กรดอะซีลาอิก (Azelaic acid)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

 กรดอะซีลาอิก (Azelaic acid)  คือ ยารักษาสิว ที่เป็นกรดอินทรีย์ที่พบในพืชตระกูลข้าวสาลี ข้าวไรซ์ และข้าวบาร์เลย์ วงการแพทย์นำกรดชนิดนี้มาใช้รักษาสิวประเภทมีความรุนแรงน้อยไปจนถึงขั้นปานกลาง  เช่น สิวเสี้ยน  สิวอักเสบ เป็นต้น

เภสัชภัณฑ์นี้ที่พบในสถานพยาบาลและร้านขายยาจะเป็นยาชนิดทาภายนอก (ยาใช้ภายนอก) ในรูปแบบของเจลหรือครีม

กรดอะซีลาอิกมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของสิว อีกทั้งช่วยลดการผลิตเคอราติน(Keratin) ซึ่งเป็นตัวช่วยให้แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของสิวเจริญเติบโตได้ดี

นอกจากนี้ กรดอะซีลาอิก ยังนำไปรักษาโรคโรซาเซีย (Rosacea) อีกด้วย โดยจะช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง ปัจจุบันยังได้นำกรดชนิดนี้ไปรักษาฝ้า (Melasma) และใช้เป็นทางเลือกทดแทนยาไฮโดรควิโนน (Hydroquinone, ยารักษาฝ้า)

การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นี้ ควรต้องอยู่ในความดูแลจากแพทย์โรคผิวหนังเป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น ผู้บริโภคไม่ควรซื้อยามาใช้เอง

กรดอะซีลาอิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

กรดอะซีลาอิก

ยากรดอะซีลาอิกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น 

  • รักษาสิว (Acne) ที่มีอาการอักเสบระดับต่ำ - ปานกลาง
  • รักษาโรค โรซาเซีย (Rosacea)

กรดอะซีลาอิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากรดอะซีลาอิกคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิว และยับยั้งการผลัดเซลล์ของหนังกำพร้าที่มากผิดปกติ (Follicular keratinization) จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้เกิดการรักษาสิวได้ตามสรรพคุณ ส่วนกลไกการรักษาโรคโรซาเซีย(Rosacea) ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

กรดอะซีลาอิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากรดอะซีลาอิกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น       

  • ยาครีม ขนาดความเข้มข้น 0.2 กรัม/ยาครีม 1 กรัม
  • ยาเจล ขนาดความเข้มข้น 0.15 กรัม/ยาเจล 1 กรัม

กรดอะซีลาอิกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยากรดอะซีลาอิกรักษาโรคต่างๆของผิวหนัง ขนาดการบริหารยา/ขนาดการใช้ยาจะแตกต่างกันไปขึ้นกับชนิด ความรุนแรงของโรค และดุลพินิจของแพทย์ ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างเฉพาะในการรักษาสิวซึ่งมีขนาดการใช้ยาดังนี้เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: ล้างหน้าหรือล้างผิวหนังบริเวณที่ต้องการทายาให้สะอาดแล้วซับให้แห้ง จากนั้นทายาชนิดเจลหรือครีมก็ได้ โดยทาบางๆเฉพาะในบริเวณที่เป็นสิววันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น ซึ่งอาการของสิวควรจะดีขึ้นภายใน 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกระคายเคือง กรณีนี้ให้เริ่มทายาเพียงวันละครั้งในตอนเย็นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ก่อน แล้วค่อยปรับเป็นทาวันละ 2 ครั้งในสัปดาห์ถัดไป การใช้ยาไม่ควรเกิน 6 เดือนและต้องใช้ยาตามแพทย์สั่ง ซึ่งถ้าใช้ยาแล้วผิวบริเวณที่ใช้ยาเกิดแสบ บวม แดง ขึ้นผื่น ฯลฯ ควรหยุดใช้ยา และกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่แน่ชัดของการใช้ยานี้กับเด็กกลุ่มอายุนี้ ดังนั้นการใช้ยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดอะซีลาอิก ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น       

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากรดอะซีลาอิกอาจส่ง ผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายากรดอะซีลาอิก สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

กรดอะซีลาอิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยากรดอะซีลาอิก สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • บริเวณที่ทายา
    • อาจมีอาการระคายเคือง
    • อาจพบอาการคันหรือแสบร้อน
    • ผู้ป่วยบางรายอาจพบรอยด่างขาวเกิดขึ้น
    • และอาจทำให้ผิวหนังส่วนนั้นแพ้แสงแดด(ผิวแพ้แสงแดด)ได้ง่าย

มีข้อควรระวังการใช้กรดอะซีลาอิกอย่างไร?

 มีข้อควรระวังการใช้กรดอะซีลาอิก เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามทายานี้บริเวณตา
  • ห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปียกเว้นเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเด็ก
  • ห้ามปิดทับบริเวณที่ทายาด้วยผ้าพันแผลใดๆ
  • ระวังการใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การใช้ยาควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ระวังการทายานี้ในบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลเปิดด้วยตัวยาจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้
  • เฝ้าระวังติดตามการใช้ยานี้ในผู้ที่มีผิวสีเข้มด้วยอาจเกิดภาวะรอยด่างขาวติดตามมา
  • ก่อนการใช้ยานี้ต้องทำความสะอาดใบหน้าด้วยสบู่อ่อนหรือโลชั่นที่ใช้สำหรับทำความสะอาดใบหน้า เพื่อป้องกันคราบไคลและสิ่งสกปรกไปอุดตันจนทำให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  • ล้างมือก่อนและหลังทายานี้ทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดอะซีลาอิกด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กรดอะซีลาอิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากรดอะซีลาอิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยากรดอะซีลาอิก ทาร่วมกับยา Isotretinoin อาจเพิ่มการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณที่ทายาได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์ปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • เนื่องจากยากรดอะซีลาอิก เป็นยาใช้ภายนอกจึงไม่ค่อยมีรายงานเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดอื่น

ควรเก็บรักษากรดอะซีลาอิกอย่างไร?

ควรเก็บยากรดอะซีลาอิก:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนตร์

กรดอะซีลาอิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากรดอะซีลาอิก  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Azelex (อะซีเล็กซ์) Allergan
Finacea (ไฟนาเซีย) Bayer Healthcare Pharmaceuticals
Finevin (ฟิเนวิน) Berlex Labs
Skinoren (สกินโนเรน) Intendis / A.Menarini

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Azelaic_acid   [2022,Jan15]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/azelaic%20acid?mtype=generic   [2022,Jan15]
  3. https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.285.pdf   [2022,Jan15]
  4. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a603020.html   [2022,Jan15]
  5. https://www.drugs.com/availability/generic-finacea.html   [2022,Jan15]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/azelaic-acid-topical-with-isotretinoin-297-0-1403-0.html   [2022,Jan15]