ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่อะไร? สร้างฮอร์โมนอะไร?

ไทรอยด์/ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบต่อมไร้ท่อ ตั้งอยู่ด้านหน้าของลำคอใน ส่วนหน้าต่อลูกกระเดือกหรือกระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid cartilage) มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบด้วย 2 กลีบใหญ่คือ กลีบด้านซ้ายและกลีบด้านขวา ซึ่งทั้งสองกลีบเชื่อมต่อถึงกันได้ด้วยเนื้อเยื่อบางๆที่เรียกว่า อิสธ์มัส (Isthmus) ต่อมไทรอยด์ปกติของผู้ใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 18 -30 กรัม แต่ละกลีบของต่อมไทรอยด์ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร (ซม.) ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 2 - 3 ซม. และส่วนที่หนาสุดประมาณ 0.8 - 1.6 ซม. ซึ่งต่อมไทรอยด์ปกติไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่สามารถคลำพบได้

ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิดคือ ไทรอกซีน หรือ ที4 (Thyroxine, T4), ไตรไอโอโดไธโรนีน หรือ ที3 (Triiodothyronine, T3), และแคลซิโทนิน (Calcitonin)ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญน้อยกว่า ฮอร์โมน ที4 และ ที3 เป็นอย่างมาก ดังนั้นโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง ไทรอยด์ฮอร์โมน จึงมักหมายความถึงเฉพาะ ‘ฮอร์โมน ที4 และ ที3 เท่านั้น’

ฮอร์โมน ที4 และฮอร์โมน ที3 มีหน้าที่สำคัญมากคือ ควบคุมดูแลการใช้พลังงานทั้งจากอาหารและจากออกซิเจนหรือที่เรียกว่า เมตาโบลิซึม (Metabolism หรือกระบวนการแปรรูปอณู) ของเซลล์ต่างๆเพื่อ การเจริญเติบโต การทำงาน และการซ่อมแซม เซลล์ที่บาดเจ็บสึกหรอ และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วย

ส่วนฮอร์โมนแคลซิโทนิน มีหน้าที่ช่วยควบคุมการทำงานของเกลือแร่แคลเซียมในร่างกาย/ในเลือดให้อยู่ในสมดุล

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่ทำงานโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และของสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus, เป็นสมองส่วนหนึ่งของสมองใหญ่/Cerebrum โดยอยู่ในส่วนลึกกลางสมองใหญ่) ซึ่งทั้งต่อมใต้สมองและสมองไฮโปธาลามัสยังควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆด้วยเช่น ต่อมหมวกไต รังไข่ และอัณฑะ และยังมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ ดังนั้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆของต่อมไทรอยด์จึงสัมพันธ์กับการทำงานและโรคต่างๆของอวัยวะเหล่านั้น รวมทั้งความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ

เนื่องจากฮอร์โมนแคลซิโทนิน มีบทบาทน้อยมากในการดำรงชีวิตและในโรคของต่อมไทรอยด์ ดังนั้นในบทความนี้ เมื่อกล่าวถึงเรื่องของต่อมไทรอยด์จึงกล่าวถึงเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘ฮอร์โมน ที4 และฮอร์โมน ที3’ เท่านั้น และจะรวมเรียก ‘ฮอร์โมน ที4 และ ที3’ว่า ’ไทรอยด์ฮอร์โมน’

โรคต่อมไทรอยด์มีอะไรบ้าง? มีอาการอย่างไร?

ไทรอยด์

โรคของต่อมไทรอยด์ที่พบได้บ่อย คือ ภาวะหรือโรค/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, โรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, โรคคอพอก, โรคปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์, และโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

ก. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism): คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานสูงขึ้นผิดปกติจึงส่งผลให้ มีฮอร์โมน ที4 และฮอร์โมน ที3 ในร่างกาย/ในเลือดสูงกว่าปกติ จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น ซึ่ง

  • เมื่อมีไทรอยด์ฮอร์โมนสูงขึ้นกว่าปกติจากสาเหตุใดๆก็ตามเช่น จากต่อมไทรอยด์อักเสบ, จากกินยาไทรอยด์ฮอร์โมน, เรียกภาวะนั้นว่า ‘โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)’
  • เมื่อไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากปุ่มเนื้อของต่อมไทรอยด์เอง เรียกโรคนั้นว่า ‘โรคคอพอกเป็นพิษ (Toxic nodular goiter)’ และ
  • เมื่อเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย/แอนติบอดี/สารภูมิต้านทาน (Antibody)ต่อต่อมไทรอยด์ จะส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทั้งต่อมโตขึ้น และเซลล์ต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนสูงขึ้น เรียกว่า ‘โรคเกรฟส์ (Graves’ disease)’ ซึ่งเป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุดของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน คือประมาณ 70% ของภาวะนี้

