โรคไตอักเสบในเด็ก (Pediatric nephritis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไต เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว มีอยู่ 2 ข้างบริเวณเอวของร่างกาย ทำหน้าที่ขับถ่าย น้ำและของเสียออกจากร่างกายทางปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนบางชนิดเช่น ฮอร์ โมนที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงและวิตามินดีเพื่อช่วยในการสร้างกระดูก เมื่อมีการอักเสบของไตเกิดขึ้น ทำให้หน้าที่ของไตดังกล่าวทั้งหมดบกพร่อง โดยทำให้เกิดการคั่งของน้ำ เกลือแร่บางชนิด และของเสียในร่างกาย มากน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบ

โรคไตอักเสบในเด็ก (Pediatric nephritis หรือ childhood nephritis) เป็นโรคไตในเด็กที่พบบ่อย สาเหตุมีได้หลายอย่างและแตกต่างจากในผู้ใหญ่ ความรุนแรง วิธีการรักษา และการพยากรณ์โรค (ความรุนแรงของโรค) ขึ้นอยู่กับสาเหตุของไตอักเสบนั้น

โรคไตอักเสบในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคไตอักเสบในเด็ก

สาเหตุของโรคไตอักเสบในเด็กมีได้หลายสาเหตุ

  • สาเหตุพบบ่อยที่สุดคือ ไตอักเสบที่เกิดตามหลังการติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส (Streptococcus) บางสายพันธุ์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดคอหอยและทอนซิลอักเสบหรือเกิดฝีหนองที่ผิวหนังได้ การติดเชื้อมักเกิดประมาณ 1 - 3 สัปดาห์ก่อนที่จะเกิดอาการของไตอักเสบ ระ หว่างนั้นจะมีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต้านทานในร่างกายให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบของไต
  • สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดไตอักเสบในเด็กเช่น โรคลูปัส(Lupus) หรือโรคเอสแอลอี(SLE, systemic lupus erythematosus) ซึ่งเป็นโรคภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายไวเกินที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และทำให้เกิดความผิดปกติได้เกือบทุกอวัยวะในร่างกายนอกเหนือจากไตอักเสบ
  • นอกจากนี้สาเหตุของไตอักเสบในเด็กยังอาจเกิดจากโรคหลอดเลือดอักเสบที่เรียกว่า Henoch SchÖnlein Purpura ซึ่งจะขอเรียกสั้นๆว่า “โรคฮีนอค” ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต้านทานในร่างกายแล้วส่งผลให้เกิดไตอักเสบตามมา
  • นอกจากนี้โรคไตอักเสบในเด็กอาจเกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น เช่น สแตฟฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) ตามหลังการติดเชื้อไวรัสเช่น โรคหัด และโรคอีสุกอีใสตามหลังโรคลิ้นหัวใจอักเสบ
  • และบางชนิดของไตอักเสบในเด็กยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

โรคไตอักเสบในเด็กมีอาการอย่างไร ?

อาการสำคัญของโรคไตอักเสบในเด็กคือ

  • อาการบวมโดยเฉพาะที่หนังตา 2 ข้างและใบหน้า โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอน หากอาการรุนแรงทำให้บวมมาก จะพบการบวมที่ขาและท้องร่วมด้วย
  • อาการอื่นๆที่พบคือ
    • ปัสสาวะออกลดลง
    • นอกจากนี้อาจพบปัสสาวะสีผิดปกติเช่น สีแดงคล้ำ สีคล้ายน้ำล้างเนื้อ สีน้ำตาลคล้ายสีชาหรือสีน้ำปลา เป็นต้น
  • และตรวจพบความดันโลหิตสูง ซึ่งภาวะนี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการ
    • ปวดศีรษะ
    • ตามัว
    • หรือชัก
    • หมดสติ
  • หากไตอักเสบรุนแรงมากอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันซึ่งจะทำให้เกิดอาการดังกล่าวรุนแรงมากได้

อนึ่ง:

