ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ (Ovarian follicular cyst)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์คืออะไร?

ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ (Ovarian follicular cyst หรือ Follicular cyst of the ovary) หมายถึง ถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศหญิงในแต่ละรอบประจำเดือน จัด เป็น Functional ovarian cyst (ถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากการทำงานของฮอร์โมนเพศ) ชนิดหนึ่ง ตามปกติในสตรีวัยเจริญพันธุ์จะมีการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมากระตุ้นรังไข่ ทำให้รังไข่มีการเจริญเติบโตของฟองไข่ (Follicle) ไปเรื่อยๆจนเกิดการตกไข่ แต่หากไม่มีการตกไข่ออก มา จะทำให้มีการสะสมของเหลวในฟองไข่มากขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นถุงน้ำ/ซีสต์ (Cyst) ที่รังไข่ที่เรียกว่า “ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์” ซึ่งถุงน้ำรังไข่ชนิดนี้พบได้บ่อย แต่จะไม่พบในสตรีวัยก่อนมีประจำเดือนหรือในสตรีวัยหมดประจำเดือนแล้ว

ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ทำให้เกิดอาการอะไรบ้าง?

ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์

ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ทำให้เกิดอาการได้ดังนี้

  1. ปวดหน่วงในท้องน้อย เป็นๆหายๆ
  2. ปวดท้องน้อยเฉียบพลันหากมีการแตกหรือบิดขั้วของถุงน้ำ (ถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว)
  3. ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่มีอาการ แต่ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องในการวินิจฉัยโรคอื่นๆเช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่ง หรือปวดท้องน้อยเป็นๆหายๆ หรือไม่มีอาการผิดปกติใดๆเลยก็ได้ (พบได้บ่อย)

ข. การตรวจร่างกาย: อาจกดเจ็บบริเวณปีกมดลูกข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งการตรวจภายในมักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติเพราะถุงน้ำชนิดนี้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก แต่หากถุงน้ำนี้ขนาดใหญ่พอ ประมาณก็จะสามารถคลำก้อนถุงน้ำที่ปีกมดลูกได้

ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: การตรวจที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์คือ การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) ด้วยการตรวจผ่านทางช่องคลอด แพทย์จะเห็นถุงน้ำที่รังไข่ชัดเจน ผิวถุงน้ำชนิดนี้จะบาง ของเหลวภายในถุงน้ำจะใส แต่มองเห็นเป็นสีดำในอัลตราซาวด์ ส่วนมากถุงน้ำชนิดนี้มีขนาดเล็กประมาณ 3 - 4 ซม. (เซนติ เมตร) ซึ่งหากขนาดเล็กกว่า 3 ซม. จะเรียกว่า “Ovarian follicle” ไม่เรียกว่า “ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์/Ovarian follicular cyst ” อย่างไรก็ตามมีส่วนน้อยที่ถุงน้ำชนิดนี้มีขนาดใหญ่ ซึ่งส่วน มากที่ใหญ่ก็มักไม่เกิน 8 ซม.

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังโดยอาการเป็นมากขึ้นๆ หรือปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงเฉียบพลันโดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่นเช่น คลื่นไส้อาเจียน หรือเมื่อกังวลในอาการปวดนั้น ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

รักษาถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์อย่างไร?

การรักษาถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์:

  • โดยทั่วไป ไม่ต้องรักษา แพทย์ใช้เฝ้าติดตามในอาการและในขนาดของถุงน้ำรังไข่ฯทุกประมาณ 3 เดือน ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ท้องน้อยซ้ำเป็นระยะๆตามดุลพินิจของแพทย์เพราะเนื่องจากถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวลาร์สามารถยุบหายเองได้
  • หากมีอาการปวดท้องน้อยไม่มาก
    • ก็ให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยา Paracetamol
    • หรือบางครั้งแพทย์ให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อไม่ให้มีการพัฒนาของฟองไข่/เพื่อไม่ให้มีการตกไข่ ก็จะไม่ทำให้เกิดเป็นถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์อีก
    • แล้วมีการนัดตรวจเพื่อติดตามอาการเป็นระยะๆเช่นกัน
  • หากมีอาการปวดท้องมาก ควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ประเมินหาสาเหตุและให้การรักษาที่เหมาะสม

