การติดเชื้อยูเรียพลาสมาในสตรี (Ureaplasma infecton in women)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 30 กันยายน 2560
- Tweet
สารบัญ
- การติดเชื้อยูเรียพลาสมาคืออะไร?
- การติดเชื้อยูเรียพลาสมาทำให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง?
- สตรีใดมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อยูเรียพลาสมา?
- มีอาการอย่างไรเมื่อติดเชื้อยูเรียพลาสมา?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยการติดเชื้อยูเรียพลาสมาอย่างไร?
- แพทย์รักษาการติดเชื้อยูเรียพลาสมาอย่างไร?
- ผลกระทบหรือภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อยูเรียพลาสมาเป็นอย่างไร?
- ผู้ติดเชื้อยูเรียพลาสมาควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อติดเชื้อนี้?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- การติดเชื้อยูเรียพลาสมาสามารถเป็นซ้ำและป้องกันได้หรือไม่?
- ทารกที่เกิดจากการที่มารดาติดเชื้อยูเรียพลาสมาจะมีปัญหาหรือไม่?
- ดูแลตนเองด้านเพศสัมพันธ์อย่างไรเมื่อติดเชื้อยูเรียพลาสมา?
- ควรหยุดเพศสัมพันธ์นานเท่าไร?
- ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อใดหลังมีการติดเชื้อยูเรียพลาสมา?
- ควรคุมกำเนิดวิธีใดเมื่อติดเชื้อยูโรพลาสมา?
- ผู้เคยติดเชื้อยูเรียพลาสมา ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อตั้งครรภ์?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา / มัยโคพลาสมา (Mycoplasma infections)
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)
- ปากมดลูกอักเสบ (Cervicitis)
- ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
- การแท้งบุตร (Miscarriage)
- ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Premature rupture of membranes)
- คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)
- จอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด (โรคอาร์โอพี) Retinopathy of Prematurity (ROP)
การติดเชื้อยูเรียพลาสมาคืออะไร?
ยูเรียพลาสมา(Ureaplasma)เป็นเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มไมโคพลาสมา (Mycoplasma, อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา”) โดยไมโคพลาสมาเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีขนาดเล็กที่สุดที่สามารถอยู่ได้โดยอิสระ พบเชื้อกลุ่มนี้ได้ทั้งใน คน สัตว์เลื้อยคลาน ปลา และพืช ในคนนั้นจะพบไมโคพลาสมาได้ใน ช่องปาก ในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ในอวัยวะระบบสืบพันธุ์ส่วนล่าง(ในเพศหญิง คือ โยนี ช่องคลอด ปากมดลูก, ในเพศชาย คือ องคชาต) และในระบบทางเดินปัสสาวะ ในกลุ่มเชื้อไมโคพลาสที่อยู่ในระบบสืบพันธ์ส่วนล่างด้วยกันนั้น เชื้อก่อโรคที่พบมากที่สุดคือ เชื้อชนิดที่เรียกว่า “ยูเรียพลาสมา(Ureaplasma)” ในภาวะปกติจะพบเชื้อยูเรียพลาสมาในระบบสืบพันธุ์สตรี ในช่องคลอด ในปากมดลูก โดยที่ไม่ทำอันตรายต่อคน (Normal genital flora) ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ บางรายงานพบเชื้อนี้ได้มากถึง 70-80% (Ureaplama และ Mycoplasma) แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอลง หรือมีภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เชื้อเหล่านี้จะแข็งแรงและเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนทำให้เกิดโรคขึ้น ที่เรียกว่า “การติดเชื้อยูเรียพลาสมาในสตรี หรือ ภาวะ/โรคติดเชื้อยูเรียพลาสมาในสตรี(Ureaplasma infecton in women)”
เชื้อยูเรียพลาสมามีหลายสายพันธุ์ย่อย/ชนิด(Spieces) โดยสายพันธุ์ย่อยที่ทำให้เกิดโรคในคน และในสตรีที่พบบ่อย คือสายพันธ์ย่อยที่ชื่อ “Ureaplasma urealiticum” และ “Ureaplasma parvum” เชื้อยูเรียพลาสมานี้พัฒนามาจากแบคทีเรียชนิดแกรมบวก แต่จะไม่มีผนังเซลล์ ทำให้ยาปฏิชีวนะบางอย่าง/บางชนิดไม่สามารถทำลายเชื้อนี้ได้ และการแพร่เชื้อนี้สามารถติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์ และสามารถติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูกในครรภ์ได้ หรือจากการสัมผัสสิ่ง/สารคัดหลั่งมารดาระหว่างการคลอด
การติดเชื้อยูเรียพลาสมาทำให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง?
