โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 3 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน?
- กายวิภาคหลอดเลือดแดงของหัวใจ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอย่างไร?
- รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอย่างไร?
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันรุนแรงไหม?
- ป้องกันและดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
กล้ามเนื้อหัวใจตาย / กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction) ย่อว่า ‘เอเอ็มไอ/AMI’, ภาษาทั่วไปเรียก ‘Heart attack (อาการหัวใจล้ม)’ คือ โรคที่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดมาเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตันกะทันหันจากเกิดก้อนลิ่มเลือด(Thrombus), อาการที่เกิดฉับพลัน/เฉียบพลันคือ อาการเจ็บหน้าอกเป็นหลัก, อัตราตายของโรคนี้ค่อนข้างสูง, การวินิจฉัยโรคให้ได้อย่างรวดเร็ว, และรีบให้การรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุด จะช่วยลดอัตราตายลงได้อย่างมาก, ผู้ที่เกิดโรคนี้แล้วหนึ่งครั้ง มีโอกาสที่จะกลับเป็นซ้ำได้อีก
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน พบมากในประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่าประเทศด้อยพัฒนา เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี ในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทยพบผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในรูปแบบของประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งกันมากขึ้นจึงส่งผลให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายตามมา
อายุที่มากขึ้นก็จะมีโอกาสพบเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น ในช่วงอายุที่น้อยกว่า 70 ปี, ผู้ชายพบได้มากกว่าผู้หญิง, แต่ช่วงอายุที่มากกว่า 70 ปีขึ้นไปผู้ชายและผู้หญิงพบได้เท่ากันๆเนื่องจากผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้วจะไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนมาช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
สำหรับในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ก็อาจพบได้จากสาเหตุที่’ไม่ใช่’โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งที่พบบ่อยในเด็ก คือ โรคหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน?
การที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดจากการขาดเลือดมาเลี้ยง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เลือดไม่มาเลี้ยง เช่น
ก. การที่ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง: ที่เรียกว่า Atherosclerosis อยู่ก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุมากกว่า 90% ของผู้ป่วยทั้งหมด
โดยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เกิดจากมีไขมันและเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบต่างๆมาเกาะตัวเป็นกลุ่มอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดและมีพังผืดห่อหุ้มเอาไว้เรียก ภาวะเกาะตัวนี้ว่า’พลาค (Plaque)’ จึงทำให้ทางไหลของเลือดแคบลง, หากพังผืดเกิดแตกออก (Plaque rupture) สารเคมีที่อยู่ใน Plaque ก็จะถูกปล่อยออกมาและกระตุ้นให้เกล็ดเลือดที่อยู่ในกระแสเลือดมาเกาะกลุ่มกันที่ผนังหลอดเลือดส่วนนี้ ตามมาด้วยการกระตุ้นระบบการแข็งตัวของเลือดทำให้ได้โปรตีนชื่อ ‘ไฟบริน (Fibrin)’ มาเกาะรวมกับกลุ่มของเกล็ดเลือด และกลายเป็นกลุ่มก้อนลิ่มเลือดขนาดใหญ่เรียกว่า “ก้อน ลิ่มเลือด (Thrombus)”
ก้อนลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นนี้ อาจมีขนาดใหญ่มากจนกระทั่งอุดตันหลอดเลือดแดงจึงทำให้ เลือดไหลผ่านไปไม่ได้, เซลล์กล้ามเนื้อที่อยู่ปลายทางของหลอดเลือดเส้นนั้นจึงเกิดการขาดเลือดมาเลี้ยงและตายในที่สุด, ซึ่งการเกิดเหตุการณ์นับตั้งแต่กลุ่ม Plaque แตกออก จนเกิดลิ่มเลือดนั้น เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลัน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง: เช่น
