คาร์บินอกซามีน (Carbinoxamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 พฤศจิกายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- คาร์บินอกซามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- คาร์บินอกซามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คาร์บินอกซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คาร์บินอกซามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คาร์บินอกซามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คาร์บินอกซามีนอย่างไร?
- คาร์บินอกซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคาร์บินอกซามีนอย่างไร?
- คาร์บินอกซามีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis)
- ยาแก้คัดจมูก (Nasal decongestant)
บทนำ:คือยาอะไร?
คาร์บินอกซามีน (Carbinoxamine หรือ Carbinoxamine maleate) คือ ยาแก้แพ้ที่มุ่งเน้นรักษาอาการภูมิแพ้ต่างๆ เช่น แพ้อากาศ เยื่อจมูกอักเสบ เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ ผื่นคัน และลมพิษที่ขึ้นตามผิวหนัง, รูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นชนิดรับประทาน ทั้งที่เป็นสูตรตำรับยาเดี่ยว และสูตรผสมร่วมกับยาแก้คัดจมูก เช่นยา Pseudoephedrine
ยาคาร์บินอกซามีนมีฤทธิ์ต่อต้านสารฮิสตามีนและสารคลอริเนอร์จิก (Antihistamine and Anticholinergic agents) มีการวางจำหน่ายครั้งแรกในแถบซีกโลกตะวันตก ภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Clistin’ และใช้เป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา
ยาคาร์บินอกซามีน เป็นยาที่สามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาส่วนมากในกระแสเลือดจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีเมื่อผ่านไปยังตับ, ร่างกายต้องใช้เวลา ประมาณ 24 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
กลุ่มผู้ป่วยที่จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากเมื่อต้องการใช้ยาคาร์บินอกซามีน คือ สตรีตั้งครรภ์ ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกระบุว่ายานี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่, สำหรับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรพบว่า ตัวยาคาร์บินอกซามีนสามารถซึมผ่านทางน้ำนมมารดาและส่งผ่านเข้าตัวทารกได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้, นอกจากนั้น ยังไม่ควรใช้ยานี้กับ
- เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา
- ผู้ป่วยที่แพ้ยาชนิดนี้
- ผู้ป่วยที่มีการใช้ยา MAOIs หรือ ยารักษาโรคซึมเศร้าTCAs อยู่ก่อนแล้ว
- กรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังการใช้ยานี้มากขึ้นเช่น ผู้ป่วยโรคหืด โรคต้อหิน โรคต่อมลูกหมากโต โรคต่อมไทรอยด์ โรคหัวใจและหลอดเลือด
อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบบ่อยขณะที่รับประทานยาคาร์บินอกซามีน คือ ง่วงนอน ดังนั้นเมื่อรับประทานยานี้ จึงไม่ควรขับขี่ยวดยานพานะ และ/หรือทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
*สำหรับผู้ที่รับประทานยาคาร์บินอกซามีนเกินขนาด จะสังเกตพบอาการต่างๆ เช่น มีภาวะตัวสั่นของร่างกาย วิตกกังวล ท้องอืด ท้องเสีย เกิดอาการลมชัก วิงเวียน นอนไม่หลับ รู้สึกตัวร้อน รูม่านตาขยายเปิดกว้าง ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน แน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก *หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
*ภาวะได้รับยานี้เกินขนาดนั้น แพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วย โดยตรวจวัดสัญญาณชีพต่างๆนำมาประกอบในการรักษาพยาบาล เช่น ชีพจร อัตราการหายใจ ความดันโลหิต อุณหภูมิของร่างกาย และค่า EKG (การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี) เป็นต้น
การกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียนเพื่อขับเอายานี้ในกระเพาะอาหารออกมาเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง แต่สามารถใช้วิธีล้างท้องหรือใช้ยาถ่านกัมมันต์ร่วมในการรักษาได้
*หากผู้ป่วยมีอาการที่เรียกว่า แอนไทโคริเนอร์จิกในระดับที่รุนแรง (Severe anticholinergic effect, เช่น อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ไม่มีเหงื่ออก ปากคอแห้ง หัวใจเต้นเร็ว ตาพร่า รูม่านตาขยาย ปัสสาวะขัด/ ปัสสาวะไม่ออก) แพทย์อาจต้องใช้ยา Physostigmine ในการช่วยรักษา
ยาคาร์บินอกซามีนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากใช้ผิดวิธี เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคจึงควรใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
คาร์บินอกซามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาคาร์บินอกซามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บำบัดอาการเยื่อจมูกอักเสบ
- อาการแพ้ทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ
- บรรเทาอาการเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้
คาร์บินอกซามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาคาร์บินอกซามีนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อต้านสารฮิสตามีน (Histamine) และสารกลุ่มโคลิเนอร์จิก (Cholinergic, สารที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาท) โดยจะรวมตัวกับตัวรับ (Receptor) ประเภท H1-receptor(Histamine1 receptor) ที่มีอยู่ในผนังเซลล์ของ กระเพาะอาหาร ลำไส้ หลอดเลือด รวมถึงอวัยวะระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้ยับยั้งอาการแพ้ต่างๆ และเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
