การดูแลผู้ใส่คาสายสวนปัสสาวะเมื่ออยู่บ้าน (Indwelling urinary catheter care)
- โดย ผศ.ดร.มนสภรณ์ วิทูรเมธา
- 18 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: เรื่องทั่วไป
- การใส่คาสายสวนปัสสาวะคืออะไร?
- การใส่คาสายสวนปัสสาวะมีภาวะแทรกซ้อนไหม?
- ดูแลผู้ป่วยคาสายสวนปัสสาวะอย่างไร?
- มีข้อควรระวังขณะที่คาสายสวนปัสสาวะอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคไขสันหลัง (Spinal cord disease)
บทนำ: เรื่องทั่วไป
ตามปกติร่างกายของคนเรา สามารถขับถ่ายปัสสาวะออกได้เอง เพื่อขจัดของเสียในร่างกายออกทางปัสสาวะ เพื่อทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลของสารเคมีต่างๆในร่างกาย เพื่อคงทำหน้าที่ของร่างกายได้เป็นปกติ แต่เมื่อบุคคลเกิดความเจ็บป่วยที่ไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ให้ระบายปัสสาวะออกด้วยการใส่คาสายสวนปัสสาวะ (Urinary catheter) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับผู้ที่มีปัญหาระบบประสาทควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะสูญเสียหน้าที่ เช่น ในรายที่เป็นอัมพาต ที่ต้องใส่คาสายสวนปัสสาวะไว้ในการช่วยระบายปัสสาวะเกือบตลอดชีวิต ซึ่งการใส่คาสายสวนปัสสาวะ อาจเป็นการชั่วคราวเพื่อ ใช้ระบายปัสสาวะ ก่อนผ่าตัด ในขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัดช่วงที่ผู้ป่วยยังฟื้นตัวดูแลตนเองไม่ได้ดี, เพื่อ แพทย์ พยาบาล ใช้เป็นการช่วยประเมินการทำงานของไต, และเพื่อการทดแทนน้ำให้เพียงพอแก่ร่างกายผู้ป่วยผ่านการประเมินปริมาณปัสสาวะที่ออกมาในหนึ่งชั่วโมง หรือรวมทั้งวันทั้งนี้เพื่อให้อวัยวะต่างๆยังคงทำงานได้ตามปกติ
ผู้ป่วยหลายรายมีความจำเป็นต้องใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ และต้องกลับไปดูแลต่อเองที่บ้าน และต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือที่สถานบริการสุขภาพต่างๆเพื่อรับการรักษาเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่อง การดูแลสายสวนปัสสาวะ จึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้ป่วยและสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยในการดูแลสายสวนปัสสาวะได้ถูกต้อง
ในบทความนี้ จึงขอนำเสนอ “การดูแลผู้ที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะเมื่ออยู่ที่บ้าน (Indwelling urinary catheter care)” โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ป่วย และ/หรือผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถดูแลสายสวนปัสสาวะได้ด้วยตนเอง ลดการติดเชื้อ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อมีการใส่คาสายสวนปัสสาวะขณะที่อยู่บ้าน หรือเมื่อต้องออกไปมีกิจกรรมทางสังคมนอกบ้าน
การใส่คาสายสวนปัสสาวะคืออะไร?
การใส่สายสวนปัสสาวะ (สายสวนฯ) เป็นการใส่สายสวนฯที่ปราศจากเชื้อเข้าไปคาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ โดยสอดใส่สายสวนฯผ่านคาทางท่อปัสสาวะ เพื่อระบายปัสสาวะออกได้สะดวก มักใช้ในผู้ป่วยรายที่ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้เอง
การใส่คาสายสวนปัสสาวะมีภาวะแทรกซ้อนไหม?
ผู้ป่วยที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะไว้ในการระบายปัสสาวะเป็นเวลานานๆ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ได้ ซึ่งที่พบบ่อย คือ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
*ข้อสังเกตของอาการจากมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ คือ มีไข้, ปัสสาวะขุ่น, และ/หรือ มีตะกอน, ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนผิดปกติ, และบางครั้งอาจมีน้ำปัสสาวะเป็นเลือด
นอกจากนั้น ผู้ใส่สายสวนฯ อาจเกิด การระคายเคือง เจ็บ ในตำแหน่งใส่สายสวนฯ จากมีการบาดเจ็บของท่อปัสสาวะจากตัวสายสวนฯ หรือจากการดึงรั้งของสายสวนฯ และอาจทำให้มีปัสสาวะเป็นเลือดร่วมด้วยได้เช่นกัน
ซึ่งเมื่อพบอาการ/สิ่งผิดปกติดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
ดูแลผู้ป่วยคาสายสวนปัสสาวะอย่างไร?
