ไข้หวัดนก (Avian influenza)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง


บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ไข้หวัดนก (Avian influenza ย่อว่า เอไอ/ AI ชื่ออื่น คือ เบิร์ดฟลู/ Bird flu หรือเอเวียน ฟลู/Avian flu) คือ โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หนึ่งซึ่งส่วนมากเกิดในสัตว์ปีก ที่สำคัญ คือ ไก่ เป็ด ห่าน นก นกอพยพ นกน้ำ หงส์ และสามารถก่อการระบาดใหญ่ในหมู่สัตว์ปีกเหล่านี้ได้, จัดเป็นโรครุนแรง และอันตราย,  อย่างไรก็ตาม สามารถติดต่อสู่คนได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุ, แต่การระบาดจากสัตว์ปีกสู่คนยังพบได้น้อย, นอกจากนั้น  อาจระบาดจากคนสู่คนได้แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน

ไข้หวัดนก  พบทั่วโลก และมีการระบาดเป็นระยะๆทั้งใน เอเชีย (พบบ่อย, โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)  ยุโรป และอเมริกา, ทั่วไปเป็นการระบาดในสัตว์ปีก แต่พบการระบาดจากสัตว์ปีกสู่คนได้ทุกเพศ ทุกวัย,  ส่วนการระบาดจากคนสู่คนอาจเป็นไปได้ แต่หลักฐานทางการแพทย์ยังไม่ชัดเจน

ไข้หวัดนกเกิดจากอะไร? ติดต่อได้ไหม? อย่างไร?

ไข้หวัดนก เกิดจากสัตว์ปีกติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ก่อโรคในสัตว์เหล่านี้ ซึ่งได้แก่ Avian Influenza A (อาร์เอ็นเอไวรัสในวงศ์ Orthomyxoviridae) ซึ่งมีหลายสายพันธ์ย่อย โดยแบ่งตามชนิดของโปรตีนที่มีอยู่ในตัวไวรัส ได้แก่ โปรตีนชนิดเอช (H) และโปรตีนชนิดเอ็น (N) เช่น ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงโรคสูงมาก (Highly pathogenic avian influenza ย่อว่า HPAI และ เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย) ก่อการระบาดได้บ่อยทั่วโลก และสามารถติดต่อสู่คนได้, สายพันธ์ย่อยอื่นที่มีรายงานติดโรคสู่คนได้ ได้แก่ H7N9, H5N6, H5N8

เชื้อไวรัสไข้หวัดนกทั่วไปมีสัตว์ปีก โดยเฉพาะ นกป่า นกน้ำ นกอพยพ บางครั้งเป็นเสือ หมู ม้า แมวน้ำ สุนัข และสัตว์อื่นเป็นรังโรค โดยเชื้อจะปนออกมาทาง

  • อุจจาระ, ขนสัตว์ปีก, และสารคัดหลั่ง (เช่น เหงื่อ น้ำลาย  น้ำมูก น้ำตาของสัตว์ที่เป็นรังโรค เมื่อสัตว์ปีกอื่นๆ เช่น นกเลี้ยง หรือ ไก่/เป็ดเลี้ยง ได้รับเชื้ออาจโดยกิน/สัมผัสกับ ผิวหนัง อุจจาระ สารคัดหลั่ง ขนสัตว์ปี ซากสัตว์ปีก  ไข่  และ
  • ทางการหายใจของสัตว์ที่มีเชื้อ

ซึ่งเมื่อคน หรือ สัตว์ สัมผัสเชื้อดังกล่าว จึงเกิดติดโรคไข้หวัดนกขึ้น

*อนึ่ง:

  • ในบางสายพันธุ์ที่รุนแรง (H5N1) หรือการได้รับเชื้อในปริมาณมาก เชื้ออาจติดต่อจากสัตว์สู่คน และ/หรือ คนสู่คนได้
  • ปัจจุบันพบสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นที่ไม่ใช่สัตว์ปีกติดไข้หวัดนกได้ เช่น   สุนัข แมว หมูเฟอเร็ต แมวน้ำ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงติดไข้หวัดนก?

