13. ตลาดคลินิกทันตกรรม - ตอนที่ 3

กลุ่มประเทศ CLMV (C = Cambodia, L = Laos, M = Myanmar, และ V = Vietnam) ยังมีการพัฒนาทางด้านการแพทย์ที่ล้าหลังประเทศไทย ดังนั้น ไทยจึงกลายเป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านการรักษาพยาบาล (Medical hub) ของอาเซียน (ASEAN) โดยมีผู้ใช้บริการที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน (Neighboring)

การรวมตัวกันภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asian Economic Community: AEC) เสมือนเป็นประเทศเดียวกัน ทำให้มีประชากรรวมทั้งหมดประมาณ 580 ล้านคน พบว่ากลุ่มประเทศอาเซียนจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ภายใน 30 ปี ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุเป็นโอกาสให้แก่ธุรกิจคลินิกทันตกรรม (Dental clinic) ด้วย

กลุ่มผู้ใช้บริการสูงอายุ ส่วนมากจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ประกอบกับธุรกิจด้านการแพทย์ (ซึ่งรวมถึงด้าน ทันตกรรมด้วย) ยังเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการคลินิกทันตกรรมในอนาคตเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสให้แก่ธุรกิจ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลจากการเปิดเสรีทางการค้าก็ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีใน 7 สาขาวิชาชีพ ซึ่งรวมทันตแพทย์ด้วย

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ประเทศไทยได้มีการลงนามข้อตกลง MRA (= Mutual Recognition Arrangement) ในวิชาชีพทันตแพทย์ มีสาระสำคัญคือ จะต้องอำนวยความสะดวก ให้กับทันตแพทย์ที่ต้องการเคลื่อนย้ายไปทำงานประเทศอื่น ในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ในอีกมิติหนึ่ง ตลาดทันตกรรมในประเทศ มีสถานประกอบการจำนวนมากในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวนทันตแพทย์ มากกว่า 50% ของทันตแพทย์ทั้งหมด แสดงสภาวะการแข่งขัน (Competition) ที่เริ่มจะรุนแรงมากขึ้น และส่งผลให้คลินิกทันตกรรมแต่ละแห่งต้องมีกลยุทธ์ (Strategy) และวิธีดำเนินการ เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่กลุ่มผู้ใช้บริการ เหนือความสามารถของคู่แข่งขัน

ประเทศไทยมีจุดเด่นในด้านการให้บริการ คุณภาพของบุคลากร (ซึ่งก็คือทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ) และราคาที่เหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ให้บริการด้านการแพทย์ที่สำคัญ 3 ประเทศด้วยกัน อันได้แก่ ไทย, สิงคโปร์, และมาเลเซีย แต่ไทยยังมีกระบวนการทำการตลาด (Marketing) และนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐที่ไม่ชัดเจน

ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย รายงานว่า รัฐบาลสิงคโปร์ให้การสนับสนุนเพื่อให้ประเทศของตนกลายเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติ และมีการประสานงานอย่างเป็นระบบจากภาคเอกชน มีแผนการตลาดและการวางตำแหน่ง (Positioning) ทางการตลาดที่ชัดเจน โดยมีกระบวนการ (Process) ทำตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดภูมิภาค (Regional)

จากการศึกษาข้อมูลและงานวิชาการจากแหล่งต่างๆ พบว่า ไทยเองมีการศึกษาเกี่ยวกับกลยุทธ์, ส่วนผสมทางการตลาด (Marketing mix), และการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือในด้านทันตกรรม น้อยมาก โดยส่วนมากจะเป็นการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative analysis) ในระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์โดยรวม

ดังนั้น อุตสาหกรรมด้านการแพทย์โดยเฉพาะในธุรกิจด้านทันตกรรม จึงขาดแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดที่จะสามารถนำไปใช้ได้ (Implementation) อย่างเป็นรูปธรรม อันที่จริง ต้องมีการสร้างประโยชน์จากจุดแข็งและปรับปรุงจุดอ่อน ในการเตรียมความพร้อมให้กับคลินิกทันตกรรม, ศูนย์ทันตกรรม, หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถแข่งขันได้ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

แหล่งข้อมูล

  1. http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2014/TU_2014_5602115155_1243_332.pdf [2023, April 14].
  2. https://investasean.asean.org/index.php/page/view/asean-economic-community/view/670/newsid/755/about-aec.html#:~:text=The%20AEC%20is%20the%20realisation,integrated%20into%20the%20global%20economy. [2023, April 14].