การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังและเล็บจากยาเคมีบำบัด (Chemotherapy: Skin and nail changes)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 4 มีนาคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- ทำไมยาเคมีบำบัดถึงทำให้ผิวหนังและเล็บมีการเปลี่ยนแปลง?
- ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างเมื่อได้รับเคมีบำบัด?
- เล็บเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างเมื่อได้รับเคมีบำบัด?
- ป้องกันผิวหนังและเล็บเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีผิวหนังและ/หรือเล็บเปลี่ยนแปลง? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง (Selfcare of neutropenia during cancer therapy)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
ทำไมยาเคมีบำบัดถึงทำให้ผิวหนังและเล็บมีการเปลี่ยนแปลง?
ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) มีคุณสมบัติทำลายเซลล์ โดยก่อให้เซลล์เกิดการบาดเจ็บและตายได้ แต่จะทำลายเซลล์มะเร็งมากกว่าเซลล์ปกติมากมาย นอกจากนั้นเซลล์ปกติยังมีคุณสมบัติที่จะซ่อมแซมฟื้นตัวจากการบาดเจ็บได้ดีกว่าเซลล์มะเร็งมาก เพราะคุณสมบัติเหล่านี้ เราจึงนำยาเคมีบำบัดมารักษาโรคมะเร็ง เพราะเซลล์ปกติหลังเกิดการบาดเจ็บจากยาเคมีบำบัดก็จะฟื้นตัวกลับเป็นปกติหลังครบเคมีบำบัดแล้ว
ทั้งนี้เซลล์ปกติที่จะเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย คือ เซลล์ที่มักมีการเจริญเติบโต/แบ่งตัวอยู่เสมอ, หนึ่งในเซลล์เหล่านั้น คือ เซลล์ของผิวหนังและของเล็บ ดังนั้นภายหลังได้ยาเคมีบำบัด จึงเกิดมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและของเล็บผิดปกติไปจากเดิม
การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและของเล็บ จะมากหรือน้อย ขึ้นกับชนิดและปริมาณ (Dose) ของยาเคมีบำบัด ซึ่งโดยทั่วไป จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและของเล็บตั้งแต่จบคอร์ส (Course) แรกของยาเคมีบำบัด และความผิดปกติจะค่อยๆสะสมเพิ่มขึ้นตามจำนวนคอร์สของยาเคมีบำบัด โดยยาเคมีบำบัดทั่วไปมักให้ตั้งแต่ 3 คอร์สขึ้นไป, 1 คอร์สของยาเคมีบำบัดอาจให้นานตั้งแต่ 1 วันไปจนถึงประมาณ 4-7 วัน หรืออาจนานกว่านั้น ทั้งนี้แตกต่างกันในแต่ละโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม อาการผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับผิวหนังและเล็บ มักจะกลับสู่ภาวะปกติภายหลังครบยาเคมีบำบัดได้ประมาณ 3-6 เดือนไปแล้ว
ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างเมื่อได้รับเคมีบำบัด?
การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่อาจพบได้หลังจากได้รับยาเคมีบำบัด เช่น
- ผิวแห้ง
- ผิวไวต่อแสงแดด/ผิวแพ้แสงแดดมากขึ้น เช่น แสบ ขึ้นผื่น หรือเกิดตุ่มน้ำเมื่อโดนแดด
- ผิวแพ้สิ่ง/สารต่างๆได้ง่ายขึ้น เช่น ขึ้นผื่น คัน
- ผิวติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ผิวในบริเวณที่เคยได้รับรังสีรักษามาก่อนกลับมาแดง ขึ้นผื่น หรือมีตุ่มน้ำ (Radiation recall phenomenon)
- หลอดเลือดดำแข็ง เห็นเป็นเส้นยาวดำแข็งไปตามทางเดินของหลอดเลือดที่ให้ยาฯ บางครั้งมีอาการเจ็บร่วมด้วย
- แผลเปื่อยจากยาเคมีบำบัดโดนผิวหนังโดยตรงจากหลอดเลือดที่ให้ยาแตกขณะกำลังให้ยาฯ
เล็บเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างเมื่อได้รับเคมีบำบัด?
