ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ ประเภทของอาการปวดศีรษะ

ปวดศีรษะ หรือ ปวดหัว (Headache) เป็นอาการไม่ใช่โรค (อ่านเพิ่มเติมในโรค อาการ ภาวะ) เป็นอาการที่พบบ่อยมากทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ โดย 2 ใน 3 ของเด็กทั้งหมด และ 9 ใน 10 ของผู้ใหญ่ทั้งหมด เคยมีอาการปวดศีรษะ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้เท่าๆกัน

สมาคมปวดศีรษะนานาชาติ (The International Headache Society: IHS) และองค์ การอนามัยโลก (WHO, World Health Organization) แบ่งการปวดศีรษะตามสาเหตุออกเป็น 3 กลุ่ม/ประเภทใหญ่คือ อาการปวดศีรษะปฐมภูมิ (Primary headache), อาการปวดศีรษะทุติยภูมิ (Secondary headache), และอาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทและอื่นๆ (Cranial neuralgias, central and primary facial pain and other headaches) เรียกว่า เป็นการแบ่งแบบ IHS Classification ICHD 3 โดย ICHD ย่อมาจาก International Classification of Headache Disorders

ก. อาการปวดศีรษะปฐมภูมิ (Primary headache): คือ อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นเองจากความผิดปกติในการทำงานของสมองโดยไม่ได้เกิดจากโรค ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดศีรษะปฐมภูมิยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่า เกิดจากกระบวนการที่เกี่ยวพันกันระหว่างหลอดเลือดในส่วนของศีรษะและเส้นประสาทสมอง (Cranial nerve) รวมทั้งสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น อาการปวดศีรษะในกลุ่มนี้ เช่น

  • โรคปวดศีรษะไมเกรน (Migraine), โรคปวดศีรษะจากเครียด (Tension-type headache) ซึ่งอาการ เช่น การปวดศีรษะข้างเดียว หรือ ทั้งสองข้าง โดยอาการปวดมักไม่รุนแรง เป็นอาการปวดศีรษะที่พบบ่อยที่สุดถึงประมาณ 90% ของการปวดศีรษะทั้งหมด เพราะเป็นอาการปวดศีรษะที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น จากนอนไม่หลับ หิว เครียด ใช้สายตามาก ขาดน้ำ หรือ อดกาแฟ ทั้งนี้จัดเป็นอาการปวดศีรษะที่รุนแรงน้อยถึงรุนแรงปานกลาง และ
  • ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster headache) ซึ่งอาการเช่น ปวดศีรษะด้านเดียว ร่วมกับปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล และคัดจมูก มักเป็นอาการปวดรุนแรง แต่เป็นโรคพบได้น้อยประมาณ 0.1% ของอาการปวดศีรษะในผู้ใหญ่

ข. อาการปวดศีรษะทุติยภูมิ (Secondary headache): ได้แก่ อาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากโรคต่างๆ เป็นอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อย เป็นอาการปวดศีรษะที่รุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก โดยความรุนแรงของอาการขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • ปวดศีรษะจากการติดเชื้อทั้งจากภาย นอกและภายในสมอง
  • ปวดศีรษะจากมีไข้
  • ปวดศีรษะจากหลอดเลือดบริเวณศีรษะอักเสบ
  • ปวดศีรษะจากดื่มสุรา
  • ปวดศีรษะจากความดันในกะโหลกศีรษะสูง เช่น ในโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke), โรคเนื้องอกสมองและโรคมะเร็งสมอง, ปวดศีรษะจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น ปวดศีรษะจากโรคต้อหิน, ปวดศีรษะจากโรคทางจิตเวช, และปวดศีรษะจากอุบัติเหตุต่อศีรษะและสมอง

ค. อาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทสมองและอื่นๆ (Cranial neuralgias, central and primary facial pain and other headaches): เช่น อาการปวดศีรษะที่เกิดจากประสาทสมองเส้นที่ 5 ที่กำกับดูแลใบหน้า (Trigeminal neuralgia หรือ โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า)ที่มักเป็นอาการปวดศีรษะปานกลางเรื้อรัง และมีการปวดใบหน้าร่วมกับอาการปวดศีรษะด้วย ส่วนใหญ่มักเกิดด้านเดียว แต่ประมาณ 10% พบเกิดทั้งสองข้าง ทั้งนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยคือ จากมีหลอดเลือดกดทับประสาทเส้นนี้

อาการปวดศีรษะเกิดได้อย่างไร ?

