ยาแก้คัดจมูก (Nasal decongestant)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาแก้คัดจมูก

ยาแก้คัดจมูกคือยาอะไร?

ยาแก้คัดจมูก (Nasal decongestant) คือยาที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดในเยื่อจมูก/เยื่อเมือกบุโพรงจมูกหดตัวจึงช่วยลดอาการบวมของเยื่อจมูกที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการคัด/คัดแน่นจมูก จึงส่งผลให้อาการคัดจมูกของผู้ป่วยดีขึ้นได้

แบ่งยาแก้คัดจมูกเป็นประเภทใดบ้าง?

ยาแก้คัดจมูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ยาชนิดรับประทานและยาชนิดใช้เฉพาะที่ดังนี้

ก. ยาแก้คัดจมูกชนิดรับประทาน (Systemic nasal decongestants): เช่นยา ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine), ฟีนิลโพรพาโนลามีน (Phenyl propanolamine)

ข. ยาแก้คัดจมูกชนิดใช้เฉพาะที่ในจมูก (Topical nasal decongestants): ซึ่งจะเป็นยาชนิดยาพ่นจมูกและชนิดยาหยอดจมูกเช่น ยาเอฟีดรีน (Ephedrine), ฟีนิลเอฟรีน (Phenyl ephrine), แนฟาโซลีน (Naphazoline), ออกซี่เมตาโซลีน (Oxymetazoline), ไซโลเมตาโซลีน (Xylometazoline), เตตระไฮโดรโซลีน (Tetrahydrozoline)

ยาแก้คัดจมูกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแก้คัดจมูกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาเม็ด (Tablets)
  • ยาเม็ดเคี้ยว (Chewable tablets)
  • ยาน้ำใส (Solutions)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspensions)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrups)
  • ยาพ่นจมูก (Nasal sprays)
  • ยาหยอดจมูก (Nasal drops)

มีข้อบ่งใช้ยาแก้คัดจมูกอย่างไร?

ยาแก้คัดจมูกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

1. บรรเทาอาการคัดจมูกอันเนื่องจากโรคหวัด โรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ และอาการแพ้สิ่งอื่นๆ โดยตัวยาจะช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งและทำให้การขับสารคัดหลั่ง (น้ำมูกและ/หรือ เสมหะ) สะดวกขึ้น

2. ช่วยระบายน้ำมูกออกจากช่องโพรงอากาศในผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบ

3. ช่วยลดอาการบวมของเยื่อเมือกในโพรงจมูก ในลำคอ ในผู้ป่วยหูชั้นกลางอักเสบ หรือ มีท่อยูสเตเชียน (Eustachian) ทำงานผิดปกติจึงทำให้เกิดอาการปวดหู หูอื้อ

มีข้อห้ามการใช้ยาแก้คัดจมูกอย่างไร?

มีข้อห้ามการใช้ยาแก้คัดจมูกเช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆหรือแพ้ยาอื่นๆที่มีผลกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathomi metic drugs) เช่น ยาเทอร์บูทาลีน (Terbutaline), อัลบิวเทอรอล (Albuterol)

2. ใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้ในฉลากยาอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในขนาดที่มากหรือน้อยกว่าที่ระบุ และไม่ควรหยุดการใช้ยานี้เอง

3. ห้ามใช้ยาแก้คัดจมูกมากกว่า 1 ชนิดร่วมกันเช่น ทั้งชนิดรับประทาน, ยาพ่นจมูกและยาหยอดจมูก และห้ามใช้ร่วมกับยาเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate)

4. ห้ามใช้ยาแก้คัดจมูกในผู้ที่มีภาวะต่อไปนี้เช่น

  • ผู้ป่วยที่มีประวัติอัมพาตเช่น อัมพาตที่เกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก (Stroke) หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดที่ทำให้เยื่อหุ้มสมองเปิดออกเช่น การผ่าตัดเนื้องอกสมอง
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรงหรือยังคุมอาการจากความดันโลหิตสูงได้ไม่ดี
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะบกพร่องของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจขั้นรุนแรง
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติของอาการชัก (Seizures)
  • ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบของผิวหนัง/ผิวหนังอักเสบหรือเยื่อบุโพรงจมูกที่มีลักษณะแห้ง และเป็นสะเก็ด (Rhinitis sicca)

5. ห้ามกลืนกินยาพ่นหรือยาหยอดแก้คัดจมูกเพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยานี้ได้

6. ห้ามใช้ยาพ่นหรือหยอดแก้คัดจมูกติดต่อกันนานเกิน 3 - 5 วันเพราะอาจทำให้เกิดอาการคัดแน่นจมูกมากขึ้นหลังจากหยุดยานี้ที่เรียกอาการลักษณะนี้ว่า “Rebound congestion หรือ Rhinitis medicamentosa” โดยจะเกิดภาวะเยื่อจมูกบวม ระคายเคืองจมูก และมีน้ำมูกเพิ่มขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้คัดจมูกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้คัดจมูกเช่น

