ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroditis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ต่อมไทรอยด์อักเสบ หรือไทรอยด์อักเสบ (Thyroditis)หมายถึงโรค/ภาวะที่มีการอักเสบของเซลล์ของต่อมไทรอยด์ ซึ่งการอักเสบนี้มีสาเหตุได้หลายอย่าง ทั้งการอักเสบจากต่อมฯติดเชื้อเช่นเดียวกับการติดเชื้อของอวัยวะต่างๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย และจากการอักเสบที่สาเหตุไม่ใช่การติดเชื้อ เช่น จากโรคออโตอิมมูน

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบต่อมไร้ท่อ ตั้งอยู่ด้านหน้าของลำคอในส่วนหน้าต่อลูกกระเดือกหรือกระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid cartilage) ต่อมนี้มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบด้วย 2 กลีบใหญ่คือ กลีบด้านซ้ายและกลีบด้านขวา ซึ่งทั้งสองกลีบเชื่อมต่อถึงกันด้วยเนื้อเยื่อบางๆที่เรียกว่า อิสธ์มัส (Isthmus) ต่อมไทรอยด์ปกติของผู้ใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 18 -30 กรัม แต่ละกลีบของต่อมไทรอยด์ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร (ซม.) ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 2 - 3 ซม. และส่วนที่หนาสุดประมาณ 0.8 - 1.6 ซม. ซึ่งต่อมไทรอยด์ปกติไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่สามารถคลำพบได้

ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิดคือ ไทรอกซีน หรือ ที4 (Thyroxine, T4) ไตรไอโอโดไธโรนีน หรือ ที3 (Triiodothyronine, T3) และแคลซิโทนิน (Calcitonin)ที่เป็นฮอร์โมนมีความสำคัญน้อยกว่า ฮอร์โมน ที4 และ ที3 เป็นอย่างมาก ดังนั้นโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง “ไทรอยด์ฮอร์โมน” จึงมักหมายความถึงเฉพาะฮอร์โมน ที4 และ ที3 เท่านั้น

ฮอร์โมน ที4 และฮอร์โมน ที3 มีหน้าที่สำคัญมากคือ ควบคุมดูแลการใช้พลังงานทั้งจากอาหารและจากออกซิเจนหรือที่เรียกว่า เมตาโบลิซึม (Metabolism: กระบวนการแปรรูปอณู)ของเซลล์ต่างๆเพื่อการเจริญเติบโต การทำงานและการซ่อมแซมเซลล์ที่บาดเจ็บสึกหรอ และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วย ส่วนฮอร์โมนแคลซิโทนินมีหน้าที่ช่วยควบคุมการทำงานของเกลือแร่แคลเซียมในร่างกายให้อยู่ในสมดุล

ต่อมไทรอยด์อักเสบ เป็นโรคพบบ่อยพอควร โดยพบได้ในทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ มีรายงานพบในประเทศตะวันตกประมาณ 1.2% ในผู้อายุ 11-18 ปี และประมาณ 25%ในผู้ใหญ่ที่รวมถึงผู้สูงอายุด้วย พบได้ทั้งในเพศหญิงและในเพศชาย แต่พบในเพศหญิงบ่อยกว่าในเพศชายมาก ซึ่งบางชนิดของต่อมไทรอยด์อักเสบ ประมาณ 80%จะพบในเพศหญิง

 

ต่อมไทรอยด์อักเสบมีกี่ชนิดและมีสาเหตุจากอะไร?

ต่อมไทรอยด์อักเสบ

ต่อมไทรอยด์อักเสบมีหลายชนิดที่แตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ เช่น

ก. ต่อมไทรอย์อักเสบติดเชื้อ(Infectious thyroiditis) หรือ ต่อมไทรอยด์อักเสบเฉียบพลัน(Acute thyroiditis): การอักเสบชนิดนี้พบได้น้อยมากเพราะเซลล์ต่อมไทรอยด์จะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคสูง การติดเชื้อนี้พบได้ในทุกอายุ และทุกเพศ และเกือบทั้งหมดมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อราพบได้น้อยมาก