การติดเชื้อยูเรียพลาสมาในสตรีอาจทำให้เกิดปัญหา/ผล/ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ดังต่อไปนี้ เช่น
1. ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบอวัยวะสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะทั้งในสตรีและบุรุษ โดยในสตรี ทำให้เกิดการอักเสบของอุ้งเชิงกราน(การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) ปากมดลูกอักเสบ
2. ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ซึ่งอาจเป็นผลจากากรมีการอักเสบเรื้อรังในอุ้งเชิงกราน
3. ทำให้เกิดการติดเชื้อในเยื่อบุโพรงมดลูก(เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ) และสามารถทำให้เกิดการแท้งบุตรได้
4. มีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไต นิ่วในท่อไต
5. ทำให้เกิดการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ
6. ทำให้ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด/ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
7. ทำให้เกิดโรคทางระบบหายใจในทารกแรกเกิดได้ (Broncho-pulmonary dysplasia and chronic lung disease)
8. ทำให้เกิดปัญหาที่ตาทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้ ได้แก่ Retinopathy of prematurity in preterm(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “จอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด”)
สตรีใดมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อยูเรียพลาสมา?
สตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อยูเรียพลาสมา ได้แก่
1. มีคู่นอนหลายคน
2. มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น มีการติดเชื้อ HIV อยู่ก่อนแล้ว
3. มีภาวะมีบุตรยาก
4. สตรีตั้งครรภ์
มีอาการอย่างไรเมื่อติดเชื้อยูเรียพลาสมา?
อาการจากการติดเชื้อยูเรียพลาสมาในสตรี จะเป็นอาการจากการอักเสบที่เกิดจากอวัยวะนั้นๆติดเชื่อแบคทีเรียที่รวมถึงการติดเชื้อยูเรียพลาสมา ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อที่อวัยวะใด เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ปากมดลูกอักเสบ ทั้งนี้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเรื่อง อาการจากการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะต่างๆได้ในเว็บ haamor.com เช่น เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ปากมดลูกอักเสบ เป็นต้น
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
โดยทั่วไป หากมีอาการผิดปกติต่างๆ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตนเองในเบื้องต้นประมาณ 2-3 วัน หรืออาการต่างๆเหล่านั้นเลวลง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยการติดเชื้อยูเรียพลาสมาอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยการติดเชื้อยูเรียพลาสมาได้จาก
ก. ประวัติทางการแพทย์: เนื่องจากการมีเชื้อยูเรียพลาสมาในร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ หรือในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่มีอาการได้ จึงค่อนข้างยากที่แพทย์จะให้การวินิจฉัยโรคติดเชื้อนี้ แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์จะวินิจฉัยในเบื้องต้น โดยแพทย์สอบถามเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆต่อการเกิดโรค อาการผิดปกติที่พบได้ เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปวดหน่วงในท้องน้อย ตกขาวผิดปกติ ปวดแสบในช่องคลอดและในท่อปัสสาวะ
ข.การตรวจร่างกาย: โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักไม่มีไข้ สัญญาณชีพต่างๆปกติ อาจตรวจพบการกดเจ็บบริเวณท้องน้อย หากมีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน การตรวจภายในอาจพบตกขาวในช่องคลอด ปากมดลูกอักเสบ เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด
ค.การตรวจทางห้องปฎิบัติการ: แพทย์จะเก็บสิ่ง/สารคัดหลั่งจากบริเวณที่คิดว่าจะมีการติดเชื้อไปตรวจ เช่น การป้ายสารคัดหลั่งในช่องคลอด การป้ายสารคัดหลั่งที่ปากมดลูก การตรวจปัสสาวะ การดูดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูก แต่ด้วยข้อจำกัดว่าเชื้อนี้ไม่มีผนังเซลล์ จึงทำให้การตรวจเชื้อนี้ทางห้องปฏิการด้วยการย้อมสีแกรม(Gram stain)มองไม่เห็นตัวเชื้อ จึงต้องใช้การเพาะเชื้อแบบพิเศษ หรือการตรวจหาเชื้อนี้ด้วยเทคนิคชั้นสูงที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) ซึ่งในห้องตรวจตามโรงพยาบาลทั่วไป ยังไม่มีการตรวจด้วยวิธีนี้ ปัจจุบันมีหลายบริษัทในต่างประเทศที่ผลิตชุดตรวจสำเร็จรูป ที่สามารถบอกถึงการติดเชื้อกลุ่มนี้ได้ แต่ยังไม่มีการตรวจวิธีนี้ในประเทศไทย
แพทย์รักษาการติดเชื้อยูเรียพลาสมาอย่างไร?
