางรายคิดไปเองว่าเมื่ออาการของโรคออโตอิมมูนดีขึ้นก็น่าจะหยุดยาได้ หรือไม่อยากกินยาต่อเนื่องระยะยาวเพราะกลัวอาการ/ผลข้างเคียงจากยา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด การรักษาโรคออโตอิมมูนต้องการความต่อเนื่อง ถ้าแพทย์เห็นว่าอาการผู้ป่วยดีขึ้นแล้ว อาจหยุดยาเป็นบางตัวเช่น ยาที่รักษาตามอาการ แต่สำหรับยากดภูมิคุ้ม กัน แพทย์จะไม่หยุดยาทันที เพราะการหยุดยากระทันหันอาจทำให้โรคกำเริบรุนแรงขึ้นได้ ในทางปฎิบัติแพทย์จะค่อยๆลดขนาดยาลงทีละน้อยเพื่อให้แน่ใจว่าโรคจะไม่กำเริบขึ้นมาอีก แต่สำหรับยาบางตัวแพทย์จะแนะนำให้กินต่อเนื่องระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ
- การติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น โรคหวัด ท้องเดิน/ท้องเสีย ปัสสาวะแสบขัด (โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ) อาจกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้นได้ หลีกเลี่ยงได้โดยกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก อย่ากลั้นปัสสาวะนาน อย่าเข้าใกล้คลุกคลีคนที่เจ็บป่วยไม่สบาย หรือเข้าไปอยู่ในที่ๆมีคนแออัด ถ้าจำเป็นต้องไปก็ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทำงานดึก อดนอน ทำให้โรคกำเริบได้
- ความเครียด จากปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำงาน การเรียน หรือปัญหาด้านเศรษฐกิจ
- แสงแดด เช่น ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดด อาจกระตุ้นให้โรคออโตอิมมูนบางชนิดกำเริบขึ้นได้ เช่น ผื่นแพ้แสงจากโรคลูปัส/เอสแอลอี ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแดด ควรกางร่ม ใส่หมวก ใส่เสื้อแขนยาวสีขาว หรือใช้ครีมกันแดด (ค่าป้องกันแสงแดด SPFมากกว่า 30) ทาบริเวณใบหน้า ต้นคอ และแขนด้านนอก
คนที่เป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเมื่อไรจะต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด?
ผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ รู้สึกไม่สบาย เช่น สัง เกตว่าอาการที่เคยดีขึ้นหรือหายไปแล้ว กลับเป็นซ้ำขึ้นมาใหม่ ครั่นเนื้อครั่นตัวมีไข้ อ่อนเพลีย ไอมีเสมหะ ปัสสาวะแสบขัด หรือมีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม ถ้าเป็นผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่งได้รับการรักษาโรคออโตอิมมูน แนะนำว่าควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัดทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าอา การไม่สบายนั้นเกิดจากโรคกำเริบ หรือเป็นอาการข้างเคียงจากการใช้ยา หากนิ่งนอนใจอาการอาจรุนแรงขึ้นจนยากแก่การรักษา
ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแต่ไม่สามารถไปพบแพทย์ได้จะใช้วิธีสื่อสารทางโทรศัพท์ได้หรือไม่?
เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆเกิดขึ้น ผู้ป่วยสามารถสอบถามแพทย์ผู้รักษาทางโทรศัพท์ “ได้” แต่แพทย์จะไม่สามารถสั่งการรักษาทางโทรศัพท์ได้โดยไม่ได้ตรวจร่างกายผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ผู้ป่วยไปปรึกษากับแพทย์ที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยให้นำซองยาที่กินอยู่ทุกตัวติดตัวไปด้วย แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่ นำยาทั้งหมดที่กินอยู่ให้แพทย์ดู เล่าอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นให้แพทย์ฟังอย่างละเอียด และถ้าแพทย์มีข้อสงสัยอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม อาจต่อโทรศัพท์ให้แพทย์สื่อสารกันโดยตรง ซึ่งจะทำให้การเยียวยาในเบื้องต้นกระทำได้ดีขึ้น
ควรปฎิบัติตัวอย่างไรระหว่างรักษาโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง?
ระหว่างรักษาโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองควรปฏิบัติตัวดังนี้ คือ
- กินอาหารที่สุกสะอาดและครบ 5 หมู่ (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว นมพร่องมันเนย เนื้อสัตว์ที่เป็นแหล่งโปรตีน เช่น ปลา ลดอาหารประเภทไขมัน และอาหารรสหวาน
- ออกกำลังกาย หรือบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องไม่หักโหมเกินไป ควรปรึกษากับแพทย์ว่า ควรจะออกกำลังกายประเภทไหนดี จึงจะไม่กระทบต่อตัวโรค สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป การออกกำลังกายประเภทเพิ่มสมาธิ และการทรงตัวเช่น การเล่นโยคะ หรือการรำมวยจีน อาจช่วยให้ข้อและกล้ามเนื้อขยับได้ดีโดยไม่รับแรงกระแทกมาก
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาซ่อมแซมส่วนที่เสียหายไปจากการอักเสบ ควรเป็นการพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ การนอนดึกและนอนไม่พออาจมีส่วนทำให้โรคกำเริบได้
- เรียนรู้วิธีการจัดการกับความเครียด ภาวะวิตกกังวลและเครียด มีส่วนที่ทำให้โรคกำเริบ การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สบายๆ ปล่อยวาง และฝึกสมาธิ มีส่วนช่วยทำให้โรคดีขึ้น ลดความปวดลงได้ รู้เท่าทันโรคและใช้ชีวิตอยู่กับโรคได้อย่างมีความสุข
Updated 2013, July 11