กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 25 มิถุนายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- อะไรเป็นสาเหตุของกล่องเสียงอักเสบ?
- กล่องเสียงอักเสบมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยสาเหตุกล่องเสียงอักเสบได้อย่างไร?
- รักษากล่องเสียงอักเสบอย่างไร?
- กล่องเสียงอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- กล่องเสียงอักเสบก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่
- ป้องกันกล่องเสียงอักเสบอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal cancer)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- เสียงแหบจากใช้เสียงผิดวิธี (Vocal misuse and overuse)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- โรคทางเดินหายใจ โรคระบบหายใจ โรคระบบทางเดินหายใจ (Respiratory tract disorder)
- การรักษาสุขอนามัยเสียง (Voice hygiene)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) คือ โรคจากมีการอักเสบของกล่องเสียง ส่วนใหญ่มักเป็นการอักเสบจากติดเชื้อ ส่วนน้อยจากการอักเสบที่เกิดโดย’ไม่มี’การติดเชื้อโรค
กล่องเสียงอักเสบที่เกิดอย่างรวดเร็วและอาการหายในประมาณ 3 สัปดาห์ เรียกว่า “กล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน/ฉับพลัน(Acute laryngitis)”
แต่ถ้าการอักเสบเป็นๆหายๆหรือต่อเนื่องเรื้อรังนานเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป มักเรียกว่า “กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง(Chronic laryngitis)”
กล่องเสียงอักเสบ พบบ่อย โดยเฉพาะกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน แต่ทั้งนี้ไม่มีรายงานสถิติเกิดกล่องเสียงอักเสบในภาพรวมที่ชัดเจน เพราะทั่วไปมักเป็นอาการที่หายได้เองใน 3-5 วันโดยไม่ต้องพบแพทย์ นอกจากนั้นยังมักเกิดรวมอยู่ในอาการของกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคหวัด, ไข้หวัดใหญ่ จึงไม่ได้แยกศึกษาเฉพาะอาการกล่องเสียงอักเสบ
สามารถพบกล่องเสียงอักเสบได้ทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) จนถึงผู้สูงอายุ ในเด็กมักพบในช่วงอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ส่วนในผู้ใหญ่มักพบในช่วงอายุ 18-40 ปี เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน
อะไรเป็นสาเหตุของกล่องเสียงอักเสบ?
กล่องเสียงอักเสบ เกิดจากเนื้อเยื่อกล่องเสียงที่รวมถึงสายเสียงเกิดการอักเสบ เสียหาย จึงมีอาการ บวม แดง ส่งผลให้การทำงานของเนื้อเยื่อต่างๆโดยเฉพาะสายเสียงทำงานไม่ได้เต็มที่ เจ็บ และเสียงแหบเมื่อเปล่งเสียงพูด รวมไปในถึงเจ็บเมื่อกลืน เพราะนอกจากมีหน้าที่เปล่งเสียงและเป็นทางผ่านของอากาศเข้าสู่หลอดลมแล้ว กล่องเสียงยังเป็นอวัยวะที่มีส่วนช่วยในการกลืนด้วย
สาเหตุของกล่องเสียงอักเสบที่พบได้บ่อย:
ก. กล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน:
- เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน จากโรคติดเชื้อไวรัส เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่
- ส่วนน้อยเกิดจาก
- ติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ และ สเตรปโธรท
- การใช้เสียงผิดวิธี เช่น ตะโกน หรือขึ้นเสียงสูงรุนแรง ซ้ำๆ บ่อยๆ หรือเป็นประจำ
- การระคายเคืองของกล่องเสียงต่อสารเคมีต่างๆหรือต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น จาก กรดในโรคกรดไหลย้อน จากโรคภูมิแพ้หูคอจมูก จากควันต่างๆ(เช่น ควันจากการเผาไหม้) จากสารระเหยต่างๆ การสูบบุหรี่/ควันบุหรี่/สูบบุหรี่มือสอง