คาร์บินอกซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคาร์บินอกซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 1.5, 1.75, และ 4 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 4 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Carbinoxamine maleate 6 มิลลิกรัม+ Pseudoephedrine HCl/Hydrochloride 60 มิลลิกรัม/เม็ด
คาร์บินอกซามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาคาร์บินอกซามีนมีขนาดรับประทาน: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 4 – 8 มิลลิกรัม, วันละ 3 – 4 ครั้ง
- เด็กอายุ 6 – 11 ปี: รับประทานครั้งละ 2 – 4 มิลลิกรัม, วันละ 3 – 4 ครั้ง
- เด็กอายุ 2 – 5 ปี: รับประทาน 0.2 – 0.4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 2ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*อนึ่ง:
- ยานี้รับประทาน ก่อนหรือหลัง อาหารก็ได้
- ขนาดรับประทานสูงสุดของผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 24 มิลลิกรัม/วัน
- ขนาดรับประทานสูงสุดของเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เป็นแต่ละรายผู้ป่วย
- ผู้ป่วยบางรายรับประทานยาเพียง 4 มิลลิกรัม/วัน ก็สามารถควบคุมอาการแพ้ได้ตลอดทั้งวัน, ดังนั้นขนาดการใช้ยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นแต่ละรายผู้ป่วย
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาคาร์บินอกซามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์บินอกซามีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาคาร์บินอกซามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาคาร์บินอกซามีนตรงเวลา
คาร์บินอกซามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคาร์บินอกซามีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการ ง่วงนอน วิงเวียน ปวดหัว กระสับกระส่าย
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น อาจมองเห็นภาพซ้อน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปากคอแห้ง อาการแสบร้อนกลางหน้าอก และเบื่ออาหาร
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดภาวะปัสสาวะมาก
มีข้อควรระวังการใช้คาร์บินอกซามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์บินอกซามีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาคาร์บินอกซามีน
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ รวมถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs
- ระหว่างใช้ยานี้ ควรระวังอาการดังต่อไปนี้ เช่น ความดันลูกตาเพิ่มขึ้น ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน) มีอาการทางโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง
- *กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น เกิดผื่นคันเต็มตัว ใบหน้า-ลิ้น-ปาก-คอเกิดอาการบวม หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก *ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- *กรณีใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือกลับแย่ลงกว่าเดิม *ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา: ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมคาร์บินอกซามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
คาร์บินอกซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคาร์บินอกซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาคาร์บินอกซามีน ร่วมกับยา Alprazolam, Propoxyphene, Hydrocodone, อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆตามมา เช่น วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ขาดสมาธิ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาคาร์บินอกซามีน ร่วมกับยาชนิดรับประทานของยา Potassium citrate, Potassium chloride, สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น บางกรณีอาจกระตุ้นให้เกิดแผล(แผลในกระเพาะอาหาร) และมีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ตามมา เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาคาร์บินอกซามีน ร่วมกับยา Topiramate อาจทำให้ร่างกายลดการ
- หลั่งเหงื่อจนส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดโรคลมแดดได้ง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาคาร์บินอกซามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาคาร์บินอกซามีน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
คาร์บินอกซามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคาร์บินอกซามีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Histin (ฮีสทิน) | Kenyaku |
Rhinar (ไรนาร์) | TP Drug |
Rhinohist (ไรโนฮิสท์) | Seng Thai |
อนึ่ง: ยาคาร์บินอกซามีน ที่จำหน่ายในประเทศอื่น มียาชื่อการค้า เช่น Palgic, Rondec, Rhinopront
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/pro/carbinoxamine.html [2022,Nov12]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Carbinoxamine [2022,Nov12]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Histin/ [2022,Nov12]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/carbinoxamine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Nov12]