13. ตลาดคลินิกทันตกรรม - ตอนที่ 1

ตลาดคลินิกทันตกรรม

ประมาณการของมูลค่าตลาด (Market size) ทันตกรรมในประเทศไทย สูงถึง 6 พันล้านบาท โดยที่เม็ดเงินตลาดในส่วนของคลินิกทันตกรรม (Dental clinic) เอกชนอยู่ที่ 94% ส่วนอีก 6% เป็นของคลินิกทันตกรรมที่อยู่ในโรงพยาบาล ธุรกิจคลินิกทันตกรรม สามารถแบ่งตลาด (Segmentation) ออกเป็น 3 ส่วน ตามจำนวนสถานทำฟัน อันประกอบด้วย

  • ทันตกรรมบูรณะ (Restorative) มีส่วนแบ่งทางตลาด 15%
  • ทันตกรรมเพื่อความสวยงาม (Aesthetic) มีส่วนแบ่งทางตลาด 19% และ
  • ทันตกรรมป้องกันรักษา (Preventive) มีส่วนแบ่งทางตลาด 66%

ช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดหนักของโควิด-19 ส่งผลให้บริการทันตกรรม ในคลินิกทันตกรรม หรือร้านหมอฟันทุกแห่ง ต้องงดให้บริการหัตถการบางรายการ เช่น การอุดฟัน (Filling), การขูดหินปูน (Scaling), การผ่าฟันคุด (Wisdom-tooth removal), และการรักษารากฟัน (Root-canal treatment)

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มของคลินิกทันตกรรมต่างๆ ก็ได้มีการปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการรักษาฟันและดูแลฟันให้แก่ผู้มาใช้บริการ เช่น หุ่นยนต์ (Robot) และ โทรเวชกรรม (Tele-medicine) หรือนวัตกรรม (Innovation) ที่ทำให้อุปกรณ์ทางการแพทย์สามารถอยู่ในช่องปากได้นาน แต่ต้องมีความปลอดภัยต่อผู้มารับบริการ

อันที่จริง บทเรียนจากการแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ของไวรัสโควิด-19 ทำให้คลินิกทันตกรรม กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินการอยู่ได้ เพียงแต่ในประเทศไทย พบว่ากว่า 90% ต้องนำนวัตกรรม, เทคโนโลยี, และอุปกรณ์-เครื่องมือ มาจากต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นการบริการทันตกรรมให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น โรงเรียนทันตกรรมยุคใหม่ จึงต้องสร้างทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านทักษะอาชีพ, ความรู้และความสามารถด้านวิศวกรรม, การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม, และมีความเป็นผู้ประกอบการ (กล่าวคือ หากไม่ต้องการเป็นลูกจ้างในโรงพยาบาล ก็สามารถสร้างอาชีพที่เป็นเจ้าของกิจการเอง)

ทันตแพทย์ในยุคใหม่ ไม่ใช่ทำหน้าที่ถอนฟัน (Extraction), อุดฟัน, และรักษาฟันเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถผันตัวเองไปประกอบอาชีพได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย, นวัตกร, ผู้ประกอบการ (Entrepreneur), หรือ ผู้บริหารโรงพยาบาล จึงจำเป็นที่ต้องมีความรู้และทักษะหลากหลายรอบด้าน (Well-rounded)

ปัจจัยทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การยกระดับทันตแพทย์ของไทยด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการยกระดับเข้าสู่ “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” (Medical Hub) อันเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล แต่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน (ASEAN = Association of South-East Asian Nations) ก็ต้องการเข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งชิงความเจ้าศูนย์กลางดังกล่าว ด้วย

ดังนั้น หลังการสิ้นสุดของไวรัสโควิด-19 สภาพการแข่งขัน (Competitive) คาดว่า จะรุนแรงขึ้นทั้งในและนอกประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้คลินิกทันตกรรมแต่ละแห่ง ต้องปรับตัวด้วยกลยุทธ์และการทำตลาด (Marketing) เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งของตลาด

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.bangkokbiznews.com/social/964164  [2023, March 31].
  2. http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2014/TU_2014_5602115155_1243_332.pdf [2023, March 31].