การดูแลผู้ป่วยใส่คาสายสวนปัสสาวะ สิ่งสำคัญในการดูแลมีอยู่ 2 ประการคือ การทำให้ปัสสาวะไหลสะดวก และการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งทั่วไปการดูแลผู้ที่ใส่สายสวนปัสสาวะ มีดังนี้
- ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆประมาณ วันละ 2,500-3,000 มิลลิลิตร (2.5-3ลิตร) เมื่อไม่เป็นโรคที่แพทย์ให้จำกัดปริมาณน้ำดื่ม เพื่อช่วยชะล้างสิ่งอุดกั้นภายในทางเดินปัสสาวะ และช่วยขับของเสียในทางเดินปัสสาวะออกมาได้สะดวกมากขึ้น จึงทำให้ปัสสาวะไหลได้คล่อง ไม่ติดขัด และลดปริมาณเชื้อโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ดูแลสายสวนปัสสาวะไม่ให้ หัก พับ หรืองอ ควรตรึงสายสวนปัสสาวะไว้กับตัวผู้ป่วยด้วยพลาสเตอร์ กรณีผู้ป่วยผู้หญิง ควรติดพลาสเตอร์ตรึงสายสวนฯที่บริเวณหน้าขาด้านใน ส่วนกรณีผู้ป่วยผู้ชาย ควรติดพลาสเตอร์ตรึงสายสวนที่ บริเวณหน้าท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่ง และหากพบว่าพลาสเตอร์ที่ติดไว้สกปรก สามารถเปลี่ยนได้บ่อยตามที่ต้องการ เพื่อลดจำนวนเชื้อโรคที่อาจเข้าไปในสายสวนปัสสาวะ
- ขณะนอน สายสวนปัสสาวะและสายที่ต่อกับถุงปัสสาวะ (ถุงรองรับปัสสาวะ) ควรยึดติดไว้กับที่นอน/เตียงนอน เพื่อลดการเคลื่อนที่ของสายฯดังกล่าว
- ถุงรองรับปัสสาวะ ควรให้อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่ากระเพาะปัสสาวะให้มากที่สุดอย่างน้อย ต่ำกว่าเอวลงมา เพื่อช่วยให้ปัสสาวะไหลลงถุงรองรับปัสสาวะได้สะดวกโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก
- ถ้าพบว่า ปัสสาวะมีสีขุ่น หรือมีตะกอนในสายสวนปัสสาวะ:
- ควรใช้มือบีบรูดสายสวนปัสสาวะบ่อยๆเพื่อช่วยป้องกันตะกอนอุดตัน สายสวนปัสสาวะ
- อย่างไรก็ตาม การใช้มือบีบรูดสายสวนปัสสาวะต้องใช้ความระมัดระวังเกิดการดึงรั้งระหว่างสายสวนปัสสาวะกับท่อปัสสาวะ จนอาจเกิดการบาดเจ็บกับท่อปัสสาวะและ/หรือกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่สายสวนฯคาอยู่ได้
- ดังนั้น ผู้ป่วย หรือผู้ดูแล ควรได้รับคำแนะนำจาก แพทย์ หรือจากพยาบาลในการบีบรูดสายสวนปัสสาวะจนเข้าใจ ก่อนนำไปปฏิบัติเองที่บ้าน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
- ดูแลสายสวนปัสสาวะให้อยู่ใน 'ระบบปิด' เพื่อป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะ คือ
- ตั้งแต่ข้อต่อสายสวนปัสสาวะและสายต่อกับถุงรองรับปัสสาวะต้องให้ปิดอยู่ตลอดเวลา
- ระมัดระวัง ไม่ให้ข้อต่อหลุด หรือเปิดออก
- หากข้อต่อหลุด: ให้ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 90% เช็ดปลายข้อต่อที่สายสวนปัสสาวะและที่ปลายสายข้อต่อกับถุงรองรับปัสสาวะ, แล้วจึงต่อสายสวนปัสสาวะเข้ากับถุงรองรับน้ำปัสสาวะไว้เหมือนเดิม
- การทำความสะอาดสายสวนปัสสาวะที่คาอยู่: โดย
- ใช้น้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง(ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำอุ่น)ล้างสายสวนฯ หลังจากนั้นฟอกสายสวนฯด้วยสบู่แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งให้สะอาด
- ซับสายสวนฯ และผิวหนัง/เนื้อเยื่อที่เปียกน้ำให้แห้ง เพื่อลดจำนวนเชื้อโรค