การติดเชื้อแบคทีเรีย: เป็นการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียได้หลากหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากเชื่อ Staphylococcus aureus ซึ่งต่อมไทรอยด์อักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรียนี้ มักพบในผู้หญิง ช่วงอายุ 20-40 ปี บางครั้ง การอักเสบนี้อาจรุนแรงจนต่อมฯเกิดเป็นหนองขึ้นได้

ต่อมไทรอยด์อักเสบเฉียบพลันจากติดเชื้อนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการ มีไข้ เจ็บที่ต่อมไทรอยด์มาก ต่อมไทรอยด์ บวม โตจนสังเกตเห็นได้ แต่ต่อมไทรอยด์มักยังทำงานได้ปกติ ผู้ป่วยจึงไม่มีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรืออาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โรคสาเหตุนี้ มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หายเสมอ ภายใน 2-3 สัปดาห์ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ

ข. ต่อมไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลันชนิดเป็นการอักเสบที่เกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัส(Subacute granulomatous thyroiditis): ที่เป็นการอักเสบของต่อมฯหลังร่างกายติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส เช่น เกิดตามหลัง โรคคางทูม โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหวัด ทั้งนี้เชื่อว่า เกิดจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่มีต่อเชื้อไวรัสซึ่งส่งผลต่อเซลล์ต่อมไทรอยด์ให้เกิดเป็น ต่อมไทรอยด์อักเสบขึ้น

ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดนี้ พบได้เรื่อยๆ พบเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3เท่า ส่วนใหญ่จะเกิดในอายุช่วง 30-50 ปี และมักพบเกิดในช่วงฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วง โดยมักเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสประมาณ 1 เดือน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บที่ต่อมไทรอยด์มาก ต่อมไทรอยด์อาจโตขึ้นหรือไม่ก็ได้ ร่วมกับผู้ป่วยจะมีอาการต่อมไทรอยด์เป็นพิษอยู่นานประมาณ 8-12เดือน หลังจากนั้นต่อมไทรอยด์จะกลับมาทำงานปกติ แต่มีผู้ป่วยประมาณ 5%ที่ต่อมไทรอยด์จะทำงานได้น้อยลงเรื่อยๆจนในที่สุด เกิดเป็นโรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างถาวร

อนึ่ง การอักเสบชนิดนี้มีชื่อที่เรียกตามลักษณะทางพยาธิวิทยาของโรค คือ “Subacute granulomatous thyroidtis คือ การอักเสบที่พยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อจากรอยโรคมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อ/Granuloma ที่อักเสบจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกาย ” และเรียกได้อีกชื่อว่า “Giant cell thyroiditis คือการอักเสบนี้ ยังก่อให้ร่างกายตอบสนองโดยการสร้างเซลล์ที่มีตัวโตผิดปกติ ที่เรียกว่า Giant cell ร่วมด้วย ” หรืออีกชื่อคือ “de Quervain thyroiditis” ที่ตั้งชื่อโรคตามศัลยแพทย์ชาวสวีส Fritz de Quervain ที่รายงานโรคนี้เป็นคนแรกในปีค.ศ. 1904( พ.ศ. 2447)

ค. ต่อมไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลันชนิดที่เรียกว่า Subacute Lymphocytic thyroiditis: ที่แบ่งเป็น 2 โรคที่มีลักษณะทางคลินิกและทางพยาธิเหมือนกันแต่ต่างกันในสาเหตุ คือ

  • ต่อมไทรอยด์อักเสบที่เกิดหลังคลอดบุตร(Post partum thyroiditis): เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก ในผู้หญิงหลังคลอดบุตรวัยประมาณ 30 ปีขึ้นไป พบเกิดได้ตั้งแต่ในช่วง 1 เดือนจนถึงประมาณ 1 ปีหลังคลอดบุตร และจะมีอาการโรคอยู่ประมาณ 12-18 เดือน ซึ่งอาการที่พบในระยแรก คือ อาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่จะมีอาการอยู่ประมาณ 1-3 เดือน ต่อจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนซึ่งจะมีอาการอยู่ประมาณ 9-12 เดือน ต่อจากนั้น ต่อมไทรอยด์จะกลับมาเป็นปกติ และทำงานได้ตามปกติ แต่ประมาณ 5-20%ของผู้ป่วยจะเกิดโรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนถาวร และโรคนี้เมื่อหายแล้ว ถ้าผู้ป่วยมีการตั้งครรภ์ครั้งใหม่ ก็สามารถเกิดโรคนี้เป็นซ้ำได้อีก

