คอพอก (Goitre)

สารบัญ

บทนำ

คอพอก (Goitre หรือ Goiter) คือ โรคที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้นผิดปกติจนสามารถมองเห็นหรือคลำพบ (ในภาวะปกติเราจะมองไม่เห็นและคลำไม่พบต่อมไทรอยด์) ซึ่งอาจโตขึ้นตลอดทั่วทั้งต่อม (กลีบซ้ายและกลีบขวา) หรือเพียงกลีบใดกลีบหนึ่ง หรือเห็นเป็นก้อนเนื้อก้อนเดียว หรือเห็นเป็นก้อนเนื้อตะปุ่มตะป่ำ ทั้งนี้ เกิดโดยที่การทำงานของต่อมไทรอยด์อาจ ปกติ สูงกว่าปกติ (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) หรือต่ำกว่าปกติ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบต่อมไร้ท่อ ตำแหน่งของต่อมจะอยู่ด้านหน้าของลำคอ ในส่วนหน้าต่อลูกกระเดือก หรือ กระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid carti lage) โดยมีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบด้วย 2 กลีบใหญ่ คือ กลีบด้านซ้าย และกลีบด้านขวา ซึ่งทั้งสองกลีบเชื่อมต่อถึงกันได้ด้วยเนื้อเยื่อบางๆที่เรียกว่า อิสธ์มัส (Isthmus)

ต่อมไทรอยด์ปกติของผู้ใหญ่ (ทั้ง2 กลีบ) มีน้ำหนักประมาณ 18-30 กรัม แต่ละกลีบของต่อมไทรอยด์ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร (ซม.) ส่วนที่กว้างที่สุด ประมาณ 2-3 ซม. และส่วนที่หนาสุดประมาณ 0.8-1.6 ซม.

ต่อมไทรอยด์ สร้างฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิด คือ

  • ไทรอกซีน หรือ ที4 (Thyroxine, T4)
  • ไตรไอโอโดไธโรนีน หรือ ที3 (Triiodothyronine, T3)
  • และแคลซิโทนิน (Calcitonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญน้อยกว่า ฮอร์โมน ที4 และ ที3 เป็นอย่างมาก

ดังนั้นโดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึง ไทรอยด์ฮอร์โมน จึงมักหมายความถึงเฉพาะฮอร์โมน ที4 และ ที3 เท่านั้น

ฮอร์โมน ที4 และฮอร์โมน ที3 มีหน้าที่สำคัญมาก คือ ควบคุมดูแลการใช้พลังงานทั้งจากอาหาร และจากออกซิเจน หรือ ที่เรียกว่า เมตาโบลิซึม (Metabolism หรือ กระบวนการแปรรูปอณู) ของเซลล์ต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโต การทำงาน และการซ่อมแซมเซลล์ที่บาดเจ็บสึกหรอ และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วย ส่วนฮอร์โมนแคลซิโทนิน มีหน้าที่ช่วยควบ คุมการทำงานของเกลือแร่แคลเซียมในร่างกายให้อยู่ในสมดุล

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่ทำงานโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และของสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus เป็นสมองส่วนหนึ่งของสมองใหญ่/Cerebrum โดยอยู่ในส่วนลึกกลางสมองใหญ่) ซึ่งทั้งต่อมใต้สมอง และสมองไฮโป ธาลามัส ยังควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆด้วย เช่น ต่อมหมวกไต รังไข่ และอัณฑะ และยังมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ ดังนั้น การทำงานของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งโรค หรือ ภาวะผิดปกติต่างๆของต่อมไทรอยด์ จึงสัมพันธ์กับการทำงาน และโรคต่างๆของอวัยวะเหล่านี้ รวม ทั้งความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ

ทั่วโลกพบโรคคอพอกที่เกิดจากการขาดธาตุอาหารเกลือแร่ไอโอดีน (สาเหตุสูงสุดของการเกิดคอพอก) ได้สูงถึงประมาณ 200-800 ล้านคน ทั้งนี้แหล่งธาตุอาหารสำคัญของไอโอดีนจะอยู่ในดินและในทะเล ดังนั้นคนที่อยู่ไกลทะเลและอยู่ในแหล่งที่แผ่นดินมีธาตุไอโอดีนต่ำ จึงส่งผลให้ พืชผัก และผลไม้ รวมทั้งนมจากสัตว์มีธาตุไอโอดีนต่ำ จึงมีโอกาสเกิดโรคคอพอกได้สูง ถ้าไม่ได้รับการชดเชยจากการกินเกลือที่ผสมไอโอดีน เช่น ประชาชนที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย ลาตินอเมริกา ใจกลางทวีปอัฟริกา ในยุโรปบางประเทศ และในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย

คอพอก เป็นโรคที่พบได้ตั้งแต่ในเด็กโต ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบในผู้หญิงได้สูงกว่าในผู้ชายถึงประมาณ 2-4 เท่า

ส่วนใหญ่ คอพอกมักเกิดจากภาวะร่างกายขาดธาตุไอโอดีน ที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆพบได้น้อย และพบเกิดจากโรคมะเร็ง หรือพบโรคมะเร็งในผู้ป่วยที่วินิจฉัยว่าเป็นคอพอกได้ประมาณ 5 % แต่มีรายงานพบได้ในช่วงตั้งแต่ประมาณ 3-20% โดยขึ้นกับ เชื้อชาติ ถิ่นที่อยู่อาศัย อายุ และเพศ

คอพอกเกิดได้อย่างไร? มีกี่ชนิด?

คอพอก เกิดจากการที่เซลล์ของต่อมไทรอยด์มีการเจริญเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าปกติ ต่อมไทรอยด์จึงมีขนาดโตขึ้น นอกจากนั้นบ่อยครั้งเกิดร่วมกับการมีพังผืดเกิดขึ้นด้วย จึงส่งผลให้เนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์เกิดเป็นก้อนเนื้อตะปุ่มตะป่ำตามมา

โดยทั่วไปแบ่งคอพอกได้เป็นหลายชนิด แต่ในที่นี้ขอแบ่งคอพอกตามการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะและการทำงานของเซลล์ต่อมไทรอยด์ ออกเป็น 4 ชนิด คือ

  • ชนิดต่อมไทรอยด์โตเรียบทั่วทั้งต่อมและไทรอยด์เซลล์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนปกติ (Diffuse nontoxic goitre)
  • ชนิดต่อมไทรอยด์เป็นตะปุ่มตะป่ำและไทรอยด์เซลล์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนปกติ (Nontoxic multinodular goitre)
  • ชนิดต่อมไทรอยด์เป็นตะปุ่มตะป่ำและไทรอยด์เซลล์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเกินปกติ (Toxic multinodular goitre)
  • และชนิดมีปุ่มเนื้อปุ่มเดียวและปุ่มเนื้อสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเกินปกติ (Hyperfunctioning solitary nodule)

- คอพอกชนิดต่อมไทรอยด์โตเรียบทั่วทั้งต่อมและไทรอยด์เซลล์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนปกติ (Diffuse nontoxic goitre) คือ คอพอกที่เกิดจากเซลล์ต่อมไทรอยด์เจริญเพิ่มจำนวนทั่วทั้งต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์โตเรียบทั่วไปทั้งสองกลีบ ไม่มีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำ แต่ยังมีการทำงานของต่อมไทรอยด์เป็นปกติ

ถ้าคอพอกชนิดนี้เกิดในคนในถิ่นที่พื้นดินและสิ่งแวดล้อมขาดธาตุไอโอดีน และก่อให้คนในพื้นที่เป็นคอพอกจากขาดไอโอดีนมากกว่า 5% ของประชากรในถิ่นนั้น เรียกคอพอกที่เกิดนี้ว่า Simple goitre หรือ คอพอกประจำถิ่น (Endemic goitre) หรือ Colloid goitre แต่ถ้าพบคอพอกชนิดที่โตเรียบทั้งสองกลีบนี้เกิดกับบุคคลที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในถิ่นที่สิ่งแวดล้อมขาดธาตุไอโอดีน เรียกคอพอกที่เกิดแบบนี้ว่า Sporadic diffuse nontoxic goitre

- คอพอกชนิดต่อมไทรอยด์เป็นตะปุ่มตะป่ำและไทรอยด์เซลล์สร้างไทรอยด์ฮอร์ โมนปกติ (Nontoxic multinodular goitre) เป็นโรคที่พบได้บ่อยประมาณ 1-12% ของประชากรทั่วโลก เป็นโรคพบได้บ่อยในถิ่นที่พื้นดินและสิ่งแวดล้อมขาดธาตุไอโอดีน ทั้งนี้ต่อมไทรอยด์อาจมีขนาดโตไม่มาก ไปจนถึงโตได้เป็นหลายๆเซนติเมตร ซึ่งปุ่ม (ก้อนเนื้อ) เองก็มีได้ตั้งแต่ขนาดมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าไปจนถึงโตเป็นหลายๆเซนติเมตร