- • การเทน้ำปัสสาวะออกจากถุงรองรับปัสสาวะ/ถุงรองรับฯ: ควรเทน้ำปัสสาวะออกจากถุงรองรับฯเมื่อพบว่า
- มีน้ำปัสสาวะประมาณ ¾ ของถุงรองรับฯ หรือ
- ทุก 6-8 ชั่วโมง หรือ
- เมื่อจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงไปรถนั่งหรือจากรถนั่งไปเตียง
- โดยในการเทปัสสาวะออก ต้อง
- ไม่สัมผัสบริเวณปลายรูเปิดของถุงรองรับปัสสาวะ
- ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดบริเวณรูเปิดของถุงรองรับฯก่อนและหลังเทน้ำปัสสาวะออกจากถุง
- แล้วจึงปิดรูเปิดของถุงรองรับปัสสาวะให้แน่น
- *ในช่วงเวลาก่อนนอนตอนกลางคืน:
- ควรเทน้ำปัสสาวะออกจากถุงรองรับฯให้หมดก่อน เพราะจะได้ไม่ต้องตื่นในเวลากลางคืนมาเทน้ำปัสสาวะออก ช่วยให้นอนหลับได้อย่างสบายไม่ต้องกังวลว่าปัสสาวะจะเต็มถุงรองรับฯ
- นอกจากนั้น ที่สำคัญอีกประการ คือ จัดการวิธีนอนเพื่อระมัดระวังการนอนทับสายสวนปัสสาวะเพื่อป้องกันการกดทับสายสวนฯจนเกิดการคั่งค้างปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ ที่จะเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกและผิวหนัง/เนื้อเยื่อรอบๆที่สอด สายสวนฯ:
- ควรทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง,และสบู่ชนิดที่อ่อนโยน (สบู่เด็กอ่อน) อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า และ เย็น(ก่อนนอน) และทุกครั้งหลังการขับถ่ายอุจจาระ, เพื่อช่วยลดจำนวนเชื้อโรค และยังช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายหลังจากการขับถ่าย
- วิธีทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกและผิวหนัง/เนื้อเยื่อรอบๆสายสวนฯที่ถูกต้อง เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรคโดยเฉพาะจากทวารหนักเข้าสู่รูเปิดท่อปัสสาวะและสู่ระบบทางเดินปัสสาวะ, และยังช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายภายหลังการทำความสะอาด คือ
- ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง และด้วยสบู่ชนิดที่อ่อนโยน จากด้านหน้าของอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก ลงไปสู่ด้านหลังทางทวารหนัก และจากด้านบนลงด้านล่าง โดยไม่ถูย้อนไป ย้อนมา
- แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งให้หมดคราบสบู่
- แล้วซับบริเวณที่ทำความสะอาด/บริเวณที่เปียกชื้นให้แห้ง
- *ไม่ควรใช้ แป้ง ครีม หรือ สเปรย์ บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกและบริเวณผิวหนัง/เนื้อเยื่อใกล้เคียง เพราะจะสะสมเชื้อโรคได้มากขึ้น
- ควรเปลี่ยนถุงปัสสาวะ: เมื่อ
- พบว่าถุงปัสสาวะ รั่ว หรือขาด สังเกตได้จากมีน้ำปัสสาวะรั่วซึม/ถุงเปียกตลอดเวลา)
- *โดยทั่วไป ควรต้องเปลี่ยนถุงปัสสาวะทุก 1 เดือน
- *หรือเปลี่ยนถุงปัสสาวะเร็วกว่านี้เมื่อเห็นว่า สกปรก หรือมีตะกอนจับในถุงปัสสาวะ หรือถุงปัสสาวะมีกลิ่นแรง
- ควรรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เพราะจะช่วยลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ, อาหารที่มีความเป็นกรด เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วนม ลูกพรุน ขนมปัง น้ำส้ม โดยเฉพาะน้ำกระเจี๊ยบที่มีผลการศึกษาพบว่า น้ำกระเจี๊ยบอาจช่วยขับปัสสาวะและอาจลดแบคทีเรียในปัสสาวะได้