ข. กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง: ส่วนใหญ่จะเกิดจากการระคายเคืองต่อกล่องเสียงจากสารเคมีต่างๆซึ่งเช่นเดียวกับสาเหตุเกิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลันแต่จะเป็นการสัมผัสสาร/สิ่งต่างๆเหล่านี้เรื้อรัง เช่น การติดบุหรี่ โรคกรดไหลย้อนที่รุนแรงและควบคุมโรคไม่ได้ โรคภูมิแพ้หูคอจมูกเรื้อรัง การสูดดมสารระเหยต่างๆเรื้อรัง รวมถึงการใช้เสียงผิดวิธีเรื้อรัง (เช่น ในอาชีพ นักร้อง ครู พ่อค้า/แม่ค้า นักพูด พิธีกร)
นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากบางโรค เช่น มีก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็งกล่องเสียง หรือ มะเร็งกล่องเสียง (เป็นได้ทั้งสาเหตุของกล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง หรือ เป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากกล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง) หรือ การอักเสบจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองต่อกล่องเสียงซึ่งพบสาเหตุนี้ได้น้อย
กล่องเสียงอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการของกล่องเสียงอักเสบ ได้แก่ อาการจากตัวกล่องเสียงเอง และร่วมกับอาการจากโรคที่เป็นสาเหตุของกล่องเสียงอักเสบที่แตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุ จึงจะไม่กล่าวในบทความนี้(อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com ในแต่ละเรื่องที่เป็นสาเหตุ เช่น แบคทีเรีย โรคติดเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ โรคหวัด หรือ มะเร็งกล่องเสียง ฯลฯ)
บทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะอาการจากตัวกล่องเสียงอักเสบเอง ซึ่งที่พบบ่อย ได้แก่
- เสียงแหบ
- อาจมี ไข้ ปวดเนื้อตัว ปวดหัว เมื่อเกิดจากกล่องเสียงติดเชื้อ
- เจ็บคอ/ คออักเสบ และจะเจ็บมากขึ้นเมื่อใช้เสียง ถ้าเป็นมากอาจเจ็บเวลากลืนร่วมด้วยได้ ซึ่งอาการเจ็บคอ อาจร้าวไปถึงหู(เจ็บหูร่วมด้วย)จากมีเส้นประสาทและลักษณะทางกายวิภาคที่สัมพันธ์กันระหว่าง กล่องเสียง คอ และ หู
- อาจ มีเลือดปนน้ำลาย/ปนเสลด หรือ ไอเป็นเลือด
- อาจมี หายใจลำบาก/หอบเหนื่อยเมื่อกล่องเสียงบวมมาก หรือมีก้อนเนื้อที่อุดกั้นกล่องเสียง/ทางเดินหายใจ
- อาจมีคอบวม โดยเฉพาะในตำแหน่งของกล่องเสียง
- อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองลำคอโตด้านใดด้านหนึ่ง หรือ 2 ด้าน อาจมีต่อมเดียวหรือหลายต่อม ซึ่งมักจะมีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร นุ่มและเจ็บ
- *แต่ถ้าเป็นต่อมน้ำเหลืองสาเหตุจากมะเร็ง ต่อมฯมักโตกว่า 1 เซนติเมตร ค่อนข้างแข็ง และไม่เจ็บ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังการดูแลตนเอง โดยเฉพาะถ้าเสียงแหบเรื้อรังและ/หรือมี เสลด น้ำลาย หรือไอเป็นเลือด เรื้อรัง โดยเฉพาะในวัย40ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่ และ/หรือดื่มสุราเพราะอาจเป็นอาการของมะเร็งกล่องเสียง
ถ้าอาการต่างๆเลวลง ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ไม่ควรรอจนถึง 1-2 สัปดาห์
นอกจากนี้ หากมีอาการหายใจลำบาก/หอบเหนื่อยต้องไปรีบโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
แพทย์วินิจฉัยสาเหตุกล่องเสียงอักเสบได้อย่างไร?
โดยทั่วไป แพทย์มักวินิจฉัยหาสาเหตุของกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลันได้จาก
- ซักถามประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ประวัติสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจทางหูคอจมูก
แต่ถ้าเป็นกล่องเสียงอักเสบรุนแรง หรือ เรื้อรัง: แพทย์จะพิจารณาการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น
- อาจจำเป็นต้องมีการส่องกล้องตรวจกล้องเสียง โดยอาจร่วมกับ
- ตัดชิ้นเนื้อจากกล่องเสียงส่วนที่ผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
- และอาจมีการตรวจภาพกล่องเสียงด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
รักษากล่องเสียงอักเสบอย่างไร?
