ถุงน้ำรังไข่แตก (Ruptured ovarian cyst)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ถุงน้ำรังไข่แตกคืออะไร?

ภาวะถุงน้ำรังไข่แตก(Ruptured ovarian cyst หรือ Ovarian cyst rupture) เป็นภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)อย่างหนึ่งของการมีถุงน้ำรังไข่(ถุงน้ำฯ)จากถุงหุ้มถุงน้ำฯเกิดการปริแตก ที่เกิดได้กับถุงน้ำฯชนิดต่างๆทุกชนิด เช่น Dermoid cyst, Chocolate cyst, Follicular cyst, Corpus luteum cyst, Serous cyst หรือ Mucinous cyst แล้วทำให้เกิดอาการปวดท้องเฉียบพลันตามมา และผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

ถุงน้ำรังไข่ที่มีผิวบาง/ถุงหุ้มถุงน้ำ/ผนังถุงน้ำบาง มีโอกาสแตกมากกว่าถุงน้ำรังไข่ที่มีผนังหนาหรือที่มีพังผืดเกาะแน่นในถุงน้ำ ซึ่งในความเป็นจริง สตรีวัยเจริญพันธุ์ทุกคนมีการแตกของรังไข่ในทุกรอบเดือน เพราะทุกรอบเดือนจะมีฟองไข่หลุดออกมาจากรังไข่เพื่อรอรับการปฏิสนธิจากเชื้ออสุจิ นั่นคือมีการแตกที่ผิวรังไข่ทุกเดือน แต่ส่วนมากไม่มีอาการผิดปกติ อาจมีอาการปวดท้อง/ปวดท้องน้อยด้านที่ผิวรังไข่แตกเล็กน้อย ซึ่งมักเป็นช่วงกลางรอบเดือน ที่เรียกว่า Mittelschmerz ซึ่งแต่ไม่ค่อยก่อปัญหา เนื่องจากตำแหน่งที่แตกของผนังรังไข่มีขนาดเล็ก และไม่ได้มีอันตรายจนทำให้เส้นเลือด/หลอดเลือดฉีกขาด

 

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดการแตกของถุงน้ำรังไข่?

ถุงน้ำรังไข่แตก

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ถุงน้ำรังไข่แตก ได้แก่

1. อุบัติเหตุ หรือ การได้รับการกระทบกระแทกบริเวณหน้าท้อง

2. การได้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้มีโอกาสเลือดออกง่ายแต่หยุดยากจากหลอดเลือดที่ผนังรังไข่

3. ถุงน้ำฯที่โตเร็ว

4. ถุงน้ำฯที่เป็นเนื้อร้าย ได้แก่ถุงน้ำที่เป็นมะเร็ง เพราะถุงน้ำฯจะมีการโตได้เร็ว

 

ถุงน้ำรังไข่แตกมีอาการอย่างไร?

อาการจากถุงน้ำรังไข่แตก ได้แก่

1. ปวดท้องน้อย เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด อาการปวดอาจมีเพียงเล็กน้อย จนถึงมีอาการปวดมากได้ เนื่องจากเมื่อมีการแตกของถุงน้ำรังไข่ จะทำให้มีสารในถุงน้ำรังไข่ หรือเลือดไหลออกมาระคายเคืองเยื่อบุช่องท้อง ทำให้เกิดมีอาการปวดขึ้น ดังนั้น อาการจะมากหรือน้อยจึงขึ้นกับความรุนแรงของการฉีกขาดของผนังถุงน้ำฯ

2. อาการ เหนื่อย วิงเวียนศีรษะ จะเป็นลม จากการเสียเลือด หากตำแหน่งการแตกของถุงน้ำฯไปทำอันตรายต่อเส้นเลือดพอดี อาการอาจคล้ายการแตกของการตั้งครรภ์นอกมดลูก/ท้องนอกมดลูก

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อถุงน้ำรังไข่แตก?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักไม่รู้ว่ามีการแตกของถุงน้ำรังไข่เกิดขึ้น แต่จะมีอาการปวดท้องน้อยอย่างมากหรือผิดปกติ ดังนั้นหากผู้ป่วยเคยทราบจากการวินิจฉัยของแพทย์แล้วว่า มีถุงน้ำรังไข่ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีอาการปวด และหากเกิดอาการปวดท้องน้อยขึ้นฉับพลัน/เฉียบพลัน ต้องคิดถึงว่า น่าจะมีภาวะแทรกซ้อนของถุงน้ำรังไข่ เช่น ถุงน้ำฯการแตก หรือมีถุงน้ำฯ/รังไข่บิดขั้ว หรือเกิดมีเลือดออกในถุงน้ำรังไข่ ซึ่งหากมีอาการดังกล่าว ควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลด่วน/ฉุกเฉินเพื่อการตรวจรักษา

 

แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำรังไข่แตกอย่างไร?

ความสำคัญของการที่แพทย์ต้องวินิจฉัยโรคถุงน้ำรังไข่แตกให้ได้ถูกต้อง คือ บางครั้งอาการคล้ายกับมีการแตกของการตั้งครรภ์นอกมดลูก/ท้องนอกมดลูกซึ่งต้องรักษาโดยการผ่าตัด ดังนั้น แพทย์จึงต้องมีความรอบคอบในการวินิจฉัยโรคที่ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

ก.ประวัติทางการแพทย์: ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่งอย่างเฉียบพลัน หากมีประวัติเคยมีถุงน้ำรังไข่อยู่ก่อนแล้วหรือมีประวัติเคยคลำได้ก้อนที่ท้องน้อย จะช่วยการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้มาก