  • กรณีโรคไตอักเสบจากโรคลูปัส อาจพบอาการอื่นๆนอกระบบไตได้ เช่น
    • ผื่นที่แก้ม 2 ข้างหรือ บริเวณนอกร่มผ้า ซึ่งมักสัมพันธ์กับการถูกแสงแดดจัดนานๆ
    • แผลในปากโดยเฉพาะที่เพดานปาก อาจมีอาการเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้
    • ปวดข้อหรือข้อบวมโดยเฉพาะข้อนิ้วมือและข้อมือ
  • ส่วนกรณี โรคไตอักเสบจากโรคฮีนอค อาจพบ
    • อาการปวดข้อ
    • และมีผื่นเป็นจุดแดงโดยเฉพาะที่ขาและสะโพก
    • ในบางรายอาจมีปวดท้องร่วมด้วย

แพทย์วินิจฉัยโรคไตอักเสบในเด็กได้อย่างไร ?

แพทย์วินิจฉัยโรคไตอักเสบในเด็กได้จาก

  • อาการผู้ป่วย
  • การตรวจปัสสาวะ
  • และการตรวจเลือด
  • นอกจากนี้อาจร่วมกับการตรวจเพาะเชื้อจากคอหอย หรือจากผิวหนังในรายที่สงสัยว่าไตอักเสบเกิดตามหลังการติดเชื้อ

หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคไตอักเสบในเด็กจะมีอันตรายอย่างไร?

ในผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยหรือรักษาโรคไตอักเสบล่าช้า อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรก ซ้อนตามมาได้หลายอย่าง เช่น

  • หากอาการบวมเป็นมาก อาจทำให้เกิดน้ำในช่องท้องและช่องเยื่อหุ้มปอดทำให้เด็กอาจรู้สึก แน่นท้อง อึดอัด เหนื่อย และหายใจลำบากได้
  • เด็กที่มีความดันโลหิตสูงมาก อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ชัก และหมดสติ
  • หากโรครุนแรงมากทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบ พลันซึ่งจะทำให้อาการบวมและความดันโลหิตสูงรุนแรงขึ้น
  • และเกิดภาวะเกลือแร่ในเลือดผิดปกติเช่น
    • ภาวะเกลือโพแทสเซียมสูงในเลือด ซึ่งทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ
    • ภาวะกรดในเลือด/เลือดเป็นกรดซึ่งทำให้หายใจหอบและหัวใจทำงานผิดปกติ
    • และภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำซึ่งทำให้กล้ามเนื้อกระตุกและชักได้

โรคไตอักเสบในเด็กมีวิธีรักษาอย่างไร?

วิธีรักษาโรคไตอักเสบในเด็ก ประกอบด้วย 2 วิธีหลักซึ่งต้องใช้ควบคู่กันไปคือ

1. การรักษาเพื่อลดอาการของไตอักเสบและภาวะแทรกซ้อน:

ก. แพทย์จะลดอาการบวม โดย

  • ให้เด็กจำกัดปริมาณน้ำดื่ม และงดอาหารเค็ม หรืออาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง (เกลือแกง เกลือปรุงอาหาร) เช่น
    • ลดปริมาณการใช้เกลือ น้ำปลา ซอส ปรุงรสและซีอิ๊วในการปรุงอาหาร
    • งดผงชูรส อาหารหมักดอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูปบางประเภท เช่น หมูหรือเนื้อสวรรค์ หมูแผ่น แหนม ปลาร้า มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น
  • นอกจากนี้แพทย์จะให้ยาขับปัสสาวะในรูปแบบฉีดหรือรับประทานเพื่อลดอาการบวม

ข. ในการควบคุมความดันโลหิต แพทย์จะให้ยาลดความดันโลหิตสูงควบคู่ไปกับการให้เด็กนอนพักและงดการออกกำลังกายในช่วงแรก

ค. ในเด็กที่มีภาวะไตวายเฉียบพลันหรือภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง แพทย์จะให้งดผัก และผลไม้ซึ่งมีปริมาณโปแตสเซียมสูงด้วย โดยเฉพาะกล้วย ส้ม แคนตาลูป มะเขือเทศ และมันฝรั่ง

