ปวดศีรษะเหตุรอยโรคในสมอง (Organic headache)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยุคปัจจุบัน คงไม่มีใครปฏิเสธว่าตนเองไม่เคยปวดศีรษะ เพราะมีเรื่องต่างๆมากมายในแต่ละวันที่ทำให้เราปวดศีรษะ/ปวดหัวได้ บางครั้งปวดรุนแรง บางครั้งปวดเล็กน้อย แต่ทุกครั้งก็สร้างความกังวลใจ ความไม่มั่นใจว่า ตนเองปวดศีรษะจากอะไร ยิ่งถ้าเป็นนานหลายปีไม่หาย ยิ่งกลัวว่าตนเองจะเป็นโรคเนื้องอกสมอง ถ้ามีคนใกล้ชิดเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งสมอง ก็ยิ่งทำให้เรากลัวมากยิ่งขึ้นว่า มีอาการปวดศีรษะเหมือนกัน จะเป็นมะเร็งเหมือนกันหรือไม่ รวมทั้งยังมีความเชื่อว่า โรคปวดศีรษะรักษาไม่หาย ทานยาแก้ปวดเฉพาะเวลามีอาการก็พอ ส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยในบางโรคได้ผลไม่ดี เราจึงควรมาทำความเข้าใจอาการปวดศีรษะให้ดีพอ เพื่อเราจะได้ดูแลตนเองได้ดี และสามารถแนะนำคนใกล้ชิดเราได้ว่า อาการปวดศีรษะนั้นควรดูแลตน เองอย่างไร เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

อาการปวดศีรษะคืออะไร?

ปวดศีรษะเหตุรอยโรคในสมอง

อาการปวดศีรษะ ตามความหมายของแพทย์นั้น คือ อาการรู้สึกผิดปกติ รู้สึกไม่สบายบริเวณศีรษะ ใบหน้า และคอ อาจเป็นอาการปวด/เจ็บ รู้สึกไม่สบาย เสียว ก็เรียกว่า ปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะพบได้บ่อยแค่ไหน?

อาการปวดศีรษะพบได้บ่อยมาก ตลอดชีวิตคนเราพบว่า ผู้หญิง 95% ของประชากรหญิงรวม บอกว่าเคยปวดศีรษะ ผู้ชาย 90% ของประชากรชายรวม บอกว่าตนเองเคยปวดศีรษะ จริง ๆแล้ว น่าจะทุกคนที่ต้องเคยปวดศีรษะในตลอดชั่วชีวิตของเรา

อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะมีสาเหตุหลากหลาย ซึ่งแต่ละสาเหตุก็จะพบบ่อยในแต่ละกลุ่มประชากร

แพทย์หาสาเหตุปวดศีรษะได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดศีรษะ โดยจะพิจารณาจากประวัติอาการผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะอาการปวดศีรษะนั้น มากกว่า 95% ของผู้มีอาการ ตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องสืบค้นเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เป็นต้น

อนึ่ง: ประวัติอาการปวดศีรษะที่สำคัญ ที่เวลาไปพบแพทย์ ควรต้องเล่าให้แพทย์ฟัง คือ

  • ลักษณะการปวดศีรษะ เช่น ปวดเสียว ปวดตุ๊บๆ ปวดตื้อๆ ปวดบีบรัด
  • ตำแหน่งที่มีอาการปวด เช่น ขมับ หน้าผาก เบ้าตา กราม เหงือก ฟัน แก้ม เป็นต้น
  • ความรุนแรงของการปวด โดยระบุความแรงเป็นตัวเลข (Scale) ได้แก่ 1-10 โดย 1 คือ ปวดน้อยที่สุด 10 คือ ปวดรุนแรงที่สุดอาจทำให้ถึงตายได้
  • ระยะเวลาที่ปวด ปวดแต่ละครั้งนานเท่าไหร่ เป็นๆ หายๆ หรือเป็นตลอดเวลา เป็นมานานเท่าไหร่ โดยบอกตั้งแต่เริ่มมีอาการ และช่วงที่เป็นรุนแรง
  • อาการอื่นๆที่พบร่วมด้วย เช่น ไข้ อาเจียน ตามัว มองเห็นภาพซ้อน แขน-ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท การได้ยินผิดไป เป็นต้น
  • ประวัติอุบัติเหตุที่ศีรษะ
  • การใช้ยาแก้ปวด และยาอื่นๆ
  • โรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ

จำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเมื่อใด?

ข้อบ่งชี้ของการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ได้แก่

  • อาการปวดศีรษะ ที่น่าจะมีรอยโรคในสมอง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป หัวข้อ สา เหตุฯ)
  • มีประวัติได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ
  • อาการปวดศีรษะในกลุ่มที่ไม่มีรอยโรคในสมอง แต่ให้การรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป หัวข้อ สาเหตุฯ)

สาเหตุปวดศีรษะที่พบบ่อยที่ควรรู้มีอะไรบ้าง?