- คอพอกชนิดต่อมไทรอยด์เป็นตะปุ่มตะป่ำและไทรอยด์เซลล์สร้างไทรอยด์ฮอร์ โมนเกินปกติ (Toxic multinodular goitre) เป็นโรคพบได้น้อยกว่าคอพอกทั้งสองชนิดแรก ลักษณะของต่อมไทรอยด์จะเช่นเดียวกับคอพอกชนิดไทรอยด์เป็นตะปุ่มตะป่ำ แต่มีเซลล์ไทรอยด์ในบางปุ่มเนื้อทำงานสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเกินปกติ จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการน้อย บางคนมีอาการมาก ทั้งนี้ขึ้นกับการทำงานของเซลล์ที่มักเป็นไปโดยอัตโนมัติ ร่างกายควบคุมไม่ได้ ซึ่งโรคชนิดนี้เกิดได้ทั้งจากการขาดธาตุไอโอดีน และอาจจากมีการผิดปกติทางพันธุกรรมร่วมด้วย

- คอพอกชนิดมีปุ่มเนื้อปุ่มเดียวและปุ่มเนื้อสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนสูงกว่าปกติ (Hyperfunctioning solitary nodule) โรคชนิดนี้ เกิดกับต่อมไทรอยด์เพียงกลีบเดียว กลีบซ้ายและกลีบขวามีโอกาสเกิดได้เท่ากัน โดยต่อมไทรอยด์จะไม่มีการโตทั้งกลีบ แต่จะมีเพียงบางส่วนที่มีปุ่มเนื้อเกิดขึ้น มองเห็น หรือคลำได้ เป็นลักษณะคล้ายก้อนเนื้องอก แต่ไม่ใช่เนื้องอก คอพอกชนิดนี้เป็นชนิดที่พบได้น้อยมาก โดยผู้ป่วยมักมีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย แต่อาการไม่มาก

คอพอกมีสาเหตุจากอะไร?

โรคคอพอกมักมีสาเหตุเกิดจากร่างกายขาดธาตุไอโอดีนจากการที่อาหารที่บริโภคขาดธาตุไอโอดีน หรือมีไอโอดีนต่ำ

อนึ่ง การบริโภคไอโอดีนทั้งในปริมาณสูง หรือในปริมาณต่ำ ทั้งจากอาหาร และจากการเสริมอาหารด้วยวิตามินเกลือแร่ สามารถก่อโรคต่างๆกับต่อมไทรอยด์ได้ทั้งนั้น ดังนั้นการบริโภคไอโอดีนจึงควรอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ เพศ ภาวะตั้งครรภ์ และภาวะให้นมบุตร ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อเกลือไอโอดีนเสริมอาหารกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (U.S. National Academy of sciences) ได้แนะนำปริมาณความต้องการไอโอดีนต่อวันของร่างกายตามเพศ อายุภาวะตั้งครรภ์ และภาวะให้นมบุตร ดังนี้

  • ในเด็กทารกทั้งเพศหญิงและเพศชาย

    อายุช่วงไม่เกิน 6 เดือน คือ 110ไมโครกรัม (Microgram) อายุ 7-12 เดือน คือ 130 ไมโครกรัม

  • เด็กทั้งสองเพศอายุ 1-3 ปี คือ 90 ไมโครกรัม โดยไม่ควรเกิน 200 ไมโครกรัม
  • เด็กทั้งสองเพศอายุ 4-8 ปี คือ 90 ไมโครกรัม แต่ไม่ควรเกิน 300 ไมโครกรัม
  • เด็กทั้งสองเพศอายุ 9-13 ปี คือ 120 ไมโครกรัม โดยไม่ควรเกิน 600 ไมโครกรัม
  • ทั้งสองเพศ อายุ 14-18 ปี คือ 150 ไมโครกรัม โดยไม่ควรเกิน 900 ไมโครกรัม
  • ทั้งสองเพศ ตั้งแต่อายุ 19 ปีขึ้นไป คือ 150 ไมโครกรัม โดยไม่ควรเกิน 1,100 ไมโคร กรัม
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ที่อายุตั้งแต่ 18 ปี หรือต่ำกว่า คือ 220 ไมโครกรัม โดยไม่ควรเกิน 900 ไมโครกรัม และตั้งแต่อายุ 19 ปีขึ้นไป คือ 220 ไมโครกรัม โดยไม่ควรเกิน 1,100 ไมโครกรัม หญิงให้นมบุตร

    อายุตั้งแต่ 18 ปีหรือต่ำกว่า คือ 290 ไมโครกรัม และไม่ควรเกิน 900 ไมโครกรัม

    และตั้งแต่อายุ 19 ปีขึ้นไป คือ 290 ไมโครกรัม โดยไม่ควรเกิน 1,100 ไมโครกรัม

ทั้งนี้ นอกจากภาวะขาดธาตุไอโอดีนแล้ว สาเหตุอื่นๆที่อาจทำให้เกิดคอพอกได้ แต่พบได้น้อยกว่าจากภาวะขาดไอโอดีน คือ

