เอกซเรย์: การถ่ายภาพเอกซเรย์ (X-ray imaging)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: เอกซเรย์/รังสีเอกซ์คืออะไร?

รังสีเอกซ (X-ray หรือ X-radiation) คือ รังสีที่นำมาใช้ทางการแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยโรค จัดอยู่ในรังสีประเภทไอออนไนซ์ /Ionizing radiation (แนะนำอ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com เรื่อง ‘รังสีจากการตรวจโรค’) โดยนำมาถ่ายภาพอวัยวะต่างๆที่แพทย์สงสัยว่าจะมีโรค ทำให้แพทย์มองเห็นภาพอวัยวะนั้นๆได้  เครื่องถ่ายภาพด้วยเอกซเรย์นี้ เรียกว่า ‘เครื่องเอกซเรย์’

อนึ่ง: รังสีเอกซ์ สามารถนำมาใช้ได้ทั้ง การวินิจฉัย และ การรักษาโรค แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึง เอกซเรย์ ที่ใช้ใน ‘การตรวจวินิจฉัยโรค’ เท่านั้น

ปัจจุบัน เครื่องถ่ายภาพเอกซเรย์ได้มีการพัฒนาไปอย่างมากเพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น โดยทั่วไปที่เรารู้จักในการตรวจเอกซเรย์ คือ การตรวจภาพอวัยวะด้วยเทคนิคที่เราคุ้นเคย เรียกว่า ‘เอกซเรย์ หรือ เอกซเรย์ธรรมดา,’ และการตรวจภาพอวัยวะที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น  เรียกว่า ‘เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized tomography), หรือซีทีสแกน (CT sacn), หรือ ซีที/CT, หรือ แคทสแกน (CAT-scan/ Computerized axial tomography)

ในบทนี้ จะกล่าวเฉพาะ ‘การเอกซเรย์ธรรมดา (X-ray imaging)’ เท่านั้น จะแยกเขียนเรื่อง ‘ซีทีสแกน’ ต่างหากอีกบทหนึ่ง,  และขอเรียกชื่อการตรวจด้วยเอกซเรย์เทคนิคธรรมดาสั้นๆว่า ‘เอกซเรย์ หรือการเอกซเรย์’

เอกซเรย์ เป็นวิธีตรวจโรคที่ใช้มานานแล้ว เริ่มตั้งแต่การค้นพบรังสีนี้ในปี ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438)โดยนักฟิสิกส์ชาวเยอรมันชื่อ ‘Wilhelm Conrad Rontgen’ ดังนั้น บางประเทศจึงเรียกรังสีเอกซ์นี้ว่า ‘รังสีเรินเกน (Rontgen radiation)’ตามชื่อผู้ค้นพบ

เมื่อเนื้อเยื่อได้รับรังสีเอกซ์ เนื้อเยื่อจะดูดซึมรังสีเอกซ์ไว้ และเมื่อเป็นการถ่ายภาพลงบนแผ่นฟิล์ม (Film) จะส่งผลให้เกิดภาพบนแผ่นฟิล์มเป็นสี ‘ดำ, เทา,หรือ ขาว’ ขึ้นกับความหนาแน่นของอะตอม (Atom), และชนิดของแร่ธาตุ,ในแต่ละเนื้อเยื่อ ซึ่งเมื่อเนื้อเยื่อใดมีแคลเซียมสูง ภาพอวัยวะที่เห็นจากเอกซเรย์จะเป็นสีขาว เช่น กระดูก, แต่ถ้าเนื้อเยื่อมีอากาศอยู่ ภาพจะเป็นสีดำ เช่น ปอด, และเมื่อเป็นเนื้อเยื่ออื่นๆที่มีความหนาแน่นของแร่ธาตุผสมระหว่างกระดูกกับอากาศ  ภาพก็จะเป็นสีเทาที่ความเข็มของสีลดหลั่นกัน, ทำให้สามารถมองเห็นเนื้อเยื่อ/อวัยวะ (เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ) ต่างๆได้ทั้งในภาวะปกติและในภาวะเกิดโรค, แพทย์จึงได้นำมาใช้ช่วยวินิจฉัยโรคได้

เอกซเรย์ธรรมดาต่างจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อย่างไร?

