กลาก (Tinea)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 15 กรกฎาคม 2560
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคกลาก?
- โรคกลากมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคกลากอย่างไร?
- โรคกลากรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- รักษาโรคกลากอย่างไร?
- ป้องกันโรคกลากอย่างไร?
- เมื่อเป็นโรคกลากควรดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- เกลื้อน (Pityriasis versicolor)
- สังคัง โรคสังคัง (Tinea cruris)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot)
บทนำ
โรคกลาก หรือ ขี้กลาก (Tinea หรือ Dermatophytosis) เป็นโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง ผม และ/หรือเล็บ คำว่า Tinea มาจากภาษาลาตินแปลว่า หนอน เนื่องจากรอยโรคที่ผิวหนังจะเป็นลายหยึกหยักดูคล้ายลายทาง เดินของหนอน โรคนี้จึงมีชื่ออีกอย่างว่า Ring worm
โรคกลากในแต่ละตำแหน่งจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปเช่น โรคกลากที่ขาหนีบเรียก “โรค สังคัง” โรคกลากที่เท้าเรียก “โรคฮ่องกงฟุต (โรคน้ำกัดเท้า)”
โรคกลากนี้สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัส ซึ่งแตกต่างจากโรคเกลื้อนที่ไม่ใช่โรคติดต่อ โรคกลากมียารักษาให้หายได้
โรคกลากพบได้ทุกเชื้อชาติทุกเพศทุกวัย แต่ตำแหน่งที่เกิดโรคอาจแตกต่างกันไปในแต่ ละเพศแต่ละวัย โดยถ้าเป็นวัยเด็กจะพบโรคกลากที่บริเวณศีรษะมากที่สุด แต่ถ้าเป็นวัยผู้ใหญ่จะพบโรคกลากที่บริเวณเท้ามากที่สุด สำหรับโรคกลากบริเวณขาหนีบและบริเวณเคราโดยส่วนมากแล้วจะพบแต่ในเฉพาะผู้ชาย
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคกลาก?
โรคกลากเกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มที่เรียกว่า Dermatophytes ซึ่งมีอยู่หลายชนิดเช่น Epidermophyton spp., Microsporum spp., และ Trichophy ton spp. เชื้อราเหล่านี้จะเจริญ เติบโตอยู่ในบริเวณผิวหนังส่วนที่มีเคราติน (Keratin, โปรตีนชนิดหนึ่งอยู่ในผิวหนังชั้นนอก เล็บ และเส้นผม) ซึ่งได้แก่ ผิวหนังชั้นบนสุดของผิวหนังชั้นนอก/หนังกำพร้า (หรือชั้นขี้ไคล) เล็บ และเส้นผม และก่อให้เกิดโรคขึ้นมา
เราสามารถติดเชื้อราเหล่านี้ได้จากการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคกลาก หรือสัมผัสมาจากราที่ อยู่ในดินในทราย รวมทั้งสามารถติดเชื้อมาจากการสัมผัสสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคกลากได้ด้วย (เช่น หมา แมว)
มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อกลากได้มากขึ้นเช่น ผิวหนังที่เปียกชื้น การใช้อ่างอาบน้ำสาธารณะ การมีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายบกพร่อง เป็นโรคที่มีฮอร์โมนชนิดสเตียรอยด์ในร่างกายสูงเช่น ในโรค Cushing disease หรือ Cushing’s syndrome เป็นโรค ภูมิแพ้ผิวหนัง และการเล่นกีฬาประเภทที่ผิวหนังมีการเสียดสีกันเช่น ยูโด คาราเต้ มวยปล้ำ
โรคกลากมีอาการอย่างไร?
