ไต (Kidney)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: เรื่องทั่วไปของไต

ไต (Kidney) เป็นอวัยวะมีหน้าที่สำคัญที่สุดของร่างกายอวัยวะหนึ่ง โดยหน้าที่หลักคือกำจัดของเสียหรือสิ่งเป็นพิษออกจากร่างกาย ถ้าไตสูญเสียการทำงานมนุษย์จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้

อนึ่ง: ทางแพทย์ใช้คำว่า ‘Renal’ ซึ่งเป็นภาษาลาตินแทนคำว่า Kidney เช่น หลอดเลือดแดงของไตเรียกว่า  Renal artery และเมื่อจะใช้เป็นคำนำหน้าศัพท์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับไตจะใช้คำว่า ‘Nephro’ ซึ่งเป็นภาษากรีก เช่น การแพทย์สาขาโรคไตเรียกว่า Nephrology

ไตอยู่ตรงไหนของร่างกาย?

ไต เป็นอวัยวะในช่องท้องทางด้านหลัง/โพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง ซึ่งมนุษย์มี 2 ไต ซ้ายและขวา  อยู่ 2 ข้างของกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวประมาณกระดูกสันหลังอกข้อสุดท้าย (ข้อที่12) ถึงกระดูกสันหลังเอวข้อที่ 3

ขนาดของไตแต่ละข้างใกล้เคียงกัน โดยยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร (ซม.), กว้าง ประมาณ 5-7 ซม., และหนาประมาณ 2-3 ซม., รูปร่างคล้ายเม็ดถั่ว โดยมีรอยเว้าหันเข้าหากระดูกสันหลังส่วนเอว

ระหว่างไตทั้งสองข้างจะมีอวัยวะสำคัญ เช่น ท่อเลือดแดง (หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ที่สุด คือ Aorta), หลอดเลือดดำใหญ่ของช่องท้อง (Inferior vena cava), ซึ่งไตจะได้รับเลือดแดงจากท่อเลือดแดง, และส่งเลือดดำจากไตเข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่ฯ

ไตขวาจะอยู่ใกล้ใต้ต่อตับ, ส่วนไตซ้ายจะอยู่ใกล้กับม้ามและตับอ่อน, บนส่วนยอดสุดของไตทั้ง 2 ข้างจะมีอวัยวะขนาดเล็กครอบอยู่ ลักษณะคล้ายหมวก เรียกว่า ‘ต่อมหมวกไต (Adrenal gland)’ ซึ่งทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิดที่เรียกในภาพรวมว่า 'ฮอร์โมนต่อมหมวกไต'

เมื่อไตสร้างน้ำปัสสาวะ จะมีส่วนของไตที่เป็นกระเปาะขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘กรวยไต(Renal pelvis)’ ซ้ายและขวาที่ทำหน้าที่เป็นช่องรวมของน้ำปัสสาวะเพื่อไหลลงสู่ 'ท่อไต(Ureter)' ซ้ายและขวาไปยังกระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder) และท่อปัสสาวะ (Urethra,มีท่อเดียว) ที่จะมีปากเปิดออกสู่ภายนอกร่างกายในบริเวณอวัยวะเพศภายนอก

โครงสร้างภายในของไตเป็นอย่างไร?

โครงสร้างภายในของไต คือ

ก. ไต: ประกอบด้วยหน่วยย่อยที่ใช้กรองของเสียจากเลือด เรียกว่า ‘โกลเมอรูลัส (Glomerulus)’ ซึ่งเป็นส่วนที่เปลี่ยนแปลงมาจากหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก โกลเมอรูลัสจะกรองของเสียจากเลือดออกเป็นปัสสาวะซึ่งจะไหลมาตามท่อขนาดเล็ก (Tubule) ซึ่งท่อฯแบ่งออกเป็นหลายส่วนเริ่มด้วย Proximal tubule, Henle’s loop, Distal tubule, และ Collecting tubule, ตามลำดับ จากนั้นปัสสาวะจะไหลออกไปในช่องขนาดเล็กรูปคล้ายถ้วย ที่เรียกว่า ‘Calyces’ ซึ่งจะมีจำนวนประมาณ 10 ถึง 12 Calyces ต่อไตหนึ่งข้าง, ต่อมา Calyces จะรวมกันเป็น ‘กรวยไต’ซึ่งเป็นทางที่น้ำปัสสาวะไหลผ่านไปยัง 'ท่อไต'

ข. โกลเมอรูลัส และ ท่อไตทุกส่วน ตั้งแต่ Proximal tubule จนถึง Collecting tubule รวมเรียกว่า ‘หน่วยไต (Nephron)’

ค. หน่วยไต (Nephron):  ไตแต่ละข้างจะมีหน่วยไตประมาณ 1 ล้านหน่วย  รวม 2 ข้างประมาณ 2 ล้านหน่วย

  • ถ้าร่างกายเสียหน่วยไตไปประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 1 ล้านหน่วย จะยังไม่เกิดการคั่งของของเสียในร่างกาย/ในเลือด หรือ ภาวะไตวาย (Renal failure)
  • แต่ถ้ามีการเสียไปของหน่วยไตมากกว่า 1 ล้านหน่วยขึ้นไป ก็จะเริ่มมีการคั่งของของเสียในเลือดซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า ไตวาย

ไตมีหน้าที่อย่างไร?

ไตทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น

  • หน้าที่หลักของไต: คือการกรองของเสียที่อยู่ในเลือด, และขับถ่ายของเสียนั้นออกนอกร่างกายทางน้ำปัสสาวะ, ดังนั้นในน้ำปัสสาวะจึงมีสารพวก ‘ยูเรีย (Urea)’ ซึ่งเกิดจากการเผาผลาญสารอาหารพวกโปรตีนออกมาทำให้มีกลิ่นเฉพาะของน้ำปัสสาวะ, การกรองของเสียจะเกิดขึ้นที่หน่วยของการกรองส่วนที่เรียกว่า ‘โกลเมอรูลัส’, จากนั้นน้ำปัสสาวะที่ได้จะไหลผ่าน’กรวยไต’, และไหลลงมาตาม’ท่อไต’เพื่อลงสู่กระเพาะปัสสาวะ, และขับออกนอกร่างกายทาง’ท่อปัสสาวะ’ต่อไป
  • ปรับปริมาณของ’น้ำ’ในร่างกายให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป: เช่น เมื่อดื่มน้ำมากเกินไป ไตจะขับน้ำส่วนที่เกินออกนอกร่างกายโดยการถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้นและปริมาณมากขึ้น, แต่ถ้าขาดน้ำหรือดื่มน้ำน้อยร่างกายจะเก็บน้ำไว้ในร่างกายโดยการถ่ายปัสสาวะน้อยลง ปริมาณลดลง และปัสสาวะจะมีความเข้มข้นมากขึ้น, การทำหน้าที่ปรับปริมาณของน้ำในร่างกายนี้ ไตต้องทำงานร่วมกับ’ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland)’ ที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมการขับน้ำออกจากร่างกายชื่อ ‘เอดีเอช/ADH (Antidiuretic hormone)’
  • หน้าที่ในการปรับสมดุลกรดและด่าง: ก็เพื่อให้ ‘พีเอช/ความเป็นกรดด่าง (pH, Potential hydrogen’ของเลือดอยู่ที่ระดับ 7.4 คงที่(เป็นด่างอ่อนๆ) เพราะเป็น pH ที่เหมาะสมในการทำงานของเซลล์ในร่างกาย, เมื่อเลือดเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น ไตจะเพิ่มการเป็นกรดของปัสสาวะเพื่อขับกรดที่เกินในร่างกายออกไปทางปัสสาวะ ซึ่ง
    • การทำหน้าที่นี้ ไตต้องทำงานร่วมกับปอด โดยปอดขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกนอกร่างกายมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกกลไกที่ช่วยควบคุมความเป็นกรดด่างของร่างกาย, ถ้ามีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายปริมาณสูง ร่างกายจะมีภาวะความเป็นกรดเพิ่มขึ้น, ถ้ามีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณลดต่ำลง, ร่างกายจะมีภาวะความเป็นด่างสูงขึ้น   
  • หน้าที่ในการปรับปริมาณของเกลือแร่ โซเดียม, โพแทสเซียม, ไบคาร์บอเนต, และ คลอไรด์,ให้อยู่ในปริมาณสมดุลปกติ:  หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของ’ท่อไต’เป็นส่วนใหญ่
  • หน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนที่ช่วยไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง: ชื่อฮอร์โมน Erythropoietin สร้างจากเซลล์ไตในส่วนที่เรียกว่า ‘Interstitial tissue’   โดยเฉพาะในเวลาที่ร่างกายขาดออกซิเจนในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง การสร้างฮอร์โมน Erythropoietin จะลดลง จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการโลหิตจาง/ภาวะซีดร่วมด้วย

ระบบหลอดเลือดของไตเป็นอย่างไร?

ระบบหลอดเลือดของไต:

ไตมีหลอดเลือดแดงแยกจากหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta/ท่อเลือดแดง) เข้าสู่ไตซ้ายและ ไตขวา เรียกว่า ‘หลอดเลือดแดงไต (Renal artery)’, ซึ่งจะแยกแขนงออกเป็นหลอดเลือดแดงขนาดเล็กกว่า เช่น Interlobar artery, Arcuate artery, Interlobular artery, Arteriole, และกลายเป็นหลอดเลือดฝอยในโกลเมอรูลัสในที่สุด, หลังจากนั้นก็จะรวมกันกลายเป็น‘หลอดเลือดดำไต (Renal vein)’ ซ้ายและขวา, เข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้องที่ชื่อ ‘Inferior vena cava’ ที่นำเลือดดำกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนขวาต่อไป

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/1948775-overview#showall  [2023,Jan14]