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- มีระดับสารโฮโมซีสเตอีนสูงในเลือด (Homocysteine, กรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่โปรตีน/Non-Protein amino acid, มักพบในเลือดผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ)
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจ
- ผู้ชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
- พฤติกรรมที่ไม่ชอบออกกำลังกาย
- เครียดง่าย
- สูบบุหรี่ ที่รวมถึงสูบบุหรี่มือสอง
ข. เป็นโรคหลอดเลือดอื่นๆอยู่ก่อน: เช่น
- โรคหลอดเลือดอักเสบ
- โรคหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
ค. การเกิดภาวะต่างๆที่ทำให้หลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวใจเกิดอุดตัน: เช่น
- เกิดมีก้อนลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงที่ตำแหน่งอื่นๆของร่างกาย แล้วก้อนลิ่มเลือดนั้นหลุดออก จึงกลายเป็นลิ่มเลือดก้อนเล็กๆ/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือด(Emboli) ไหลเข้ามาอุดตันหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวใจ
- หรือการมีก๊าซปริมาณมากเข้ามาอยู่ในหลอดเลือดแดง ก๊าซจึงไม่สามารถละลายอยู่ในเลือดได้ จึงเกิดเป็นฟองอากาศที่อาจไปขัดขวางการไหลของเลือดในหลอดเลือดแดงของหัวใจได้
ง. เกิดภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการปริมาณเลือดมาเลี้ยงมากกว่าปกติ: เลือดแดงที่ไหลมาเลี้ยงจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของเซลล์หัวใจ: เช่น
- เป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง
- หรือเลือดที่มาเลี้ยงมีปริมาณออกซิเจนต่ำ เช่น เป็นโรคปอดรุนแรง, หรือเป็นโรคโลหิตจาง/โรคซีดรุนแรงซึ่งทำให้มีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยที่จะนำออกซิเจนมาให้กับเซลล์กล้ามเนื้อ
- หรือเกิดการเสียเลือดออกจากร่างกายปริมาณมาก เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรง
จ. การใช้สาร/ยาเสพติดบางชนิด: เช่น โคเคน (Cocaine), แอมเฟตามีน (Amphe tamine), อีฟีดรีน (Ephedrine) ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดมีการหดตัวอย่างรุนแรงทันที จึงส่งผลเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
กายวิภาคหลอดเลือดแดงของหัวใจ:
จากท่อเลือดแดงใหญ่ (Aorta) ที่ออกจากหัวใจ, หลอดเลือด 2 เส้นแรกที่แตกแขนงออกมา คือ หลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งมีชื่อว่า หลอดเลือดโคโรนารีขวา (Right coronary artery), และหลอดเลือดโคโรนารี ซ้าย (Left coronary artery)
อนึ่ง: หลอดเลือดโคโรนารีซ้าย (Left coronary artery): จะแตกแขนงต่อทันที ออกเป็นหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กกว่า เรียกว่า หลอดเลือด Left anterior descending artery, และหลอดเลือด left circumflex artery
ดังนั้นหลอดเลือดหลักที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจจึงมี 3 เส้น:
- หลอดเลือดโคโรนารีขวา/Right coronary artery: จะเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจห้องขวา, ส่วนล่างของกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้าย, รวมถึงส่วนหลังของผนังกั้นห้องหัวใจ
- Left anterior descending artery: จะเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายด้านหน้า และส่วนหน้าของผนังกั้นห้องหัวใจ และ
- Left circumflex artery: จะเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจด้านหลัง
การอุดตันของหลอดเลือดหัวใจแต่ละเส้น จึงทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ตำแหน่งแตกต่างกันไป, รวมไปถึงลักษณะอาการ, การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรค, และภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกัน
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีอาการอย่างไร?
เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งอยู่ก่อนซึ่งโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) หรือโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ, ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการของโรคหัวใจขาดเลือดนำมาก่อน, แต่ในบางราย อาจไม่มีอาการฯนำก็ได้, โดยจะแสดงอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีประวัติของตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย เช่น การออกแรงทำงาน, หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก, อารมณ์เครียด หรือตกใจที่รุนแรง, หรือ ได้รับการผ่าตัด
จากการเก็บข้อมูลทางสถิติพบว่า อาการมักจะเกิดในช่วง 2 - 3 ชั่วโมงหลังตื่นนอนตอนเช้า สาเหตุอาจเป็นเพราะว่าในช่วงเวลานี้ร่างกายมีการหลั่งสารเคมีชื่อ Catecholamine ซึ่งจะไปกระตุ้น เกล็ดเลือด ให้มีการเกาะกลุ่มกันได้ง่ายขึ้น
อาการที่พบเป็นหลัก: คือ
- อาการแน่น/เจ็บหน้าอกซึ่งจะเจ็บลึกๆ เจ็บเหมือนถูกบีบถูกกด แต่ในบางรายอาจรู้สึกเจ็บแบบแปล๊บๆ
- อาการเจ็บจะค่อนข้างรุนแรงจนต้องหยุดทำกิจกรรมที่กำลังทำอยู่
- ตำแหน่งที่เจ็บอยู่ที่ตรงกลางหน้าอก และอาจร้าวไปที่แขนซ้าย ร้าวไปที่คอ บริเวณกราม หรืออาจร้าวไปที่หน้าท้องก็ได้ แต่จะไม่ปวดร้าวลงต่ำกว่าระดับของสะดือ
- ในผู้ป่วยส่วนน้อย อาจมีอาการปวดแบบแสบร้อนที่บริเวณลิ้นปี่ซึ่งอาการจะคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้
- ระดับของอาการปวดในโรคนี้จะรุนแรง และเป็นติดต่อกันนานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป
- การหยุดพักกิจกรรมที่ทำอยู่ไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่ไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตายที่การหยุดพักจะทำให้อาการบรรเทาลงได้
- อาการที่พบร่วมด้วยได้: คือ อาการเหนื่อย อ่อนเพลีย เหงื่อออก ซีด คลื่นไส้อาเจียน อาจมีไข้ต่ำๆไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส (Celsius)
อนึ่ง: ตำแหน่งและความกว้างที่กล้ามเนื้อหัวใจตายอาจมีผลต่ออาการแสดงที่แตกต่างกันได้ เช่น
- หากกล้ามเนื้อหัวใจที่อยู่ด้านหน้าตาย: จะตรวจพบความดันโลหิตขึ้นสูงหรือหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
- แต่หากกล้ามเนื้อหัวใจที่อยู่ด้านล่างตาย: จะตรวจพบความดันโลหิตต่ำหรือหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
- แต่หากกล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นบริเวณกว้าง: ผู้ป่วยอาจตายกะทันหันได้ เนื่องจากกล้าม เนื้อหัวใจไม่สามารถบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้
ทั้งนี้ ในผู้ป่วยบางกลุ่มอาจมีอาการที่แปลกออกไปได้: เช่น
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักไม่มีอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากประสาทรับความรู้สึกเสื่อมลง
- ในผู้สูงอายุ ก็อาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอก แต่อาจมีอาการเหนื่อยกะทันหัน สับสน ซึม หรือหมดสติแทน
แพทย์วินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอย่างไร?
