ยารักษาสิว (Acne medications)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 3 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- สิว (Acne)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide)
- วิตามินเอ (Vitamin A)
- กรดเรทิโนอิก (Retinoic acid)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
สารบัญ
- ยารักษาสิวหมายความว่าอะไร?
- ยารักษาสิวมีกี่ประเภท?
- ยารักษาสิวมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยารักษาสิวอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยารักษาสิวอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาสิวอย่างไร?
- การใช้ยารักษาสิวในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยารักษาสิวในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยารักษาสิวในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาสิวเป็นอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยารักษาสิวหมายความว่าอะไร?
สิว(Acne)เป็นโรคผิวหนังที่พบได้ทุกเพศทุกวัย พบมากในวัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้น/วัยหนุ่มสาว ถึงแม้จะเป็นโรคที่ความรุนแรงน้อย แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง เพราะเป็นอาการที่เกิดเรื้อรัง เป็นสาเหตุของการเกิดแผลเป็น รอยดำ รอยแดง ทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ เครียดหรือวิตกกังวลได้
ยารักษาสิว หรือ ยาแก้สิว(Acne medications หรือ Acne drugs หรือ Acne agents)เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการของสิว ลดการผลิตไขมัน ลดการอักเสบ ลดโอกาสการเกิดแผลเป็น และป้องกันการเกิดสิวในระยะยาว
ทั้งนี้ การเลือกใช้ยารักษาสิว จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ช่วงอายุของผู้ป่วย บริเวณที่เป็นสิว โอกาสเกิดเชื้อดื้อยา อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่ใช้ และการยอมรับหรือความพึงพอใจในการใช้ยานี้ของตัวผู้ป่วยเอง
ยารักษาสิวมีกี่ประเภท?
ยารักษาสิว แบ่งประเภทของกลุ่มยาได้ดังนี้
1. ยาทาภายนอก (Topical therapies): ได้แก่ยา
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide ย่อว่า BP)
- ยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอก (Topical antibiotics) เช่นยา คลินดามัยซิน (Clindamycin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ซัลฟานิลาไมด์ (Sulfanilamide หรือ Sulfa)ที่มียาชื่อการค้าที่รู้จักกันทั่วไป คือ ผงพิเศษตราร่มชูชีพ
- ยาสูตรผสมระหว่างยาปฏิชีวนะและเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Combination of topical antibiotics and Benzoyl peroxide) เช่นยา Clindamycin + Benzoyl peroxide, Erythromycin + Benzoyl peroxide
- ยาทาในกลุ่มอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ (Topical retinoids) เช่นยา เตรทติโนอิน (Tretinoin), อะดาพาลีน (Adapalene), ทาซาโรทีน (Tazarotene)
- กรดอะเซเลอิค (Azelaic acid)
- ยากลุ่มซัลโฟน (Sulfone agents) เช่นยา แดพโซน (Dapsone)
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)
2. ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน (Systemic antibiotics): ได้แก่
- ยากลุ่มเตตราไซคลิน (Tetracyclines) เช่นยา เตตราไซคลิน (Tetracycline), ดอกซีไซคลิน (Doxycycline), มิโนไซคลิน (Minocycline)
- ยากลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolides)เช่นยา อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
- ยาสูตรผสมระหว่างไตรเมโทพริมและซัลฟาเมทอกซาโซล (Trimethoprim + Sulfamethoxazole หรือ Co-trimoxazole)
- ยากลุ่มเพนนิซิลลิน (Penicillins) เช่นยา อะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin)
- ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) เช่นยา เซฟาเลกซิน (Cephalexin)
3. ยาฮอร์โมนชนิดรับประทาน (Hormonal agents)