หลังติดเชื้อราโรคกลากมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรคกลาก ในแต่ละตำแหน่งของร่างกาย โดยจะมีชื่อเรียกโรคและอาการที่แตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ตำแหน่งไหนก็จะมีอาการคันเป็นหลัก
1. โรคกลากที่ศีรษะเรียกว่า Tinea capitis พบมากสุดในช่วงอายุ 3 - 7 ปี และจะ มีอาการแสดงได้หลากหลาย จะติดเชื้อราที่หนังศีรษะและลุกลามเข้าเส้นผม ทำให้เส้นผมสีซีดลง เปราะ มีผมหักตรงโคน และหลุดร่วงออกไปเป็นหย่อมๆ เห็นเป็นจุดสีดำๆที่หนังศีรษะ หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงอาจจะดูปกติ หรืออาจแห้งและเป็นขุยดูคล้ายเป็นรังแค หรืออาจจะมีสะเก็ดแข็งหนาสีเหลืองเป็นแผ่นๆ ดูคล้ายรังผึ้งได้ (ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อรา Trichophyton schoenleinii) ในรายที่เป็นรุนแรงจะเป็นตุ่มหนองรอบรูขุมขน มีก้อนนูนอักเสบสีแดง และมีน้ำ เหลืองกรังเรียกว่า “โรคชันนะตุ” นอกจากนี้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอของผู้ป่วยอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาได้
ผู้ป่วยบางคนจะไม่มีอาการคัน เส้นผมไม่หักหลุดร่วง จะมีแค่หนังศีรษะมีขุยมากกว่าปกติเล็กน้อยเหมือนเป็นรังแคธรรมดา ผู้ป่วยเหล่านี้เรียกว่าเป็นพาหะโรคของโรคกลาก สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ (ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อรา Trichophyton tonsurans)
2. โรคกลากที่เท้าหรือฮ่องกงฟุตเรียกว่า Tinea pedis โรคกลากที่บริเวณนี้จะคันมาก ผิวหนังที่อยู่ระหว่างง่ามนิ้วของผู้ป่วยจะบวมแดงและจะมีแผ่นขาวยุ่ยๆลอกออกได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นที่ง่ามนิ้วเท้าระหว่างนิ้วที่ 4 และที่ 5 ถ้าเป็นบริเวณฝ่าเท้าก็จะเป็นปื้นสีแดงมีขุยสีขาว และอาจมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองได้ โรคกลากที่เท้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เท้ามีกลิ่นเหม็น
3. โรคกลากที่มือเรียกว่า Tinea manuum ลักษณะของรอยโรคจะเหมือนกลากที่ เท้า และมักจะเป็นร่วมกันกับกลากที่เท้า แต่ที่มือมักจะเป็นแค่มือข้างเดียว
4. โรคกลากที่เล็บเรียกว่า Tinea unguium หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Onychomy cosis เป็นได้ทั้งที่เล็บมือและเล็บเท้า และมักเกิดร่วมกับผู้ป่วยที่มีโรคกลากที่มือหรือที่เท้า ผู้ ป่วยอาจไม่มีอาการคัน โดยเกิดที่ปลายเล็บหรือด้านข้างของเล็บก่อน เล็บจะหนาและด้านขึ้น ขรุขระและเปราะ เปื่อยยุ่ย ตัวเล็บจะแยกออกจากหนังใต้เล็บ (เรียกว่า Onycholysis) สีของเล็บ จะเปลี่ยนแปลงไป โดยอาจจะมีสีขาว เหลือง น้ำตาล หรือดำก็ได้