*สำคัญที่สุดในโรคนี้ คือ ผู้ป่วยจะต้องรีบให้การวินิจฉัยตนเองเมื่อมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขึ้นมาเฉียบพลัน อาการเป็นนานมากกว่า 30 นาที, โดยให้รีบมาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายและคาดว่าผู้ป่วยน่าจะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย ก็จะอาศัยการตรวจพิเศษเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี: เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและรวดเร็ว โดยจะตรวจพบคลื่นไฟฟ้า หัวใจผิดปกติ หากพบความผิดปกติที่เรียกว่า ST elevation ก็จะบ่งว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจตายเกิดขึ้น ซึ่งสามารถบอกตำแหน่งได้ด้วย, แต่หากไม่พบ ST elevation ไม่ได้แปลว่าผู้ป่วยไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตายเกิดขึ้น ต้องตรวจด้วยวิธีอื่นต่อไป
- การตรวจเลือดหาค่าเอนไซม์ของหัวใจ: ซึ่งเมื่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตายก็จะปล่อย เอนไซม์ออกมาในกระแสเลือดซึ่งได้แก่ เอนไซม์ Cardiac troponin T และ เอนไซม์ Cardiac troponin I ซึ่งมีความจำเพาะสูงกับโรคนี้, โดยจะเริ่มตรวจพบภายใน 3 - 12 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ, ทั้งนี้ค่าเอนไซม์นี้จะสูงสุดที่ 24 - 48 ชั่วโมง, และจะยังคงตรวจพบอยู่ได้นานถึง 7 - 10 วัน, ค่าเอนไซม์ตัวอื่นๆที่มีความจำเพาะน้อยกว่า แต่จะตรวจพบได้เร็วกว่าคือ เอนไซม์ Creatine phosphokinase MB isoenzyme (CKMB) และเอนไซม์ Myoglobin
- การตรวจเอคโคหัวใจ: โดยตรวจดูการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหัวใจ แต่จะใช้แยกกล้ามเนื้อหัวใจที่เคยตายมาก่อนแล้วกับที่เพิ่งเริ่มตายในครั้งใหม่นี้ไม่ได้, แต่เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย ทำได้รวดเร็ว และรู้ผลทันทีในขณะตรวจ จึงใช้ช่วยในการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยว่าจะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย แต่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่พบ ST elevation, ซึ่งหากรอการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด (การรู้ผลเลือดใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 20 - 30 นาที) ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาที่ช้าเกินไป
- การตรวจอื่นๆค่อนข้างยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง: เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอหัวใจ หรือการตรวจหัวใจโดยใช้สารกัมมันตรังสี (Radionuclide imaging techniques)
รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอย่างไร?
หลักการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่สำคัญที่สุด คือ ต้องให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วทันท่วงทีก่อนที่กล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดไปเลี้ยงจะตายลงในที่สุด, ซึ่งก็จะต้องอาศัยการวินิจฉัยให้ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง การรักษาจึงแบ่งออกเป็น
ก. การรักษาในระยะก่อนที่กล้ามเนื้อหัวใจจะตาย: คือ การทำให้หลอดเลือดที่อุดตัน หายอุดตันจนทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยลดบริเวณที่กล้ามเนื้อหัวใจตายให้น้อยที่สุด และลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนต่างๆลงได้ โดยมีวิธีการอยู่ 2 รูปแบบ คือ
- การใส่สายสวนหัวใจเพื่อไปละลายกลุ่มลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดหัวใจเรียกว่า Percutaneous coronary intervention (PCI)
- การให้ยาละลายกลุ่มลิ่มเลือด (Fibrinolysis) เช่น ยา Tissue plasminogen activator, Streptokinase, Tenecteplase, Reteplase, โดยระยะเวลานับตั้งแต่หลอดเลือดเกิดการอุดตันจนกระทั่งกล้ามเนื้อหัวใจตาย คือ ประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งระยะเวลาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย, ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆด้วย เช่น มีการอุดตันของหลอดเลือดโดยสมบูรณ์หรือไม่ และ/หรือยังพอมีเลือดไหลได้บ้างเล็กน้อย และ/หรือมีหลอดเลือดแดงเล็กๆมาช่วยเลี้ยงบริเวณนั้นหรือไม่ และ/หรือความต้องการออกซิเจนของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจในขณะนั้น เป็นต้น
ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการมานานไม่เกิน 30 นาทีจะได้ประโยชน์จากการรักษาดังกล่าวข้างต้น มากที่สุด, รองลงไปคือมีอาการมานาน 1 - 3 ชั่วโมง, นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายที่อาการเป็นมานานมากกว่า 3 - 6 ชั่วโมง การให้ยาละลายกลุ่มลิ่มเลือดก็ยังอาจมีประโยชน์อยู่บ้าง
ข. รักษาในระยะที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย: ผู้ป่วยที่มีอาการมานานเกินระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจตายสนิทแล้ว, การรักษาโดยการทำให้หลอดเลือดหายอุดตันและมีเลือดไหลไปเลี้ยงนั้นไม่มีประโยชน์แล้ว
ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จึงอาศัยการรักษาตามอาการ โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดภายในหอผู้ป่วยวิกฤตเพื่อระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น, มีการติดตามสัญญาณชีพ, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจีตลอดเวลา, และให้ผู้ป่วยนอนพักอยู่บนเตียงเท่านั้นในช่วง 12 ชั่วโมงแรก และให้ขับถ่ายบนเตียง, ทั้งนี้เพื่อลดภาระงานของหัวใจ, รวมถึงการงดอาหาร, การให้ยาคลายเครียด, ยานอนหลับ, และให้ยาแก้ปวดแก่ผู้ป่วย เช่น ยากลุ่มมอร์ฟีน เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์จะใช้ยากลุ่มที่ไปลดภาระการทำงานของหัวใจโดยตรงร่วมด้วย เช่น ยากลุ่ม Beta-adrenoceptor blocker, Angiotensin-converting enzyme inhibitor, Angiotensin recep tor blockers เป็นต้น
ค. การรักษาภาวะแทรกซ้อน: โดยให้การรักษาตามภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ให้ยาปฏิชีวนะเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย เป็นต้น
ง. การป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำ: ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย ในบริเวณที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นได้อีก, ผู้ป่วยทุกรายจึงต้องได้รับยาป้องกันตลอดชีวิตหากไม่มีข้อห้ามอื่นๆ เช่น ยาป้องกันการเกาะตัวของลิ่มเลือด (เช่น แอสไพริน หรือ Clopidogrel), ในบางรายอาจได้ รับยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย เช่นยา Warfarin, ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายก็อาจได้ยาในกลุ่ม Angiotensin converting enzyme inhibitors หรือ Angiotensin receptor blockers เป็นต้น
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?
ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้น เช่น
ก. ภาวะหัวใจล้มเหลว: เป็นสาเหตุหลักของการตายของผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และในเวลาต่อๆมาเมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว, ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจบริเวณที่ตายจะมีการยืดขยายและบางตัวออกจนไม่สามารถบีบตัวส่งเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ, ตำแหน่งและความกว้างของบริเวณที่ตายมีผลต่อความรุนแรงของภาวะหัวใจวาย
ข. หัวใจเต้นผิดจังหวะ: พบได้หลายรูปแบบ มักเกิดภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังกล้ามเนื้อหัวใจตาย, ชนิดที่อันตราย คือ หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ Ventricular fibrillation ซึ่งจะทำให้หัวใจไม่สามารถบีบเลือดส่งไปเลี้ยงร่างกายได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติอย่างกะทันหันหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีโดยการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจ (Defibrillator) แล้วผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว, หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดนี้มักเกิดภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย, หากไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะพิจารณาใส่เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติไว้ในตัวผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง
ค. เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ: ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกคล้ายอาการของกล้ามเนื้อหัวใจตายได้, แต่การปวดมักจะร้าวไปบริเวณหลังส่วนบน, โดยจะต้องแยกออกจากอาการที่เกิดใหม่จากการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำอีกให้ได้เพราะการรักษาจะต่างกัน
ง. การเกิดก้อนลิ่มเลือดในห้องหัวใจ และหลุดออกเป็นลิ่มเลือดเล็กๆ (Thromboemboli)ลอยไปอุดตันหลอดเลือดอื่นๆ: ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสำคัญได้ เช่น หากลอยไปอุดหลอดเลือดในสมอง จะทำให้เกิดเนื้อสมองตายกลายเป็นอัมพฤกษ์/อัมพาตได้, การเกิดลิ่มเลือดนี้มักพบในผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายทางด้านหน้าตาย เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจทางด้านหน้าเป็นพื้นที่ที่เป็นบริเวณกว้าง เมื่อเกิดการตาย กล้ามเนื้อที่เหลือจึงไม่สามารถบีบตัวได้เป็นปกติ เลือดจึงมีการไหลวนในห้องหัวใจที่ผิดปกติไปด้วย จึงทำให้มีโอกาสเกิดเป็นก้อนลิ่มเลือดขึ้นมา
จ. ผนังห้องหัวใจโป่งพอง (Aneurysm): กล้ามเนื้อหัวใจที่ตายไปแล้ว จะกลายเป็นพังผืดซึ่งไม่มีความยืดหยุ่นตัว เมื่อรับแรงกระแทกจากการไหลวนของเลือดในห้องหัวใจเป็นเวลานานๆ ก็จะเกิดการโป่งพองออกในที่สุด, บริเวณที่โป่งพองออกนี้มีโอกาสเกิดก้อนลิ่มเลือดได้
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันรุนแรงไหม?