แพทย์รักษาการติดเชื้อยูเรียพลาสมาโดย แพทย์จะให้รับประทานยาปฎิชีวนะ กลุ่ม Macrolides หรือ Tetracycline หรือ Quinolone
ผลกระทบหรือภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อยูเรียพลาสมาเป็นอย่างไร?
ผลกระทบ/ผลข้างเคียง หรือภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อยูเรียพลาสมาที่พบได้ คือ
เชื้อยูเรียพลาสมาจะทำให้เกิดโรคในสตรีที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ที่ส่งผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์ตามที่กล่าวมาข้างต้นในหัวข้อ “ปัญหาจากการติดเชื้อยูเรียพลาสมาฯ”
ส่วนในสตรีตั้งครรภ์แล้ว เกิดการติดเชื้อนี้ อาจนำไปสู่ การแท้งบุตร การติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำซึ่งนำไปสู่การทำให้ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด/แตกก่อนการเจ็บครรภ์คลอดที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดตามมาซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพทารก แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่า การให้ยาปฎิชีวนะแก่สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนี้ สามารถลดอุบัติการณ์อันไม่พึงประสงค์ต่างๆดังกล่าวจากการติดเชื้อนี้ระหว่างตั้งครรภ์ลงได้มาก
สตรีควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อติดเชื้อยูเรียพลาสมา?
สตรีควรดูแลตนเองเมื่อติดเชื้อยูเรียพลาสมา ดังนี้
ก. กรณีสตรีที่ยังไม่ตั้งครรภ์: ตามที่กล่าวมาแล้วว่าสามารถพบเชื้อนี้ได้ในช่องคลอดหรือที่ปากมดลูกสตรีปกติทั่วไปที่มีเพศสัมพันธ์ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีปริมาณเชื้อนี้เพิ่มมากผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อนี้ได้ โดยอาการที่สตรีจะสังเกตตัวเองได้คือ มีตกขาวผิดปกติ ตกขาวมีปริมาณมากผิดปกติ สีตกขาวเปลี่ยนไป มีไข้ หรือปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง 2-3 วัน หรืออาการเลวลง ก็ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาก่อนที่โรคจะรุนแรงมากขึ้น หรือก่อนที่โรคจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะสั้น/ระยะเฉียบพลันและในระยะยาว
ข. กรณีสตรีที่กำลังตั้งครรภ์: การดูแลตนเองจะเหมือนในสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ แต่การติดเชื้อกลุ่มนี้นอกจากสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในแม่แล้ว อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำและจะเหนี่ยวนำให้เกิดการแตกของถุงน้ำคร่ำก่อนการเจ็บครรภ์คลอด และทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
หากมีตกขาวผิดปกติ สีของตกขาวเปลี่ยนไป มีไข้ ปวดท้องน้อย มีถุงน้ำคร่ำแตก หรือเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือทันทีขึ้นกับความรุนแรงของอาการ โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
การติดเชื้อยูเรียพลาสมาสามารถเป็นซ้ำและป้องกันได้หรือไม่?
การติดเชื้อยูเรียพลาสมาในสตรี สามารถเกิดเป็นซ้ำได้ แต่ การมีคู่นอนคนเดียว การใช้ถุงยางอนามัยชาย จะสามารถช่วยลดการติดเชื้อที่ติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์(โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่รวมถึงการติดเชื้อยูเรียพลาสมา)ได้ นอกจากนี้ สตรีควรรักษาสุขภาวะของระบบสืบพันธุ์ และ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ก็จะลดการเกิดโรคต่างๆได้ที่รวมถึงการติดเชื้อยูเรียพลาสมา
ทารกที่เกิดจากการที่มารดาติดเชื้อยูเรียพลาสมาจะมีปัญหาหรือไม่?
