การคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ (Natural birth control)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

การคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติคืออะไร?

การคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ (Natural birth control หรือ Natural family planning) คือ การป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการต่างๆโดยอาศัยหลักสรีรวิทยาของการทำงานของฮอร์โมนในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี,  การตกไข่,  การมีประจำเดือน,  มาช่วยกำหนดวันที่มีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์, โดยไม่ได้ใช้อุปกรณ์หรือยาฮอร์โมนต่างๆช่วยในการคุมกำเนิด

การคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติมีวิธีใดบ้าง?

การมีความรู้ทางด้านสรีรวิทยาและการทำงานของระบบสืบพันธุ์  สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติได้หลายวิธี เช่น  

  • งดมีเพศสัมพันธ์ (Abstinence): เป็นวิธีที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด ได้ผลดีที่สุด ประหยัดที่สุด, แต่ทำยากที่สุดเพราะเป็นการฝืนธรรมชาติมากที่สุด  จึงไม่เป็นที่นิยม
  • การนับวันปลอดภัย (Calendar method, Calendar rhythm method, Ogino-Knaus method): ตามความรู้ทางสรีรวิทยาในสตรีที่มีประจำเดือนปกติ ทุก 28 วันจะมีการตกไข่วันที่ 14 ก่อนมีประจำเดือนครั้งต่อไป,  อย่างไรก็ตามไข่มีโอกาสตกช้าหรือเร็วภายใน  2 วัน,   ดังนั้นโอกาสตกไข่จึงอยู่ในช่วงวันที่  12-16  ของรอบเดือน, ไข่มีชีวิตรอการผสมจาเชื้ออสุจิ (สเปิร์ม, Sperm) อยู่ได้ประมาณ 24  ชั่วโมง, โอกาสการตั้งครรภ์จึงถึงวันที่ 17 ของรอบเดือน,  ส่วนเชื้ออสุจิมีชีวิตรอผสมได้ประมาณ 48 ชั่วโมง หรือ 2  วันก่อนการตกไข่
    • ดังนั้นในสตรีที่ประจำเดือนปกติมาทุก28วัน ‘ช่วงที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้  คือ วันที่  10-17 ของรอบเดือน (นับจากวันแรกของวันมีรอบเดือน)’
    • ในกรณีที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ การหาช่วงเวลาที่ปลอดภัยโดยสังเกตและบันทึกประวัติประจำเดือนที่ผ่านมา 12 เดือน  ให้ใช้เลข18  ลบออกจากรอบประจำเดือนที่สั้นที่สุดเป็นวันแรกที่มีโอกาสตั้งครรภ์                      ( First fertile day)  และใช้เลข 11  ลบออกจากรอบประจำเดือนที่ยาวที่สุด ก็จะเป็นวันสุดท้ายที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ (Last fertile day)  เช่น 
      • หากประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุก 28 วัน  วันที่มีสิทธ์จะตั้งครรภ์ได้คือวันที่  10  (28 ลบ18)  ถึง วันที่  17 (28ลบ11)  ของรอบเดือน     
      • แต่หากประจำเดือนรอบสั้นที่สุด 23  วัน  รอบประจำเดือนที่ยาวที่สุดคือ  40  วัน  ดังนั้น วันที่มีสิทธ์จะตั้งครรภ์ได้คือวันที่  5  (23ลบ18)  ถึง วันที่  29 (40ลบ11)  ของรอบเดือน 
    • อนึ่ง: ที่ได้ยินพูดกันบ่อยๆว่า ระยะปลอดภัย คือ หน้า7หลัง7 หมายถึง ช่วงที่ปลอดจากการตั้งครรภ์ หากมีเพศสัมพันธ์ในระยะเวลา  7  วัน ก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไป  และหลังมีประจำเดือน  (นับวันที่เป็นประจำเดือนวันแรกเป็นวันที่1)  สามารถใช้ได้ปลอดภัย,  แต่เพราะเป็นการเว้นระยะค่อนข้างยาวอาจส่งผลถึงความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาได้
  • การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (The standard days method):  เป็นการกำหนดช่วงเวลาไปเลยว่า วันที่  8-19 ของรอบเดือนมีโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์  โดยการคำนวณค่าเฉลี่ยของรอบประจำเดือนสตรีทั่วไปที่มีรอบประจำเดือน  26-32  วัน,  หากต้องการคุมกำเนิดควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลานี้
  • การวัดอุณหภูมิพื้นฐานของร่างกาย (Basal body temperature):   ตามความรู้ด้านสรีระวิทยาที่ว่าอุณหภูมิร่างกายจะลดลง 12-24  ชั่วโมงก่อนที่จะมีการตกไข่  หลังจากนั้นจะสูงขึ้นประมาณ’ครึ่งองศา (0.5 degree Celsius/C)’ เมื่อมีการตกไข่,  ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนโปรเจสเตโรน (Progesterone)  
    • การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ สตรีต้องมีการวัดอุณหภูมิตนเองทุกเช้าด้วยปรอทวัดไข้ธรรมดาหลังตื่นนอนและก่อนทำกิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นแปรงฟัน  หรือการสะบัดปรอท (ดังนั้นจึงต้องสะบัดปรอทให้พร้อมตั้งแต่ก่อนอน)   แล้วมีการจดบันทึกไว้  สามารถวัดปรอทได้ทั้งทางปาก  รักแร้ หรือทวารหนัก   การวัดแต่ละครั้งควรนานประมาณ 5  นาที,  ควรทำการวัดในเวลาใกล้เคียงกันในแต่ละวัน,   หลังวัดปรอทเสร็จ  ควรทำความสะอาดปรอทวัดไข้ให้เรียบร้อยและสะบัดปรอทให้พร้อมใช้ในวันรุ่งขึ้นโดยไม่ต้องมาเสียเวลาสลัดปรอทอีก, ทั้งนี้เมื่อดูจากค่าอุณหภูมิ เราสามารถเลือกวันที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เพื่อลดความเสียงในการตั้งครรภ์
  • การดูมูก/ตกขาว/สารคัดหลั่งจากปากมดลูก(Cervical mucus inspection method หรือ Ovulation method หรือ Billings method): มูกปากมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของความเหนียวข้นและความยืดหยุ่นตามอิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงในแต่ละรอบเดือน,  ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย,  โดยให้สตรีสังเกตลักษณะมูกในช่องคลอดตนเอง
    • ในช่วงใกล้ตกไข่ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนจะทำให้มูกปากมดลูกมีปริมาณมาก, ใส, สามารถจับมูกยืดได้ยาว  (Spinnbarkeit),  หากมีการร่วมเพศในช่วงนี้ก็จะเสี่ยงกับการตั้งครรภ์ได้สูง,  เชื้ออสุจิผ่านมูกแบบนี้ได้ง่ายจึงต้องเลี่ยงเวลานี้หากต้องการคุมกำเนิด   
    • แต่เมื่อมีการตกไข่ไปแล้ว ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนโปรเจสเตโรน มูกหรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอดจะ เป็นสีขุ่นขึ้น, มีปริมาณน้อยลง, ยืดมูกไม่ได้ยาว 
  • การสังเกตอาการประกอบการตรวจอุณหภูมิ(Symptothermal method): เป็นการใช้หลายวิธีรวมกันซึ่งจะช่วยให้ประสิทธิภารการคุมกำเนิดดีขึ้น โดยดูทั้งจาก
    • อาการปวดหน่วงท้องน้อยที่คาดว่าจะเกิดการตกไข่ (Ovulation pain  หรือ  Mittelschmerz/ปวดท้องจากตกไข่)    
    • การมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยเมื่อมีการตกไข่เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ
    • อาการเจ็บคัดตึงเต้านม
    • การดูปฏิทินที่เป็นวันปลอดภัย
    • ประกอบกับการวัดอุณหภูมิ
    • ร่วมกับการสังเกตลักษณะมูกของปากมดลูก
  • การใช้ชุดตรวจการตกไข่ ( Ovulation indicator testing kit): ปัจจุบันมีชุดตรวจคาดคะเนการตกไข่ ส่วนมากใช้ในสตรีที่ต้องการตั้งครรภ์ และต้องการกำหนดช่วงเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีการตกไข่ หรือใกล้ตกไข่มากที่สุด เพื่อให้ตั้งครรภ์, เป็นการตรวจหาฮอร์โมน  Luteinizing hormone (LH/ ฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่) ในปัสสาวะ  ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อ 8-12 ชั่วโมงหลังมีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน LH (LH  surge), 
    • ในสตรีปกติทั่วไป LH จะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการตกไข่ ปริมาณของ LH จะเพิ่มสูงขึ้นมาก  20-48  ชั่วโมงก่อนตกไข่,    สามารถใช้ชุดตรวจนี้ช่วยในการคุมกำเนิดได้โดยหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในระยะที่ตรวจพบ LH ในปัสสาวะ
  • การหลั่งนอก (Withdrawal method หรือ Coitus interruptus): เป็นการที่ฝ่ายชายถอดองคชาติที่กำลังจะหลั่งน้ำอสุจิขณะร่วมเพศจนใกล้ถึงจุดสุดยอดออกมาจากช่องคลอด  แล้วมาหลั่งน้ำอสุจิภายนอกช่องคลอด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวเชื้ออสุจิเข้าไปในช่องคลอดและในปากมดลูก,  เป็นวิธีที่เกิดความล้มเหลวบ่อย (15-30%) เพราะฝ่ายชายมักถอนอวัยวะเพศไม่ทัน จึงทำให้มีตัวเชื้ออสุจิส่วนหนึ่งเข้าไปในช่องคลอดได้ และ/หรืออสุจิที่เปื้อนอยู่บริเวณปากช่องคลอดยังอาจสามารถเคลื่อนตัวผ่านเมือกที่ปากช่องคลอดฝ่ายหญิงที่มีมากขณะมีอารมณ์ทางเพศได้อีกด้วย
  • การกลั้นไม่หลั่งน้ำอสุจิ (Coitus reservatus): เป็นการที่ฝ่ายชายควบคุมตนเองไม่ให้หลั่งน้ำอสุจิ   เมื่อใกล้จุดสุดยอดจะต้องค่อยๆบังคับตนเองให้ลดความตื่นเต้นทางเพศลง ค่อยๆผ่อนคลายจนหมดไป,  วิธีการนี้มีโอการพลาดได้ง่าย (10-30%) เช่นเดียวกับการหลั่งนอก
  • การให้นมบุตร (Lactational infertility): เป็นการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสตรีที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ประจำเดือนจะมาช้ากว่าสตรีที่เลี้ยงลูกด้วยนมผสม   เนื่องจากการให้ลูกดูดนมจะมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมน Gonadotropin releasing hormone (GnRH,ฮอร์โมนควบคุมการเจริญเติบโของไข่) ทำให้ไม่มีการหลั่ง ฮอร์โมน Follicular stimulating hormone (FSH) และฮอร์โมน LH ไปกระตุ้นให้ไข่ในรังไข่มีการเจริญเติบโตจนเกิดการตกไข่ได้,  ซึ่งโดยมากการตกไข่มักเกิด 10-12 สัปดาห์หลังคลอด, แต่หากต้องการคุมกำเนิดอย่างจริงจัง ควรมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย
  • การสวนล้างช่องคลอดและการถ่ายปัสสาวะ (Douching and urination):  เป็นวิธีที่’ไม่ได้ผล’,   ในการสวนล้างช่องคลอดหรือถ่ายปัสสาวะหลังการมีเพศสัมพันธ์เพราะเมื่อฝ่ายชายหลั่งน้ำอสุจิเข้าในช่องคลอด  เชื้ออสุจิบางส่วนจะเข้าไปในโพรงมดลูกได้แล้ว, วิธีดังกล่าวจึงไม่สามารถป้องกันน้ำอสุจิไม่ให้เข้าไปในโพรงมดลูกได้

ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติเป็นอย่างไรบ้าง?

ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ ‘ไม่ดี’เท่าการคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฮอร์โมน  เพราะต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  

  • หากมีการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดและถูกต้อง, ประสิทธิภาพโดยรวมประมาณ 90%
  • แต่หากปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง หรือไม่มีวินัยในการควบคุมตนเอง โอกาสความล้มเหลวจะมีมากกว่าการคุมกำเนิดด้วยยาหรือฮอร์โมนต่างๆมาก

อะไรเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ?

ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น

  • ความสม่ำเสมอของรอบประจำเดือน
  • ความร่วมมือของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย
  • ความมุ่งมั่น มีวินัยในตนเอง
  • การเป็นคนช่างสังเกตตนเองของสตรี  เช่น สังเกตว่าความเหนียวของมูกปากช่องคลอด และการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงรอบเดือน เป็นต้น

ข้อดีของการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติมีอะไรบ้าง?

ข้อดีของการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น

  • ประหยัดค่าใช้จ่าย หรือไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ทางการแพทย์
  • ไม่ต้องเสียเวลาไปพบแพทย์เพื่อรับบริการ
  • ไม่ต้องได้รับฮอร์โมนต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ เช่น  น้ำหนักตัวเกิน/เพิ่ม, เนื้อตัวบวม   
  • ภาวะการเจริญพันธุ์ (การสามารถตั้งครรภ์): สามารถกลับมาได้ทันทีที่หยุดการคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติ

ข้อด้อยการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติมีอะไรบ้าง?

ข้อด้อยการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น

  • ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดยังไม่ดีนัก, โอกาสการตั้งครรภ์ 2-30 ต่อสตรี 100 คน
  • ต้องมีวินัยในการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย
  • ไม่สะดวก ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
  • กดดัน หรือเกิดความเครียด  เนื่องจากความต้องการทางเพศอาจไม่ตรงกับวันที่และระยะเวลาในช่วงที่ปลอดภัย  คือไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามความต้องการ   
  • เสียเวลาในการบันทึกประวัติประจำเดือน
  • หากสตรีมีประจำเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้การคำนวณระยะปลอดภัยไม่แม่นตรง
  • ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

สตรีใดบ้างที่เหมาะกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ?

สตรีที่เหมาะกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น

  • ไม่ต้องการมีผลข้างเคียงของยาฮอร์โมนคุมกำเนิดต่างๆ
  • ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ
  • มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถรับประทานหรือฉีดยาฮอร์โมนคุมกำเนิดได้
  • สามีให้ความร่วมมือที่ดี

สตรีใดบ้างที่ไม่เหมาะการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ?

สตรีที่ไม่เหมาะการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ ทั่วไป คือ

  • มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
  • มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด
  • มีภารกิจ รัดตัว ยุ่งเหยิง ทำให้ไม่มีเวลาในการควบคุมดูแลตนเอง
  • มีภาวะเครียด จะมีผลทำให้รอบประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
  • ฝ่ายชายไม่ร่วมมือ

บรรณานุกรม

  1. ยุทธพงศ์ วีระวัฒนตระกูล. การคุมกำเนิดเพื่อการวางแผนครอบครัว. คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  2. https://americanpregnancy.org/getting-pregnant/natural-family-planning/ [2023,April8]
  3. https://www.aafp.org/pubs/afp/issues/2012/1115/p924-s1.html [2023,April8]
  4. https://www.medicinenet.com/natural_methods_of_birth_control/article.htm [2023,April8]