5. โรคกลากที่ลำตัวเรียกว่า Tinea corporis อาการคือจะเป็นผื่นโดยจะพบได้ตามลำตัวและแขน ขา ลักษณะของผื่นคือจะเป็นรูปวงกลมหรือวงรีที่มีขอบเขตหยึกหยักไปมา (จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกโรคนี้ว่า Ringworm) ผื่นจะเป็นแบบยกนูน โดยที่ขอบของผื่นจะยกตัวสูงกว่าตรงกลางของผื่น ตัวผื่นมีสีแดงและมีขุยสีขาวๆปกคลุม อาจมีตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองร่วมด้วย ได้ บางครั้งผื่นมีจำนวนมากทำให้เกิดเป็นรูปซ้อนกันของผื่นรูปวงกลมเรียกชื่อว่า Tinea imbri cate
6. โรคกลากที่ใบหน้าเรียกว่า Tinea faciei พบได้ค่อนข้างน้อย รอยโรคจะเป็นผื่นเหมือนกับโรคกลากที่ลำตัว การเรียกโรคกลากที่ใบหน้าจะไม่รวมกลากที่เป็นบริเวณเครา หนวด และลำคอ ซึ่งจะมีชื่อเรียกและอาการที่ต่างกัน
7. โรคกลากที่บริเวณเครา หนวด และลำคอ เรียกว่า Tinea barbae มักพบแต่เฉพาะในผู้ชาย เป็นชนิดโรคกลากที่ส่วนใหญ่จะติดเชื้อมาจากสัตว์ที่เป็นโรค การติดต่อระหว่างคนเกิดขึ้นได้น้อยมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมีอาชีพเลี้ยงสัตว์ อาการคือผิวหนังจะนูนแดง มีตุ่มหนอง และมีขุย หรือสะเก็ดน้ำเหลืองกรัง ขนหลุดร่วงง่าย ดูคล้ายกับโรคชันนะตุที่ศีรษะ แต่ผู้ ป่วยจะไม่ค่อยมีอาการคันหรือเจ็บ
8. โรคกลากที่ขาหนีบหรือสังคังเรียกว่า Tinea cruris มักจะพบในผู้ชายโดยจะพบผื่นที่ขาหนีบและหัวหน่าว โดยที่บริเวณอัณฑะมักไม่เป็นโรค ลักษณะของผื่นจะเหมือนผื่นที่ลำตัว
อนึ่ง ในบางครั้งเชื้อราจะติดเชื้อลงลึกกว่าชั้นของเคราติน ผู้ป่วยจะมีผื่นที่เป็นตุ่มเนื้ออัก เสบนูนใหญ่สีแดงเรียกว่า Majocchi granuloma
แพทย์วินิจฉัยโรคกลากอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคกลากจากอาการเป็นหลัก ในกรณีที่อาการจากลักษณะของผิวหนังไม่ชัดเจนดังกล่าวข้างต้น ต้องใช้การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการมาช่วย โดยการขูดเอาเนื้อ เยื่อผิวหนังตรงบริเวณผื่นโดยเฉพาะตรงขอบที่ยกนูน หรือขูดเล็บในกรณีที่เป็นที่เล็บ หรือในกรณีที่เป็นที่ศีรษะให้ดึงเส้นผมที่มีสีซีดและเปราะโดยให้ติดส่วนโคนมาด้วย แล้วนำมาวางบนสไลด์ (แผ่นแก้วที่ใช้การแพทย์) หยอดน้ำยาเคมีชื่อ โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH, Potassium hydroxide) และนำไปดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ก็จะพบเชื้อราที่มีรูปร่างเป็นเส้น ซึ่งเรียกว่า Hyphae และพบส่วนของเชื้อราที่เรียกว่า สปอร์ (Spore) ร่วมด้วย ถ้านำไปย้อมด้วยสีย้อมพิเศษก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้น
ในทางการศึกษา เมื่อตัดผิวหนังตรงบริเวณที่มีรอยโรคมาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบว่ามีเคราตินหนาตัวขึ้น เซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้ามีการบวมน้ำ และมีเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้ามา อยู่ในชั้นหนังกำพร้า ที่สำคัญคือจะพบเชื้อราเป็นเส้นที่อาจมีการแตกเส้นสายออกให้เห็นได้
โรคกลากรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
