ยานอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยานอร์ฟลอกซาซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยานอร์ฟลอกซาซิน มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยานอร์ฟลอกซาซิน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยานอร์ฟลอกซาซิน มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยานอร์ฟลอกซาซิน มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยานอร์ฟลอกซาซินอย่างไร?
- ยานอร์ฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายานอร์ฟลอกซาซินอย่างไร?
- ยานอร์ฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
- ควิโนโลน (Quinolones)
บทนำ: คือยาอะไร?
นอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin) คือ ยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่ใช้แพร่หลายในวงการแพทย์ไทย เช่น ในโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร, โรคหนองใน), โดยมากจะพบเห็นในรูปแบบ ยารับประทาน
ยานี้ถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร, ได้ประมาณ 30–40% ของยาที่บริโภค, ซึ่งพบว่าความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดจะมีระดับสูงสุดภายใน 1–2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยา, การดูดซึมของยานอร์ฟลอกซาซินจะถูกรบกวนเมื่อรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
การกระจายตัวของยานอร์ฟลอกซาซินหลังเข้าสู่ร่างกาย สามารถผ่านเข้าสู่รกในหญิงมีครรภ์ และพบปริมาณยามากในน้ำดี ซึ่งเมื่อยานี้ผ่านไปที่ตับ ยานี้จะถูกเปลี่ยนรูปไปเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย, ยานอร์ฟลอกซาซินจะถูกขับออกมากับอุจจาระและปัสสาวะ, หากใช้ยากับผู้ที่มีภาวะไตผิดปกติ อาจทำให้ระดับยานอร์ฟลอกซาซินตกค้างอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น
จากการศึกษาการใช้ยานอร์ฟลอกซาซินในสัตว์ทดลองพบว่า ยานี้สามารถก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์ของสัตว์ทดลองได้ จึงเป็นเหตุผลที่ห้ามใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์และกับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร (โดยหลักจริยธรรม จึงไม่สามารถศึกษาผลกระทบนี้ต่อทารกในครรภ์ของคนได้โดยตรง จึงใช้ผลการศึกษาในสัตว์ทดลอง นำมาเป็นคำแนะนำและข้อปฏิบัติแทน) ดังนั้นการใช้ยานี้จึงมีความจำเป็นต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
ยานอร์ฟลอกซาซิน มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยานอร์ฟลอกซาซิน มีคุณสมบัติใช้รักษา:
- การติดเชื้อหนองใน (Gonorrhea)
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
- รวมไปถึงโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร
ยานอร์ฟลอกซาซินยานอร์ฟลอกซาซิน มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยานอร์ฟลอกซาซินนี้ จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารเคมีบางตัว เช่น สาร DNA Gyrase ซึ่งอยู่ในขบวนการสร้างสารพันธุกรรมในแบคทีเรีย ส่งผลให้การขยายและแพร่พันธุ์ของแบคทีเรียลดลง
ยานอร์ฟลอกซาซิน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยานอร์ฟลอกซาซิน:
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 100, 200, และ 400 มิลลิกรัม
- ยาน้ำชนิดรับประทานสำหรับเด็ก
ยานอร์ฟลอกซาซิน มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยานอร์ฟลอกซาซิน มีขนาดรับประทาน
ก. ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป:
- สำหรับการติดเชื้อหนองใน: เช่น รับประทานครั้งเดียว, ขนาด 800 มิลลิกรัม
- สำหรับการติดเชื้อในช่องทางเดินปัสสาวะ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
ชนิดเฉียบพลัน: เช่น รับประทาน 200 มิลลิกรัม เช้า–เย็น แต่หากเป็นชนิดเรื้อรัง รับประทาน 400 มิลลิกรัม เช้า–เย็น - การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร: เช่น ขนาดรับประทาน 400 มิลลิกรัม, เช้า–เย็น
อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้ช่วงท้องว่าง คือ ก่อนอาหาร
ข. ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยานอร์ฟลอกซาซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือขึ้นผื่น หรือ แน่น หายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานอร์ฟลอกซาซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะมียาหลายตัวสามารถผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทุกชนิด รวมทั้งยานอร์ฟลอกซาซิน สามารถรับประทานยาในขนาดปกติเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมรับประทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานยาในขนาดปกติเช่นกัน โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยานอร์ฟล็อกซาซิน มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยานอร์ฟลอกซาซิน เช่น
- รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหารและลำไส้
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผลข้างเคียงอื่นที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่พบเป็นจำนวนน้อย เช่น
- ชักกระตุก
- ผื่นแพ้แสงแดด
- เม็ดเลือดขาวต่ำ(Leucopenia)
- เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
- *กรณีที่รับประทานยานี้ในขนาดสูงๆเป็นประจำ อาจเกิดการตกตะกอนของยาในปัสสาวะ, เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ เช่น นิ่วในไต
มีข้อควรระวังการใช้ยานอร์ฟลอกซาซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานอร์ฟลอกซาซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม Quinolones
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กทารก
- ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงมีครรภ์ หรือ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มี โรคตับ และ/หรือ โรคไต
- ระวังการใช้ยากับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก หรือผู้ที่มีประวัติบาดเจ็บทาง ระบบประสาทส่วนกลาง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานอร์ฟลอกซาซิน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยานอร์ฟลอกซาซิน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานอร์ฟลอกซาซิน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทาน ร่วมกับ ยาลดกรด อาจทำให้การดูดซึมของยานอร์ฟลอกซาซินเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง
- การรับประทาน ร่วมกับยา Probenecid จะไปเพิ่มการขับยานอร์ฟลอกซาซินออกจากร่างกายได้เร็วยิ่งขึ้น ประสิทธิผลของยานอร์ฟลอกซินจึงลดลง
- การรับประทานยานอร์ฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านชัก (เช่นยา Phenytoin) หรือยาขยายหลอดลม (เช่นยา Theophylline) สามารถเพิ่มฤทธิ์ หรือ เพิ่มความแรงของยานอร์ฟลอกซาซินได้ ผลข้างเคียงจากยานอร์ฟลอกซาซินจึงอาจสูงขึ้น
ควรเก็บรักษายานอร์ฟลอกซาซินอย่างไร?
สามารถเก็บรักษายานอร์ฟลอกซาซิน เช่น
- เก็บยาในอุณหภูมิห้อง แต่ควรต้องเก็บยาฯให้พ้นแสงแดด, หรือ เก็บยาฯตามระบุในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
- ไม่เก็บยาในที่ชื้น เช่น ในห้องน้ำ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยานอร์ฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นๆ ทางการค้าของยานอร์ฟลอกซาซิน และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Crossa-200 (ครอสซา-200) | T. Man Pharma |
Floximed (ฟล็อกซิเมด) | Burapha |
Foxin (โฟซิน) | Pharmaland |
Foxinon (โฟซินอน) | M & H Manufacturing |
Gonorcin (โกนอร์ซิน) | General Drugs House |
Janacin (จานาซิน) | Biolab |
Lexfor (เล็กซ์ฟอร์) | Thai Nakorn Patana |
M-Flox 400 (เอ็ม-ฟล็อกซ์ 400) | Millimed |
Myfloxin (มายโฟลซิน) | Greater Pharma |
Noracin (นอราซิน) | Chew Brothers |
Norbactin (นอร์แบ็กติน) | Ranbaxy Unichem |
Norcin Utopian (นอร์ซิน ยูโทเปียน) | Utopian |
Norfa (นอร์ฟา) | Suphong Bhaesaj |
Norflacil (นอร์ฟลาซิล) | Inpac Pharma |
Norflocin (นอร์โฟลซิน) | Polipharm |
Norflox Osoth (นอร์ฟล็อก โอสถ) | Osoth Interlab |
Norflox RX (นอร์ฟล็อก อาร์ เอ็กซ์) | R.X. |
Norfloxin (นอร์โฟลซิน) | T.O. Chemicals |
Norfloxyl (นอร์โฟลซิล) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Norxacin (นอร์ซาซิน) | Siam Bheasach |
Norxia-200 (นอร์เซีย-200) | Asian Pharm |
Noxinor (โนซินอร์) | Masa Lab |
Proxacin (โพรซาซิน) | Inpac Pharma |
Rexacin (เรซาซิน) | Unison |
Sanorflox (ซานอร์ฟล็อก) | Pharmahof |
Sefnor (เซฟนอร์) | Unison |
Urinox (ยูริน็อกซ์) | Charoen Bhaesaj Lab |
Xacin (ซาซิน) | Pharmasant Lab |
Zinor 400 (ซีนอร์ 400) | Patar Lab |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Noroxin
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=norfloxacin [2023,Feb25]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Norxacin/?q=norfloxacin&type=brief [2023,Feb25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Norfloxacin [2023,Feb25]
- https://www.drugs.com/cdi/norfloxacin.html [2023,Feb25]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/norfloxacin.html [2023,Feb25]
- https://www.drugs.com/mtm/norfloxacin.html#interactions [2023,Feb25]