ดูล็อกซีทีน (Duloxetine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 ดูล็อกซีทีน (Duloxetine) คือ ยาในกลุ่ม Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor (SNRI) ทางคลินิกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์บำบัดรักษาโรคซึมเศร้า, โรควิตกกังวล, กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน, และอาการปวดด้วยมีเหตุจากเส้นประสาท, โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมองโดยทำให้เกิดสมดุลของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Serotonin และ Norepine phrine ส่งผลปรับระดับอารมณ์และความเจ็บปวดของร่างกายทำให้ผู้ป่วยรู้สึกบรรเทาลง

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาดูล็อกซีทีนจะเป็นยาแคปซูลชนิดรับประทาน มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ดี และกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 32 - 80% เมื่อยาเข้าสู่กระแส    เลือดจะเกิดการจับตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 95% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้าง    ของตัวยาอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 12.1 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระ  แสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและบางส่วนผ่านไปกับอุจจาระ

มีข้อมูลบางประการที่แพทย์ต้องนำมาประกอบการตัดสินใจก่อนจ่ายยาดูล็อกซีทีนให้กับผู้ป่วย เช่น

  • เคยแพ้ยานี้หรือไม่
  • วัย/อายุของผู้ป่วย: การใช้ยาดูล็อกซีทีนรักษาอาการวิตกกังวลในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 7 ปีมักไม่ค่อยเกิดประสิทธิผลเท่าใดนัก หรือการใช้ยากับผู้สูงอายุจะต้องระวังเรื่องผลกระทบ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอายุอื่น
  • หากเป็นสตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร แพทย์มักจะไม่ค่อยสั่งจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยด้วยยังขาดการศึกษาถึงความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • เคยมีประวัติเป็นโรคลมชัก โรคหัวใจชนิดต่างๆ โรคความดันโลหิตสูง มีภาวะเลือดออกง่าย โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคทางเดินกระเพาะอาหาร-ลำไส้/โรคทางเดินอาหาร   โรคต้อหิน หรือไม่ ด้วยการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวข้างต้นอาจส่งผลกระทบต่ออาการป่วยจากโรคดังกล่าวให้ทวีความรุแรงมากขึ้น
  • มียาอื่นใดที่รับประทานอยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่ ด้วยยาอื่นๆหลายรายการอาจเกิดปฏิกิริยาระ หว่างยากับยาดูล็อกซีทีนได้ เช่น ยาแก้ปวด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาขับปัสสาวะ  ยาความดัน   ยาปฏิชีวนะบางประเภท เป็นต้น

ทั้งนี้หลังจากจ่ายยาดูล็อกซีทีนให้กับผู้ป่วย แพทย์จะมีข้อแนะนำบางประการเพิ่มเติมที่ผู้ป่วยควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดอาทิเช่น

  • หากเกิดอาการวิงเวียนหลังใช้ยาดูล็อกซีทีนควรนั่งพักหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้าๆและหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักร
  • อาจเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำซึ่งผู้ป่วยควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตัวผู้ป่วยเองโดยเด็ดขาด
  • ยานี้ยังอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย การทำงานของตับเปลี่ยนไป ระดับน้ำตาลในเลือดเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่เกิดภาวะอาการทางผิวหนังที่เรียกว่า Steven-Johnson syndrome ซึ่งผู้ป่วยต้องคอยสังเกตอาการเหล่านี้ระหว่างการใช้ยาดูล็อกซีทีน และต้องรีบพบแพทย์/มาโรง พยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉินเมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น

ยาดูล็อกซีทีนที่มีจำหน่ายในประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษ มักไม่ค่อยพบเห็นตามร้านขายยาทั่วไป มักจะพบการใช้กันแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ดูล็อกซีทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ดูล็อกซีทีน

ยาดูล็อกซีทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น      

  • บำบัดอาการโรคซึมเศร้า (Depression)
  • รักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (Fibromyalgia)
  • รักษาอาการโรควิตกกังวล (Generalized anxiety disorder)
  • รักษาอาการปวดจากเส้นประสาท (Painful neuropathy)

ดูล็อกซีทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาดูล็อกซีทีนคือ ตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Serotonin และ Norepinephrine ในสมอง นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มปริมาณของสารสื่อประสาทซึ่งมีชื่อว่า Dopamine และทำให้สารสื่อประสาทตัวนี้ซึมเข้าสู่สมอง เกิดการสร้างสมดุลของสารสื่อประสาท และยาดูล็อกซีทีนยังช่วยลดปริมาณสารสื่อประสาทที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดอย่างเช่น สาร Cytokine อีกด้วย จากกลไกที่ได้กล่าวมาทั้งหมดส่งผลก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ดูล็อกซีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดูล็อกซีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 20, 30, 40 และ 60 มิลลิกรัม/แคปซูล