เอกซเรย์การถ่ายภาพเอกซเรย์

 

เอกซเรย์ธรรมดา จะให้ภาพจากการตรวจเป็น 2 มิติ คือ กว้าง และยาว, ไม่สามารถบอกความลึกของภาพได้ และจะให้ภาพเป็นภาพรวมของทั้งอวัยวะ ดังนั้นจึงเป็นข้อจำกัดของเอกซเรย์ธรรมดาเมื่อเปรียบเทียบกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการตรวจที่ซับซ้อนกว่าเอกซเรย์ธรรมดามากเพราะจากให้ภาพเป็น 3 มิติ และยังเพิ่มการซอยภาพอวัยวะออกเป็นแผ่นบางๆได้หลายสิบแผ่น จึงช่วยให้แพทย์อ่านความผิดปกติของอวัยวะนั้นๆได้แม่นยำมากขึ้น

 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แต่ละครั้งจะสูงกว่าการเอกซเรย์ธรรมดาเป็นสิบเท่าหรือหลายสิบเท่า  นอกจากนั้นในการตรวจซีทีสแกนแต่ละครั้ง ผู้ป่วยจะได้รับปริมาณรังสีทั้งตัว (Whole body irradiation) สูงกว่าจากการตรวจด้วยเอกซเรย์ธรรมดา 

ดังนั้น ทั่วไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย แพทย์จึงมักตรวจด้วยเอกซเรย์ธรรมดาก่อน ต่อเมื่อเอกซเรย์ธรรมดาไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้  แพทย์จึงจะพิจารณาเลือกใช้การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

เอกซเรย์มีประโยชน์และโทษอย่างไร?

เอกซเรย์ สามารถตรวจภาพของเนื้อเยื่อ/อวัยวะได้เกือบทุกชนิด และในทุกเพศและทุกวัย ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อแพทย์ในการใช้ช่วยวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น อันนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพ

 เอกซเรย์ที่นิยมใช้ตรวจมากที่สุด คือ  เอกซเรย์ภาพปอด (ดูได้ทั้งโรคของ ปอด, หัวใจ, ช่องอก, เยื่อหุ้มปอด,ท่อเลือดแดงในช่องอก, กระดูกซี่โครง,ฯลฯ),  เอกซเรย์ภาพกระดูกกรามและฟัน (ดูโรคต่างๆของกระดูกกรามและของฟัน โดยเฉพาะภาวะกระดูกกรามหัก,ฟันผุ,และฟันคุด), เอกซเรย์โรคทั่วไปของกระดูกและข้อโดยเฉพาะกระดูกหักจากอุบัติเหตุต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เอกซเรย์ เป็นรังสีที่มีพลังงานได้หลายระดับที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเซลล์ได้ทุกชนิด การบาดเจ็บจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณ,และระดับพลังงานของเอกซเรย์ที่เซลล์ได้รับ, รวมทั้งอายุของเซลล์ด้วย โดยเซลล์ตัวอ่อน (ทั่วไปคือในเด็ก) เมื่อได้รับเอกซเรย์จะมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บสูงกว่าเซลล์เต็มวัย (เซลล์ผู้ใหญ่) โดยเฉพาะเซลล์ทารกในครรภ์ที่อาจส่งผลให้เกิดการแท้งบุตร หรือ ความพิการแต่กำเนิดของทารกตั้งแต่ในครรภ์ได้   

ดังนั้น นอกจากประโยชน์ที่ได้รับ ถ้าใช้เอกซเรย์พร่ำเพื่อโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ อาจทำให้เซลล์ร่างกายได้รับปริมาณรังสีสูงเกินระดับความปลอดภัยจนอาจก่อการบาดเจ็บต่อเซลล์ในระยะยาว คือ หลายๆปีผ่านไป, โดยอันตรายที่สำคัญ คือ อาจส่งผลให้เซลล์ที่ได้รับรังสีฯเกิดเปลี่ยนแปลงกลายพันธ์ (Mutation) จนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง/โรคมะเร็งได้, ซึ่งทางการแพทย์ และ องค์การอนามัยโลก จัดเอกซเรย์เป็นรังสีกลุ่มที่สามารถก่อมะเร็งได้ กล่าวคือ เป็น ‘สารก่อมะเร็ง (Carcinogen)’

จากผลกระทบของเอกซเรย์ดังกล่าว  แพทย์จึงจะให้การตรวจด้วยเอกซเรย์เฉพาะต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ว่า ‘จำเป็นต่อผู้ป่วย’เท่านั้น

***** โอกาสเกิดโรคมะเร็งจากการตรวจโรคด้วยเอกซเรย์จากแพทย์แนะนำ พบได้น้อยมากๆซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย จึงไม่จำเป็นต้องกังวล ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทางการแพทย์ทั่วโลกว่า การเอกซเรย์ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และตามดุลพินิจของแพทย์ ก่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมากมาย มากกว่าการเกิดโทษ

เมื่อไหร่จึงควรเอกซเรย์? เอกซเรย์ส่วนไหนของร่างกายได้บ้าง?