ปวดหัว

อาการปวดศีรษะเกิดจากเส้นประสาทที่รับความเจ็บปวดในบริเวณศีรษะและลำคอถูกกระ ตุ้นจากสาเหตุต่างๆ จึงส่งความรู้สึกนี้ไปยังสมองส่วนกลาง ส่งผลให้สมองตอบสนองเป็นอาการปวดศีรษะ

การกระตุ้นประสาทรับความเจ็บปวดในส่วนศีรษะและลำคอเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • จากหลอดเลือดในส่วนศีรษะและลำคอถูกดึงรั้งและ/หรือมีการขยายของหลอดเลือดเช่น จากการเพิ่มอุณหภูมิร่างกายเมื่อมีไข้
  • จากการอักเสบของเส้นประสาทส่วนรับความเจ็บปวดในส่วนศีรษะและลำคอ ถูกกดหรือถูกดึงรั้งเช่น จากการอักเสบหรือจากการบวม
  • จากการอักเสบ การดึงรั้ง และ/หรือการหดเกร็งของกล้ามเนื้อส่วนศีรษะและลำคอ เช่น ความเครียด หรืออุบัติเหตุ
  • จากการอักเสบ และ/หรือการระคายเคืองต่อเยื่อหุ้มสมอง และ/หรือก้านสมอง เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุปวดศีรษะได้อย่างไร?

เนื่องจากอาการปวดศีรษะพบได้บ่อยมาก และมักเกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ร่วมกับอาการไข้จากโรคต่างๆ ดังนั้น แพทย์มักให้การวินิจฉัยและให้การรักษาโรคเหล่านั้น จากประวัติอาการ, การตรวจร่างกาย, อาจร่วมกับการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ

แต่แพทย์จะวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดศีรษะเพิ่มเติมต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง และทวีความรุนแรงเพิ่มต่อเนื่อง และ/หรือร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือแขน/ขาอ่อนแรง

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการปวดศีรษะจาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจตา
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  • การตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือคลื่นแม่เหล็กเอมอาร์ไอ
  • นอกจากนั้นอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ ป่วยและดุลพินิจของแพทย์เช่น
    • การเจาะหลังเพื่อตรวจน้ำไขสันหลัง เมื่อสงสัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

รักษาอาการปวดศีรษะได้อย่างไร?

แนวทางรักษาอาการปวดศีรษะ ได้แก่

ก. เมื่อเป็นการปวดศีรษะในกลุ่มปฐมภูมิ:

  • การรักษาคือบรรเทาอาการปวดขณะปวดศีรษะ โดยการกินยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และ
  • การรักษาเพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดฯ ซึ่งการรักษามักเป็นการกินยาซึ่งมีหลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของสาเหตุ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น ในการรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น

ข. การรักษาอาการปวดศีรษะในกลุ่มทุติยภูมิ: คือ การรักษาสาเหตุ เช่น

  • รักษาปวดศีรษะจากโรคติดเชื้อแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะ
  • รักษาโรคเนื้องอกสมอง/มะเร็งสมองด้วยการผ่าตัด และ/หรือร่วมกับรังสีรักษา
  • รักษาอาการปวดศีรษะจากสายตาสั้นหรือสายตาเอียงด้วยการใส่แว่นตา
  • การเลิกสุราเมื่อปวดศีรษะมีสาเหตุจากการดื่มสุรา เป็นต้น

ค. การรักษาอาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทและอื่นๆ: เป็นการรักษาตามสาเหตุ เช่น การผ่าตัดเมื่อมีหลอดเลือดกดประสาทสมองเส้นที่ 5 เป็นต้น

ง. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น การให้ยาแก้ปวดขณะมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งมียาแก้ปวดหลากหลายชนิด แต่ที่เป็นยาประจำบ้าน ผู้ป่วยซื้อยากินได้เองคือ ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ส่วนยาแก้ปวดชนิดอื่นๆควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์พยาบาลและเภสัชกร

ปวดศีรษะเป็นอาการรุนแรงไหม?

ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะขึ้นกับสาเหตุ ซึ่งมีได้ตั้งแต่ไม่รุนแรง หายได้เองด้วยการพักผ่อน เช่น ปวดศีรษะจากการนอนไม่หลับ นอนไม่พอ หรือปวดศีรษะปานกลางจากการมีไข้สูง หรือในโรคปวดศีรษะไมเกรนซึ่งใช้รักษาด้วยการกินยา หรือปวดศีรษะรุนแรงจากโรคเนื้องอกสมองซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดและอาจร่วมกับรังสีรักษา

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ดังกล่าวแล้วว่า อาการปวดศีรษะเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่ไม่รุนแรง และสาเหตุที่รุนแรง ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดศีรษะ ควรสังเกตตนเองเสมอเพื่อการพบแพทย์แต่เนิ่นๆ

ก. อาการปวดศีรษะที่ควรรีบพบแพทย์: ได้แก่

  • ปวดศีรษะจนต้องตื่นขึ้นจากการนอน
  • อาการปวดศีรษะยังคงอยู่ต่อเนื่องอย่างน้อยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป และไม่ดีขึ้น หรือเลว ลงหลังดูแลตนเอง หรือหลังกินยาแก้ปวด
  • มีอาการปวดศีรษะบ่อยขึ้นถี่ขึ้นกว่าเดิมมาก
  • ลักษณะของอาการปวดศีรษะผิดปกติไปจากเดิม เช่น ปวดมากขึ้นต่อเนื่อง ไม่หาย ไปเมื่อกินยาแก้ปวดทั้งๆที่เคยกินยาแล้วดีขึ้น
  • เมื่อกังวลในอาการปวดศีรษะ

ข. อาการปวดศีรษะที่ควรพบแพทย์ฉุกเฉิน: ได้แก่

  • ปวดศีรษะมากอย่างเฉียบพลันร่วมกับคอแข็งและ/หรือมีไข้สูง เพราะอาจเป็นอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ปวดศีรษะมากร่วมกับ คลื่นไส้อาเจียน และ/หรือแขน/ขา อ่อนแรง เพราะอาจเป็นอาการของความดันในกะโหลกศีรษะสูง อาจจากเนื้องอกสมอง หรือมะเร็งสมอง
  • ในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่างๆที่มีอาการปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาจเป็นอาการของมะเร็งแพร่กระจายสู่สมอง
  • ปวดศีรษะมากทันทีร่วมกับพูดไม่ชัด ชา และแขน/ขาอ่อนแร ง หรือทรงตัวไม่ได้ เพราะอาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง
  • ปวดศีรษะภายหลังอุบัติเหตุต่อสมองหรือบริเวณศีรษะ เพราะอาจเป็นอาการของการมีเลือดออกในสมอง
  • ปวดศีรษะมากร่วมกับ ปวดตามาก ตาแดง และเห็นภาพไม่ชัด เพราะอาจเป็นอาการของ โรคต้อหิน

ป้องกันปวดศีรษะได้อย่างไร?

การป้องกันอาการปวดศีรษะคือ การป้องกันสาเหตุดังกล่าวแล้วที่ป้องกันได้ เช่น

  • ป้องกันอาการไข้จากการติดเชื้อด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • รักษาสุขภาพ จิตและพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อลดการเกิดอาการปวดศีรษะจากความเครียด
  • ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันรักษาโรคและรักษาอาการทางสายตาแต่เนิ่นๆก่อนก่ออาการปวดศีรษะเรื้อรัง และ
  • เลิกสุรา เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Headache [2019,June15]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/International_Classification_of_Headache_Disorders [2019,June15]
  4. https://www.health.harvard.edu/pain/headache-when-to-worry-what-to-do [2019,June15]