ทั้งนี้ อาการจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินที่พบบ่อย ได้แก่

  • ผอมลงทั้งๆที่กินจุ
  • หัวใจเต้นเร็วและแรง
  • ทนอากาศร้อนไม่ได้
  • เหงื่อออกมาก
  • กล้ามเนื้อแขนและขาลีบ
  • อุจจาระบ่อยขึ้น/ท้องเสีย
  • ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
  • ผมเปราะแห้ง ผมร่วง
  • มือสั่น
  • หงุดหงิดง่าย กังวลเกินเหตุ อารมณ์แปรปรวน
  • อ่อนเพลีย
  • นอนไม่หลับ
  • อาจมีต่อมไทรอยด์โตทั้งต่อม และ
  • อาจร่วมกับมีตาโปนทั้ง 2 ข้างเมื่อเกิดจากโรคเกรฟส์ อาจมีปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์เมื่อเกิดจากคอพอกเป็นพิษ หรืออาจมีต่อมไทรอยด์โตเจ็บ อาจร่วมกับมีไข้เมื่อเกิดจากต่อมไทรอยด์อักเสบ

ข. ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หรือโรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ(Hypothyroidism): ได้ แก่ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติหรือเสียหายจากสาเหตุต่างๆเช่น จากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ จึงส่งผลให้มีไทรอยด์ฮอร์โมนในร่างกาย/ในเลือดต่ำกว่าปกติ จึงก่ออาการต่างๆขึ้น ซึ่งที่พบบ่อย ได้แก่

  • ทนหนาวไม่ได้ หนาวเกินเหตุ
  • ท้องผูก
  • ประจำเดือนแต่ละครั้งมามากผิดปกติ
  • ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย
  • อ้วนฉุ
  • เฉื่อย ช้า
  • เสียงแหบ
  • พูดได้ช้าลง
  • ผิวหนังดูหนากว่าปกติ
  • ผิวแห้ง
  • เล็บแตกง่าย
  • ใบหน้า รอบดวงตา มือ เท้าบวม โดยเฉพาะเมื่อตื่นนอน
  • ซึมเศร้า

ทั้งนี้ สาเหตุพบบ่อยของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ได้แก่

  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์จากโรคของต่อมไทรอยด์
  • การสูงอายุ เซลล์ทุกชนิดรวมทั้งของต่อมไทรอยด์จึงเสื่อมลง
  • กินยากดการทำงานของต่อมไทรอยด์ (เช่นรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ)
  • โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ (เมื่ออักเสบเฉียบ พลันมักเกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ แต่ในระยะยาวหรือเมื่อต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง มักเกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)
  • การกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนรักษาโรคต่างๆของต่อมไทรอยด์
  • การได้รับรังสีในบริเวณลำคอ (เช่น การฉายรังสีรักษาในโรคมะเร็งในบริเวณลำคอหรือในคนที่ทำงานเกี่ยวกับรังสี) และ
  • โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด

ค. โรคคอพอก (Goiter หรือ Goitre): คือ โรคต่อมไทรอยด์โต อาจโตเรียบทั่วทั้งสองกลีบ, โตเรียบเพียงกลีบเดียว, โตแบบเป็นตะปุ่มตะป่ำ, หรือเป็นปุ่มก้อนเนื้อ อาจเกิดเพียงก้อนเนื้อเดียวหรือ หลายๆก้อน, เกิดกับต่อมไทรอยด์เพียงกลีบใดกลีบหนึ่งหรือกับทั้งสองกลีบพร้อมกัน, ดังนั้น คอพอกจึงเป็นคำกลางๆหมายความถึงมีต่อมไทรอยด์บวมโต ซึ่งผู้ป่วยอาจ

  • มีไทรอยด์ฮอร์โมนปกติ จึงไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ยกเว้นเพียงต่อมไทรอยด์โต โดยมักมีสาเหตุจากขาดเกลือแร่ไอโอดีน ต่อมไทรอยด์จึงเพิ่มปริมาณเซลล์ให้มากขึ้น ต่อมจึงมีขนาดโตขึ้นหรือเกิดเป็นตะปุ่มตะป่ำ หรือ
  • มีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนสูงขึ้น จึงเกิดภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน หรือไทรอยด์เป็นพิษ
  • หรืออาจมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ จึงเกิดอาการจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะมีไทรอยด์ฮอร์โมนปกติ สูง หรือต่ำ ขึ้นกับสาเหตุของคอพอก