ทารกที่เกิดจากการที่มารดาติดเชื้อยูเรียพลาสมา หากเป็นทารกอายุครรภ์ครบกำหนด เมื่อแพทย์ให้การรักษามารดาด้วยยาปฏิชีวนะ ทารกที่เกิดฯมักไม่มีปัญหาอะไร แต่หากเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนด จะมีผลต่อสุขภาพทารกได้ เช่น ทารกติดเชื้อต่างๆได้ง่าย และ/หรือทำให้เกิด จอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด
ดูแลตนเองด้านเพศสัมพันธ์อย่างไรเมื่อติดเชื้อยูเรียพลาสมา?
การดูแลตนเองด้านเพศสัมพันธ์เมื่อติดเชื้อยูเรียพลาสมา ได้แก่
1.รับประทานยาที่แพทย์สั่งให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ
2. รักษาความสะอาดของอวัยวะเพศตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
3. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เช่น รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
4. ใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์
ควรหยุดเพศสัมพันธ์นานเท่าไร?
การรักษาโรคติดเชื้อยูโรพลาสมา ต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อที่แพทย์สั่งประมาณ 1-7 วันแล้วแต่ชนิดของยาหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรค ซึ่งช่วงรักษา ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือต้องใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งของการมีเพศสัมพันธ์
ควรคุมกำเนิดวิธีใดเมื่อติดเชื้อยูโรพลาสมา?
สามารถใช้วิธีการคุมกำเนิดได้ตามปกติ แต่การใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมด้วยจะช่วยลดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์(โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)ที่รวมถึงการติดเชื้อยูโรพลาสมาด้วย
ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อใดหลังมีการติดเชื้อนี้?
การรักษาโรคติดเชื้อยูโรคพลาสมา ต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะประมาณ 1-7 วัน แล้วแต่ชนิดของยาฯที่แพทย์สั่ง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรค แต่ไม่มีข้อห้ามในการตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม ควรเว้นระยะการมีบุตรตามความเหมาะสมโดยควรปรึกษาแพทย์เป็นกรณีๆไป
ผู้เคยติดเชื้อยูเรียพลาสมา ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อตั้งครรภ์?
เมื่อมีการตั้งครรภ์ สตรีผู้เคยติดเชื้อยูเรียพลาสมาควรดูแลตนเอง ดังนี้
ก. กรณีต้องการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป: ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สังเกตอาการผิดปกติตามที่กล่าวมาแล้วใน หัวข้อ “อาการฯ” ซึ่งหากเกิดอาการดังกล่าว ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ทั้งนี้ ไม่มีการให้ยาป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคนี้ซ้ำ แต่หากมีการติดเชื้อนี้ ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์
ข. กรณีขณะกำลังตั้งครรภ์: ควรต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และสังเกตอาการผิดปกติต่างๆตามที่กล่าวมาเช่นกัน หากมีอาการผิดปกติดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล และหากพบมีการติดเชื้อนี้ ต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆจากโรคนี้ที่อาจเกิดกับทารกดังที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อ”ผลกระทบ/ภาวะแทรกซ้อนฯ/ผลข้างเคียง”
บรรณานุกรม
- Capoccia R1, Greub G, Baud D.Ureaplasma urealyticum, Mycoplasma hominis and adverse pregnancy outcomes. Curr Opin Infect Dis 2013 ; 26:231-40.
- http://emedicine.medscape.com/article/231470-overview[2017,Sept30]
- Hunjak B, Sabol I, Vojnovic G, Fistonic I, Erceg AB, Persic Z, et al. Ureaplasma urealyticum and Ureaplasma parvum in women of reproductive age. Arch Gynecol Obstet 2014; 289: 407-12.
- Kwak DW1, Hwang HS, Kwon JY, Park YW, Kim YH. Co-infection with vaginal Ureaplasma urealyticum and Mycoplasma hominis increases adverse pregnancy outcomes in patients with preterm labor or preterm premature rupture of membranes. J Matern Fetal Neonatal Med. 2014 ;27:333-7.
- Kokkayil P, Dhawan B. Ureaplasma: current perspectives.Indian J Med Microbiol [serial online] 2005 [cited 2017 Sep 1]; 33: 205-14. Available at: http://www.ijmm.org/text.asp?2015/33/2/205/154850[2017,Sept30]
- Lee MY, Kim MH, Lee WI, Kang SY, Jeon UL. Prevalence and antibiotic susceptibility Mycoplasma hominis and Ureaplasma urealyticum in pregnant women. Yonsei Med J 2016[cited 2017 Sep15] ; 57: 1271-5 Available at http://dx.doi.org/10.3349/ymj.2016.57.5.1271[2017,Sept30]