ข้อบ่งชี้ต่อการเอกซเรย์ คือ เมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ภายหลังจากแพทย์สอบถามประวัติอาการ และตรวจร่างกายพบสิ่งผิดปกติของอวัยวะต่างๆ เช่น ฟังได้เสียงการหายใจผิดปกติ ซึ่งการจะช่วยวินิจฉัยได้ว่า ปอดมีโรคเกิดขึ้นหรือไม่, มากน้อยเพียงไร, และน่าจะเป็นโรคอะไร, คือการเอกซเรย์ปอด แพทย์ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์ภาพปอด เป็นต้น

นอกจากนั้น การเอกซเรย์มักใช้บ่อยเพื่อใช้ช่วยวินิจฉัยว่า มีกระดูกต่างๆหักหรือไม่ เพราะกระดูกเป็นอวัยวะที่ตรวจเห็นได้ดีจากเอกซเรย์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น การล้ม หรืออุบัติเหตุจากการใช้รถ/ใช้ถนน เป็นต้น

เอกซเรย์ ยังใช้ในการตรวจสุขภาพทั่วไปในขณะที่ยังไม่มีอาการ แต่กรณีนี้ แพทย์จะให้การตรวจเฉพาะอวัยวะที่ได้มีการศึกษาทางการแพทย์แล้วพบว่า ‘ให้ประโยชน์มากกว่าโทษ’  ซึ่งที่ยอมรับทั่วโลก คือ ‘การเอกซเรย์ปอดทุกปี’ เริ่มตั้งแต่อายุ 20-25 ปีขึ้นไป

ส่วนการเลือกใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์นั้น ก็จะมีข้อบ่งชี้ที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น มักเป็นการตรวจในโรคที่ซับซ้อน อวัยวะที่เกิดโรคอยู่ลึกภายในร่างกายซึ่งภาพจากเอกซเรย์ธรรมดา วินิจฉัยโรคได้ไม่ชัดเจน 

ร่างกายทุกส่วน สามารถตรวจเอกซเรย์ธรรมดาได้ ตั้งแต่ กะโหลก ไซนัส  ฟันกระดูกทุกชิ้นส่วน (เช่น กระดูกสันหลัง ขา แขน นิ้ว และข้อต่างๆ)  ปอด หัวใจ และช่องท้อง

เมื่อต้องการตรวจอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก ‘อาจใช้การกลืนแป้งร่วมด้วย’ เพื่อช่วยการมองเห็นอวัยวะเหล่านั้น เช่น หลอดอาหาร, กระเพาะฯ, และลำไส้เล็ก  ได้ดีขึ้น ที่เรามักเรียกว่า ‘เอกซเรย์กลืนแป้ง (Barium swallow  และ Upper GI series)’, หรือเมื่อต้องการเห็นลำไส้ใหญ่ ก็จะใช้การสวนแป้งเข้าลำไส้ใหญ่ ซึ่งเรามักเรียกว่า ‘เอกซเรย์สวนแป้ง (Barium enema, มักย่อว่าบีอี/BE)’  

ซึ่งการตรวจเอกซเรย์ร่วมกับการกลืนแป้ง หรือการสวนแป้ง ในปัจจุบัน แพทย์ให้การตรวจน้อยลง หันมาใช้ตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภาพช่องท้องแทน (แต่ก็มักร่วมกับให้กลืนแป้งหรือสวนแป้งในการตรวจฯ ตามดุลพินิจของรังสีแพทย์) เพราะเทคนิคการตรวจง่ายกว่า และให้ผลตรวจที่แม่นยำกว่า นอกจากนั้น ช่องท้องมีเนื้อเยื่อ/อวัยวะหลากหลายชนิดรวมอยู่ด้วยกัน การตรวจเนื้อเยื่อ/อวัยวะทั้งช่องท้องจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จึงช่วยการวินิจฉัยโรคได้ดีกว่าการตรวจทีละเนื้อเยื่อ/อวัยวะด้วยเอกซเรย์ธรรมดา

มีข้อห้ามการเอกซเรย์ไหม?

