กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง (Angiogenesis Inhibitor/ Antiangiogenesis drug)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง (Angiogenesis Inhibitor หรือ  Antiangiogenesis drug)  คือ ยาใช้รักษาโรคมะเร็งด้วยการต้านการสร้างหลอดเลือดใหม่ที่เซลล์มะเร็งใช้เพื่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

*หมายเหตุ: กระบวนการสร้างหลอดเลือด (Angiogenesis) เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของเซลล์ต่างๆ โดยร่างกายจะส่งสารสัญญาณเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการเจริญเติบโต การสร้าง หรือการซ่อมแซมหลอดเลือด

‘เซลล์มะเร็ง’ มีพฤติกรรมการเติบโตเหมือนเซลล์ปกติทั่วไป แต่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วกว่าจึงมีความจำเป็นในการสร้างหลอดเลือดขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อการเติบโตเพื่อให้เซลล์มะเร็งได้รับสารอาหารและออกซิเจนที่เพียงพอ  ‘ด้วยกระบวนการนี้นักวิทยาศาสตร์จึงพัฒนายาเพื่อต่อต้านการสร้างเซลล์หลอดเลือดใหม่ให้แก่เซลล์มะเร็ง ซึ่งคือ’ยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง’ที่จะกล่าวในบทความนี้

ปัจจุบัน  กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งในประเทศไทย ล้วนแต่เป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายไทย ซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในการรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น

กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: สำหรับรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น

  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ และ มะเร็งไส้ตรง ระยะแพร่กระจาย:  เช่นยา บีวาซิซูแมบ (Bevacizumab)
  • มะเร็งปอด: เช่นยา บีวาซิซูแมบ
  • มะเร็งสมองชนิดกลีโอบลาสโทมา/ จีบีเอม/ GBM: เช่นยา บีวาซิซูแมบ, และเนื้องอกสมองชนิดซับอีเพนไดมัลไจแอนต์เซลล์แอสโทรไซโทมา (Subependymal Giant Cell Astrocytoma) เช่นยา เอเวอโรไลมัส (Everolimus)
  • มะเร็งไต: เช่น ยาโซราฟินิบ (Sorafenib)  ยาบีวาซิซูแมบ  ยาซูนิทินิบ (Sunitinib)  ยาพาโซพานิบ (Pazopanib) ยาเอเวอโรไลมัส
  • มะเร็งตับปฐมภูมิชนิดเฮฟาโทเซลลูลาร์คาร์ซิโนมา (Hepatocellular Carcinoma): เช่น ยาโซราฟินิบ
  • มะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กชนิดเกี่ยวโยงกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน/เนื้องอกจิสต์:  เช่น ยาซูนิทินิบ
  • มะเร็งเต้านมบางชนิด: เช่น ยาเอเวอโรไลมัส
  • มะเร็งตับอ่อน ระยะแพร่กระจาย: เช่น ยาเอเวอโรไลมัส

กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

การที่เซลล์จะเจริญเติบโตได้จำเป็นต้องได้รับสารอาหารจากเลือดไปหล่อเลี้ยง เซลล์มะเร็งก็เช่นกัน แต่การเติบโตของเซลล์มะเร็งเป็นไปอย่างรวดเร็วและต้องการสารอาหารและออกซิเจนจากเลือดมาหล่อเลี้ยง  ก้อนมะเร็ง/เซลล์มะเร็งจึงต้องสร้างเส้นเลือด/หลอดเลือดใหม่ซึ่งโดยปกติกระบวนการสร้างเส้นเลือดใหม่จะมีการส่งสัญญาณจากร่างกายผ่านสารส่งสัญญาณ เช่น Vascular Endothelial Growth Factor (VEGF) มากระตุ้นตัวรับ (Receptor),  ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะจับกับสารส่งสัญญาณที่กระตุ้นการเติบโตของเส้นเลือดเลี้ยงมะเร็ง จึงทำให้สัญญาณฯไม่สามารถกระตุ้นตัวรับได้ การส่งสัญญาณเพื่อกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดใหม่แก่เซลล์มะเร็งจึงล้มเหลว, จึงลดการเติบโตและ/หรือการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง

กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์และขนาดความแรง เช่น

  • ก. ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab): เป็นยาน้ำชนิดหยดเข้าหลอดเลือดดำ (Solution for Infusion) ขนาดความแรง 25 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร
  • ข. ยาโซราฟีนิบ (Sorafenib): เป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์มชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 200 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ค. ยาซูนิทินิบ (Sunitinib): เป็นยาเม็ดแคปซูลแข็งชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 12.5 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ง. ยาพาโซพานิบ (Pazopanib): เป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์มชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • จ. ยาเอเวอโรไลมัส (Everolimus): เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 0.25, 0.5, 0.75, 1, 2.5, 5 และ 10 มิลลกรัมต่อเม็ด และยาเม็ดชนิดแตกตัวได้เร็วในปาก (Dispersible Tablet) ขนาดความแรง 0.1 และ 0.25 มิลลิกรัมต่อเม็ด

กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ขนาดการให้ยากลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ขึ้นกับข้อบ่งใช้, ชนิดของมะเร็ง, น้ำหนักตัวและความสูงของผู้ป่วย, สมรรถภาพของตับและ/หรือไต, รวมถึงประสิทธิผลและผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้,  ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยในแต่ละกรณี

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน และสมุนไพรทุกชนิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?)
  • ประวัติโรคประจำตัวที่เคยเป็นหรือที่กำลังดำเนินอยู่อาทิ โรคความดันโลหิตสูง มีปัญหาด้านการแข็งตัวของเลือด โรคหัวใจ มีอาการเจ็บหน้าอก ประวัติโรคติดเชื้อทั้งเชื้อแบคที เรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา ประวัติการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) โรคตับ  โรคไต หรือ โรคมะเร็งในส่วนอื่นๆ และประวัติการใช้รังสีรักษา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร ผู้ป่วยชายที่ใช้ยาในกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรด้วยเช่นกันเพราะยากลุ่มนี้อาจปนมาในน้ำอสุจิได้
  • ประวัติการเข้ารับการผ่าตัดรวมไปถึงการผ่าตัดในช่องปากหรือทันตกรรม หากมีนัดหมายเข้ารับการผ่าตัดใดๆในอนาคตควรแจ้งให้แพทย์และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยาในกลุ่ม นี้อยู่

หากลืมรับประทานยา/เข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้วหากลืมรับประทานยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้, แต่หากใกล้มื้อยาถัดไปแล้วให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป แล้วทานมื้อยาถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า, แต่ยากลุ่มนี้บางชนิดอาจมีวิธีการรับประทานยาพิเศษ จึงควรสอบถามจากเภสัชกร/แพทย์ระหว่างการรับยานี้ทุกครั้ง

สำหรับชนิดยาฉีด หากไม่ได้รับยาตามนัดหมายให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่โดยเร็วที่สุด

กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประ สงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง)  *ซึ่งหากเกิดอาการดังจะกล่าวต่อไป ให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/รีบไปโรงพยาบาลก่อนนัด

อาการต่างๆ เช่น

  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • ผมร่วง
  • ผิวแห้ง ผิวลอก หรือมีผื่นแดง คัน
  • ปากคอแห้ง
  • ความอยากอาหารลดลง
  • การรับรสเปลี่ยนไป
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • ปวดข้อ
  • ชาหรือปวดแปลบบริเวณ มือและเท้า
  • ปวดหัว
  • เสียงเปลี่ยนไป

*นอกจากอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวแล้ว ยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯอย่างรุนแรง เช่น

  • มีอาการเลือดออกในอวัยวะต่างๆ เช่น มีจ้ำเลือด/ห้อเลือดเกิดขึ้นตามผิวหนัง อุจจาระมีสีดำเข้มและเหนียวหรือมีเลือดปน ปัสสาวะมีสีเข้ม อาเจียนสีเหมือนกาแฟ อาจปวดหัวรุนแรง ปวดท้องอย่างรุนแรง มีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก หรือเป็นลม อาจเกิดอาการ เจ็บหน้าอก/ แน่นหน้าอก และหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก มีอาการเหมือนติดเชื้อบ่อยครั้ง มีแผลในช่องปาก หรือมีอาการเหมือนโรคดีซ่าน (คือตาขาวและผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลือง) ปวดกรามอย่างรุนแรง มีอาการชาครึ่งซีก
  • รวมไปถึงอาจมีอาการแพ้ยาเช่น มีผื่นคันขึ้นตามลำตัว มีหนังตา/เปลือกตา ริมฝีปากเกิด อาการบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก
  • *หากเกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมานี้ต้องเข้าพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่าการที่แพทย์สั่งใช้ยากลุ่มนี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายากลุ่มนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้ รับยากลุ่มนี้ส่วนมากมีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้าง เคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบไปโรงพยาบาลรีบด่วน/ทันที/ฉุกเฉิน ไม่ต้องรอถึงวันนัดหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง เช่น

