การป้องกันภาวะติดเชื้อในคนไข้เคมีบำบัดและรังสีรักษา (Chemotherapy and Radiotherapy:Infections)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 15 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- ทำไมได้เคมีบำบัด หรือรังสีรักษาแล้วติดเชื้อได้ง่าย? ติดเชื้ออะไรได้บ้าง?
- ป้องกันการติดเชื้อเมื่อได้เคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษาอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย โรคจากแบคทีเรีย Bacterial infection - หาหมอ.com
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- โรคติดเชื้อปรสิต (Parasitic infection)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
ทำไมได้เคมีบำบัด หรือรังสีรักษาแล้วติดเชื้อได้ง่าย? ติดเชื้ออะไรได้บ้าง?
ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคน โดยธรรมชาติของโรคจะมีภูมิคุ้มกันตานทานของร่างกายต่ำอยู่แล้ว อาจโดยเป็นผลจาก ตัวโรคมะเร็งเอง, พันธุกรรม, ฯลฯ
ส่วนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา ทั้ง 2 วิธีการจะมีผลต่อเซลล์ร่างกายที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ซึ่งที่สำคัญคือไขกระดูก โดยยาเคมีบำบัด และ รังสีรักษา จะทำให้เซลล์ไขกระดูกเกิดบาดเจ็บ และมีจำนวนเซลล์ลดลง โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันต้านทานการติดเชื้อโรคทุกชนิดโดยตรง ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา จึงมักมีภูมิคุ้มกันต่านทานโรคและมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าคนปกติ ดังนั้นจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการรักษาร่วมกันทั้งยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
การติดเชื้อที่เกิดจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นการติดเชื้อที่เกิดได้จากเชื้อโรคทุกชนิดทั้ง แบคทีเรีย โรคเชื้อรา โรคติดเชื้อไวรัส โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อปรสิต แต่พบบ่อยที่สุด คือ ติด’เชื้อแบคทีเรีย’ รองลงไป คือ โรคติดเชื้อรา
การติดเชื้อในภาวะมีเม็ดเลือดขาวต่ำ มักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงจนเป็นสาเหตุถึง ตายได้ในอัตราค่อนข้างสูงและอย่างรวดเร็วเพราะมักลุกลามเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)ได้ง่าย
ป้องกันการติดเชื้อเมื่อได้เคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษาอย่างไร?
การป้องกันการติดเชื้อเมื่อได้รับยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษาและ/หรือในผู้ป่วยมะเร็ง ที่สำคัญ เช่น
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน
- กินแต่อาหารปรุงสุกทั่วถึง ไม่ใช่สุกๆดิบๆ ไม่กินอาหารค้าง
- ชาม ช้อน แก้วน้ำ ต้องสะอาด
- ระมัดระวังการกินอาหารทะเลทุกชนิดเพราะมักติดเชื้อได้ง่าย จากเป็นอาหารที่ล้างให้สะอาดได้ยาก และมักปรุงสุกๆดิบๆ เช่น หอย ปู และกุ้ง
- ไม่บริโภคผักสด ผลไม้ไม่ปลอกเปือก
- ระวังพวกน้ำซอส น้ำจิ้ม พริกน้ำส้ม เครื่องปรุงรส ที่ทิ้งค้างไว้ รวมทั้งซอสมะเขือเทศ
- ควรหลีกเลี่ยง นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต ซึ่งมีจุลินทรีย์ที่ในภาวะร่างกายปกติ จะเป็นจุลินทรีย์ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่ในภาวะร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ จุลินทรีย์เหล่านี้ อาจเจริญเติบโตผิดปกติจนส่งผลให้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้
- ระวังน้ำดื่มต้องสะอาด โดยเฉพาะน้ำแข็ง
- เคลื่อนไหว ออกกำลังกาย ตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- ไม่ไปในที่แออัด เช่น ศูนย์การค้า ถ้าจะไปควรใช้หน้ากากอนามัย และเลือกไปในช่วงเวลาที่มีคนน้อย เช่น ในวันราชการ และในช่วงห้างแรกเปิด หรือเกือบจะปิดแล้ว
- ระมัดระวังการใช้/สัมผัสของใช้สาธารณะ เช่น ราวบันไดเลื่อน การใช้ลิฟต์ การใช้โทรศัพท์สาธารณะ
- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆโดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลต่างๆตามร่างกาย โดยเฉพาะที่เท้า และบริเวณเล็บ
- ตัดเล็บให้สั้นป้องกันแผลติดเชื้อจากการเกา
- ระวังการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- ใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งจะเป็นหญิงหรือชาย
- รู้จักดูแลตนเองในภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีการติดเชื้อ? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีการติดเชื้อ รู้ได้โดย มักมีไข้ ท้องเสีย ไอมาก ไอมีเสมหะ หรือเสมหะมีสีเขียว หรือเหลือง คอแข็ง ปวดหัวมาก มีฝ้าขาวในช่องปากหรือที่อวัยวะเพศ ผิวหนังขึ้นผื่น ปัสสาวะแสบขัด เจ็บปาก คอ มาก เจ็บ/ปวดหูมาก และ/หรือ ผิวหนังมีแผล/ฝี บวม แดง ร้อน ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 24-48 ชั่วโมงตามความรุนแรงของอาการ
แต่ถ้ามี ไข้สูงร่วมกับท้องเสีย และ/หรือคอแข็ง ร่วมกับมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ต้องรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉินเสมอ
อนึ่ง: จะรู้ได้ว่า มีเม็ดเลือดขาวต่ำ โดยการตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) ซึ่งระหว่างได้ยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา แพทย์จะตรวจ ซีบีซี อย่างน้อยสัปดาห์ละ1ครั้ง และแพทย์ พยาบาลจะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ พร้อมให้คำแนะนำการดูแลตนเองในภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งผู้ป่วยควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้น การดูแลตนเองที่สำคัญอีกประการ คือ เมื่อมีการตรวจต่างๆรวมทั้งการตรวจเลือด ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์ พยาบาล ว่าตรวจอะไร และผลตรวจเป็นอย่างไร เพื่อการดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม
บรรณานุกรม
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/physical-side-effects/low-blood-counts/infections/preventing-infections-in-people-with-cancer.html [2022,May14]
- https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/treatment-types/chemotherapy.html [2022,May14]
- https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/coping/physically/fever/causes/infection/during-or-after-treatment [2022,May14]
- https://chemocare.com/chemotherapy/side-effects/infection.aspx [2022,May14]