1. ไม่ควรใช้ยาพ่นจมูกหรือยาหยอดแก้คัดจมูกในปริมาณที่มากเกินไปหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ยานี้ออกฤทธิ์กับอวัยวะในทุกระบบของร่างกายจึงอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ จากการใช้ยานี้ได้

2. ควรปรับขนาดยาแก้คัดจมูกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายและค่อยๆลดขนาดยาและความถี่ ในการใช้ยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเพื่อควบคุมอาการเท่านั้น

3. ระวังการใช้ยาแก้คัดจมูกร่วมกับยาต้านอาการซึมเศร้ากลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส (Monoamine oxidase inhibitors, MAOI) เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้

4. ระวังการใช้ยาแก้คัดจมูกในผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคต้อหินมุมปิด โรคหัวใจ โรคจิต โรคต่อมลูกหมากโต โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือมีไซนัสอักเสบ ร่วมด้วย

5. ยา Pseudoephedrine เป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ผู้ป่วยอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานี้ได้ถึงแม้จะใช้ยาในขนาดปกติก็ตาม ดังนั้นเมื่อมีอาการทางจิตประสาทหลังใช้ยานี้จึงควรหยุดยานี้แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

การใช้ยาแก้คัดจมูกในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้คัดจมูกในหญิงตั้งครรภ์หรือในหญิงให้นมบุตรควรเป็นดังนี้เช่น

1. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้คัดจมูกชนิดรับประทานในขณะตั้งครรภ์โดยเฉพาะในไตรมาสแรก เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ทารกแรกคลอดผนังหน้าท้องไม่ปิด (Gastroschisis)

2. หากต้องใช้ยาพ่นหรือหยอดแก้คัดจมูก แพทย์จะเลือกยา Xylometazoline หรือ Oxymeta zoline เป็นตัวเลือกแรก โดยจะใช้ยาเหล่านี้ในขนาดที่ต่ำที่สุดในเมื่อจำเป็นเท่านั้นและจะไม่ใช้ในระยะใกล้คลอด

การใช้ยาแก้คัดจมูกในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้คัดจมูกในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้เช่น

1. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้คัดจมูกชนิดรับประทานในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีและในผู้ป่วยสูง อายุที่มีการทำงานของไตบกพร่อง/ผู้ป่วยโรคไต หากจำเป็นต้องใช้ยานี้แพทย์จะปรับลดขนาดยานี้ลง

2. ยาพ่นหรือหยอดแก้คัดจมูกสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในผู้สูงอายุโดยไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา แต่ควรเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเมื่อใช้ยานี้ในผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เบา หวาน ต้อหินมุมปิด โรคหัวใจ โรคจิต ภาวะต่อมลูกหมากโต ลมชัก เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง

การใช้ยาแก้คัดจมูกในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้คัดจมูกในเด็กควรเป็นดังนี้เช่น

1. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้คัดจมูกทั้งชนิดรับประทาน , พ่น และหยอดจมูกในเด็กที่อายุต่ำ กว่า 2 ปี

2. มีรายงานอาการผิดปกติต่อไปนี้ในเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ใช้ยาพ่นหรือยาหยอดแก้คัดจมูกเช่น อาการชัก ประสาทหลอน กระสับกระส่าย มีความผิดปกติทางพฤติกรรมเช่น นอนไม่หลับ ดังนั้นหากพบอาการดังกล่าวในผู้ป่วยเด็กที่ใช้ยานี้ควรหยุดยานี้และรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้คัดจมูกเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์ (ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการใช้ยาแก้คัด จมูกอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ในทุกระบบอวัยวะเช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย วิตกกังวล มือสั่น นอนไม่หลับ
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • ผลต่ออวัยวะตา: เช่น โรคต้อหิน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
  • อื่นๆ: เช่น เหงื่อออกมาก

นอกจากนี้ยาแก้คัดจมูกชนิดเป็นยาพ่นหรือยาหยอดจมูกยังอาจทำให้เกิดผลเฉพาะที่ร่วมด้วยได้อีกเช่น แสบร้อนในจมูกและในลำคอ จมูกแห้ง จาม

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแก้คัดจมูก) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. มหาวิทยาลัยขอนแก่น. จมูก (nose) pharm.kku.ac.th/thaiv/pharmpractice/eent/lesson/nose/nose-doc.pdf [2016,May28]
  2. รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. ยาหดหลอดเลือด....ในผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1219 [2016,May28]
  3. สมาคมแพทย์โรคจมูก (ไทย). แนวทางการพัฒนาการตรวจรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในคนไทย http://rcot.org/datafile/_file/_doctor/d7e0cb0b21c47bcf747da6d863f8a7ce.pdf [2016,May28]
  4. Schaefer C., Peters P., and Miller R.K., Drugs During Pregnancy and Lactation. 2nd edition. Great Britain: Elsevier, 2007.
  5. Wells B.G. and others. Pharmacotherapy Handbook. 8th edition. New York: The McGraw-Hill; 2012