2. การรักษาเฉพาะโรค:

การรักษานี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดไตอักเสบในเด็ก เช่น

  • หากเป็นไตอักเสบที่เกิดตามหลังการติดเชื้อและยังพบเชื้อนั้นอยู่ในร่างกาย แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) รับประทานหรือฉีด เพื่อกำจัดเชื้อนั้น และเพื่อไม่ให้เชื้อนั้นแพร่ระบาดสู่คนรอบข้างต่อไป
  • หากเป็นโรคไตอักเสบจากโรคลูปัสหรือไตอักเสบจากโรคฮีนอคที่รุนแรง แพทย์จะให้ยา สเตียรอยด์รับประทานเพื่อรักษา เป็นต้น

โรคไตอักเสบในเด็กรักษาหายไหม?

นับเป็นความโชคดีที่โรคไตอักเสบในเด็กที่เกิดตามหลังการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตคอคคัสซึ่งพบได้บ่อยที่สุด ในเด็กมีการพยากรณ์โรคที่ดีต่างจากในผู้ใหญ่ โดยในเด็กส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ส่วนโรคไตอักเสบที่เกิดจากโรคฮีนอคที่ไม่รุนแรงสามารถรักษาหายได้ แต่หากมีไตอักเสบ รุนแรงจนภาวะไตวายเฉียบพลันอาจถึงแก่ชีวิตได้ และหากรอดชีวิตก็มีแนวโน้มเกิดภาวะไตวายเรื้อรังตามมาสูง

แต่โรคไตอักเสบจากโรคลูปัส แม้เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและรักษาไม่หายขาดทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ แต่ก็อย่าหมดกำลังใจในการเข้ารับการรักษา เนื่องจากสามารถรักษาให้โรคสงบได้ด้วยยาสเตียรอยด์และยาอื่นๆ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เป็นปกติโดยต้องรับประ ทานยาอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมโรค และหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด รวมทั้งหลีกเลี่ยงโรคติดเชื้อต่างๆ เพื่อลดการกำเริบของโรคลูปัส

โรคไตอักเสบในเด็กสามารถป้องกันได้หรือไม่?

โรคไตอักเสบในเด็กบางชนิดสามารถป้องกันได้ เช่น โรคไตอักเสบที่เกิดตามหลังการติดเชื้อ โดยดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง (รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในแหล่งชุมชนแออัด หรือเข้าใกล้ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้ออยู่ เพื่อป้อง กันการติดเชื้อดังกล่าวข้างต้นจะได้ไม่เกิดโรคไตอักเสบตามมา และในบางโรคก็มีวัคซีนป้องกัน เช่น โรคหัด โรคอีสุกอีใส เป็นต้น

แต่ในโรคไตอักเสบจากสาเหตุอื่น เนื่องจากสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัดจึงยังไม่ทราบวิธีป้องกันโรค

ควรนำเด็กพบแพทย์เมื่อไร?

ควรนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ

  • ผู้ปกครองควรนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอเมื่อเด็กมีอาการตาหรือหน้าบวมหลังตื่นนอนต่อเนื่อง
  • และควรรีบนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อปัสสาวะของเด็กมีสีผิดปกติดังกล่าวแล้ว

บรรณานุกรม

1. Rodriguez-Iturbe B, Mezzano S. Acute postinfectious glomerulonephritis. In: Avner ED, Harmon WE, Niaudet P, Yoshikawa N, editors. Pediatric nephrology. 6th ed. Berlin Heidelberg: Springer-Verlag; 2009. p. 743-55.
2. สุวรรณี วิษณุโยธิน. Acute glomerulonephritis. ใน: สุขชาติ เกิดผล, อวยพร ปะนะมณฑา, จามรี ธีรตกุลพิศาล, ชาญชัย พานทองวิริยะกุล, ณรงค์ เอื้อวิชญาแพทย์, จรรยา จิระประดิษฐา, บรรณาธิการ. วิชากุมารเวชศาสตร์ เล่ม 3. ขอนแก่น: แอนนาออฟเซต; 2552. หน้า 711-9.