ตาสั้นเทียม (Pseudomyopia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 5 เมษายน 2564
- Tweet
- ตาสั้นเทียมคืออะไร? เกิดได้อย่างไร?
- ตาสั้นเทียมมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดตาสั้นเทียม?
- ตาสั้นเทียมมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยตาสั้นเทียมได้อย่างไร?
- รักษาดูแลตนเองและป้องกันตาสั้นเทียมอย่างไร?
- ตาสั้นเที่ยมมีผลข้างเคียงและมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- สรุปข้อแนะนำ
- โรคตา(Eye disease)
- สายตาผิดปกติ(Refractive error)
- สายตาสั้น (Nearsighted)
- สายตายาว (Farsighted)
- สายตาผู้สูงอายุ(Presbyopia)
- สายเอียง(Astigmatism)
- โรคตาที่มากับคอมพิวเตอร์ (Computer Vision Syndrome/CVS)
- ยูเวียอักเสบ(Uveitis)
ตาสั้นเทียมคืออะไร? เกิดได้อย่างไร?
ตาสั้นเทียม หรือ สายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia) เป็นภาวะสายตาสั้นที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อในเนื้อเยื่อ Ciliary body ในลูกตาที่ใช้ในการเพ่งมองใกล้/เพ่งมองสิ่งที่อยู่ใกล้ตา (Accommo dation) ทำงานมากเกินไปจนเกิดการเกร็งค้าง (Spasm) กล่าวคือ ในภาวะปกติตาคนเราที่มองวัตถุได้ชัดทั้งไกลและใกล้ เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดนี้ ทำให้แก้วตาเพิ่มกำลังการหักเหของแสงอันจะทำให้วัตถุที่อยู่ใกล้ไปโฟกัส (Focus,จุดรวม) ที่จอตาได้ ซึ่งเวลามองไกลกล้ามเนื้อมัดนี้จะคลายตัว แต่เวลามองใกล้จะหดตัวเกร็งตัวเพื่อเพิ่มกำลังของแก้วตา เกิดภาวะสายตาสั้นที่ทำให้มองใกล้ได้ชัดเจน
ผู้ใดที่จ้องมองใกล้อยู่นานๆ กล้ามเนื้อนี้จะทำงานอยู่นานกว่าปกติ จึงเกิดภาวะสายตาสั้นค้างอยู่ เมื่อมองไกลจึงยังอยู่ในภาวะสายตาสั้น ทำให้มองภาพไกลไม่ชัด ซึ่งมักเป็นอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ถ้ากล้ามเนื้อนี้คลายตัว สายตาก็จะกลับมาเหมือนเดิม ดังนั้นภาวะนี้จึงถือว่าเป็นสายตาสั้นเทียมหรือสายตาสั้นชั่วคราว ซึ่งแพทย์หลายๆท่านมีความเห็นว่า ในบางคนอาจจะกลายจากสายตาสั้นเทียมหรือสั้นชั่วคราวกลายเป็นสายตาสั้นจริงและสั้นตลอดก็ได้
เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับการเพ่งของตาคนเราที่จำเป็นต้องใช้อยู่ตลอดเวลาในการมองวัตถุที่ใกล้กว่า 20 ฟุตลงมาจนถึงระยะอ่านหนังสือ, ใช้คอมพิวเตอร์, ใช้มือถือ, คือประมาณ 1 ฟุต ขอเปรียบเทียบว่าตาคนที่สายตาปกติ (ไม่สั้น) มีกำลังการหักเหของแสง + 60 D/Diopter (เกิดจากกระจกตา + 40 D และจากแก้วตา + 20 D) ทำให้เห็นวัตถุที่ 20 ฟุตมาโฟกัสที่จอตาพอดี จึงเห็นวัตถุที่ไกล 20 ฟุตได้ชัดเจน แต่ในขณะที่คนสายตาสั้น 300 (3 D) มีกำลังหักเหของแสง + 63 D (มากกว่าคนปกติไป + 3 D) วัตถุที่ 20 ฟุตจึงไม่โฟกัสที่จอตา จึงเห็นวัตถุที่ 20 ฟุตไม่ชัดเจน