โรคต่อมไทรอยด์อักเสบหลังคลอด เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่แพทย์เชื่อว่า เกิดจากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์และช่วงระยะหลังคลอดบุตรที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์เกิดการอักเสบขึ้น ผู้ป่วยที่เกิดโรคนี้ มักมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคออโตอิมมูน

  • ต่อมไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลันที่เกิดขึ้นเอง(Sporadic painless thyroiditis หรือ Painless sporadic thyroiditis, หรือ Silent thyroiditis หรือ Silent sporadic thyroiditis): เป็นต่อมไทรอยด์อักเสบที่มีลักษณะทางคลินิกเช่นเดียวกับในต่อมไทรอยด์อักเสบหลังคลอดทุกประการ แต่ต่างกันที่ โรคนี้จะไม่มีความสัมพันธ์กับการตั้งครรภ์หรือกับการคลอดบุตร ซึ่งสาเหตุของโรค แพทย์ยังไม่ทราบเช่นกัน แต่เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่ผิดปกติเช่นกัน

ง. ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังที่เรียกว่า โรคฮาสชิโมโต(Hashimoto’s disease หรือ Hashimoto thyroiditis) หรือ Chronic autoimmune thyroiditis หรือ Chronic lymphocytic thyroiditis: เป็นต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยพบได้ประมาณ 5%ของประชากรทั่วไป พบได้ในทุกเพศ แต่พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชายประมาณ 8-15เท่า โรคนี้พบได้ในทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบบ่อยช่วงอายุ 30-60ปี โดยเฉพาะในคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีเกลือไอโอดีนสูง เช่น สถานที่ที่ใกล้แหล่งอาหารทะเล

ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต จัดเป็นโรคในกลุ่มโรคออโตอิมมูน สาเหตุเกิดจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ผิดปกติต่อต่อมไทรอยด์ โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังอาการของโรคนี้ในระยะแรก อาจมีเพียงต่อมไทรอยด์โตขึ้นเล็กน้อย และต่อมไทรอยด์จะค่อยๆสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนลดลงเรื่อยๆ จนผู้ป่วยเกิดอาการจากภาวะ/โรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ ต่อมไทรอยด์จะทำงานต่ำอย่างถาวร จนร่างกายเกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนตลอดชีวิต

จ. ต่อมไทรอยด์อักเสบจากผลข้างเคียงของยา(Drug induced thyroiditis): ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดต่อมไทรอยด์อักเสบได้ โดยในระยะแรกของการได้รับยานั้นๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ แต่ในระยะต่อมาหลังมีการใช้ยาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ผู้ป่วยจะเกิดอาการจากร่างกายขาดไทรอยด์ฮอร์โมนที่เรียกว่า ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งการอักเสบของไทรอยด์จากสาเหตุนี้ จะหายเป็นปกติได้หลังจากหยุดการใช้ยานั้นๆ เช่น ยา Amiodarone, Lithium, Interferon

ฉ. ต่อมไทรอยด์อักเสบจากต่อมฯได้รับรังสี(Radiation induced thyroiditis): ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดนี้จะเกิดจากต่อมไทรอยด์ได้รับรังสีในกลุ่ม Ionizing radiation เช่น Beta-ray และGamma rayจากได้น้ำแร่รังสีที่ใช้รักษา โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคมะเร็งต่อมไทรอย์ หรือจากการฉายรังสีรักษาในโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ หรือมะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ ซึ่งอาการในสัปดาห์แรกหลังได้รับรังสีอาจเป็นอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือบางคนอาจไม่มีอาการ ต่อจากนั้นประมาณ 3-6เดือนขึ้นไป ผู้ป่วยจะค่อยๆมีอาการของร่างกายขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งต่อมไทรอยด์ของผู้ได้รับรังสีจะถูกรังสีทำลายถาวร ดังนั้นถ้าได้รับปริมาณรังสีฯสูง และครอบคลุมเนื้อที่ต่อมฯทั้ง 2 กลีบ ต่อมฯจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอีก

ช. ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดเกิดพังผืดรุนแรง(Riedel thyroiditis หรือ Riedel strumal thyroiditis หรือ Invasive fibrous thyroiditis หรือ Fibrous thyroiditis): เป็นต่อมไทรอยด์อักเสบที่พบได้น้อยมาก และน้อยที่สุดในต่อมไทรอยด์อักเสบทุกชนิด ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบได้ประมาณ 1.6 รายต่อประชากร 1แสนคน โรคนี้เป็นโรคพบในผู้ใหญ่ อายุอายุช่วง 23-77 ปี(เฉลี่ย 47.8ปี) พบในผู้หญิงประมาณ 80-85%ของผู้ป่วยโรคนี้

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดนี้ แต่มีการศึกษาที่ทำให้เชื่อว่า น่าเกิดจากการมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ผิดปกติต่อต่อมไทรอยด์ โดยอาการสำคัญ คือ ร่างกายจะตอบสนองต่อการอักเสบของต่อมไทรอยด์โดยสร้างพังผืดมากมายในต่อมฯและยังลุกลามออกไปในเนื้อเยื่อรอบๆต่อมฯ พังผืดที่มากมายนี้ส่งผลให้ต่อมฯ มีลักษณะเป็นก้อนที่แข็งมากเหมือนก้อนหิน อาจมีหลายก้อนได้ และก้อนเนื้อเหล่านี้จะโตขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจจะโตช้าๆ หรือบางคนโตเร็วได้ ซึ่งการเป็นก้อนแข็งที่โตขึ้นเรื่อยๆนี้ จะกดเบียดทับเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ข้างเคียง เช่น ลำคอ กล่องเสียง ท่อลม หลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจ/หายใจลำบาก เสียงแหบ ไอ สำลักเวลากลืน กลืนลำบาก นอกจากนั้น ยังมีอาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนร่วมด้วย

ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดนี้ มักเกิดขึ้นกับต่อมไทรอยด์เพียงกลีบเดียว และโรคมักจะสงบลงได้เองจากธรรมชาติของโรคเอง(Self limited)

อนึ่ง ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดนี้ที่ได้ชื่อว่า Riedel thyroiditis เพราะตั้งชื่อตามศัลยแพทย์ชาวเยอรมัน Bernhard Riedel ที่รายงานโรคนี้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ 1898(พ.ศ.2441)

 

ต่อมไทรอยด์อักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของต่อมไทรอยด์อักเสบจะเหมือนกันในทุกชนิดของโรค คือ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ, อาการจากร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนสูงเกินปกติ/อาการเหมือนกับโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ, และ อาการจากร่างกายขาดไทรอยด์ฮอร์โมน/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

