โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน (Medication Overuse Headache หรือ Rebound Headache)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการปวดศีรษะ เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด โดยมีสาเหตุจากการปวดศีรษะแบบไม่มีสาเหตุร้ายแรง (Functional headache) เช่น ปวดศีรษะไมเกรน หรือปวดศีรษะจากเครียดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้มีอาการรุนแรงมากนัก และประชาชนส่วนใหญ่มักซื้อยาแก้ปวดรับประทานเอง และยังเข้าใจว่าอาการปวดศีรษะนี้รักษาไม่หาย การรักษาเพียงทานยาบรรเทาอาการปวดเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้ ส่วนหนึ่งจึงเกิดโรคปวดศีรษะจากเหตุที่ใช้ยาแก้ปวดบ่อย หรือจำนวนมาก เกินความจำเป็น ที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคปวดศีรษะที่เรียกว่า

“โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน (Medication overuse headache หรือ Rebound headache)” ซึ่งมีอาการปวดศีรษะรุนแรง และรักษายากกว่ารักษาปวดศีรษะไมเกรน หรือปวดศีรษะจากความเครียดมาก

โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกินนี้คืออะไร เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร รักษาหายหรือไม่ อันตรายหรือไม่ ลองติดตามบทความนี้ครับ

โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกินคืออะไร?

โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน

โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน คือ โรคปวดศีรษะที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อ รังอยู่ก่อน แล้วรักษาไม่ถูกต้อง เช่น ซื้อยาแก้ปวดทานเอง ไม่รักษาสาเหตุของการปวดศีรษะ และ/หรือ ไม่ทานยาป้องกันการเกิดเป็นซ้ำของอาการปวดศีรษะ จึงทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาแก้ปวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดภาวะใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด ส่งผลให้อาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นๆ

โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน เป็นโรคที่พบบ่อยมาก จากการศึกษาในหลายๆประเทศ พบความชุกของโรคนี้ได้ประมาณ 1% ของประชาชนทั่วไป โรคนี้เป็นโรคมักพบในวัยเป็นผู้ใหญ่ และพบในผู้หญิงได้บ่อยกว่าในผู้ชาย

โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกินเกิดได้อย่างไร?

โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน เกิดจากการใช้ยาแก้ปวดที่มีค่าระยะครึ่งชีวิตที่สั้น จึงทำให้บรรเทาอาการปวดได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงทำให้มีอาการปวดศีรษะอีกเมื่อระดับยาลดลง หรือเมื่อยาแก้ปวดหมดฤทธิ์ จึงเรียกอาการปวดศีรษะแบบนี้ว่า “Rebound headache” และเมื่อมีเหตุแบบนี้ซ้ำๆ จึงเกิดการกระตุ้นให้เซลล์สมองมีการสร้างตัวรับการปวดมากขึ้น เช่น ที่บริเวณหนังศีรษะ ส่งผลให้เนื้อเยื่อที่มีตัวรับนี้ ไว/ตอบสนองต่อการปวดศีรษะมากขึ้น แม้บางครั้งไม่มีสิ่ง/ตัวกระตุ้น ก็อาจมีอาการปวดศีรษะขึ้นมาเองได้ ต่อมาเมื่อมีอาการบ่อยๆ จะเกิดการเปลี่ยน แปลงในระบบประสาทส่วนกลางบริเวณก้านสมอง ทำให้มีการสร้างสารสื่อประสาทบางชนิดมากขึ้น เกิดการเสียสมดุลของสารสื่อประสาท รวมทั้งสุขภาพจิตของผู้ป่วยเอง ที่ต้องทนต่ออาการปวดรุนแรงและเรื้อรัง จึงมักมีความกังวล หงุดหงิด กลัว จึงเป็นปัจจัยเสริมซึ่งกันและกัน ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ง่ายขึ้น รุนแรงขึ้น

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน?

ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะจากเครียด ที่ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง
  • ซื้อยาแก้ปวดต่างๆใช้เอง ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาพาราเซตามอล, ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์/เอ็นเสด (NSAIDs), ยาคาเฟอก๊อต (Cafergot), ยาแก้ปวดทริปแทน (Triptans)

โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกินมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญของโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน คือ มีอาการปวดศีรษะเกือบทุกวัน ส่วนใหญ่ปวดช่วงเช้าๆหลังตื่นนอน ลักษณะการปวดมีทุกรูปแบบการปวด ทั้งปวดตุ้บๆ ปวดตื้อๆ ปวดรัดๆ แน่นๆ ปวดขมับ และ/หรือปวดทั่วทั้งศีรษะ มีความรุนแรงมากขึ้น ใช้ยาแก้ปวดก็บรร เทาได้เพียงเล็กน้อย หรือช่วงสั้นๆ จนต้องใช้ยาแก้ปวดซ้ำอีก และเพิ่มขนาดยามากขึ้น เรียกว่า เกิดอาการชินต่อยาแก้ปวด และอาการปวดศีรษะนั้นก็จะรุนแรงมากขึ้นๆ และต้องใช้ยาแก้ปวดมากขึ้นๆ เพื่อควบคุมอาการปวด ร่วมกับมีอาการ อ่อนเพลีย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย ซึมเศร้า มือเท้าเย็น หัวใจเต้นเร็ว แน่น/คัดจมูก มึนงง ชาปลายมือปลายเท้า และปวดตามลำตัว แขนขา แต่เมื่อให้การรักษาด้วยการหยุดยาแก้ปวดที่เคยได้ใช้มาทั้งหมด ร่วมกับให้ยาตัวใหม่รักษา อาการปวดศีรษะดังกล่าวก็จะดีขึ้น

ทั้งนี้ ตัวกระตุ้นให้เกิดอาการที่สำคัญ คือ การกินยาแก้ปวดที่บ่อยขึ้น และใช้ยาอย่างต่อ เนื่อง ร่วมกับการมีปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตั้งแต่ที่ตนเองเริ่มมีอาการปวดศีรษะที่บ่อยขึ้น ต้องใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นสัปดาห์ เพื่อจะได้รีบหาสาเหตุและรักษาให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน

นอกจากนี้ ควรไปพบแพทย์กรณีที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีไข้ และ/หรือ มีความผิด ปกติอื่นๆทางระบบประสาทร่วมด้วย (เช่น อาการชา แขน ขา อ่อนแรง) เพราะนั่นอาจบ่งบอกว่า เป็นอาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุที่รุนแรง ไม่ใช่ปวดศีรษะไมเกรน หรือปวดศีรษะจากเครียด

แพทย์วินิจฉัยโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกินอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน โดยพิจารณาจากประวัติการปวดศีรษะที่เคยเป็นประจำ ทั้งการปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะจากเครียด ประวัติการใช้ยาแก้ปวด การตรวจร่าง กายทั่วไป และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท ไม่พบความผิดปกติ

ทั้งนี้ เกณฑ์การวินิจฉัยโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน มีดังนี้

  • มีอาการปวดศีรษะบ่อย มากกว่า 15 วันต่อเดือน
  • มีประวัติการใช้ยาแก้ปวดทั่วๆไป เช่น พาราเซตามอล ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เอ็นเสด) บ่อยมากกว่า 15 วันต่อเดือน นานมากกว่า 3 เดือน
  • มีประวัติการใช้ยาแก้ปวด คาเฟอก็อต หรือยาแก้ปวดอย่างแรงอื่น เช่น มอร์ฟีน บ่อยมาก กว่า 15 วันต่อเดือน นานมากกว่า 3 เดือน
  • อาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นๆ เมื่อใช้ยาแก้ปวดเดิม และอาการปวดศีรษะดีขึ้นหลังจากรักษา และหยุดยาแก้ปวดนั้นๆ

รักษาโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกินอย่างไร?

หลักการรักษาโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน ที่สำคัญ คือ

  • ต้องหยุดยาแก้ปวดที่ใช้มาทั้งหมด
  • ให้ยาต่างๆเพื่อควบคุมอาการปวดศีรษะขณะหยุดยาแก้ปวดในข้อ 1 ซึ่งยาที่มีการนำ มาใช้ และศึกษาแล้วว่ามีประโยชน์ในการควบคุมอาการปวดจากสาเหตุนี้ได้ผล เช่น ยาสเตียรอยด์ขนาดสูง, ยารักษาโรคทางจิตเวชบางชนิด เช่น Haloperidol, ยากันชักบางชนิด เช่น Sodium valproate, Topiramate และกลุ่มยา Barbiturate
  • การให้ยารักษาสาเหตุของการปวดศีรษะเดิม เช่น การให้ยาป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น
  • การรักษาอาการปวดศีรษะโดยไม่ใช้ยา ซึ่งมีความสำคัญมาก คือ การอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงสาเหตุของอาการปวดศีรษะ วิธีการรักษา เพราะต้องใช้ความร่วม มือของผู้ป่วยและญาติอย่างมาก
  • การรักษาสุขภาพจิต เช่น การฝึกกระตุ้นและควบคุมอารมณ์/จิตใจ (Biofeedback), การสะกดจิต เป็นต้น
  • การรักษาด้วยแพทย์สนับสนุน เช่น การนวดผ่อนคลาย การฝังเข็ม การกดจุด
  • การฉีดโบทูไลนุ่มทอกซิน/โบทอก (Botulinum toxin/Botox) เพื่อลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ จึงช่วยลดอาการปวดศีรษะ

อนึ่ง การรักษาโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกินนี้ ต้องใช้เวลานานหลายเดือน เนื่องจากต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะทันที ซึ่งช่วงแรกนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงมากขึ้นและทรมานมาก แพทย์จึงต้องใช้ยาหลายชนิด เพื่อควบคุมอาการปวดดังกล่าว และต้องค่อยๆลดยาเหล่านั้นลงอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำเมื่อลดยา ประกอบกับต้องรักษาโรคปวดศีรษะเดิมที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก่อน อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้ว อาจใช้เวลารักษาทั้งสิ้นประมาณ 6-12 เดือน ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยให้การรักษาได้ผลดี คือ ความร่วมมือของผู้ป่วยและญาติที่ต้องอดทน และให้กำลังใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก, และระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคนี้ ยิ่งเป็นมานาน การรักษาก็ยิ่งยุ่งยาก ซับซ้อน และอาจได้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร

ทั้งนี้ บางครั้ง การรักษาโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน ผู้ป่วยอาจต้องอยู่รักษาในโรงพยา บาล โดยขึ้นอยู่กับว่า ผู้ป่วยสามารถอดทนอาการปวดศีรษะ ช่วงหยุดยาแก้ปวดทันทีทั้งหมดได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถอดทนได้ ก็จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล เพื่อใช้ยาฉีดควบคุมอาการปวด และควบคุมอาการผิดปกติอื่นๆ

โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกินก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน คือ ปัญหาการนอนไม่หลับ สุข ภาพจิตที่ไม่ดี เช่น มีความเครียดเรื้อรัง ซึมเศร้า และผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวดขนาดสูง และ/หรือต่อเนื่อง เช่น ภาวะตับอักเสบ โรคแผลในกระเพาะอาหาร และการทำงานของไตลดลง

โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกินมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน หรือผลการรักษา ส่วนใหญ่ได้ผลดี แต่มีการกลับเป็นซ้ำสูง เพราะผู้ป่วยเมื่อมีอาการดีขึ้น ก็มักจะไม่ทานยาป้องกันการเป็นซ้ำ หรือ ไม่ประพฤติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล ทำให้มีการกลับเป็นซ้ำได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ ป่วยที่เคยมีการใช้ยาแก้ปวดถี่ๆ และเป็นเวลานานๆ และ/หรือ มีปัญหาซึมเศร้า

ควรดูแลตนเองอย่างไร?

ในผู้ป่วยโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน การดูแลตนเองที่ดีนั้น คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระ ตุ้นที่จะทำให้มีอาการปวดศีรษะซ้ำได้อีก เช่น ความเครียด การอดนอน การพักผ่อนไม่เพียงพอ และ/หรือการใช้ยาแก้ปวดโดยไม่จำเป็น

เมื่อใดควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ มีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีไข้สูง และ/หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาท (เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง คอแข็ง ชัก) และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ

โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกินป้องกันได้หรือไม่?

โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน เป็นโรคที่ป้องกันได้ โดยการหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดต่อ เนื่อง เป็นระยะเวลานาน ร่วมการรักษาสาเหตุการปวดศีรษะ และควรมีการจดบันทึกอาการปวดศีรษะ และการใช้ยาแก้ปวดฯ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ใช้ยาแก้ปวดฯเกินความจำเป็น