คราวนี้คนที่สายตาปกติเมื่อต้องการอ่านหนังสือที่ระยะ 1 ฟุต เมื่อระยะวัตถุใกล้เข้ามา กำลังหักเหของแสงต้องเพิ่มขึ้นถึงจะโฟกัสที่จอตาพอดี จึงต้องการกำลังหักเหของแสง + 63 D ซึ่งทำได้โดยการเพ่งของกล้ามเนื้อ Ciliary body (คือการเพ่ง = Accommodation) ซึ่งทำได้โดยอัตโนมัติในตาของคนที่อายุ 40 ปีลงมา นั่นคือคนปกติเมื่อมองใกล้ มีกำลังหักเหของแสงเป็น + 63 D ซึ่งเท่ากับคนสายตาสั้น 300 นั่นคือ คนปกติเมื่อมองใกล้จะกลายเป็นคนสายตาสั้นทันที ด้วยกระบวนของตาคนปกติ เมื่อคนปกตินั้นมองไกล กล้ามเนื้อจะคลายตัวทำให้กลับมีกำลังหักเหของแสงเป็น + 60 D จึงมองไกลได้ชัด แต่มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งกล้ามเนื้อมัดนี้คลายตัวช้าหรือไม่ยอมคลายตัว จึงยังคงมีกำลังฯ + 63 D ซึ่งเมื่อมองไกลจึงไม่ชัด หากทิ้งระยะเวลายาวขึ้น กำลังฯจะลดลงสู่ปกติคือ + 60 D ภาวะสายตาสั้นนี้จึงเป็นชั่วคราวไม่ใช่ตาสั้นจริง จึงเรียกกันว่าสายตาสั้นเทียม
ตาสั้นเทียมมีสาเหตุจากอะไร?
การที่กล้ามเนื้อ Ciliary body ทำงานมากหรือไม่คลายตัวจนเป็นสาเหตุให้เกิดตาสั้นเทียมเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น
1. ใช้สายตามองใกล้ เช่น เพ่งมองคอมพิวเตอร์, เล่นเกมส์, ใช้โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ นานเกินไป
2. จากมีโรคสมองที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติชนิด Parasympathetic มากเกินไป เช่น จากอุบีติเหตุที่สมอง
3. มีโรคตาบางอย่างทำให้ Ciliary body ทำงานมากขึ้น เช่น ยูเวียอักเสบ (Uveitis)
4. ผลข้างเคียงจากยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาคลายเครียดในกลุ่ม Phenothiazine, ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน, ยา Chloroquine, ยา Diamox, ตลอดจนยาคลายกล้าม เนื้อต่างๆ และแม้แต่ยาบางตัวที่ใช้รักษาต้อหิน เช่นยา Pilocarpine ก็ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นชั่ว คราวได้ โดยทั่วไปยังขึ้นกับปริมาณยาที่ใช้ (Dose related) ด้วย ยิ่งใช้ปริมาณยามากโอกาสเกิดภาวะนี้ก็ยิ่งสูงขึ้น
5. มีแนวโน้มพบภาวะนี้ได้บ่อยในผู้มีสายตาเอียง (Astigmatism)
6. มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกตา (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของกล้ามเนื้อนอกลูกตา) เช่น มีภาวะตาเข/ตาเหล่ออก เพราะจะเกิดการเพ่งเพื่อให้ตาตรง
อนึ่ง ยังมีภาวะอื่นที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นเทียม แต่ไม่เกี่ยวกับการเพ่ง เช่น เป็นต้อกระจกระยะแรกที่ทำให้เกิด Second sight (การกลับมามองเห็นได้ดีขึ้นกว่าเดิมเมื่อสูงอายุ) หรือ แก้วตาเคลื่อนที่หลังผ่าตัดด้วยบางเทคนิคในโรคจอตาหลุดลอกที่ทำให้ลูกตายาวออก จึงเกิดภาวะสายตาสั้นได้ เป็นต้น
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดตาสั้นเทียม?