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined oral contraceptives) ที่ ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogsen) และโปรเจสติน (Progestin) ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฤทธิ์รักษาสิวได้ ควรประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินรุ่นใหม่ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน(Androgen)ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว (Anti-androgen) เช่นยา ดรอสไพรีโนน (Drospirenone), ไซโปรเทอโรน (Cyproterone), คลอมาดิโนน (Chlormadinone)
4.ยาที่เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ(Retinoic acid)ชนิดรับประทาน เช่นยา ไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin)
ยารักษาสิวมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยารักษาสิวมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้
- ยาครีม (Cream)
- ยาโลชั่น (Lotion)
- ยาน้ำใส (Solution)
- ยาเจล (Gel)
- ยาผง (Powder)
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาแคปซูล (Capsule)
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”
มีข้อบ่งใช้ยารักษาสิวอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ยารักษาสิว ดังนี้ เช่น
1. ยาทาภายนอก ใช้รักษาสิวที่มีความรุนแรงน้อย (Mild Acne) โดยสามารถใช้ร่วมกับยารับประทานเพื่อรักษาสิวที่มีความแรงปานกลางถึงรุนแรง และใช้ทาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำหากผู้ป่วยมีอาการสิวดีขึ้นแล้ว
2. ยารักษาสิวชนิดรับประทาน ใช้รักษาสิวที่มีความรุนแรงปานกลาง (Moderate Acne) ไปจนถึงอาการรุนแรง (Severe Acne) แต่ยาเม็ดคุมกำเนิดจะเลือกใช้ในผู้ป่วยเพศหญิงเท่านั้น
3. ยา Isotretinoin ชนิดรับประทาน ใช้รักษาสิวที่มีความรุนแรงมาก (Severe Acne) ซึ่งไม่สามารถควบคุมอาการได้เมื่อใช้ยารักษาสิวชนิดอื่นๆ
มีข้อห้ามใช้ยารักษาสิวอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยารักษาสิว เช่น
1.ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาอย่างรุนแรง(Hypersensitivity)
2.ห้ามใช้ยารักษาสิวต่อไปนี้ ได้แก่ Sulfanilamide, Dapsone, Sulfamethoxazole ในผู้ที่แพ้ยากลุ่มซัลฟา เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาชนิดรุนแรง
3.ห้ามรับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่ม Tetracyclines ร่วมกับนม หรือกับยาลดกรด เพราะจะส่งผลให้ร่างกายดูดซึมยานี้ได้น้อยลง ทำให้ระดับยานี้ในเลือดไม่เพียงพอต่อการรักษา
4.ห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคตับ โรคมะเร็ง ผู้ที่มีเลือดออกจากช่องคลอด/ประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ และผู้ที่ตั้งครรภ์
5. ห้ามใช้ยา Isotretinoin ชนิดรับประทานในผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ภาวะวิตามินเอสูงเกินในเลือด(Hypervitaminosis) และผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง/โรคไขมันในเลือดสูง
6.ผู้ป่วยที่ได้รับยา Isotretinoin ชนิดรับประทานจะต้องไม่บริจาคโลหิตในขณะที่ใช้ยานี้และหลังจากหยุดยานี้ 1 เดือน เพราะถ้าผู้รับบริจาคเป็นหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ได้
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาสิวอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาสิว เช่น
1. ยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอก เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาสิว ให้ทาเฉพาะบริเวณที่มีสิวอักเสบเท่านั้น และไม่ควรใช้เป็นยาชนิดเดียวในการรักษาร่วม ควรใช้ร่วมกับยาทา Benzoyl peroxide เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์และป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา
2.หลีกเลี่ยงการทายา Benzoyl peroxide บริเวณตา เปลือกตา/หนังตา รอบปาก และเนื้อเยื่ออ่อน หากโดนบริเวณดังกล่าว ให้รีบล้างยาออกด้วยน้ำสะอาด การที่ยานี้สัมผัสกับวัตถุที่มีสี รวมทั้งผม คิ้วและเสื้อผ้า อาจฟอกสีหรือทำให้สีเปลี่ยนแปลง