คนที่มีปัจจัยเสี่ยงติดไข้หวัดนก: ทั่วไป คือ

  • ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกที่มีสัตว์ปีกตายด้วยโรคนี้ในบ้านหรืใกล้บ้าน ซึ่งคนกลุ่มนี้ จัดเป็นกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงสูงสุดเพราะมักได้รับเชื้อไข้หวัดนกในปริมาณมาก    
  • เด็กที่ชอบคลุกคลีกับสัตว์พวกนี้                                                                                          
  • เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเกี่ยวกับสัตว์พวกนี้                                                                                            
  • ผู้ทำงานเกี่ยวกับการขนส่ง ถอนขน และชำแหละสัตว์ปีก                                                                              
  • อาจเป็นคนที่พยาบาลผู้ป่วยติดไข้หวัดนก   

ไข้หวัดนกมีอาการอย่างไร?

อาการของไข้หวัดนก:

ก. สัตว์ปีกที่ติดไข้หวัดนก: ทั่วไป อาการพบบ่อย เช่น
  • ท้องเสีย
  • สัตว์ออกไข่ลดลง หรือไม่ออกไข่
  • มีเลือดออกตามข้อต่างๆ
  • ซึม หงอย
  • ไอ จาม หายใจลำบาก
  • ตา หงอน และเหนียง บวมคล้ำ, ตาแดง, และ
  • ตายในที่สุด

ข. คนที่ติดไข้หวัดนก: จะมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่, ทั่วไป เช่น

  • ไข้สูง
  • ปวดหัว
  • เจ็บคอ
  • ไอ, มักไม่มีเสมหะ
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดเมื่อยตัว
  • มีน้ำมูกใส, น้ำมูกไม่มาก
  • เมื่อโรครุนแรงจะมี
    • การติดเชื้อในปอด ปอดบวม/ปอดอักเสบ
    • อาจติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) และ
    • ถึงตายได้

*อนึ่ง: ระยะฟักตัวของไข้หวัดนกทั้งในสัตว์ปีกและในคนประมาณ 2 - 14 วัน (บางการศึกษาพบติดเชื้อภายใน 1 วันก็แสดงอาการได้) แต่อาจนานได้ถึง 17 วัน

แพทย์วินิจฉัยไข้หวัดนกในคนได้อย่างไร?

การวินิจฉัยไข้หวัดนกในคน *ที่สำคัญที่สุดคือ ประวัติสัมผัสโรค* ดังนั้นผู้ป่วยทุกคนที่มีอาการ ของไข้หวัด ต้องตระหนักข้อนี้ และแจ้งแพทย์พยาบาลเสมอถึงการสัมผัสสัตว์ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์ปีกถึงแม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงก็ตาม หรือการคลุกคลีใกล้ชิดกับคนเลี้ยงสัตว์ (โดยเฉพาะสัตว์ปีก) ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่

นอกจากนั้นเช่นเดียวกับการวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่ เช่น

  • จากอาการผู้ป่วย
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานโรค และ
  • อาจมีการเพาะเชื้อ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • อื่นๆ: ขึ้นกับอาการผู้ป่วย เช่น เอกซเรย์ปอด เมื่อไอมากโดยเฉพาะเมื่อมีอาการหอบเหนื่อย และ/หรือเสมหะมาก

รักษาไข้หวัดนกในคนอย่างไร?