ตาสั้นเทียมเป็นภาวะที่เกิดจากการเพ่งมากและนานเกินไป จึงมักพบในเด็กที่ความสามารถ ในการเพ่งยังมีมาก และในผู้ที่ใช้สายตาระยะใกล้มาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ในยุคปัจจุบันมีการใช้อุปกรณ์ IT (Information technology) เช่น มือถือ, I-pad , I-phone, คอมพิวเตอร์ต่างๆ กันมากและใช้กันวันละหลายๆชั่วโมง จึงน่าจะมีภาวะนี้เกิดขึ้นได้สูง แต่ส่วนมากอาจจะเป็นชั่วคราว พักผ่อนแล้วหายไปได้เอง บางรายอาจมีอาการเล็กน้อยซึ่งหายได้เอง มีอยู่บ้างที่มีอาการจนต้องไปพบแพทย์/จักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพราะอาจมีอาการคล้ายๆกับโรคทางกายอื่นๆ ซึ่งส่วน มากพบภาวะนี้ในวัยต่ำกว่า 30 ปีที่เล่นเกมส์, ใช้คอมพิวเตอร์นานๆ ,เพราะเป็นวัยที่มีกำลังเพ่งมาก
กำลังหรือความสามารถในการเพ่งเริ่มมีตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือนจนถึงอายุ 6 - 8 เดือนจะมีกำลังการเพ่งถึงประมาณ 14 D (Diopter), อายุ 15 ปีมีกำลังเพ่งประมาณ 12 D, อายุ 20 ปีมีกำลังเพ่งประมาณ 10 D, อายุ 25 ปีมีกำลังเพ่งประมาณ 8.5 D, อายุ 30 ปีมีกำลังเพ่งประมาณ 7.0 D, อายุ 40 ปีกำลังเพ่งจะลดเหลือ 4.5 D, และลดลงเรื่อยๆ อายุ 45 ปี จะเหลือประมาณ 3.5 D, อายุ 50 ปีเหลือประมาณ 2.5 D, อายุ 60 ปีเหลือประมาณ 1 D, อายุ 75 ปีแทบจะไม่เหลือกำลังเพ่งเลย ซึ่งจะเห็นว่าอายุต่ำกว่า 30 ปีมีกำลังเพ่งมากกว่า 7.0 D จึงสามารถเพ่งได้มาก จึงเป็นกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะนี้
ตาสั้นเทียมมีอาการอย่างไร?
ตาสั้นเทียมอาจจะมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงมีอาการมาก อาการที่พบบ่อย คือ
1 แสบตา ปวดตา บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากจ้องเล่นเกมส์หรือคอมพิวเตอร์นานๆ โดยอาการจะคล้ายภาวะโรคตาที่มากับคอมพิวเตอร์ (Computer vision syndrome)
2 บางครั้งมองไกลไม่ค่อยชัด แต่บางครั้งก็ยังเห็นชัด (พวกสายตาสั้นจริงมักจะมองไกลไม่ชัดตลอดเวลา) โดยเฉพาะเวลามองไกลหลังจากจ้องคอมฯนานๆจะรู้สึกตามัวพักใหญ่ สักครู่ การมองไกลจะกลับมาเห็นชัดเหมือนเดิม หรือพูดง่ายๆระดับสายตาไม่คงที่ บางครั้งมองไกลไม่ชัดบางครั้งชัด
3 ในวัยเด็กแว่นสายตาสั้นที่ใช้มองไกลได้ชัด ควรจะมองใกล้ได้ชัดด้วย หากเป็นแว่นที่ใช้ แก้สายตาสั้นที่เกิดจากสายตาสั้นเทียม มองไกลชัดเจนดี แต่มองใกล้เริ่มไม่ชัดและตามด้วยอา การปวดตา
4 ปวดศีรษะเรื้อรัง บางคนมีอาการคลื่นไส้- อาเจียนร่วมด้วย