  • พันธุกรรม ซึ่งมักพบในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้หญิง โดยคนกลุ่มนี้ มักเกิดโรคในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษชนิดเกรวฟ (Graves’ disease) และโรคต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดฮาชิโมโต (Hashimoto’s disease)
  • การตั้งครรภ์ เพราะมีฮอร์โมนบางชนิดจากการตั้งครรภ์ (Human chorionic gona dotropin) สามารถกระตุ้นเซลล์ต่อมไทรอยด์ให้เจริญโตขึ้นผิดปกติได้ โดยต่อมจะยุบกลับเป็นปกติภายหลังการคลอด
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบติดเชื้อ เช่น จากติดเชื้อไวรัส
  • โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

คอพอกมีอาการอย่างไร?

อาการของคอพอกขึ้นกับสาเหตุและขนาดของคอพอกที่โตขึ้น

  • อาการจากสาเหตุ ถ้าคอพอกเกิดจากขาดธาตุไอโอดีน การทำงานของต่อมไท รอยด์มักสร้างฮอร์โมนอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือต่ำเล็กน้อย ผู้ป่วยจึงมักไม่มีอาการ แต่ถ้าโรคเกิดจากสาเหตุที่ทำให้ต่อมไทรอยด์มีฮอร์โมนสูงเกินปกติมาก ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคต่อมไท รอยด์เป็นพิษได้ เช่น ในโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษชนิดเกรวฟ หรืออาจมีอาการจากต่อมไท รอยด์ทำงานต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) เช่น ในระยะเรื้อรังของโรคต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดฮาชิโมโต

    ดังนั้น โรคคอพอก จึงอาจมีอาการได้ทั้ง อาการปกติเพราะมีฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ปกติ (พบได้บ่อยที่สุด) อาการจากภาวะมีไทรอยด์ฮอร์โมนสูง และอาการจากภา วะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

  • อาการจากขนาดของคอพอก/ขนาดของต่อมไทรอยด์ ถ้าคอพอกโตไม่มาก และต่อมไทรอยด์ทำงานได้ตามปกติ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการอะไรเลย เพียงแต่เมื่อส่องกระ จกอาจมองเห็น หรืออาจมีคนทักว่าต่อมไทรอยด์โต แต่หากต่อมไทรอยด์โตมาก จะก่ออาการจากต่อมกดเบียดทับเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ซึ่งคือ ลำคอ หลอดลม หลอดอาหาร และประ สาทกล่องเสียง เช่น รู้สึกแน่นอึดอัดในลำคอ อาจมีหายใจอึดอัดลำบากขึ้น ไอบ่อย ไอเรื้อรัง กลืนลำบาก และอาจมีเสียงแหบ

แพทย์วินิจฉัยคอพอกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยว่ามีคอพอกได้จากการตรวจคลำต่อมไทรอยด์ และตรวจหาสาเหตุของคอพอกได้จากประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ถิ่นที่อยู่อาศัย ลักษณะประ เภทอาหารที่บริโภคเป็นประจำ การเจ็บป่วยในปัจจุบันและในอดีต ประวัติในครอบครัว และประ วัติใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์ และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น ตรวจเลือดดูค่าฮอร์โมนอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้อง และการตรวจภาพต่อมไทรอยด์ด้วยอัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือด้วยการกินน้ำยาแร่รังสี ซึ่งเป็นการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า ไทรอยด์สแกน (Thyroid scan) หรือบางครั้งอาจต้องเจาะ/ดูดเซลล์จากต่อมไทรอยด์เพื่อการวินิจฉัยโรคบางโรค เช่น โรคมะเร็ง หรือ โรคต่อมไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต

รักษาคอพอกอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคคอพอก ขึ้นกับอาการและสาเหตุ โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีการรัก ษาเมื่อผู้ป่วยมีอาการปกติ การทำงานของต่อมไทรอยด์ปกติ และขนาดต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก เพียงปรับประเภทอาหารให้มีธาตุไอโอดีนสูงขึ้น เช่น อาหารทะเล สาหร่ายทะเล และใช้เกลือที่ผสมไอโอดีนในการปรุงอาหาร

ให้กินยาไทรอยด์ฮอร์โมนเมื่อพบมีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ และให้ยารักษาในเมื่อมีอา การของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรืออาจรักษาด้วยการกินน้ำแร่รังสี ทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพผู้ป่วย อายุ และดุลพินิจของแพทย์

