ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield ointment)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ:คือยาอะไร?
- ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์อย่างไร?
- ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาขี้ผึ้งวิทฟิลด์อย่างไร?
- ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สังคัง โรคสังคัง (Tinea cruris)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- กลาก (Tinea)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot)
บทนำ:คือยาอะไร?
ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield ointment) คือ ยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก ใช้สำหรับรักษาอาการของโรคเชื้อราตามผิวหนัง เช่น กลาก น้ำกัดเท้า และสังคัง
สูตรตำรับขี้ผึ้งวิทฟิลด์ มีส่วนประกอบที่เป็นสารออกฤทธิ์คือ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) 6%, กับ กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) 3%, ส่วนประกอบอื่นๆที่ใช้เป็นเนื้อของขี้ผึ้งคือ Lanolin (สารใช้ทำขี้ผึ้ง), หรือ Vaseline, ซึ่งชื่อของขี้ผึ้งชนิดนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติกับแพทย์ผิวหนังชาวอังกฤษที่มีชื่อว่า Arthur Whitfield
กลไกการออกฤทธิ์ที่ใช้รักษาโรคเชื้อราทางผิวหนังของขี้ผึ้งชนิดนี้เป็นไปอย่างเรียบง่ายและไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก กล่าวคือ กรดเบนโซอิกจะยับยั้งและหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา ส่วนกรดซาลิไซลิกจะเร่งการหลุดลอกของผิวหนังที่ทายา/ที่มีเชื้อราให้หลุดออกไป เพียง เท่านี้อาการติดเชื้อราตามผิวหนังจะดีขึ้นตามลำดับ
สูตรตำรับของยาขี้ผึ้งชนิดนี้จะทำให้รู้สึกเหนียวเหนอะหนะ ไม่เหมือนกับยาทาประเภทครีม ที่ให้ความรู้สึกดีกว่า แต่ด้วยราคาที่ไม่สูงจนเกินไปรวมถึงการเข้าถึงได้ของผู้บริโภค ประเด็นสำ คัญคือยังมีประสิทธิภาพของการรักษา จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ยังทำให้ขี้ผึ้งวิทฟิลด์เป็นที่ยอม รับจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ยังคงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ทุกครั้ง
ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาโรคเชื้อราตามผิวหนัง: เช่น
- โรคน้ำกัดเท้า (Tinea pedis)
- โรคสังคัง (Tinea cruris)
- โรคกลาก (Ring worm)
ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ คือ ส่วนประกอบสำคัญของขี้ผึ้งวิทฟิลด์ เช่น
- กรดเบนโซอิก: จะยับยั้งการเจริญเติบโต การลุกลามของโรคเชื้อรา โดยรบกวนกระบวนการทางชีวภาพของเชื้อราจนเสียสมดุลของการดำรงชีวิตและตายลงในที่สุด
- กรดซาลิไซลิก: จะทำให้ผิวหนังบริเวณทายาค่อยๆหลุดลอก โดยออกฤทธิ์กัดทำลายเนื้อเยื่อของชั้นผิวหนัง
ซึ่งจากกลไกเหล่านี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาขี้ผึ้งทาผิวภายนอก(ยาใช้ภายนอก)
ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ทายาบริเวณที่มีการติดโรคเชื้อราวันละ 2 - 3 ครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ระคายเคืองต่อผิวหนัง
- อาจทำให้
- มีอาการแสบ คันในบริเวณที่ทายา
- มีภาวะผิวแห้ง
- หรือก่อให้เกิดการแพ้ในบริเวณที่ทายา
มีข้อควรระวังการใช้ขี้ผึ้งวิทฟิลด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ แพ้กรดซาลิไซลิก หรือแพ้กรดเบนโซอิก
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นี้ทาบริเวณตา
- ห้ามรับประทาน
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นี้กับบริเวณที่มี แผลเปิด หรือ แผลฉีกขาด รวมถึงผิวหนังที่มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อที่อ่อนบาง เช่น ริมฝีปาก ช่องปาก ตา อวัยวะเพศ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นเวลานานๆหรือทาเป็นบริเวณกว้างบนพื้นที่ผิวของร่างกาย
- การใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- ล้างมือก่อนและหลังใช้ยานี้ทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมขี้ผึ้งวิทฟิลด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์เป็นยาใช้ทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก จึงยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษายาขี้ผึ้งวิทฟิลด์อย่างไร?
สามารถเก็บยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Benzo Ointment (เบนโซ ออยเมนท์) | Greater Pharma/td> |
Whitfield’s Ointment (วิทฟิลด์ ออยเมนท์) | Amherst Lab |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/whitfield-s%20ointment%20gpo [2021,Oct9]
- https://www.drugs.com/mtm/whitfields-ointment-topical.html[2021,Oct9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Whitfield%27s_ointment[2021,Oct9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Salicylic_acid[2021,Oct9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benzoic_acid[2021,Oct9]