โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 14 กันยายน 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากอะไร?ติดต่อได้ไหม?
- โรคน้ำกัดเท้ามีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคน้ำกัดเท้าอย่างไร?
- รักษาโรคน้ำกัดเท้าอย่างไร?
- โรคน้ำกัดเท้ารุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคน้ำกัดเท้าอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot medications)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคน้ำกัดเท้า หรือโรคฮ่องกงฟุต (Athlete’s foot หรือ Hong Kong foot หรือ Tinea pedis) คือ โรคผิวหนัง ที่เกิดจากผิวหนังบริเวณเท้าติดเชื้อรา เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่ง พบได้ทุกเพศและทุกวัย แต่พบบ่อยกว่าในผู้ชาย และในช่วงวัยรุ่น พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และเนื่องจากเป็นโรคพบบ่อยจากเท้าเปียกน้ำหรือจากการลุยน้ำ บ้านเราจึงเรียกว่า “โรคน้ำกัดเท้า” ส่วนในประเทศที่เจริญแล้วมักพบบ่อยในนักกีฬาจากรองเท้าที่เปียกชื้นจากเหงื่อ จึงได้ชื่อว่า “โรคเท้านักกีฬา” (Athlete’s foot)
โรคน้ำกัดเท้า เป็นโรคพบบ่อย พบทั่วโลกประมาณ15%ของประชากรทั้งหมด ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบทุกเพศ(ผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงประมาณ 2-4 เท่า) เกิดได้ทุกวัย แต่มักพบในวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน พบบ่อยในคนที่นิยมใส่ร้องเท้าผ้าใบ/ร้องเท้ากีฬา และสวมถุงเท้า พบน้อยกว่าในคนที่ชอบเดินเท้าเปล่า ไม่ใส่รองเท้า
โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากอะไร?ติดต่อได้ไหม?
โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากผิวหนังบริเวณเท้าติดเชื้อรา โดยเป็นเชื้อราในกลุ่มเดียวกันกับโรค กลาก (Tinea) ซึ่งได้แก่ เชื้อราในสายพันธุ์ Dermatophytes ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ย่อย เชื้อราชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในที่ อับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ เช่น บนพื้นที่เปียกชื้น จากลุยน้ำท่วมขังรองเท้า พื้นห้องอาบน้ำโดยเฉพาะห้องอาบน้ำที่ใช้ร่วมกันหลายๆคน และพื้นบริเวณสระว่ายน้ำเมื่อเดินหรือย่ำบนพื้นดังกล่าว หรือใส่รองเท้าที่มีเชื้อราอยู่ เชื้อราจึงรุกรานเข้าสู่ผิวหนังและก่อโรคน้ำกัดเท้าได้
*เชื้อราชนิดนี้/โรคน้ำกัดเท้า จัดเป็นโรคติดต่อ โดยเชื้อราติดต่อได้จากการใช้ของร่วมกัน เช่น รองเท้า ถุงเท้าที่ไม่สะอาด แต่ติดต่อได้น้อยกว่าจากการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน และเชื้อราชนิดนี้สามารถทำให้เกิดโรคได้กับผิวหนังส่วนอื่นๆของร่ากายได้ เช่น ที่เล็บและที่ขาหนีบจากการที่ส่วนนั้นๆสัมผัสกับเชื้อรานี้โดยตรง หรือสัมผัสกับแผลโรคนี้ของผู้ป่วย
โรคน้ำกัดเท้ามีอาการอย่างไร?
โรคน้ำกัดเท้ามักเกิดตามง่ามเท้า ซึ่งเกิดได้กับทุกง่ามเท้า แต่พบบ่อยกว่าระหว่างง่ามเท้านิ้วที่ 3 - ที่ 4 และที่ 4 - ที่ 5 โดยอาการที่พบบ่อยคือ
- ผิวหนังส่วนเกิดโรคจะ แห้ง ตกสะ เก็ด แตกเป็นร่อง เกิดเป็นแผลสด
- รอยโรค/รอยแผลจะ บวม เจ็บ และคัน บางครั้งอาจขึ้นเป็นตุ่มน้ำ และ
- อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ง่าย ซึ่งจะเพิ่มการอักเสบบวม แดง ร้อน และอาจเกิดเป็นหนองไ หรือเกิดมีไข้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรงขึ้น
แพทย์วินิจฉัยโรคน้ำกัดเท้าอย่างไร?