ข. การตรวจร่างกาย: การตรวจสัญญาณชีพจะพบความผิดปกติหากมีการเสียเลือดมากจากการมีเส้นเลือดฉีกขาดร่วมด้วย(เช่น ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ) หากมีอาการปวด สามารถตรวจพบชีพจรเต้นเร็วได้เช่นกัน, มีการกดเจ็บที่ท้องน้อยข้างที่มีถุงน้ำฯแตก, หรือมีการเกร็งที่หน้าท้อง, การฟังเสียงเคลื่อนไหวของลำไส้ด้วยหูฟังจะพบเสียงเคลื่อนไหวลำไส้ลดลง, การตรวจภายในจะกดเก็บที่ปีกมดลูกด้านที่มีการแตกของถุงน้ำฯ และอาจคลำได้ก้อนที่ปีกมดลูกหากถุงน้ำรังไข่บางส่วนยังเหลืออยู่ นอกจากนั้นจะตรวจพบการโปร่งตึงที่ Cul de sac(ถุงโปร่งที่อยู่ระหว่างมดลูกกับลำไส้ใหญ่)

ค.การตรวจสืบค้นเพิ่มเติม: ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแยกถุงน้ำรังไข่แตกไม่ได้จากภาวะการตั้งครรภ์นอกมดลูก ต้องมีการตรวจปัสสาวะว่า ผู้ป่วยไม่มีการตั้งครรภ์ก่อน นอกจากนั้นที่สำคัญ คือ การตรวจอัลตราซาวด์ท้องน้อย จะพบของเหลวในช่องเชิงกราน หรือพบมีถุงน้ำรังไข่

 

แพทย์รักษาถุงน้ำรังไข่แตกอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่แตก ได้แก่

1. การเฝ้าสังเกตอาการ(Observation): โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วย เฝ้าสังเกตอาการตนเองที่บ้าน ซึ่งวิธีการนี้ ใช้ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่า เป็นการแตกของถุงน้ำฯที่เกิดขึ้นตามรอบประจำเดือนปกติ (Functional cyst) เช่น Follicular cyst หรือ Corpus luteum cyst ที่ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องเล็กน้อยและไม่มีการฉีกขาดของเส้นเลือดที่ทำให้เลือดออกมากในช่องท้อง

2. ผ่าตัดเย็บซ่อมรอยแตกที่ผิวรังไข่ ในกรณีที่ เป็น Follicular cyst หรือ Corpus luteum cyst แตกถูกบริเวณที่มีเส้นเลือด แล้วทำให้มีเลือดออกในช่องท้องมาก

3. ผ่าตัดออกเฉพาะถุงน้ำรังไข่(Ovarian cystectomy) หรือ ตัดรังไข่ด้านที่มีการแตกออกทั้งรังไข่(Oophorectomy) หรือตัดทั้งรังไข่และท่อนำไข่ (Salpingo-oophorectomy)ด้านมีอาการในกลุ่มที่เป็น ถุงน้ำช็อคโกแลต(Chocolate cyst) ถุงน้ำเดอร์มอยด์(Dermoid cyst) หรือถุงน้ำฯอื่นๆที่ไม่ได้เป็นมะเร็งรังไข่ หรือ Functional cyst เพราะแม้ไม่มีเลือดออก ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีอาการปวดท้องมาก เพราะของเหลวในถุงน้ำฯเหล่านั้นจะระคายเคืองมากต่อเยื่อบุช่องท้อง

4. ผ่าตัดมดลูกพร้อมรังไข่ ในกรณีที่ถุงน้ำรังไข่เป็นมะเร็งรังไข่

 

มีวิธีป้องกันถุงน้ำรังไข่แตกหรือไม่?

สามารถป้องกันถุงน้ำรังไข่แตกได้เฉพาะกลุ่มที่เป็น Functional ovarian cyst เพราะการไม่มีการตกไข่ เป็นการลดความเสี่ยงในการทำให้ถุงน้ำรังไข่ชนิดนี้แตก ดังนั้นการให้ป้องกันการตกไข่ เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การใช้ยาฉีดคุมกำเนิด จะช่วยป้องกันการแตกของถุงน้ำรังไข่กลุ่มนี้ได้ แต่ยังไม่มีวิธีป้องกันการแตกของถุงน้ำรังไข่กลุ่มอื่นๆ

 

เมื่อเคยมีถุงน้ำรังไข่แตกสามารถมีประจำเดือนได้ตามปกติหรือไม่?

การแตกของถุงน้ำรังไข่ หากได้รับการเย็บซ่อมแซมแล้ว หรือตัดถุงน้ำรังไข่ออกไปแล้ว หรือมีการตัดรังไข่ออกไปบางส่วน รังไข่ส่วนที่เหลือยังสามารถผลิตฮอร์โมนเพศได้ตามปกติ จึงสามารถมีประจำเดือนได้ตามปกติ หรือหากมีการตัดรังไข่ไป 1 ข้าง และเหลือรังไข่ไว้เพียง 1 ข้าง รังไข่ข้างที่เหลือ ก็ยังสามารถสร้างฮอร์โมนเพศได้อย่างเพียงพอ และยังสามารถตั้งครรภ์ และใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับสตรีทั่วไป

 

หากตั้งครรภ์หลังรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่แตกแล้วต้องผ่าตัดคลอดหรือไม่?

หลังผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ออกไป และเย็บซ่อมแซมรังไข่แล้ว หากมีการตั้งครรภ์ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดบุตร เพราะการผ่าตัดที่รังไข่ ไม่ได้ทำให้เกิดบาดแผลที่กล้ามเนื้อมดลูก สตรีตั้งครรภ์สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติเช่นเดียวกับสตรีทั่วไป

 

บรรณานุกรม

  1. http://emedicine.medscape.com/article/253620-overview [2017,Feb11]
  2. https://www.uptodate.com/contents/evaluation-and-management-of-ruptured-ovarian-cyst?s [2017,Feb11]