ไม่มีข้อห้ามที่ตายตัวในการตรวจด้วยเอกซเรย์ เพราะดังกล่าวแล้วว่า ประโยชน์ของเอกซเรย์มีมากเมื่อเป็นเอกซเรย์ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และตามดุลพินิจของแพทย์

อย่างไรก็ตาม ดังกล่าวแล้วว่า เซลล์ที่ยังเป็นเซลล์ตัวอ่อน เช่น เซลล์ของ ‘ทารกในครรภ์ และของเด็กเล็ก’ จะไวต่อรังสีเอกซ์เป็นพิเศษ (รังสีจากการตรวจโรค) ดังนั้นในทั้ง 2 กลุ่มผู้ป่วยนี้ แพทย์จะเอกซเรย์ต่อเมื่อไม่สามารถหาวิธีตรวจวินิจฉัยอื่นมาทดแทนเอกซเรย์ได้  รวมถึงการที่ ‘เมื่อไม่ตรวจเอกซเรย์ อาจนำมาซึ่งการเสียชีวิตของผู้ป่วย’, ซึ่งกรณีเช่นนี้แพทย์จะพูดคุยกับ บิดามารดา หรือครอบครัวฯก่อนเสมอถึงปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อจะเอกซเรย์?

การตรวจด้วยเอกซเรย์ธรรมดา เป็นเรื่องไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องเตรียมล่วงหน้าเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดอาหาร น้ำดื่ม หรือยาต่างๆ, และไม่มีการฉีดยา/ฉีดสี/ฉีดสารทึบแสงเหมือนในซีทีสแกน/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, จะเช่นเดียวกับการถ่ายรูปทั่วไป เพียงแต่ใช้แสงจากรังสีเอกซ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การอ่านผลตรวจได้ถูกต้อง จึงต้องมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นของโรงพยาบาลก่อนการตรวจ รวมถึงถอดชุดชั้นในของร่างกายส่วนที่ต้องการตรวจ   และต้องไม่มีโลหะ (เช่น สตางค์ เครื่องประดับต่างๆ รวมทั้งนาฬิกา) หรือวัสดุอื่นใดๆรวมเข้ามาอยู่ในส่วนที่จะตรวจด้วย เช่น พระ, เครื่องราง, ผ้าเช็ดหน้า ทิชชูต่างๆ และกระเป๋าเงิน เพราะสิ่งเหล่านี้จะบดบังรังสีเอกซ์ และก่อให้เกิดภาพตรวจที่ผิดปกติ ส่งผลให้แพทย์อ่านผลตรวจผิดพลาดได้

 ทั่วไป การถ่ายภาพเอกซเรย์ธรรมดามักใช้เวลาประมาณ 10 นาที ส่วนใหญ่เพื่อการจัดท่าทางในการตรวจเพื่อให้ได้ภาพที่ถูกต้อง, ใช้ตัวรังสีฯเองเพียงประมาณน้อยกว่า 1 วินาทีเท่านั้น, แต่ถ้าเป็นเอกซเรย์กลืนหรือสวนแป้งจึงจะมีข้อเตรียมตัวเฉพาะกรณี ซึ่งจะได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่เอกซเรย์พร้อมเอกสารแนะนำ

ภายหลังการตรวจเอกซเรย์ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ กลับไปทำงานได้ ไม่จำเป็นต้องมีการดูแลพิเศษอย่างไร, ซึ่งเมื่อมีการกลืน หรือสวนแป้ง แป้งเหล่านั้นจะถูกขับถ่ายออกจากร่างกายทางอุจจาระ ตามระบบขับถ่ายของแต่ละคนในวันรุ่งขึ้น และมักจะหมดไปภายใน 2-3 วัน, ทั้งนี้รวมทั้งไม่มีรังสีใดๆหลงเหลืออยู่ในตัว สามารถคลุกคลีได้กับทุกคนตามปกติ ที่รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์และเด็กๆทุกวัย