- หลีกเลี่ยงการยกถุงรองรับปัสสาวะไว้สูงเหนือระดับเอวเพื่อลดการไหลย้อนของปัสสาวะเข้าไปในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้, และหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เช่น จากเตียงไปรถนั่ง หรือเดิน
- ควรเทน้ำปัสสาวะออกจากถุงรองรับปัสสาวะก่อน
- หรือ หักพับสายสวนสวนปัสสาวะไว้ก่อนขณะที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วย
- และหลังจากเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแล้วจึงให้ปล่อยสายสวนปัสสาวะเพื่อให้ปัสสาวะไหลตามปกติ
- สังเกตอาการจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น มีไข้ หนาวสั่นปัสสาวะขุ่น มีตะกอน กลิ่นฉุนมากผิดปกติ, ซึ่งถ้าพบอาการดังกล่าวแสดงว่ามี ‘การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ’ ควรรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม
- *จากผลการศึกษา ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า ปัจจัยอื่นใน’การป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจากการคาสายปัสสาวะ’ไว้ คือ
- การเลือกขนาดสายสวนปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยที่เหมาะสม, และให้มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้, เพื่อลดการบาดเจ็บบริเวณท่อปัสสาวะ
- การตรึงสายสวนปัสสาวะให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม, และไม่ให้เคลื่อนที่มากเพื่อลดการระคายเคืองของสายสวนฯกับท่อปัสสาวะ
- การดูแลระบบการระบายปัสสาวะให้เป็นระบบปิดตลอดเวลา, และดูแลให้ปัสสาวะไหลสะดวกอยู่เสมอ, เพื่อช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่จะเกิดสะสมกรณีมีการอุดตันของสายสวนฯ
- นอกจากนั้น ก่อนและหลังการสัมผัส ’สายสวนปัสสาวะ, สายต่อระหว่างสายสวนฯกับถุงปัสสาวะ, และตัวถุงปัสสาวะ, ต้องล้างมือให้สะอาดเสมอ
- ส่วนความจำเป็นต้องสวมใส่ถุงมือยางทางการแพทย์หรือไม่ในการดูแลสายสวนฯและถุงปัสสาวะ ควรปรึกษาพยาบาลก่อนเสมอเพราะขึ้นกับความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย
***ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจากการคาสายสวนปัสสาวะ ต้องมีการดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่ การเลือกใช้สายสวนปัสสาวะที่มีขนาดเหมาะสม(ปรึกษากับ แพทย์/พยาบาลในการเลือกขนาด), ดูแลระหว่างคาสายสวนปัสสาวะให้ปัสสาวะไหลสะดวก, ลดการคั่งค้างของปัสสาวะ, รวมทั้งการดูแลความสะอาดบริเวณที่ใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อลดจำนวนเชื้อโรค
นอกจากนั้น ในการดูแลสายสวนฯ, ถุงปัสสาวะ, การเปลี่ยนถุงปัสสาวะ, การเปลี่ยนสายถุงปัสสาวะ, และการทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอก/ผิวหนัง/เนื้อเยื่อบริเวณใส่สายสวนฯ, เพื่อป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ***ควรต้องเรียนรู้วิธีการจากพยาบาลจนเข้าใจ, และจนรู้สึกมั่นใจในการจะทำได้เองที่บ้าน
มีข้อควรระวังขณะที่คาสายสวนปัสสาวะอย่างไร?