  • ไม่ใช้ยากับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมโดยควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 2 วิธีขึ้นไปร่วมกันเพื่อป้องกันการตั้ง ครรภ์ให้ได้ 100%
  • เมื่อแพทย์ให้หยุดทานยานี้แล้ว ฤทธิ์ของยานี้อาจอยู่ในร่างกายอีกระยะหนึ่ง ผู้ป่วยยังควรคุมกำเนิดต่อไป ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงระยะที่ยังจำเป็นต้องคุมกำเนิดภายหลังการ หยุดยานี้ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของยา
  • หลีกเลี่ยงการผ่าตัดขณะใช้ยาในกลุ่มนี้ ปรึกษาแพทย์และแจ้งให้ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่ก่อนการผ่าตัดใดๆ ทุกครั้งเนื่องจากแผลการผ่าตัดอาจหายได้ช้ากว่าปกติ
  • ยานี้บางชนิดอาจส่งผลต่อระดับความดันโลหิต ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำขณะใช้ยานี้
  • ยาซูนิทินิบอาจทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีผมจางลงซึ่งเป็นสีจากยาโดยไม่ ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยแต่อย่างใด และสีผิว/สีผมจะกลับมาปกติหลังหยุดยานี้แต่อาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือหลายเดือนนับจากหยุดยานี้
  • ยาในกลุ่มนี้อาจมีผลต่อการแข็งตัวของเลือดโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ก่อนแล้วหรือกำลังได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด จึงควรต้องรับการตรวจ จากแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด
  • แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจปัสสาวะเพื่อดูโปรตีนในปัสสาวะระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิดรวมยากลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นได้หลายชนิด เช่น

  • การใช้ยาในกลุ่มนี้ฯโดยทั่วไปไม่ควรใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเดียวกัน หรือหากใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเดียวกัน หรือกับยาต้านมะเร็ง/ยาเคมีบำบัดชนิดอื่นๆ และ/หรือกับยากดภูมิคุ้มกัน อาจได้รับผลข้างเคียงจากยาต่างๆเพิ่มขึ้น
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccine, วัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่ยังมีชีวิตแต่นำมาทำให้ไม่สามารถก่อโรคได้ในภาวะร่างกายปกติ เช่น วัคซีนโรคหัด  โรคหัดเยอรมัน คางทูม) ขณะได้รับยาในกลุ่มนี้ เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นๆด้อยลงหรือผู้ป่วยอาจติดเชื้อจากวัคซีนนั้นๆได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาในกลุ่มที่อาจทำให้เกิดการผิดปกติของคลื่นไฟฟ้า หัวใจ/EKG ที่เรียกว่า คิวทียาว (QT Prolongation) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งแสดงออกทางการเต้นของหัวใจ อาจทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะและเป็นอันตรายต่อร่างกายเช่น ยาลีฟลูโนไมด์ (Leflunomide) ซึ่งเป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
  • ยากลุ่มนี้บางชนิดอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นได้อีก ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้แพทย์และ เภสัชกรทราบในขณะรับยากลุ่มนี้ว่ากำลังมีการใช้ยาอื่นๆอะไรอยู่บ้าง และเคยมีการใช้ยาอื่นๆชนิด ใดบ้างในอดีตในระยะเวลาประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมาเพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา

ควรเก็บรักษากลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งอย่างไร?

ควรเก็บรักษากลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง: เช่น

  • ยาบีซาซิซูแมบซึ่งเป็นยาฉีด:
    • ควรเก็บรักษาในตู้เย็นอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
    • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
    • เก็บยาให้พ้นแสงสว่าง/แสงแดด
    • ควรสอบถามจากฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายา
  • ส่วนยากลุ่มนี้ชนิดเม็ดรับประทาน: โดยทั่วไป เช่น
    • ควรเก็บในภาชนะดั้งเดิมของผู้ผลิต ปิดฝาภาชนะให้แน่น ไม่ควรนำสารดูดความชื้นที่ผู้ผลิตใส่ไว้ในภาชนะของผลิตภัณฑ์ออกจากภาชนะหากผู้ผลิตได้บรรจุไว้
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
    • หลีกเลี่ยงการเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำหรือในตู้เย็น เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บยาไม่ให้ถูกแสงแดด

*อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรสอบถามจากเภสัชกรทุกครั้งถึงวิธีการเก็บรักษายากลุ่มนี้ที่เหมาะสม เนื่องจากยากลุ่มนี้บางชนิดอาจมีวิธีการเก็บพิเศษที่แตกต่างออกไป

กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ ผลิตหรือจัดจำหน่าย  เช่น

ชื่อสามัญทางยา ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย
บีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) อวาสติน (Avastin) บริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด
โซราฟีนิบ (Sorafenib) เน็กซาวาร์ (Nexavar) บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด
ซูนิทินิบ (Sunitinib) ซูเทนต์ (Sutent) บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
พาโซพานิบ (Pazopanib) โวเทรียนท์ (Votrient) บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
เอเวอโรไลมัส (Everolimus) เซอร์ทิแคน (Certican) และ แอฟินิเทอร์ (Afinitor) บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด

 

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Bevacizumab, Sunitinib, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;253-6,1993-6:2014.
  2. Gotink KJ, Verheul HM. Anti-angiogenic tyrosine kinase inhibitors: what is their mechanism of action? Angiogenesis 2010; 13(1):1–14.
  3. Phioanh (Leia) Nghiemphu, et al. Safety of anticoagulation use and bevacizumab in patients with glioma. Neuro Oncol (June 2008) 10 (3): 355-360.
  4. https://go.drugbank.com/  [2022,Aug20]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/125085s0169lbl.pdf [2022,Aug20]