สาเหตุของอาการปวดศีรษะ แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มที่ไม่มีรอยโรคในสมอง (Functional headache) และ 2. กลุ่มที่มีรอยโรคในสมอง (Organic headache)

1.สาเหตุในกลุ่ม ‘ไม่มีรอยโรคในสมอง(Functional headache)’:

เป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะที่พบบ่อยที่สุด ประกอบด้วย

  • โรคปวดศีรษะไมเกรน
  • โรคปวดศีรษะจากความเครียด
  • โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster headache)

ก. ลักษณะอาการ: ลักษณะปวดศีรษะที่สำคัญในผู้ป่วยกลุ่ม “ไม่มี รอยโรค”ในสมองนี้ คือ

  • อาการปวดศีรษะเป็นๆ หายๆ ช่วงที่ไม่มีอาการ ก็เป็นปกติ
  • ไม่มี ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท พูดไม่ชัด หรือ แขน-ขาอ่อนแรง
  • มีอาการมานานโดยไม่มีความผิดปกติของระบบประสาท
  • มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ คือ ความเครียด การอดนอน การมีประจำเดือน อากาศเปลี่ยนแปลง กลิ่นต่างๆ (เช่น กลิ่นฉุน) พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ไม่มี ไข้ หรือ คอแข็งตึง (Stiffness of neck)
  • เริ่มมีอาการตั้งแต่อายุยังไม่มาก กลุ่มวัยทำงานถึงวัยกลางคน (อายุมักน้อยกว่า 60 ปี)
  • มักพบในคนอาชีพที่มีความเครียดสูง เช่น นักศึกษา นักธุรกิจ และบุคคลที่มีมีความ เครียดได้ง่าย

ข. แนวทางการรักษา: อาการปวดศีรษะกลุ่มที่ไม่มีรอยโรคในสมองนั้น แนวทางการรักษา คือ

  • การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ผ่อนคลาย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • นอนหลับให้ดี
  • ใช้ยาแก้ปวดเท่าที่จำเป็น และถ้าเป็นปวดศีรษะไมเกรน ก็ต้องรับการรักษาให้ถูกต้อง เพราะ 50% ของผู้ป่วยไมเกรนสามารถรักษาให้หายได้

ค. การพยากรณ์โรค: ผลการรักษาผู้ป่วยกลุ่มปวดศีรษะแบบไม่มีรอยโรคนี้ ส่วนใหญ่ได้ผล ดี ถ้าผู้ป่วยรับการรักษาสม่ำเสมอ และให้ความร่วมมือในการรักษา ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง/สิ่งกระตุ้น (ดังได้กล่าวแล้วในข้อ ลักษณะอาการ)

2. สาเหตุกลุ่มมี ‘รอยโรคในสมอง (Organic headache)’:

เป็นสาเหตุที่พบไม่บ่อย แต่มีอันตรายถึงชีวิต ถ้าวินิจฉัยไม่ได้ หรือรักษาไม่ทันเวลา โรคที่พบบ่อยจากกลุ่มนี้และที่ควรรู้ คือ

  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ปวดศีรษะเหตุเยื่อหุ้มสมองอัก เสบ)
  • โรคสมองอักเสบ
  • โรคฝีในสมอง
  • โรคเนื้องอกสมอง และ
  • เลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ (เป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดหนึ่ง ที่มีการแตกของหลอดเลือดในสมอง)

ก. ลักษณะอาการ: ลักษณะปวดศีรษะที่สำคัญในผู้ป่วยที่ มีรอยโรคในสมอง คือ

  • อาการมักเริ่มเป็นตอนสูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี)
  • มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท พูดไม่ชัด แขน-ขาอ่อนแรง ตามัว และ มองเห็นภาพซ้อน
  • มีอาการเกิดเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และอาการรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคสุราเรื้อรัง โรคหูน้ำหนวก
  • ทานยาละลายลิ่มเลือด
  • อาการเป็นรุนแรงมากขึ้น เมื่อมีการเปลี่ยนท่าทาง เบ่งปัสสาวะ และ/หรือ อุจจาระ
  • มีอาการ สับสน จำอะไรไม่ได้
  • ถ้าปวดศีรษะรุนแรงมาก อาจหมดสติ
  • อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นหลังจากประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ

ข. แนวทางการรักษา: การรักษาอาการปวดศีรษะจากมีรอยโรคในสมอง ขึ้นกับสาเหตุ

  • กรณีที่เป็น เยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ การรักษาต้องเจาะตรวจ และระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid:CSF) ร่วมกับการให้ยาต้านเชื้อที่ตรงกับสาเหตุนั้นๆ (อ่านเพิ่มเติมในบทความในเว็บ haamor.com เรื่อง ปวดศีรษะเหตุเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
  • ถ้าเป็นฝีในสมองก็เช่นเดียวกัน การรักษาคือต้องให้ยาฆ่าเชื้อตรงกับเชื้อที่ก่อโรค โดยให้จนกว่าก้อนฝีจะยุบหายหมดซึ่งอาจนานถึง 4-6 สัปดาห์ และอาจร่วมกับการผ่าตัดเอาก้อนหนองออกถ้าอาการรุนแรง และ/หรือฝีในสมองมีขนาดใหญ่ และ/หรือไม่ตอบสนองต่อการให้ยา
  • ถ้าเป็นก้อนเนื้องอกสมองก็ต้องทำการผ่าตัด และ/หรือให้รังสีรักษาร่วมด้วย (อ่านเพิ่มเติมในบทความในเว็บ haamor.com เรื่อง โรคมะเร็งสมอง เนื้องอกสมอง)
  • ถ้าเป็นเลือดออกในสมอง ก็ขึ้นกับความรุนแรงของการมีเลือดออก ว่าจำเป็นต้องผ่าตัดเอาก้อนเลือดออก หรือเพียงแค่รักษาประคับประคองตามอาการ (อ่านเพิ่มเติมในบทความในเว็บ haamor.com เรื่อง โรคหลอดเลือดสมอง)

ค. การพยากรณ์โรค: ผลการรักษาของผู้ป่วยกลุ่มมีรอยโรคนี้ ขึ้นกับสาเหตุและความรุน แรงของแต่ละโรค เช่น

  • ถ้าเกิดจากสมองหรือเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ และมาพบแพทย์เร็ว ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว ผลการรักษาก็ดี แต่ถ้ามาพบแพทย์ล่าช้า มีอาการรุนแรง ผลการรักษาก็ไม่ดี
  • หรือถ้าเกิดจากเลือดออกในสมอง ถ้ามาพบแพทย์ได้เร็ว ผลการรักษาดีมาก
  • ส่วนกรณีเป็นเนื้องอกสมองก็ขึ้นกับว่าเป็นเนื้องอกชนิดที่รุนแรงหรือไม่ ร่วมกับว่า สามารถผ่า ตัดก้อนเนื้อออกได้หมดหรือไม่ด้วย

เมื่อมีอาการปวดศีรษะ เมื่อใดควรพบแพทย์?

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ ต้องรีบพบแพทย์เมื่อมีข้อหนึ่งข้อใด ต่อไปนี้

  • อาการปวดศีรษะเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว รุนแรง
  • อาการปวดศีรษะเป็นมานาน แต่รุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง
  • อาการปวดศีรษะไม่ตอบสนองต่อการดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง
  • มีอาการปวดศีรษะร่วมกับมี ไข้ คอแข็งตึง อาเจียน แขน-ขาอ่อนแรง และ/หรือ มีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ

ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการปวดศีรษะ?

การดูแลตนเองเบื้องต้นกรณีที่มีอาการปวดศีรษะเป็นสิ่งสำคัญ

  • ถ้าท่านมีอาการบ่งชี้ว่ามีลักษณะเข้าได้กับกลุ่มที่มีรอยโรคในสมอง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
  • แต่ถ้าเป็นกลุ่มไม่มีรอยโรคในสมอง ก็ไม่ควรกังวลใจมาก เพราะจะส่งผลให้การรักษาได้ ผลไม่ดี ทั้งนี้ การดูแลตนเองในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ แนวทางการรักษา (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อนั้น)

ป้องกันอาการปวดศีรษะได้อย่างไร?

การป้องกันอาการปวดศีรษะในกลุ่มที่ ไม่มี รอยโรคในสมอง คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระ ตุ้น ดังที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อนั้น)

ส่วนการป้องกันอาการปวดศีรษะกลุ่ม มี รอยโรคในสมอง ขึ้นกับแต่ละสาเหตุ บางสาเหตุพอป้องกันได้ บางสาเหตุก็ไม่สามารถป้องกันได้ซึ่งคือ โรคเนื้องอกสมอง และโรคมะเร็งสมอง แต่สาเหตุที่ป้องกันได้ คือ

  • ป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ป้องกันโรคเลือดออกในสมอง (อาการชนิดหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมอง) ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (อ่านเพิ่มเติมในบท ความในเว็บ haamor.com เรื่อง โรคหลอดเลือดสมอง)
  • ป้องกันอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น ไม่ใช้ความเร็วในการขับรถ ไม่ดื่มสุรา รู้จักการใช้หมวกนิรภัยและ/หรือเข็มขัดนิรภัย รู้จักป้องกันตัวในกีฬาที่รุนแรง และหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาท เป็นต้น