ผู้ป่วยโรคกลากที่ได้รับการรักษา รอยโรคบนผิวหนังต่างๆจะหายไปโดยไม่มีแผลเป็นเกิด ขึ้น ผมที่ร่วงก็จะงอกกลับมาใหม่ได้เหมือนเดิม แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากที่ศีรษะแบบชันนะตุ หาก ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาผมจะร่วงถาวรได้
ผู้ป่วยโรคกลากอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังเกิดการอักเสบและอาจเป็นฝีหนองขึ้นมา เมื่อรักษาหายก็อาจกลายเป็นแผลเป็นได้
ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกลากและได้ยากลุ่มสเตียรอยด์มาทารักษา ลักษณะของผื่นจะเปลี่ยนแปลงไปและทำให้ยากต่อการวินิจฉัยในภายหลัง นอกจากนี้เชื้อราอาจลุกลามลงลึกไปจากชั้นเคราตินของผิวหนังและทำให้เกิดเป็นตุ่มเนื้ออักเสบ (Majocchi granulo ma) ในชั้นใต้ผิวหนังได้
ในบางคนอาจเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า Id reaction คือมีการติดเชื้อราที่บริเวณหนึ่ง แต่กลับ มีอาการเกิดขึ้นที่บริเวณอื่นของร่างกายด้วย (โดยถ้าตรวจหาเชื้อราบริเวณนั้นก็จะตรวจไม่พบ) สาเหตุเกิดจากปฏิกิริยาของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่พยายามต่อสู้กับเชื้อราที่อยู่บนผิวหนัง ผม หรือเล็บ จนทำให้เกิดรอยโรคขึ้นมา ซึ่งเซลล์เม็ดเลือดขาวบางตัวเหล่านี้อาจกลับเดินทางไปยังผิว หนังบริเวณอื่นๆที่ไม่ได้ติดเชื้อและทำปฏิกิริยากับผิวหนังบริเวณนั้นจึงทำให้เกิดรอยโรคขึ้นมา เมื่อรักษาโรคกลากบริเวณที่ติดเชื้อหายแล้ว รอยโรคในบริเวณอื่นที่เกิดจากปฏิกิริยา Id reac tion ก็จะหายไปด้วย
รักษาโรคกลากอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคกลากคือการใช้ยา ซึ่งยาที่ใช้รักษามีทั้งชนิดทาและชนิดกิน และมีหลายตัวให้เลือกใช้
1. ยาแบบทา มีทั้งในรูปแบบครีม โลชัน แป้ง หรือสเปรย์ (Spray) ยาแบบทาจะใช้ได้ผลเฉพาะ ในผู้ป่วยโรคกลากที่ลำตัว ขาหนีบ เท้า มือ เครา และลำคอ ถ้าเป็นโรคกลากที่เล็บและศีรษะ ยาแบบทาจะใช้ไม่ได้ผล โรคกลากที่ลำตัวและขาหนีบจะใช้เวลารักษาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ส่วนโรคกลากที่มือหรือเท้าจะใช้เวลารักษานานกว่านี้คือประมาณ 8 สัปดาห์
2. ยาแบบกิน ใช้ในผู้ป่วยโรคกลากที่ศีรษะและเล็บ โดยอาจต้องกินยานานประมาณ 3 - 6 เดือน ผู้ที่เป็นผื่นตามลำตัวเป็นบริเวณกว้างอาจเลือกใช้ยาในรูปแบบนี้ได้ การใช้ยากินจะต้องระ วังเรื่องผลข้างเคียงของยาด้วยเช่น เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดท้อง ขึ้นผื่น หัวใจเต้นผิดปกติ และโรคไต
อนึ่ง ในผู้ป่วยที่เป็นพาหะโรคของโรคกลากที่ศีรษะ แม้ไม่มีอาการก็ต้องรักษาเพื่อป้อง กันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยการใช้แชมพูยาโรคกลากสระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าหนังศีรษะยังเป็นขุยอยู่ก็ต้องใช้ยากิน
สำหรับสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคเกลื้อนเช่น ทองพันชั่ง กุ่มบก ข่า อัคคีทวาร เป็นต้น สำหรับวิธีการใช้และระยะเวลาการใช้ควรศึกษาจากตำราหรือปรึกษาแพทย์แผนไทย
ป้องกันโรคกลากอย่างไร?