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการ” หรือเมื่อมีปัญหาทางสายตา ควรพบแพทย์/จักษุแพทย์เสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ เพราะจะช่วยให้ได้รับผลการรักษาที่ดีโดยเฉพาะ ในกรณี
- ผู้ที่มีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ปีเดียวสายตาสั้นเพิ่มมากกว่า 100
- ผู้มีพฤติกรรมใช้สายตามองใกล้นานๆที่มีอาการปวดตาและ/หรือปวดศีรษะเรื้อรัง
- ผู้มีสายตาสั้นที่มีอาการ ปวดตา ปวดหัว บ่อยๆ เพราะโดยทั่วไปผู้มีสายตาสั้นทั่วไปนั้น มักจะมองไกลไม่ชัด แต่ไม่ค่อยมีอาการปวดหัวและ/หรือปวดตา
แพทย์วินิจฉัยตาสั้นเทียมได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยตาสั้นเทียมได้โดย
1. จากประวัติการใช้สายตาใกล้มากเกินควร เช่น เล่นเกมส์, เล่นคอมฯมาก, ติดมือถือ
2. การตรวจวัดสายตาให้ผลไม่แน่นอน เดี๋ยวเห็นได้ดี เดี๋ยวเห็นไม่ค่อยดี จักษุแพทย์ที่วัดกำลังสายตาด้วยเครื่อง Retinoscope จะพบว่าค่าสายตาที่สั้นเปลี่ยนไปมา เดี๋ยววัดได้ 100 เดี๋ยวเป็น 300 เป็นต้น
3. รูม่านตามักจะเล็กเนื่องจากกระบวนการเพ่งที่เกิดขึ้น นอกจากเพิ่มกำลังแก้วตาแล้ว รูม่านตายังจะเล็กลง และพบมีตาหมุนเข้าใน (Near reflex)
4. คนกลุ่มนี้จะชอบใส่แว่นสายตาสั้นเกินจริง (Over correction) เช่น วัดได้สั้น 300 แต่พอใส่แว่น 400 จะบอกว่าชัดกว่า ทำให้อาจได้แว่นที่กำลังเกินจริงมาใช้ ซึ่งก่อให้เกิดอาการปวด ตาในภายหลัง
5. ตรวจวัดค่าความสามารถการเพ่ง (Accommodation amplitude) มักจะได้ค่าปกติ
6. เปรียบเทียบค่าสายตาที่วัดก่อนและหลังหยอดยาที่ลดการเพ่ง (Cycloplegic) จะได้ผล ตรวจต่างกัน โดยก่อนหยอดยาค่าจะสูงกว่าหลังหยอด ซึ่งค่าที่ต่างกันเป็นค่าสายตาสั้นเทียม
รักษาดูแลตนเองและป้องกันตาสั้นเทียมอย่างไร?
แนวทางการรักษาการดูแลตนเองและการป้องกันตาสั้นเทียมได้แก่
1. ลดงานที่ต้องมองใกล้ลงเพื่อลดการเพ่ง หรือมีเวลาพักสายตาเป็นระยะๆเมื่อใช้สายตาใกล้ เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ใช้เพ่งคลายตัวและได้พักผ่อน แพทย์บางท่านแนะนำให้ใช้สูตร 20 : 20 : 20 คือใช้งานเพ่ง 20 นาที มองไกล 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที หรืออาจพักสายตา 1 นาทีทุกครึ่งชั่วโมง หรือบางท่านแนะนำใช้สายตา 1 ช.ม. แล้วพักสายตา 5 - 10 นาที เป็นต้น
2. ไม่ใช้สายตาเล่นเกมส์ในที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอหรือเพ่งหนังสือตัวเล็กมาก ซึ่งจะกระ ตุ้นการเพ่ง