ลักษณะผิดปกติของเล็บภายหลังได้รับยาเคมีบำบัด เช่น
- สีเล็บผิดปกติ อาจเหลือง หรือ ดำคล้ำ ขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัด
- มีเส้นผิดปกติเกิดขึ้นบนเล็บ อาจเกิดได้ทั้งตามขวางและตามยาว อาจเป็นเส้นสีขาว หรือ สีคล้ำ
- เล็บเปราะ แตกง่าย เล็บหลุดง่าย
- ติดเชื้อที่ผิวรอบๆ เล็บได้ง่าย
- รูปร่าง ลักษณะอื่นๆของเล็บนอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว อาจผิดปกติไปจากเดิม
ป้องกันผิวหนังและเล็บเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและของเล็บจากยาเคมีบำบัด แต่ดังกล่าวแล้ว โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะค่อยๆกลับเป็นปกติภายหลังครบยาเคมีบำบัดแล้วประมาณ 3-6 เดือน
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีผิวหนังและ/หรือเล็บเปลี่ยนแปลง? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลผิวหนังและเล็บเมื่อได้ยาเคมีบำบัด เช่น
- รักษาความสะอาดผิวหนังและเล็บเสมอ
- ใช้สบู่อ่อน สบู่เด็ก
- งดการเสริมสวยทำเล็บ
- ตัดเล็บให้สั้น (ไม่ใช่ตัดให้กุด)
- ใส่ถุงมือเสมอเมื่อต้องทำงานสกปรก เช่น ล้างจาน ทำสวน
- ผู้ชายต้องใช้เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า และหลีกเลี่ยงการโกนหนวดทุกวัน เพื่อลดการบาดเจ็บต่อผิวหนังบริเวณนั้น
- ไม่ใช้/จำกัดเครื่องสำอาง รวมทั้งน้ำหอม
- ใช้ยาระงับกลิ่นตัว/ยาระงับเหงื่อเท่าที่จำเป็น, เลือกชนิดที่ก่ออาการแพ้ได้น้อย, ไม่มีกลิ่น, และไม่มียาทำให้ผิวขาว
- อาบน้ำที่อุณหภูมิปกติ หรือไม่อุ่นจัด, ไม่เช็ดตัวรุนแรง, ไม่ขัดผิวรุนแรง
- ใช้โลชั่นบำรุงผิวและเล็บบ่อยๆ สม่ำเสมอ ตลอดไป
- เมื่อออกแดด: ใช้ยากันแดด สวมหมวก หรือใช้ร่ม สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว, เสื้อผ้าสีอ่อนที่จะสะท้อนแสงแดดได้ดีขึ้น
- เสื้อผ้า, ชุดชั้นในต้องไม่รัดแน่น, ไม่ก่อการระคายเคืองผิว, ที่รวมถึงถุงมือ ถุงเท้า ควรเป็นผ้าฝ้าย 100%
- ใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าและน้ำยาปรับผ้านุ่มที่อ่อนโยนต่อผิว
- หลีกเลี่ยงสารเคมีสัมผัสผิว เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน จึงควรต้องสวมถุงมือขณะใช้สารเหล่านี้
- ขณะให้ยาเคมีบำบัด ถ้าน้ำเกลือไม่หยด, ตำแหน่งให้ยาฯบวม และ/หรือเจ็บ, ต้องรีบแจ้งพยาบาล/แพทย์ทันที
- ทาน้ำยาคาลามายด์ (Calamine lotion), หรือกินยาแอนติฮีสตามีน(Antihista mine)/ยาแก้แพ้ เมื่อเกิดอาการคัน โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
- ดื่มน้ำสะอาดเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดภาวะขาดน้ำ เพราะผิวจะแห้งมากขึ้น อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- เมื่อเจ็บตามรอยของหลอดเลือดดำที่ให้ยาเคมีบำบัด, ทาบริเวณที่เจ็บด้วยยาครีม หรือเจล/Gel ในกลุ่มยาเอ็นเสด (NSAIDs, Non steroidal anti inflammatory drugs) โดยปรึกษา แพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกรก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
- ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อ
- ผิวเกิดผื่น, ตุ่มน้ำ,บวม, แดง, มีหนอง,เจ็บ,และ/หรือแสบ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับมีไข้ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ
- ผิวในตำแหน่งที่เคยได้รังสีรักษา ขึ้นผื่น หรือ บวม แดง หรือ ผิดปกติ
- เล็บหลุด เพราะจะติดเชื้อได้ง่าย
บรรณานุกรม
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/side-effects/skin-nail-changes [2023,March4]
- https://chemocare.com/chemotherapy/side-effects/skin-reactions.aspx [2023,March4]
- https://dermnetnz.org/topics/skin-toxicity-of-chemotherapy-drugs [2023,March4]
- https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/treatment-types/chemotherapy/chemotherapy-side-effects.html [2023,March4]