การรักษาไข้หวัดนกในคนเช่นเดียวกับในไข้หวัดใหญ่ ทั่วไปได้แก่

  • การรักษาประคับประคองตามอาการไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ (เพราะไข้หวัดนกเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าไวรัสได้) ยกเว้นเมื่อติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซอน  
  • การพักผ่อนเต็มที่  
  • *แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การแยกผู้ป่วยในช่วงมีไข้ และมีอาการ อย่างน้อยในช่วง 7 - 10 วันแรก, รวมทั้ง ต้องแยกของใช้ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • นอกจากนั้นคือ
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อรุนแรง และลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น  
    • การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้กรณีมีไข้ เป็นต้น 
  • ในรายที่อาการรุนแรง หรือร่างกายอ่อนแอ แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัส ชนิดที่ใช้ในไข้หวัดใหญ่, ทั่วไป คือยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir ชื่ออื่นคือ ทามิฟลู/Tamiflu) แต่บางคนอาจดื้อยานี้ได้

มีผลข้างเคียงจากไข้หวัดนกในคนไหม?

ผลข้างเคียงจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในคนเช่นเดียวกับในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่คือ เมื่อได้รับเชื้อชนิดรุนแรง, หรือในปริมาณมาก, หรือมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ, อาจมีผลข้างเคียงรุนแรงที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ เช่น

  • ติดเชื้อในปอด (ปอดอักเสบ/ปอดบวม)
  • ในสมอง (สมองอักเสบ) หรือ
  • ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน

โรคไข้หวัดนกในคนรุนแรงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคเมื่อคนติดเชื้อไข้หวัดนก: ทั่วไป

  • เมื่อติดเชื้อปริมาณน้อยหรือติดเชื้อชนิดไม่รุนแรง และ/หรือ ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง, การติดเชื้อไข้หวัดนกในคนไม่รุนแรง ผู้ป่วยหายได้ภายใน 1 - 2 สัปดาห์เช่นเดียวกับในไข้หวัดใหญ่
  • แต่ถ้าติดเชื้อชนิดรุนแรง, หรือติดเชื้อปริมาณมาก, และ/หรือสุขภาพไม่แข็งแรง,โรคอาจรุนแรงจนถึงตายได้, และ
  • ความรุนแรงโรคจะสูงขึ้นอีก เมื่อมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วยอีกโรคหนึ่ง

แต่ที่แพทย์กังวล คือ การกลายพันธุ์ของไวรัสที่อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น จนแพร่จากสัตว์สู่คน และ/หรือ แพร่จาก คนสู่คน ได้สูงขึ้น ปัจจัยการกลายพันธ์ที่สำคัญ คือ การติดเชื้อพร้อมกันระหว่างไข้หวัดนกกับไข้หวัดใหญ่

ดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์?

การดูแลตนเอง คือ เมื่อสัมผัสสัตว์ปีก หรือเข้าไปในแหล่งมีการระบาดของโรค หรือมีสัตว์ปีกตายโดยไม่ทราบสาเหตุ (รวมทั้งสัตว์เลี้ยง), เมื่อมีอาการของไข้หวัด (โรคหวัดทั่วไป) หรือไข้หวัดใหญ่ตามมา ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอถึงแม้มีอาการไม่รุนแรงก็ตาม

แต่เมื่ออ่อนเพลียมาก กิน/ดื่มน้ำได้น้อย ไข้สูง และไข้ไม่ลงภายใน 2 วัน และ/หรือ ไอมาก เจ็บหน้าอก สับสน แขน/ขาอ่อนแรง ปวดหัวมาก คลื่นไส้อาเจียนมาก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง หรือฉุกเฉิน  

นอกจากนั้นคือ การป้องกันโรคแพร่กระจายสู่คนใกล้ชิดและสู่ผู้อื่น โดย

  • แยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผา รวมทั้งจาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ
  • ป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่นโดย
    • แยกตัว (แยกผู้ป่วย) จนกว่าโรคจะหายดีแล้ว
    • ใช้หน้ากากอนามัย
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
    • ทิ้งขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี คือ ใส่ถุงดำ ปิดปากถุงให้มิดชิด และปิดป้ายขยะติดเชื้อ

ป้องกันโรคไข้หวัดนกในคนได้อย่างไร?