  • กรณีไม่มีอาการ มักเกิดในผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดที่ไม่รุนแรง ต่อมไทรอยด์จึงยังคงทำงานได้ตามปกติ แพทย์ตรวจพบโรคได้โดยบังเอิญจากการตรวจเลือดในการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น
  • อาการจากมีไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูงกว่าปกติ/อาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ: มักเป็นอาการพบได้ในระยะแรกของโรคต่อมไทรอยด์อักเสบทุกชนิด เกิดเนื่องจากเมื่อต่อมฯอักเสบ เซลล์ของต่อมฯจะบาดเจ็บเสียหาย เซลล์นั้นๆจึงปล่อยไทรอยด์ฮอร์โมนที่อยู่ภายในเซลล์ออกมาและเข้าสู่กระแสเลือด จนส่งผลให้เกิดอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งอาการที่อาจพบได้ เช่น หิวบ่อย หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล มือสั่น น้ำหนักตัวลดลง ท้องเสีย ผิวหนังชื้น ผิวหนังอุ่น เหงื่อออกมากผิดปกติ หัวใจ/ชีพจรเต้นเร็ว ทนอากาศร้อนไม่ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆประมาณเป็นเดือน หรือส่วนน้อยที่มีอาการนานเป็นปี หลังจากนั้น เมื่อต่อมฯกลับมาเป็นปกติ อาการเหล่านี้ก็จะหายไป
  • อาการจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: โดยทั่วไปเมื่อผ่านระยะเซลล์ต่อมฯบาดเจ็บและปล่อยฮอร์โมนออกจากเซลล์เข้าสู่กระแสเลือด /ช่วงเกิดอาการจากไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูง ต่อมฯจะเหลือเซลล์ที่ทำงานสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้น้อยลง ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์อักเสบในระยะนี้ จึงค่อยๆเริ่มมีอาการจากการขาดไทรอยด์ฮอร์โมนตามมา ซึ่งอาการนี้อาจเป็นอยู่นานหลายเดือนหรือเป็นปี จนกว่าต่อมฯจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกต แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ต่อมฯจะไม่สามารถฟื้นตัวจากการอักเสบได้ ผู้ป่วยจึงมีภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน/ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำตลอดชีวิต เช่น ในผู้ป่วยต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต เป็นต้น ซึ่งอาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เช่น น้ำหนักตัวเพิ่ม เชื่องช้าลง ท้องผูก ผิวแห้ง ผิวหยาบ ผิวหนังเย็น ทนหนาวไม่ได้ หัวใจ/ชีพจรเต้นช้า เสียงใหญ่ขึ้น/เสียงแหบ เหนื่อยง่าย และอาจมีอาการบวมรอบตา และที่มือ-เท้า

นอกจากนี้ อาการอื่นๆที่อาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น มีไข้ มักเป็นไข้ต่ำ เจ็บที่ต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์โตขึ้นจนมองเห็นหรือคลำพบ มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ไอเรื้อรัง และอาจมีหายใจลำบาก กลืนลำบาก เสียงแหบ ในกรณีต่อมไทรอยด์โตขึ้นหรือมีก้อนที่ต่อมฯที่ส่งผลกดเบียดทับ และก่อการระคายต่อ ลำคอ กล่องเสียง ท่อลม หลอดอาหาร

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมไทรอยด์อักเสบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมไทรอยด์อักเสบ ได้แก่

  • ผู้หญิง: เพราะโรคนี้พบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชายหลายเท่า
  • ผู้ป่วยเป็นโรคออโตอิมมูน
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคออโตอิมมูน

 

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการ” ควรรีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาลเสมอ

 

แพทย์วินิจฉัยต่อมไทรอยด์อักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคต่อมไทรอยด์อักเสบได้จาก ประวัติอาการผู้ป่วย เพศ ประวัติใช้ยาต่างๆ ประวัติการตั้งครรภ์ ประวัติการเจ็บป่วยในรอบ 1-3 เดือนที่ผ่านมา ประวัติโรคประจำตัว ประวัติโรคของคนในครอบครัว การตรวจร่างกาย การตรวจคลำต่อมไทรอย์ การตรวจเลือดดูค่าไทรอยด์ฮอร์โมน และอาจมีการตรวจเลือดเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์เพื่อดู สารภูมิต้านทาน หรือสารก่อภูมิต้านทานที่แพทย์สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับอาการผู้ป่วย อาจมีการตรวจภาพต่อมไทรอยด์ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และ/หรือด้วยการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า “Radioactive thyroid scan หรือ Thyroid scan” นอกจากนั้น อาจมีการตรวจเซลล์ต่อมไทรอยด์ด้วยเทคนิคที่เรียกว่าการตรวจทางเซลล์วิทยา หรือกรณีเกิดมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์อาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อจากก้อนนั้นเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อแยกจากมะเร็งต่อมไทรอยด์

 

รักษาต่อมไทรอยด์อักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคต่อมไทรอยด์อักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ, การรักษาอาการจากมีไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูง, การรักษาอาการจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามสาเหตุ เช่น

  • การรักษาโรคออโตอิมมูน กรณีสาเหตุเกิดจากโรคนี้
  • การหยุดยาต่างๆ หรือปรับลดขนาดยา(กรณีจำเป็นต้องใช้ยานั้นๆ) เมื่อสาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงของยา
  • การผ่าตัดก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ กรณีก้อนเนื้อกดเบียดทับเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ กรณีการอักเสบเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจต้องร่วมกับการผ่าตัดเล็กเพื่อเปิดทางเดินให้หนองไหลออก ถ้าต่อมไทรอยด์ติดเชื้อจนเกิดเป็นฝี/หนอง