ในบางอาการ หรือ บางสาเหตุ อาจต้องผ่าตัด เช่น ต่อมไทรอยด์โตมากจนก่ออาการกดเบียดอวัยวะข้างเคียงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการ หรือเมื่อสงสัยว่า อาจเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

คอพอกรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โดยทั่วไป คอพอกเกือบทุกชนิดเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้เสมอ รวมทั้งจากโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยเฉพาะในคนอายุยังน้อย (น้อยกว่า 45 ปี) ทั้งนี้เพราะมะเร็งต่อมไทรอยด์ในคนอายุน้อยเมื่อวินิจฉัยโรคได้เร็ว เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงต่ำ มักรักษาได้หายเสมอ

ส่วนผลข้างเคียงของโรคคอพอกมักเกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์โตจนกดเบียดทับอวัยวะข้างเคียงดังกล่าวแล้วในหัวข้ออาการ และอาการที่เกิดจากโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อพบว่ามีก้อนที่บริเวณลำคอ ถึงแม้ไม่มีอาการอะไร รวมทั้งเมื่อมีอาการผิดปกติดัง กล่าวควรพบแพทย์เสมอ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ ทั้งนี้เพราะดังกล่าวแล้วว่า คอพอกมีโอกาสเกิดจากโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ หรือกลายเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ประมาณ 5% และยังมีโอกาสเกิดโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้ ซึ่งเมื่อตรวจพบโรคเหล่านี้แต่เนิ่นๆ จะสามารถรักษาและควบคุมโรคได้ดี

นอกจากนั้น คือการกินอาหารที่มีธาตุไอโอดีนให้เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป และเมื่ออยู่ในถิ่นที่มีธาตุไอโอดีนต่ำ เช่น อยู่ไกลทะเล หรือเมื่อไม่ค่อยได้กินอาหารทะเล ควรใช้เกลือปรุงอาหารเป็นเกลือชนิดผสมไอโอดีน หรือใช้น้ำปลาที่ทำจากปลาทะเล

อนึ่ง อาหารที่มีธาตุไอโอดีนสูง คือ อาหารทะเลทุกชนิด เกลือทะเล และเกลือหรืออา หารที่เสริมธาตุไอโอดีน

ป้องกันคอพอกได้อย่างไร?

การป้องกันโรคคอพอก คือการป้องกันสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุป้องกันได้ บางสาเหตุป้อง กันไม่ได้ แต่ดังได้กล่าวแล้วว่า โรคคอพอกส่วนใหญ่เกิดจากการขาดธาตุไอโอดีนในอาหาร ดัง นั้นการกินอาหารที่มีธาตุไอโอดีน จะช่วยป้องกันโรคคอพอกที่เกิดจากขาดธาตุไอโอดีนได้ แต่ถ้ากินไอโอดีนมากไปก็มีโอกาสเกิดคอพอกได้เช่นกัน ดังนั้น การกินไอโอดีนต้องให้มีปริมาณเหมาะสม ไม่กินอาหารทะเลมาก บ่อยเกินไป ดูปริมาณไอโอดีนในวิตามินเกลือแร่เสริมอาหารเสมอ ถ้ามีปริมาณสูงกว่าที่กล่าวไว้ในหัวข้อ สาเหตุ ก็ควรต้องระมัดระวังในการกิน แต่ถ้าอยู่ในถิ่นที่สิ่งแวดล้อมขาดธาตุไอโอดีน ก็ควรใช้ เกลือ หรือน้ำปลาปรุงอาหารชนิดเป็นเกลือไอโอดีน หรือชนิดทำจากปลาทะเล

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Dietary reference intake http://en.wikipedia.org/wiki/Dietary_Reference_Intake [2013,Feb11].
  3. DRI tables: Dietary guidance http://fnic.nal.usda.gov/nal_display/index.php?info_center=4&tax_level=3&tax_subject=256&topic_id=1342&level3_id=5140 [2013,Feb10].
  4. Goitre http://en.wikipedia.org/wiki/Goitre [2013,Feb11].
  5. Goiter http://emedicine.medscape.com/article/120034-overview#showall [2013,Feb11].
  6. Harris, N. et al. (2010). Case 38-2010. N Engl J Med. 363, 2445-2454.
  7. Hegedus, L. et al. (2003).Management of simple nodular goiter: current status and future perspectives. Endocrine reviews. 24, 102-132.
  8. Nontoxic goiter http://emedicine.medscape.com/article/120392-overview#showall [2013,Feb11].