ง. โรคปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์ หรือ ก้อนเนื้อต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodule): คือ ปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์ซึ่งเป็นปุ่มเนื้อที่ไม่ใช่เนื้องอกมะเร็ง โดยปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์แบ่งเป็น 3 ชนิดตามการจับไอโอดีนของเซลล์ปุ่มเนื้อ คือ

  • เมื่อเซลล์ปุ่มเนื้อจับไอโอดีนได้ตามปกติเรียกว่า ‘วอร์มโนดูล (Warm nodule)’ ปุ่มเนื้อชนิดนี้มักเกิดจากร่างกายขาดเกลือแร่ไอโอดีน และเป็นปุ่มเนื้อที่ ไม่กลายเป็นโรคมะเร็ง
  • เมื่อเซลล์ปุ่มเนื้อจับไอโอดีนได้สูงกว่าปกติ เรียกว่า ‘ฮอตโนดูล (Hot nodule)’ ซึ่งปุ่มเนื้อชนิดนี้เป็นชนิดพบได้น้อย มักทำให้มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน และมีรายงานเปลี่ยนเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ประปรายน้อยมากๆ
  • เมื่อเซลล์ปุ่มเนื้อ ไม่จับไอโอดีน เรียกว่า ‘โคลด์โนดูล (Cold nodule)’ ปุ่มเนื้อชนิดนี้โดยทั่วไป เป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง และจะยุบหายได้เมื่อได้รับการรักษาด้วยยาไทรอยด์ฮอร์โมน เรียกเนื้องอกนี้ว่า ‘ไทรอยด์อะดีโนมา (Thyroid adenoma)’ อย่างไรก็ตามพบปุ่มเนื้อ โคลด์โนดูล เกิดจาก ‘โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์’ ได้ประมาณ 5 - 10% ดังนั้นเมื่อปุ่มเนื้อชนิดนี้มีขนาดโตขึ้น หรือไม่ยุบลงหลังได้ยาฮอร์โมนดังกล่าว การรักษามักเป็นการเจาะ/ดูดเซลล์จากปุ่มเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา เพื่อวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งเพื่อการรักษาได้ถูกต้องต่อไป

จ. โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer): เป็นโรคมะเร็งพบบ่อยชนิดหนึ่งของคนไทย เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ แต่พบได้ตั้งแต่ในเด็กโตไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงพบเป็นโรคได้สูงกว่าผู้ชายถึงประมาณ 3 - 4 เท่า เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ การได้รับรังสีในบริเวณต่อมไทรอยด์โดยเฉพาะในช่วงเป็นเด็ก

อาการสำคัญของมะเร็งต่อมไทรอยด์ คือ

  • ต่อมไทรอยด์โตมองเห็นได้และคลำได้ก้อนเนื้อหรือปุ่มเนื้อในต่อมไทรอยด์ และ
  • ในโรคระยะลุกลามอาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองลำคอโตด้านเดียวกับที่มีก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์

แพทย์วินิจฉัยโรคของต่อมไทรอยด์ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคของต่อมไทรอยด์ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ
  • การตรวจร่างกาย การตรวจคลำต่อมไทรอยด์และต่อมน้ำเหลืองลำคอ
  • การตรวจเลือด ดูการทำงานของต่อมไทรอยด์/ค่าฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์
  • การตรวจภาพต่อมไทรอยด์ด้วย
    • อัลตราซาวด์ หรือ
    • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (โดยการกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนหรือฉีดยาแร่รังสีบางชนิดเข้าหลอดเลือดดำ หลังจากนั้นจึงใช้เครื่องสแกนตรวจจับน้ำรังสีฯที่เซลล์ต่อมไทรอยด์จับกิน แล้วเครื่องฯจึงแปลงเป็นภาพต่อมไทรอยด์) หรือ
    • การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • แต่เมื่อสงสัยโรคเนื้องอกหรือโรคมะเร็ง แพทย์จะเจาะดูดเซลล์จากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
  • นอกจากนั้นอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์เช่น
    • ตรวจภาพเอกซเรย์ปอด เพื่อดูการแพร่กระจายของโรคมะเร็ง เป็นต้น

รักษาโรคของต่อมไทรอยด์ได้อย่างไร?