3. Benzoyl peroxide อาจทำให้รู้สึกแสบร้อน ผิวแดง และผิวลอก หลังจากทายาช่วงแรกๆ ซึ่งไม่เป็นอันตราย และจะหายเป็นปกติได้หลังจากหยุดยานี้ แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้น ควรลดความแรงของยานี้ โดยการลดความถี่ในการใช้ยา หรือหยุดใช้ยานี้ชั่วคราว
4. หากใช้ยาทา Benzoyl peroxide ร่วมกับยา Dapsone จะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ทากลายเป็นสีน้ำตาลอมส้ม แต่สามารถเช็ดหรือล้างออกได้
5. ขณะที่ใช้ยาทาสิวบางชนิด เช่น Tretinoin ในช่วงสัปดาห์แรกๆ อาจพบว่ามีสิวอักเสบเพิ่มขึ้น หรือสิวอักเสบที่เป็นอยู่แล้วมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจาการรักษาสิวที่อยู่ส่วนลึก หรือสิวที่ยังมองไม่เห็น ดังนั้นไม่ควรหยุดยานี้ทันที ควรใช้ยานี้ต่อจนอาการดีขึ้นแล้วค่อยลดความถี่ของการทายาลง
6. ยา Tretinoin บางสูตรตำรับ เป็นยาที่สลายตัวเมื่อถูกแสงแดด ดังนั้นควรทายานี้ก่อนนอน นอกจากนี้หากใช้ยานี้ร่วม Benzoyl peroxide จะเกิดปฏิกิริยากันจนส่งผลให้ยา Tretinoin หมดฤทธิ์ ดังนั้นหากหากต้องการใช้ยาทั้งสองชนิดนี้ร่วมกัน ให้แยกทาคนละเวลา โดยทา Benzoyl peroxide ช่วงเช้าและทา Tretinoin ก่อนนอน
7. ในขณะที่ใช้ยากลุ่ม Topical retinoids, ยากลุ่ม Tetracyclines การถูกแสงแดดหรือแสงไฟจากหลอดยูวีอาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสง ทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ที่มีอาการผิวไหม้จากแสงแดด (Sunburn) และควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดหรือถูกแสงแดดให้น้อยที่สุด หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรทาครีมกันแดดหรือสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถบังแสงแดดบริเวณที่ทายา
8. ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อนำมาใช้รักษาสิวด้วยตนเอง ควรใช้ยานี้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์โรคผิวหนังเท่านั้น เพราะยาเหล่านี้ต้องเลือกใช้ให้ถูกชนิด ขนาด ระยะเวลาเหมาะสม และต้องใช้ร่วมกับยาทาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการรักษาที่ดี ป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา และลดปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยา
9. ควรระวังการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในผู้ป่วยไมเกรน เพราะอาจทำให้อาการไมเกรนกำเริบ และในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ยังคุมอาการไม่ได้ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียงจากยา)ทางระบบหัวใจและหลอดเลือด
10.ขณะที่ใช้ยา Isotretinoin ชนิดรับประทาน ควรหลีกเลี่ยงการรักษาสิวด้วยการใช้ยาทาชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะยาทาภายนอก เพราะ Isotretinoin มีผลทำให้ ผิวแห้ง ผิวหลุดลอก และบางลง จนไม่สามารถทนต่ออาการไม่พึงประสงค์ฯจากการใช้ยารักษาสิวชนิดอื่นได้
11. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Isotretinoin ชนิดรับประทาน ร่วมกับยากลุ่ม Tetracyclines เพราะอาจทำให้เกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Pseudotumor cerebri)
12. ไม่ควรซื้อยา Isotretinoin ชนิดรับประทานมาใช้เอง เพราะถึงแม้ยานี้จะมีประสิทธิภาพในการรักษาสิวที่ดี แต่มีผลข้างเคียงหลายชนิดและค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นการใช้ยานี้ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคผิวหนังเท่านั้น
13. Isotretinoin ชนิดรับประทาน อาจทำให้เกิดอาการ ซึมเศร้า จิตเภท พฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว และมีความพยายามฆ่าตัวตายในผู้ป่วยบางราย แต่พบได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตใจ ถ้าหากผู้ป่วยสังเกตเห็นความผิดปกติใดๆ ควรหยุดยานี้ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
14.Isotretinoin ชนิดรับประทานเป็นยาที่เป็นพิษต่อตับ (Hepatotoxicity) และทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ได้แก่ ระดับไตรกลีเซอไรด์และคลอเรสเตอรอล ในเลือดสูง, ไขมันชนิด HDL ต่ำ ดังนั้นควรตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ และดูระดับไขมันในเลือดอยู่เสมอทั้งก่อนและระหว่างรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์