แนวทางการรักษากล่องเสียงอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาตามอาการ
ก. การรักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามสาเหตุ เช่น รักษา โรคหวัด, คออักเสบ, โรคภูมิแพ้หูคอจมูก, โรคกรดไหลย้อน เช่น ใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อกล่องเสียงติดเชื้อแบคทีเรีย(เช่น ในโรคสเตรปโธรท), หรือ รักษามะเร็งกล่องเสียง เป็นต้น
ข. การรักษาตามอาการ ที่สำคัญที่สุด คือ
- พักใช้เสียง หยุดการตะโกน
- ให้ความชุ่มชื้นกับกล่องเสียง เช่น ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ, อมยาลูกอม
- เลิกบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสารก่อการระคายเคืองต่อกล่องเสียงที่รวมถึงควันบุหรี่
- หลีกเลี่ยงควันต่างๆ
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากนั้น เช่น
- ใช้ยาบ้วนปาก มักไม่ได้ผลเพราะตัวยาไม่สามารถสัมผัสกล่องเสียงที่อยู่ลึกลงไปได้ แต่ได้ผลบ้างถ้ามีคออักเสบร่วมด้วย
- อมยาแก้เจ็บคอ อาจช่วยได้บ้างแต่ไม่มาก
- กินยาแก้ปวด Paracetamol เมื่อมีอาการเจ็บคอมาก ปวดหัว หรือปวดเนื้อตัว ฯลฯ
- แพทย์อาจมีการใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการบวมของกล่องเสียง แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
กล่องเสียงอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคในกล่องเสียงอักเสบ ขึ้นกับสาเหตุ
ก. กล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน: ทั่วไป มักหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดจากโรคติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักหายเมื่อการติดเชื้อไวรัสดีขึ้น โดยใช้เพียงการรักษาตามอาการ หรือการใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีติดเชื้อแบคทีเรีย
ข. กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง: จะมีธรรมชาติของโรคที่รุนแรงกว่ากล่องเสียงอักเสบเฉียบพลันมาก การรักษาจึงยุงยากกว่า และอาจต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่องไปตลอด เช่น ในโรคกรดไหลย้อน หรือโรคออโตอิมมูน/ภูมิต้านตนเอง หรือ อาจต้องมีการผ่าตัด กรณีเป็นเนื้องอก หรือติ่งเนื้อ หรือ อาจต้องตัดกล่องเสียง และ/หรือฉายรังสีรักษา และ/หรือใช้ยาเคมีบำบัด กรณีเป็นมะเร็งกล่องเสียง
กล่องเสียงอักเสบก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากกล่องเสียงอักเสบ คือ เสียงแหบ แต่ที่พบได้น้อยและรุนแรงที่จำเป็นต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที่ คืออาการหายใจลำบาก/หอบเหนื่อยจากกล่องเสียง/ทางเดินหายใจตีบแคบหรืออุดตัน
นอกจากนั้น ถ้ากล่องเสียงอักเสบเรื้อรังมีสาเหตุจากสูบบุหรี่ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งกล่องเสียงสูงโดยเฉพาะเมื่อร่วมกับดื่มแอลกอฮอล์ และอาจพบมะเร็งปอดร่วมด้วยได้เพราะมีสาเหตุเดียวกันคือการสูบบุหรี่
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีกล่องเสียงอักเสบ ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำกรณีได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วย ถูกต้อง ไม่ขาดยา หรือ ไม่หยุดใช้ยาเอง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- พักการใช้เสียง พูดให้เบาลง (ไม่ต้องกระซิบ) อาจใช้เครื่องขยายเสียงช่วย
- ดูแลรักษาให้กล่องเสียงชุ่มชื้นตลอด ด้วยการดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว ถ้าไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) กรณีเกิดจากการติดเชื้อ เพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย กรณีกล่องเสียงติดเชื้อ
- หยุดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสูดดม ควัน และ/หรือ สารต่างๆที่ก่อการระคายเคืองต่อกล่องเสียง
- อาจใช้น้ำยาบ้วนปาก หรืออมยาลูกอม กรณีมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย
- ใช้ยา Paracetamol ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ เจ็บกล่องเสียง
- กินอาหารอ่อน(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) กรณีเจ็บคอ และ/หรือ เจ็บเวลากลืน
- งดบุหรี่และแอลกอฮอล์จนกว่าโรคจะหายดี หรือตลอดชีวิตกรณีกล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง หรือกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลันที่เกิดเป็นซ้ำบ่อย
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง เช่น เสียงแหบมากขึ้น ไอมากขึ้น
- มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น มีเลือดปนน้ำลาย/ปนเสลด ไอเป็นเลือด
- มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจากยาที่แพทย์สั่ง เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย
- กังวลในอาการ
ป้องกันกล่องเสียงอักเสบอย่างไร?
การป้องกันกล่องเสียงอักเสบ คือ การป้องกันสาเหตุดังกล่าวใน’หัวข้อสาเหตุฯ’ ที่สำคัญ คือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อลดโอกาสติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงสารก่อการระคายเคืองกล่องเสียง ที่รวมถึงควันนุหรี่/บุหรี่มือสอง และควันต่างๆ
- เลิกสุรา ไม่ดื่มสุรา
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- รู้จักรักษาสุขภาพเสียง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com เรื่อง การรักษาสุขอนามัยเสียง)
บรรณานุกรม
- Huntzinger, A. (2010). Am Fam Physician. 81, 1292-1296
- https://medlineplus.gov/ency/article/001385.htm [2022.June25]
- https://emedicine.medscape.com/article/864671-overview#showall [2022.June25]