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นโรครุนแรง อัตราตายขึ้นกับการวินิจฉัยให้ได้รวดเร็วและมีความพร้อมทั้งเครื่องมือและบุคลากรในการรักษาที่รวดเร็วที่สุด, โดยเฉลี่ยแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล, ส่วนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอัตราตายในช่วง 30 วันจะอยู่ที่ประมาณ 30% (ในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือและบุคลากรที่มีประสิทธิภาพพร้อม), ในผู้ป่วยที่รอดชีวิตประมาณ 1 คนใน 25 คนจะเสียชีวิตภายใน 1 ปีหลังจากอาการครั้งนั้น, และผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 75 ปีมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่านี้ถึง 4 เท่า
ป้องกันและการดูแลตนเองอย่างไร?
การป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและการดูแลตนเอง ที่สำคัญ เช่น
- เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคหลอดเลือดแดงแข็ง การป้องกันโรคจึงต้องป้องกันการเป็นโรคนี้ เช่น
- ควบคุมระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดให้เหมาะสม (ป้องกันโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง)
- ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ/ตามแพทย์แนะนำ
- ไม่สูบบุหรี่, หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่มือสอง
- สำหรับสาเหตุอื่นๆที่พบได้น้อย:
- บางอย่างอาจป้องกันไม่ได้ เช่น การเป็นโรคหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด เช่นเกิดผิดที่
- แต่บางอย่างก็ป้องกันได้ เช่น การใช้สารเสพติดโคเคน แอมเฟตามีน, การกินยารักษาโรคของต่อมไทรอยด์อย่างสม่ำเสมอในผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ /ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
- ผู้ป่วยที่กลับบ้านได้แล้ว ควรปฏิบัติตัวเพื่อลดภาระการทำงานให้กับหัวใจ เช่น
- ไม่ทำงานหนักเกินกำลัง หรือทำจนเหนื่อย
- การออกกำลังกายตามชนิดและระยะเวลาที่ แพทย์ พยาบาลแนะนำ
- การพักผ่อนให้เพียงพอ
- ลดความเครียด
- การกินอาหารให้เหมาะสม โดยลดอาหารประเภท แป้ง ไขมัน และอาหารที่มีปริมาณเกลือแกงสูง (อาหารเค็ม)
- เนื่องจากผู้ป่วยที่เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายขึ้นมาแล้วมีโอกาสเกิดซ้ำได้อีก จึงต้องป้องกันโดยการกินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆอย่างเข้มงวด
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรงตามนัดเสมอ
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันทีขึ้นกับความ รุนแรงของอาการ เมื่อ
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
- หรืออาการต่างๆเลวลง
- หรือกังวลในอาการ
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
กรณีทั่วไปควรรีบพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันทีขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อ
- หากมีอาการเจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอกแบบรุนแรงต่อเนื่องนานเกิน 30 นาที นั่งพักแล้วไม่ดีขึ้น, ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดแดงแข็งดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
- ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกปรากฏ ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เหนื่อยกะทันหัน เหงื่อออก ซีด สับสน ซึม หรือหมดสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที
บรรณานุกรม
- Elliott M. Antman, Eugene Braunwald, acute myocardial infarction, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15thedition,Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
- https://emedicine.medscape.com/article/155919-overview#showall [2022,Dec3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Homocysteine [2022,Dec3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Myocardial_infarction [2022,Dec3]