การใช้ยารักษาสิวในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยารักษาสิวในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาสิวชนิดรับประทานในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ควรเลือกใช้ยาทาภายนอกเท่านั้น ยกเว้นยาทาในกลุ่ม Topical retinoids เพราะถ้ายาถูกดูดซึมเช้าสู่ร่างกายมากเกินไปจนจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์
- ห้ามใช้ยา Isotretinoin ชนิดรับประทานในหญิงมีครรภ์หรือที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ เพราะยานี้ทำให้ทารกในครรภ์พิการ ถึงแม้จะใช้ยานี้ในปริมาณน้อยหรือระยะเวลาสั้นก็ตาม โดยความผิดปกติที่พบในทารก ได้แก่ น้ำคั่งในสมอง สมองเล็กผิดปกติ ปากแหว่งเพดานโหว่ มีความผิดปกติของ หู ตา หัวใจ และระบบประสาท
- ก่อนใช้ยา Isotretinoin ชนิดรับประทาน ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจว่าไม่ตั้งครรภ์ ต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือนก่อนรับประทานยานี้ ระหว่างรับประทานยานี้ และอีกอย่างน้อย 1 เดือนหลังจากหยุดยานี้
การใช้ยารักษาสิวในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยารักษาสิวในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น
1.สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบได้น้อยในผู้สูงอายุ อาจพบได้บ้างในผู้ที่ออกแดดนานๆ ผู้ที่สูบบุหรี่จัด เครียด และหญิงใกล้หมดประจำเดือน ถ้าหากมีอาการรุนแรงผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะสิวที่เกิดขึ้นอาจเป็นอาการไม่พึงประสงค์ฯจากการใช้ยาบางประเภท เช่นยากลุ่ม Steroids หรือเกิดจากความผิดปกติบางอย่าง เช่น เนื้องอกรังไข่ เป็นต้น
2. ผู้สูงอายุสามารถใช้ยารักษาสิวได้เช่นเดียวกันกับวัยอื่นๆ แต่จะพบอาการไม่พึงประสงค์จากยา เช่น ระคายเคืองผิวหนัง ผิวแห้ง แดง คัน จากการใช้ยาทาได้มากกว่า ในขณะที่ยารับประทาน คือยาปฏิชีวนะ ควรเลือกใช้ Doxycycline เป็นตัวเลือกแรก เพราะพบว่าผู้ป่วยทนต่ออาการไม่พึงประสงค์ฯได้ดี
อนึ่ง
- ยา Isotretinoin ชนิดรับประทาน ควรใช้ในขนาดต่ำ เพราะทำให้ผิวหนังและเยื่อเมือกต่างๆ แห้ง
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน สามารถเลือกใช้ได้ในผู้ป่วยเพศหญิงที่ใกล้หมดประจำเดือน
การใช้ยารักษาสิวในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยารักษาสิวในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
1. หากเป็นสิวชนิดที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยเด็กสามารถใช้ยารักษาสิวชนิดทาภายนอกชนิดเดียวกับผู้ใหญ่ แม้ในปัจจุบันจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยค่อนข้างน้อยในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี แต่โดยส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยเด็กสามารถทนต่ออาการไม่พึงประสงค์จากยาได้
2. ในกรณีที่ผู้ป่วยเด็กเป็นสิวที่มีอาการตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง สามารถใช้ยารับประทานได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Tetracyclinesในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 8 ปี เพราะทำให้ฟันมีจุดสีเหลืองอมน้ำตาล
การใช้ยา Isotretinoin ชนิดรับประทานสามารถใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป แต่จะพบอาการไม่พึงประสงค์ฯที่แตกต่างจากวัยอื่น คือ ปวดหลัง ปวดข้อ และปวดกล้ามเนื้อ ดังนั้นควรระวังการใช้ยานี้ในเด็กที่มีความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาสิวเป็นอย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาสิวเป็นดังนี้ เช่น
1. Benzoyl peroxide ทำให้ ผิวแห้ง แดง ลอก แสบ ไหม้ คัน ระคายเคือง
2. ยาทากลุ่ม Topical antibiotics ทำให้มีอาการระคายเคืองผิวหนัง ผิวแห้ง แดง แสบ ลมพิษ ผื่นผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ ยาClindamycin ยังมีรายงานว่าทำให้รูขุมขนอักเสบ อาการท้องเสีย หรือลำไส้ใหญ่อักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้ยาปฏิชีวนะ (Pseudomembranous colitis) แต่พบน้อยกว่ารูปแบบยารับประทาน และอาการจะดีขึ้นเร็วกว่าหลังจากหยุดยานี้