โดยทั่วไปแพทย์วินิจฉัยโรคน้ำกัดเท้าได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติการย่ำน้ำ การเล่นกีฬา การใช้รองเท้าร่วมกัน
- การตรวจแผลที่เท้า ซึ่งเมื่อร่วมกับประวัติอาการ ก็สามารถให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้แล้ว
- แต่บางครั้ง เมื่อประวัติสัมผัสโรค และ/หรือลักษณะแผลไม่ชัดเจน หรือให้การรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจป้ายหรือขูดเนื้อเยื่อผิวหนังตำแหน่งเกิดโรคเพื่อการตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ หรือเพื่อการเพาะเชื้อ
รักษาโรคน้ำกัดเท้าอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคน้ำกัดเท้าคือ การใช้ยาต้านเชื้อรา/ยารักษาโรคน้ำกัดเท้าทาเฉพาะที่บริเวณแผล อาจเป็นยาครีม เจล ขี้ผึ้ง หรือสเปรย์ ส่วนการทายาบรรเทาอาการคัน ควรต้องระวังเพราะเมื่อมีส่วนผสมของยาสเตียรอยด์อาจทำให้โรคลุกลามและติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น
อนึ่งยารักษาโรคน้ำกัดเท้ามีหลากหลายชนิด และหลากหลายรูปแบบยา ทั้งยาใช้เฉพาะที่ และยากิน ทั้งนี้แพทย์จะเลือกใช้ตามความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์ (แนะนำอ่านรายละเอียดเรื่อง ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า’)
นอกจากนั้นคือ การรักษาความสะอาด แผล เท้า รองเท้า และถุงเท้า ซึ่งนอกจากความสะอาดแล้ว ยังต้องแห้ง ไม่เปียกชื้น (กล่าวถึงเพิ่มเติมในหัวข้อการดูแลตนเอง)
โรคน้ำกัดเท้ารุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
โดยทั่วไปโรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคไม่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หายเสมอภายใน 1 - 2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่รักษา อาการอาจเรื้อรังเป็นเดือนหรือหลายเดือน
ผลข้างเคียงจากโรคน้ำกัดเท้า คือ
- การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่แผล ซึ่งอาจส่งผลให้แผลมีการอักเสบมากขึ้นและเกิดหนองได้ ซึ่งจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
นอกจากนั้น ประมาณ 5% ของผู้ป่วยอาจพบอาการที่เกิดจากการแพ้เชื้อรา ซึ่งเรียกว่า ‘Id reaction หรือ Autoeczematization หรือ Disseminated eczema หรือ Generalized eczema’ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายตอบสนองต่อเชื้อหรือสารบางอย่างที่สร้างจากเชื้อ โดยอาการมักเกิดหลังเกิดโรคน้ำกัดเท้าประมาณ 1 สัปดาห์ โดยเกิดผื่นคันร่วมกับตุ่มน้ำในผิวหนังส่วนต่างๆ แต่มักพบที่มือ และเท้า (ไม่ใช่ง่ามเท้า) ซึ่งอาการจะดีขึ้นและหายไปเมื่อโรคน้ำกัดเท้าดีขึ้น หรือเมื่อหายจากโรคน้ำกัดเท้า แต่อาการจะไม่ดีขึ้นด้วยการใช้ยาต่างๆ
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง การพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อเป็นโรคน้ำกัดเท้า ได้แก่
- ในระยะแรก ปรึกษาเภสัชกร ซื้อยาใช้เองได้
- รักษาเท้าให้สะอาดและแห้ง
- ช่วงยังมีแผล ไม่ควรสวมรองเท้าปิดหรือใส่ถุงเท้า ยกเว้นเมื่อจำเป็น ควรใส่รองเท้าแตะ เมื่อต้องใส่รองเท้า ถุงเท้า หาโอกาสถอดรองเท้าบ่อยๆ เปลี่ยนถุงเท้าบ่อยๆ อย่าให้เปียกชื้น ควรเปลี่ยนรองเท้าเป็นคู่ใหม่ที่แห้งสะอาด
- ใส่ยาใส่แผลอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ก่อนใส่ยา ล้างเท้า ซอกนิ้วเท้า และแผลให้สะอาดด้วยสบู่อ่อนโยน แล้วเช็ด/ซับให้แห้ง
- ระมัดระวังอย่าเกา เชื้ออาจติดมือ จนอาจก่อการติดเชื้อกับผิวหนังส่วนอื่นที่มือไปสัมผัสได้ ถึงแม้โอกาสเกิดจะน้อยก็ตาม
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ
- อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 สัปดาห์ หลังดูแลตนเอง หรือใช้ยาทาเฉพาะที่
- แผลเลวลงหลังดูแลตนเอง โดยไม่ต้องรอเวลา
- ปวดแผลมาก คันมาก แผลบวมมาก และ/หรือแผลเป็นหนอง
- มีไข้ร่วมด้วยโดยเฉพาะเมื่อไข้สูง
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคน้ำกัดเท้าอย่างไร?
ป้องกันโรคน้ำกัดเท้าได้โดย
- หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำ หรือรีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้งหลังย่ำน้ำ
- รักษาความสะอาดเท้า ล้างให้สะอาด ถูสบู่โดยเฉพาะตามง่ามเท้าอย่างน้อยก่อนนอน
- สวมรองเท้าแตะในการอาบน้ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ห้องน้ำหรือสระว่ายน้ำร่วมกันหลายคน
- รักษาความสะอาดรองเท้าเสมอและต้องดูแลให้แห้ง ดังนั้นควรมีรองเท้าอย่างน้อย 2 คู่ เพื่อสวมสลับกัน ซักด้านในรองเท้าให้สะอาด หรือใส่ยาหรือใช้สเปรย์สำหรับรองเท้า ไม่ใช้รองเท้าร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าสาธารณะโดยไม่จำเป็น
- รักษาความสะอาดถุงเท้า เมื่อเปียกต้องเปลี่ยนเสมอ
- ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น นอกจากนั้นผ้าเช็ดเท้าและผ้าเช็ดตัวควรเป็นคนละผืนกัน
บรรณานุกรม
- Hainer, B. (2003). Dermatophyte infections. Am Fam Physician. 67, 101-109.
- Weinstein, A., and Berman, B. (2002). Topical treatment of common superficial tinea infections. Am Fam Physician. 65, 2095-2103.
- http://en.wikipedia.org/wiki/Athlete's_foot [2019,Sept14]
- http://emedicine.medscape.com/article/1049760-overview#showall [2019,Sept14]