การป้องกันไข้หวัดนกในคน หมายถึง เราป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดนก จากคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่

  • ระมัดระวังการสัมผัสสัตว์ปีก โดยเฉพาะซากสัตว์ปีก(ที่รวมถึงการถอนขน) ต้องมีการสวมถุงมือยางเสมอ
  • ต้องสวมถุงมือยางเสมอเมื่อกำจัดสัตว์ปีกตาย และเมื่อมีการตายที่ไม่ทราบสาเหตุ, ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ผู้ให้การดูแลควบคุมโรค (ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่เขต) โดยเฉพาะกรณีสงสัยสัตว์ตายจากติดโรค หรือเมื่อสัตว์ตายในปริมาณมากผิดปกติ หรือตายต่อเนื่อง
  • หลังการสัมผัสสัตว์ปีก ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เสมอ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ในทุกๆวันเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะเมื่อต้องเกี่ยวข้องกับโรคนี้ หรือ เกี่ยวข้องกับสัตว์ปีก หรือเข้าไปในถิ่นที่มีโรคนี้ระบาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนทั้งไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรงมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงผู้ป่วยไข้หวัด ทั้งโรคหวัดทั่วไป และไข้หวัดใหญ่
  • หลีกเลี่ยงแหล่งเลี้ยงสัตว์ปีก
  • กินเนื้อสัตว์ปีก และไข่ ที่ปรุงสุกทั่วถึงเสมอ เพราะเชื้อไข้หวัดนกตายในอุณหภูมิสูงมากกว่า 74 องศาเซลเซียส (°C/Celsius)
  • ไม่กินสัตว์ปีกที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือตายจากไข้หวัดนก ไม่ว่าจะปรุงสุกอุณหภูมิสูงเท่าไรก็ตาม
  • เลือกซื้อไข่ไก่ฟองที่สดใหม่ และไม่มีมูลติด
  • เนื้อไก่ไม่ควรมีสีคล้ำ และ/หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • ถ้าซื้อไก่เป็น ไม่ควรเลือกไก่ที่ หงอย ซึม ใบหน้าและ/หรือหงอนบวมคล้ำ มีน้ำมูก

มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกไหม?

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก แต่เป็นวัคซีนที่ฉีดให้สัตว์ปีก ป้องกันการติดเชื้อระหว่างสัตว์ปีก แต่ยังไม่มีปะสิทธิภาพพอ โดยเพียงแต่ลดปริมาณเชื้อที่จะออกมาในสารคัดหลั่ง และยังมีปัญหาอื่นๆในประสิทธิภาพของวัคซีนอีกหลายประการ กรมปศุสัตว์และรัฐบาลไทยจึงยังไม่แนะนำการฉีดวัคซีนในสัตว์ปีกขณะนี้

ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกในคน ผลิตในสหรัฐอเมริกา เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อในคนจากไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 แต่ยังไม่มีการนำออกใช้ทั่วไป เพราะปัจจุบันยังไม่มีการระบาดของสายพันธุ์นี้ในคน (พบผู้ป่วยเพียงบางรายน้อยมาก) การใช้วัคซีนขณะนี้จึงยังไม่คุ้มค่า

อนึ่: วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกได้ แต่การฉีดจะช่วยให้โอกาสติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ลดลงซึ่งเป็นการลดความรุนแรงจากไข้หวัดนกได้วิธีหนึ่งจากป้องกันการติดโรค 2 โรคพร้อมๆกัน, และอีกประการสำคัญ คือช่วยลดโอกาสกลายพันธ์ของไข้หวัดนกให้รุนแรงมากขึ้น(เมื่อเกิดติดไข้หวัดนก) จนอาจก่อการติดเชื้อในคนได้ง่ายขึ้น

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/2500029-overview#showall   [2023,March11]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Influenza_A_virus_subtype_H5N1  [2023,March11]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Avian_influenza   [2023,March11]
  4. https://www.cdc.gov/flu/avianflu/  [2023,March11]
  5. https://moph.go.th/index.php/news/read/657  [2023,March11]
  6. https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2//files/3%20Avian%20Influenza%203%20Dec.pdf  [2023,March11]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/H5N1_vaccine  [2023,March11]