อนึ่ง: แนวทางการรักษาถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์จะเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวในรายละเอียด ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ถุงน้ำรังไข่” แนะนำอ่านเพิ่มเติมในบทความนั้น

ภาวะแทรกซ้อนจากถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์มีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง)จากถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ที่อาจพบได้จะเช่นเดียวกับ ที่พบในถุงน้ำรังไข่ทุกชนิด แต่พบเกิดได้น้อยกว่ามาก เฉพาะในกรณีถุงน้ำฯมีขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งที่อาจพบได้เช่น

  1. ถุงน้ำรังไข่ฯแตกทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลัน
  2. ถุงน้ำรังไข่บิดขั้วทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงเฉียบพลัน
  3. ปัสสาวะบ่อยผิดปกติหากถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์มีขนาดใหญ่มากจนไปกดทับที่กระ เพาะปัสสาวะ
  4. มีเลือดออกในช่องท้องจากถุงน้ำฯแตกจนเกิดภาวะซีด หากมีการแตกของถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ถูกบริเวณเส้นเลือดทำให้เส้นเลือดฉีกขาด อาจต้องได้รับการผ่าตัดรักษา

ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์:

  • มีการพยากรณ์โรคที่ดี ส่วนใหญ่ถุงน้ำฯมักมีขนาดเล็กและยุบหาย ไปได้เอง
  • แต่เมื่อมีขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องรักษา การรักษาจะได้ผลดี ไม่เป็นสาเหตุให้ถึงตาย
  • และ’โรคไม่เปลี่ยนไปเป็นมะเร็งรังไข่’
  • อย่างไรก็ตามถุงน้ำชนิดนี้สามารถเกิดเป็นซ้ำ เป็นๆหายๆได้เสมอ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

สตรีส่วนมากเมื่อทราบว่าตนเองเป็นถุงน้ำรังไข่ก็จะมีความกลัวและความกังวลอย่างมาก กลัวการเป็นมะเร็งรังไข่ แต่เนื่องจากถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์ โมนเพศหญิงตามรอบประจำเดือน เป็นโรคมีอันตรายน้อย สามารถเป็นๆหายๆได้ เป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี จึงควรไปตรวจตามนัดของแพทย์

 แต่หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำฯเกิดการแตกหรือบิดขั้วของถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์/ รังไข่บิดขั้ว จะทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยมาก/รุนแรง/เฉียบพลัน ก็ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

ป้องกันเกิดถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ได้หรือไม่?

การเกิดถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ เพราะ

ในสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์จะมีฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมากระตุ้นให้ฟองไข่ค่อยๆเจริญเติบโตไปจนกระทั่งตกไข่ได้

ดังนั้นหากสามารถป้องกันการเจริญเติบโตของฟองไข่ได้ ก็สามารถป้องกันการเกิดถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ได้

ซึ่งการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฉีดยาคุมกำเนิด จะมีฮอร์โมนจากยาเหล่านี้ไปยับยั้งการพัฒนาฟองไข่ ทำให้ฟองไข่ไม่เจริญเติบโตจนเกิดตกไข่ได้ จึงสามารถใช้ยาเหล่านี้ป้องกันการเกิดถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ได้

 แต่ในชีวิติจริง เนื่องจากถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ไม่ได้มีอันตราย และของเหลวในถุงน้ำฯสามารถถูกร่างกายดูดซึมให้หายไปเองได้ ดังนั้นในทางปฏิบัติทั่ว ไปจึงไม่มีการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือยาฉีดคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำนี้

ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์กลายเป็นมะเร็งหรือไม่?

ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ ‘ไม่กลายเป็นมะเร็ง’

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/253620-overview#showall [2022,Feb5]
  2. https://www.webmd.com/women/guide/ovarian-cysts [2022,Feb5]