การป้องกันโรคกลากคือ
1. ไม่ควรใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนอื่นเช่น หวี ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ถุงเท้า หมวก รอง เท้า
2. รักษาความสะอาดบริเวณที่เป็นข้อพับและซอกต่างๆของร่างกายเช่น ขาหนีบ ซอกนิ้ว โดยการอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด อย่าให้ขี้ไคลหมักหมม อาบน้ำเสร็จแล้วซับให้แห้งอย่าปล่อยให้เปียกชื้น
3. เล็บมือเล็บเท้าควรตัดให้สั้นเสมอ รองเท้าแบบหุ้มส้นไม่ควรให้แน่นเกินไป และหมั่นนำออกตากแดดเสมอ
4. ผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสกับน้ำบ่อยๆหรือตลอดเวลาควรป้องกันด้วยถุงมือยาง รองเท้าบู๊ท หรือเสื้อยาง เป็นต้น
เมื่อเป็นโรคกลากควรดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกลากคือ
1. ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคกลากแล้วหรือรู้จักโรคกลากเป็นอย่างดี อาจให้การรักษา ด้วยตัวเองโดยซื้อยาจากร้านขายยา แต่ต้องให้เภสัชกรอธิบายการใช้ยาให้ละเอียด เพราะยาแต่ละชนิดมีวิธีการใช้ที่ไม่เหมือนกันมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน และหากเคยแพ้ยา (การแพ้ยา) อะไร ต้องแจ้งให้เภสัชกรทราบด้วย
2. ในกรณีเป็นโรคกลากที่ศีรษะหรือโรคกลากที่เล็บ ซึ่งต้องใช้ยากินและรักษาเป็นระยะเวลานาน ควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ เพราะยาแบบกินมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้มากกว่า
3. บริเวณที่เป็นโรคกลากอยู่ต้องระวังอย่าให้เปียกชื้นหรือสัมผัสกับน้ำบ่อยๆ หรือตลอดเวลา ป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลใกล้ชิดภายในบ้านโดยแยกเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า หมวก รวมทั้งของใช้ส่วนตัวอื่นๆ และควรซักทำความสะอาดตากแดดให้แห้งทุกครั้ง ไม่ใช้ปะปน กัน และให้แยกเตียงกันนอน ไม่ใช้ผ้าปูที่นอน หมอน และหมอนข้างร่วมกัน และหมั่นนำเบาะนอน เบาะนั่ง และหมอนออกตากแดดบ่อยๆ
4. ผู้ที่เป็นนักกีฬาบางประเภทเช่น นักยูโด เทควันโด นักมวยปล้ำ ถ้าเป็นไปได้ ควรรักษาตนเองให้หายก่อนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
1. เมื่อพบมีผื่นแดงคันตามลักษณะข้างต้นขึ้นตามลำตัว ขาหนีบ ใบหน้า หนวด เครา มือ และเท้า และได้รักษาด้วยยารักษากลากด้วยตนเองมาได้ระยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์ หรืออาจพบแพทย์ตั้งแต่ต้นหากไม่แน่ใจว่าเป็นโรคกลากหรือไม่
2. เมื่อมีผมร่วง เป็นรังแค และหนังศีรษะมีรอยโรคต่างๆตามที่กล่าวข้างต้น ควร พบแพทย์เพราะต้องอาศัยการกินยาเป็นเวลาหลายเดือน รวมถึงผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่เล็บเช่น เล็บหนา เปราะ มีสีเปลี่ยนไป เล็บแยกตัวจากหนังใต้เล็บ
3. ผู้ที่ไม่มีผมร่วง ไม่มีรอยโรคที่หนังศีรษะ แต่มีเฉพาะรังแคที่เป็นมานานหลาย เดือน อาจเป็นพาหะโรคของโรคกลากที่ศีรษะหรือโรคภูมิแพ้ที่หนังศีรษะก็ได้ ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
บรรณานุกรม
- Robert A. Swerlick, Thomas J. Lawley. Eczema, psoriasis, cutaneous infections, acne, and other common skin disorders, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
- http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_02_1.html[2017,July15]
- http://emedicine.medscape.com/article/787217-overview#showall[2017,July15]
- http://emedicine.medscape.com/article/787217-treatment[2017,July15]
- http://www.dermnetnz.org/topics/tinea/[2017,July15]
Updated 2017,July15