ดูล็อกซีทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาดูล็อกซีทีนมีขนาดรับประทานขึ้นกับชนิดของอาการและตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาในบางอาการ เช่น

ก. สำหรับอาการซึมเศร้า: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นครั้งละ 20 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 60 มิลลิกรัมวันละครั้ง หรือแบ่งรับประทานครั้งละ 30 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง ขนาดรับประ ทานสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจปรับให้ประทานวันละ 30 มิลลิกรัมเป็นเวลา 1 สัปดาห์ก่อนที่จะเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 60 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทานยานี้ของเด็กมิได้ถูกระบุไว้แน่ชัด ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมารับรอง การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข. สำหรับอาการวิตกกังวล: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นครั้งละ 60 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 60 - 120 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจต้องปรับให้รับประทานวันละ 30 มิลลิกรัมเป็นเวลา 1 สัปดาห์ก่อนที่จะเพิ่มขนาดรับ ประทานเป็น 60 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 7 - 17 ปี: รับประทานครั้งละ 30 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้น แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 60 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 30 - 60 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี: ขนาดรับประทานยานี้มิได้ถูกระบุไว้อย่างแน่ชัดด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมารับรอง การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ค. สำหรับอาการปวดกล้ามเนื้อฯ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นครั้งละ 30 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 30 - 60 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทานยานี้ของเด็กมิได้ถูกระบุไว้แน่ชัดด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมารับรอง การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

         อนึ่ง: สามารถรับประทานยาดูล็อกซีทีนก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาดูล็อกซีทีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น  

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดูล็อกซีทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาดูล็อกซีทีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาดูล็อกซีทีนให้ตรงเวลา

ดูล็อกซีทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดูล็อกซีทีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น  

  • ปวดท้อง
  • ผื่นคัน
  • ตาพร่า
  • หนาวสั่น
  • อุจจาระมีสีคล้ำ
  • รู้สึกสับสน
  • ปัสสาวะน้อย
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม
  • กลืนลำบาก
  • เป็นลม
  • ปวดกระบอกตา
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ปวดข้อและปวดกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย
  • แน่นหน้าอก
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • ตาเหลืองและตัวเหลือง

*ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นเลยก็เป็นได้

*อนึ่ง กรณีที่ได้รับยาดูล็อกซีทีนเกินขนาดจะมีอาการ ท้องเสีย มีไข้  กลั้นปัสสาวะไม่อยู่   กล้ามเนื้อหดเกร็ง กระสับกระส่าย การทรงตัวลำบาก เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย และอาเจียน หากพบอาการดังกล่าวควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ดูล็อกซีทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดูล็อกซีทีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับและ/หรือ โรคไตขั้นรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้เองโดยไม่มีการปรึกษาแพทย์
  • เฝ้าระวังในผู้ป่วยช่วงอายุวัยรุ่นด้วยระหว่างการใช้ยานี้อาจมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง
  • หากมีอาการแพ้ยา เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก มีผื่นขึ้นตามตัว ตัวบวม แขน-ขาบวม ให้รีบหยุดการใช้ยานี้แล้วนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดูล็อกซีทีนด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ดูล็อกซีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดูล็อกซีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น 

  • ห้ามรับประทานยาดูล็อกซีทีน ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้เกิดความเสียหาย ที่อวัยวะตับ
  • การรับประทานยาดูล็อกซีทีน ร่วมกับยา Dextromethorphan, Ergotamine หรือ Tramadol อาจทำให้เกิดอาการสับสน มีอาการประสาทหลอน ชัก หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ หรือที่เรียกว่า กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยาดูล็อกซีทีน ร่วมกับยา Phenylephrine อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจทำงานมากขึ้น หากอาการเหล่านี้เกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อาจทำให้อาการรุนแรงจนเป็นอันตราย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การรับประทานยาดูล็อกซีทีน ร่วมกับยา Alprazolam อาจเพิ่มอาการข้างเคียง เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาดูล็อกซีทีนอย่างไร?

ควรเก็บยาดูล็อกซีทีน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ดูล็อกซีทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดูล็อกซีทีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cymbalta (ซัมบัลต้า) Eli Lilly
Irenka (ไอเรนกา) Lupin Pharmaceuticals Inc

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/pro/duloxetine-capsules.html#Section_14.1  [2022,March26]
  2. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/duloxetine-oral-route/description/drg-20067247  [2022,March26]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Duloxetine  [2022,March26]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cymbalta/?type=full#Indications  [2022,March26]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/duloxetine.html  [2022,March26]