การรักษาโรคต่อมไทรอยด์ขึ้นกับชนิดของโรคโดย

ก. เมื่อเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน: การรักษาคือ การกินยาลดการทำงานของต่อมไทรอยด์, การผ่าตัดต่อมไทรอยด์, และ/หรือ การกินน้ำแร่รังสีไอโอดีน, โดยจะเป็นวิธีการใดขึ้นกับ อายุ สุขภาพ ผู้ป่วย, ดุลพินิจของแพทย์, และความสมัครใจของผู้ป่วย

ข. เมื่อเป็นโรคภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: การรักษาคือ การกินยาไทรอยด์ฮอร์โมน(เช่น ยาเลโวไทรอกซีน/ Levothyroxine) และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น กินยาขับน้ำลดบวม(ยาขับปัสสาวะ) เป็นต้น

ค. เมื่อเป็นโรคคอพอก: คือ รักษาตามสาเหตุของคอพอก เช่น รักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น

ง. เมื่อเป็นโรคปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์: คือ การรักษาตามสาเหตุ เช่น รักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เป็นต้น

จ. เมื่อเป็นเนื้องอกต่อมไทรอยด์: การรักษาคือ กินยาไทรอยด์ฮอร์โมน แต่เมื่อก้อนโตขึ้นหรือ ก้อนไม่ยุบหลังกินยา การรักษาคือ การผ่าตัดก้อนเนื้อหรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์

ฉ. เมื่อเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์: การรักษาคือ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ และอาจร่วมกับการกินยาน้ำแร่รังสีไอโอดีน, การฉายรังสีรักษา, หรือยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรคมะเร็งและชนิดของเซลล์มะเร็ง

โรคของต่อมไทรอยด์รุนแรงไหม?

โดยทั่วไปโรคของต่อมไทรอยด์มีการพยากรณ์โรคไม่รุนแรง รักษาได้เสมอ ซึ่งรวมทั้งโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ ยกเว้นโรคมะเร็งชนิดมีการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งสูงมาก (ชนิด Anaplastic หรือ ชนิด Undifferentiated)เท่านั้นที่รุนแรงมากซึ่งมักทำให้เสียชีวิตเสมอ แต่เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อยมากและมักพบในผู้สูงอายุ

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ หรือสังเกตเห็นมีก้อนเนื้อผิดปกติในบริเวณต่อมไทรอยด์ และ/หรือลำคอ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอภายใน 1 - 2 สัปดาห์ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยให้การรักษาได้ผลดีกว่า ใช้เวลารักษาและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาน้อยกว่าการรักษาในระยะที่เป็นโรคเรื้อรัง หรือเป็นโรคมะเร็งในระยะลุกลาม

ป้องกันโรคของต่อมไทรอยด์ได้อย่างไร?

โดยทั่วไปโรคของต่อมไทรอยด์มักไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ยกเว้นโรคคอพอกจากขาดไอโอดีนและโรคต่อมไทรอยด์อักเสบจากการติดเชื้อ ดังนั้น ทั่วไปการป้องกันคือ

  • การกินอาหารที่มีไอโอดีนอย่างเพียงพอ เช่น อาหารทะเล น้ำปลาจากปลาทะเล เกลือทะเล แต่ไม่ควรกินอาหารเค็มจัดเพราะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง และโรคไตเรื้อรัง
  • นอกจากนั้นคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และเพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ

อนึ่ง จากการศึกษาพบว่า การกินอาหารที่มีไอโอดีนปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกดการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ ต่อมไทรอยด์จึงพยายามทำงานเพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดคอพอกได้, หรือบางครั้งอาจทำให้ต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเกินปกติเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ, หรือบางครั้งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้

จึงเห็นได้ว่า ทั้งการขาดไอโอดีน หรือการกินไอโอดีนมากเกินไป ก่อโรคกับต่อมไทรอยด์ได้ทั้งสองกรณี ดังนั้นจึงควรกินอาหารที่มีไอโอดีนแต่พอดี ไม่กินอาหารที่ขาดไอโอดีน หรืออาหารที่มีไอโอดีนสูง อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการกินไอโอดีนเสริมอาหารในรูปของวิตามิน ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Schlumberger, M. (2006). Thyroid tumors (third edition). France: Editions Nucleon.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Thyroid [2019,July13]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Goitre [2019,July13]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Hyperthyroidism [2019,July13]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Hypothyroidism [2019,July13]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Thyroid_nodule [2019,July13]