3. หากการเพ่งเกิดจากสาเหตุอื่นๆที่กล่าวข้างต้น ต้องรักษาที่ต้นเหตุเช่น หากใช้ยา ต้อหินในกลุ่ม Pilocarpine ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการผิดปกติทางตา เพื่อแพทย์ปรับเปลี่ยน เป็นยากลุ่มอื่น
4. ลดกำลังแว่นสายตาลง ให้ใช้แว่นที่มีกำลังตามค่าสายตาจริง ซึ่งในผู้ป่วยบางราย การลดกำลังแว่นลงทันทีอาจทำให้ผู้ป่วยมองไกลไม่ชัด อาจต้องลดกำลังแว่นลงทีละน้อย จนหมดกำลังของสายตาเทียมเช่น ใส่แว่นอยู่ 300 สายตาจริง 100 อาจจะลดมาเป็น 200 ก่อนแล้วค่อยๆ ลดมาถึง 100 ในภายหลัง
5. บางรายอาจต้องใช้แว่นสายตามองใกล้ (เลนส์บวก) เวลาทำงานใกล้เช่นเดียวกับผู้สูงอายุเพื่อลดอาการเพ่งชั่วคราวทั้งๆที่ยังไม่มีภาวะสายตาผู้สูงอายุ (Presbyope)
6. บางรายแพทย์อาจต้องใช้ยากลุ่ม Cycloplegic หยอดตาเพื่อลดการเพ่งเป็นระยะๆ จน กว่าสายตาจะคงที่ ไม่มีสายตาสั้นเทียมอีก
7. มีผู้สังเกตพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะสายตาสั้นเทียมมักจะมีบุคลิกที่ขี้กังวล มีความเครียดง่าย จึงต้องดูแลตนเองในด้านอารมณ์/จิตใจด้วย ถ้ามีปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจมาก อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือปรึกษานักจิตวิทยา
ตาสั้นเที่ยมมีผลข้างเคียงและมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ตาสั้นเทียมมีผลข้างเคียงและมีการพยากรณ์โรค ดังนี้
1. ก่อให้เกิดภาวะ ตาแห้ง ตาแดง เรื้อรัง
2. บั่นทอนการเรียนการทำงานประจำเนื่องจาก ปวดตา ปวดหัว เรื้อรัง
3. อาจนำไปสู่ตาสั้นจริงหรือสายตาสั้นมากขึ้นๆได้
4. ด้วยเหตุที่กระบวนการเพ่งที่เรียกว่า Near reflex ประกอบด้วย กำลังทำงานของ แก้วตาเพิ่มขึ้น รูม่านตาเล็กลง ร่วมกับลูกตาหมุนเข้าใน การเพ่งนานๆอาจทำให้กล้ามเนื้อกลอกตาผิดปกติ (Muscle imbalance) ทำให้มีภาวะตาเขเข้าใน (Esophoria) ได้ ทั้งนี้เพราะระดับค่าสายตา การเพ่ง และการทำงานของกล้ามเนื้อกลอกตา มักจะสัมพันธ์กันเสมอ
สรุปข้อแนะนำ
แม้ภาวะตาสั้นเทียมจะไม่ก่อให้เกิดผลอะไรที่ร้ายแรงมากนัก แต่ก็บั่นทอนความสามารถ ตลอดจนประสิทธิผลของงาน และอาจมีสาเหตุจากโรคตาอื่นๆได้ จึงควรพบจักษุแพทย์เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่นอน เพราะถ้าเป็นตาสั้นเทียมจากการเพ่งมาก การแก้ไขทำได้ไม่ยาก และถ้าอาการไม่ใช่เกิดจากตาสั้นเทียมจากการเพ่ง การรักษาสาเหตุนั้นๆแต่เนิ่นๆจะช่วยให้ผลการรักษาโรคตานั้นๆดีขึ้น
อนึ่ง แว่นตาคู่แรกควรให้หมอตา/จักษุแพทย์เป็นคนตรวจตาและวัดสายตาที่เหมาะสม วัดโดยหยอดยาลดการเพ่ง เพราะนอกจากตรวจสายตาแล้วยังได้ตรวจดูโรคอื่นๆของตา โดย เฉพาะการทำงานของกล้ามเนื้อกลอกตาร่วมไปด้วย