มีข้อควรระวังขณะที่คาสายสวนปัสสาวะ ทั่วไป เช่น
- หลีกเลี่ยงการปลดข้อต่อระหว่างสายสวนปัสสาวะกับข้อต่อถุงรองรับปัสสาวะ เพราะมีโอกาสเกิดการปนเปื้อนเชื้อ, และต้องตรวจสอบข้อต่อให้ปิดแน่นสนิทเพื่อป้องกันการรั่วซึมของปัสสาวะที่จะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้
- ขณะที่ผู้ป่วย ยืน หรือเดิน ต้องดูแลถุงรองรับปัสสาวะให้อยู่ต่ำกว่าระดับเอวประมาณ 30 เซนติเมตรเพื่อลดการไหลย้อนของปัสสาวะเข้าไปในสายสวนปัสสาวะ
- ไม่ปล่อยให้ถุงรองรับปัสสาวะวางติดกับพื้นห้องเพราอาจทำให้ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย
- ควรสังเกตว่า:
- มีน้ำปัสสาวะไหลซึมออกมาจากตรงปลายอวัยวะเพศกับสายสวนฯหรือไม่ ถ้ามีปัสสาวะไหลซึมออกมา อาจเกิดจากน้ำกลั่นที่ใส่ไว้ในส่วนบอลลูน (ใช้เป็นตัวช่วยยึดให้สายสวนฯคาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ)ของหัวสายสวนฯมีการรั่ว
- หรือถ้ามีปัสสาวะไหลซึมตามสายสวนปัสสาวะแสดงว่า สายสวนฯมีการฉีกขาด หรือรั่ว
***ในทั้ง 2 กรณีดังกล่าว ให้รีบมาโรงพยาบาลเพื่อ แพทย์ หรือ พยาบาล จะเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะให้ใหม่เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ควรสังเกตว่า มีน้ำปัสสาวะซึมออกจากท่อของ 'ถุงปัสสาวะ', และ/หรือ จาก 'ตัวถุงปัสสาวะ' หรือไม่ ถ้ามีควรต้องเปลี่ยนชุดถุงปัสสาวะใหม่
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ทั่วไป ผู้ป่วยใส่คาสายสวนปัสสาวะควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการ หรืออาการแสดงของการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ดังกล่าวในหัวข้อ ภาวะแทรกซ้อนจากการใส่คาสายสวนปัสสาวะ
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- มีบาดแผล มีเลือดออก และ/หรือมีหนอง ในเนื้อเยื่ออวัยวะเพศภายนอก/เนื้อเยื่อรอบๆสายสวนฯ หรือตรงรูเปิดของท่อปัสสาวะ
- รู้สึกเจ็บ หรือระคายเคืองอวัยวะเพศภายนอก/เนื้อเยื่อรอบๆท่อปัสสาวะ ในท่อปัสสาวะ และ/หรือในกระเพาะปัสสาวะมาก หรืออาการระคายเคือง เจ็บนี้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- มีปัสสาวะรั่วซึมจากสายสวนปัสสาวะ หรือ สายสวนปัสสาวะเสื่อม เช่น แตก เปื่อย
- เมื่อกังวลในอาการต่างๆที่เกิดขึ้น หรือในการดำรงชีวิตประจำวันที่เกิดจากการใส่คาสายสวนปัสสาวะ
สรุป
หลักสำคัญในการดูแลผู้ที่ได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะคือ ดูแลให้ปัสสาวะไหลสะดวก และดูแลเพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โดย
- ดูแลสายสวนปัสสาวะให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ดึงรั้ง ไม่หักพบงอ ช่วยให้ปัสสาวะไหลสะดวก
- การทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกทุกวันและหลังขับถ่ายอุจจาระ จะช่วยลดการสะสมเชื้อโรคในบริเวณนั้นได้ดี จึงช่วยลดโอกาสติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะได้อีกประการ
- การดื่มน้ำมากๆ (กรณีที่ไม่มีโรคที่แพทย์สั่งให้จำกัดปริมาณน้ำดื่ม) จะช่วยให้เกิดการระบายปัสสาวะได้สะดวก และลดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้อีกประการ
นอกจากนั้น หากพบมีอาการของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือมีสายสวนปัสสาวะ รั่ว ซึม ควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ควรรอจนถึงวันแพทย์นัด เพื่อให้ได้รับการดูแล ช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันท่วงที
บรรณานุกรม
- สุพัตรา อุปนิสากร จารุวรรณ บุญรัตน์ อจิมา ไทยคง.(2555). การป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจากการคาสายสวนปัสสาวะผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในไอซียูอายุรกรรม.วารสารสภาการพยาบาล 27(1): 49-62.
- รัตน์ วีรกิตติ และคณะ. (2553). การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลสำหรับการป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะจากการคาสายสวนปัสสาวะ. วารสารกองการพยาบาล. 31(1): 51-65.
- Lynn,P.(2011). Taylor’s Handbook of Clinical Nursing Skills. Philadelphia: Wolters Kluwer/Lippincott Williams & Wilkins.
- Perry, A.G; Potter ,P.A & Ostendorf, W.R. (2014).Clinical Nursing Skills & Techniques. (8thedition). St. Louis: Elsevier Mosby
- https://www.mskcc.org/cancer-care/patient-education/caring-your-urinary-foley-catheter [2023,Feb18]