ข. การรักษาอาการจากมีไทรอยด์ฮอร์โมนสูงในเลือด: ซึ่งถ้าอาการไม่มาก แพทย์อาจให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ แต่กรณีอาการมาก แพทย์จึงจะให้ยาต้านไทรอยด์/ยาต้านการทำงานของต่อมไทรอยด์(Antithyroid drug) เช่นยากลุ่ม Thioamides

ค. การรักษาอาการจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: คือ การให้ยาไทรอยด์ฮอร์โมน เช่น ยา Levothyroxine ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ

ง. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น ยาลดไข้กรณีมีไข้ ยาแก้ปวด/เจ็บ กรณีเจ็บต่อมไทรอยด์ ยาบรรเทาอาการหัวใจเต้นเร็ว เช่นยาในกลุ่ม Beta blocker, ยากลุ่มสเตียรอยด์กรณีต่อมไทรอยด์บวมใหญ่ เป็นต้น

 

ต่อมไทรอยด์อักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากต่อมไทรอยด์อักเสบ คือ กรณีไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาไม่สม่ำเสมอ จะเกิดอาการจากมีไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูง/อาการคล้ายโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่เป็นอาการในระยะแรกของโรคนี้ และ/หรือ อาการจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนที่เป็นอาการในระยะหลังของโรคนี้ ดังได้กล่าวในหัวข้อ “อาการฯ “

 

ต่อมไทรอยด์อักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของต่อมไทรอยด์อักเสบ คือ เป็นโรคที่รักษาได้ และไม่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต แต่ทั้งนี้การพยากรณ์โรคยังขึ้นกับแต่ละสาเหตุ ที่รวมไปถึง อายุ โรคร่วมต่างๆ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยแต่ละราย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบร่วมกันระหว่างต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโตกับมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ ประมาณ 1.2%(ในกรณีเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์/ไม่มีก้อนที่ต่อมฯ) แต่ถ้าโรคนี้ก่อให้เกิดก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์จนต้องรักษาด้วยการผ่าตัด จะพบร่วมกับมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ประมาณ 28%

 

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยด้วยต่อมไทรอยด์อักเสบ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะโรคนี้เกือบทุกชนิดเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย โดยเฉพาะกรณีที่ต่อมฯอักเสบแบบเรื้อรัง เช่น การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาต่างๆที่ไม่จำเป็น และไม่ซื้อยาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อป่วยด้วยต่อมไทรอยด์อักเสบ ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ใจสั่น ท้องเสีย หรือ อ่อนเพลีย มากขึ้น
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น บวม รอบตา หรือตามมือ-เท้า
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิติประจำวัน เช่น ใจสั่นมาก อารมณ์แปรปรวน
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันต่อมไทรอยด์อักเสบอย่างไร?

สาเหตุต่อมไทรอยด์อักเสบส่วนใหญ่มักเกิดจากพันธุกรรมที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ผิดปกติไป ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ แต่การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) จะส่งผลให้การควบคุมและการรักษาโรคนี้ได้รับผลที่ดี นอกจากนั้น การมีสุขภาพที่ดี ยังช่วยป้องกันต่อมไทรอยด์อักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย

อีกประการ การหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น เมื่อจะซื้อยาใช้เอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อน ก็สามารถลดโอกาสเกิดต่อมไทรอยด์อักเสบจากผลข้างเคียงของยาลงได้เช่นกัน

 

บรรณานุกรม

  1. Slatosky,J. et al. Am Fam Physician, 2000;61(4): 1047-1052
  2. Sweeney, L., et al. Am Fam Physician,2004;90 (6):389-396
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Thyroiditis[2017,March25]
  4. http://emedicine.medscape.com/article/925249-overview#showall[2017,March25]
  5. http://umm.edu/health/medical/altmed/condition/thyroiditis[2017,March25]
  6. https://academic.oup.com/jcem/article-lookup/doi/10.1210/jc.2012-2978[2017,March25]