3. ยาทากลุ่ม Topical retinoids ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง เจ็บ แดง คัน ผื่นผิวหนัง ผิวแห้ง ผิวลอก
4. ยา Azelaic acid พบอาการไม่พึงประสงค์ฯได้น้อย และส่วนใหญ่พบเมื่อเริ่มใช้ยา เช่น คัน ระคายเคือง แสบร้อนบริเวณผิวหนัง
5. ยาDapsone ทำให้ ผิวแห้ง แดง คัน แสบ ผิวลอก และอาการอื่นๆ เช่น ปวดท้อง มีไข้ ไอ ปวดศีรษะ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไซนัสอักเสบ คอหอยอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ อาเจียน
6. ยาSalicylic acid ทำให้รู้สึกแสบ คัน ระคายเคือง ผิวไหม้ แห้ง ลอก
7. อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่พบได้ทั่วไปในยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน (Systemic antibiotics) ทุกกลุ่ม ได้แก่ ติดเชื้อราแคนดิดาในช่องคลอด และผื่นแพ้ยา(Drug eruption)
8. ยาปฏิชีวนะทุกชนิดในกลุ่มเตตราไซคลิน (Tetracyclines) ทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด (Photosensitivity) และมีโอกาสเกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Pseudotumor cerebri) แต่พบได้น้อย
ยา Doxycycline ทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง คลื่นไส้,
ยา Minocycline ทำให้มีเสียงดังในหู (Tinnitus) เวียนศีรษะ, ผิวหนัง เยื่อเมือก ฟันเปลี่ยนสี, และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
9. ยา Co-trimoxazole ทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง ผิวหนังไวต่อแสง ผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง ได้แก่ Stevens-Johnson syndrome (SJS) หรือ Toxic epidermal necrolysis (TEN) เกิดความผิดปกติของระบบเลือด ตับอักเสบ
10. ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Macrolides, Penicillins, Cephalosporins ทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นอกจากนี้ ยากลุ่ม Macrolides ยังมีโอกาสทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อีกด้วย
11. ยาเม็ดคุมกำเนิด ทำให้ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ คัดตึงเต้านม เลือดออก กะปริบกะปรอยทางช่องคลอด
12. ยา Isotretinoin ชนิดรับประทานทำให้ ริมฝีปากอักเสบ(Cheilitis) ปากแห้ง ผิวแห้ง ตาแห้ง เลือดกำเดาไหล การมองเห็นตอนกลางคืนลดลง ผมร่วง ผิวไวต่อแสง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ซึมเศร้า ความดันในกะโหลกศีรษะสูงเพิ่มขึ้น ตับอักเสบ ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารักษาสิว) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- American Academy of Dermatology. Guidelines of care for the management of acne vulgaris. https://www.aad.org/File%20Library/Main%20navigation/Practice%20tools/Quality%20care%20and%20guidelines/Acne-guideline.pdf. [2018,Jan13]
- American Academy of Dermatology. Adult Acne. https://www.aad.org/public/diseases/acne-and-rosacea/adult-acne [2018,Jan13]
- Marks, R. Acne and its Management Beyond the Age of 35 Years. Am J Clin Dermatol 5 (2004) : 459-462.
- Yeo, L., and Ormerod, A.D. Treatment of Acne in Children. Am J Clin Dermatol 15 (2014) : 77-86.
- คลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ยารักษาสิว Isotretinoin อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/13 [2018,Jan13]
- เจนจิรา อังศุสิงห์. สิว. วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม 3 (2559) : 17-20.
- ศรีศุภลักษณ์ สิงคาลวณิช. Update management of acne in adolescent. Thai Pediatric Journal 3 (2009) : 180-188.
- สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลรักษาโรคสิว http://www.dst.or.th/files_news/001-Guideline_Acne_2011.pdf [2018,Jan13]