***นอกจากนั้น ในหญิงวัยเจริญพันธ์ (วัยยังมีประจำเดือน) เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับรังสีเอกซ์ในช่วงตั้งครรภ์, แพทย์ และเจ้าหน้าที่รังสี จึงจำเป็นต้องสอบถามประวัติประจำเดือนก่อนการตรวจเสมอ รวมทั้งผู้ป่วยเองก็ต้องตระหนักในข้อนี้, ดังนั้น เมื่อมีการคลาดเคลื่อนของประจำเดือน หรือสงสัยอาจตั้งครรภ์, ควรต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่รังสี เพื่อยกเลิกการเอกซเรย์, หรืออาจต้องมีการตรวจภาวะตั้งครรภ์ทางห้องปฏิบัติการให้แน่ชัดกอน จึงจะตรวจด้วยเอกซเรย์

แพทย์อ่านผลตรวจเอกซเรย์อย่างไร?

การอ่านวินิจฉัยผลเอกซเรย์ธรรมดา สามารถอ่านวินิจฉัยได้โดยแพทย์ทั่วไป เพราะได้ผ่านการเรียนการสอนในสาขานี้มาแล้ว แต่การอ่านเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ควรต้องโดยแพทย์เฉพาะทางรังสีวิทยา ซึ่งต้องได้รับการฝึกอบรมต่อเนื่องหลังจากจบแพทย์ศาสตร์แล้ว

ดังนั้น ผู้ป่วยจึงมักทราบผลจากเอกซเรย์ธรรมดาได้เลยจากแพทย์เจ้าของไข้ที่ให้การตรวจรักษาโรคของผู้ป่วย แต่เมื่อเป็นเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ผู้ป่วยต้องรอผลตรวจ อาจเป็นหลายชั่วโมง หรือในวันรุ่งขึ้นเมื่อเป็นการตรวจของโรงพยาบาลเอกชน, แต่เมื่อเป็นการตรวจจากโรงพยาบาลของรัฐบาลซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยมากมาย ผู้ป่วยมักทราบผลในระยะเวลาประมาณ 3-10 วัน

ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้น การถ่ายภาพเอกซเรย์ธรรมดา อาจเป็นการถ่ายภาพลงใน คอมพิวเตอร์ใช้งานทั่วไป  กระดาษ หรือลงใน ซีดี หรือ ในวีซีดี ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องการใช้ฟิล์มลงได้มาก และยังสะดวกกว่าในการส่งข้อมูล จัดเก็บข้อมูล ซึ่งแพทย์มักมอบให้ผู้ป่วยไปด้วยพร้อมกับใบอ่านผลตรวจตามความประสงค์ของผู้ป่วย

ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยรับผลตรวจ ควรต้องตรวจสอบให้ได้เอกสารต่างๆครบถ้วน เพื่อจะได้ไม่ต้องย้อนกลับไปกลับมาเอาผลอีก และควรแจ้งเจ้าหน้าที่เอกซเรย์ว่าประสงค์จะได้ภาพเอกซเรย์ร่วมด้วยกับการอ่านผล

ในการพบแพทย์ทุกท่านแต่ละครั้ง  ผู้ป่วยควรต้องนำใบอ่านผลพร้อมภาพเอกซเรย์  ติดตัวมาด้วยเสมอ(อาจเก็บไว้ในมือถือก็ได้) เพื่อเมื่อแพทย์ต้องการทราบข้อมูล และเพื่อเมื่อมีการตรวจซ้ำจากต่างโรงพยาบาล จะได้ใช้เปรียบเทียบผลตรวจในแต่ละครั้ง ซึ่งจะเพิ่มความแม่นยำของการตรวจ เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

เมื่อมีการตรวจ วินิจฉัย รักษา ผู้ป่วยทุกคนควรมีการจัดเก็บข้อมูลทางการแพทย์ของตนเอง และควรมีกระเป๋าเฉพาะที่จัดเก็บฯไว้ในที่ที่มองเห็นง่าย รวมถึงทุกคนในครอบครัวรับทราบ, เมื่อจะมาพบแพทย์ จะได้หยิบฉวยได้สะดวก ครบถ้วน  

*** อนึ่ง: เช่นเดียวกับการตรวจทุกชนิด การตรวจภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะด้วยเทคนิคต่างๆที่รวมทั้งเอกซเรย์ธรรมดา’ ให้ผลผิดพลาดได้ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคประมาณ 10-15%’ โดยเป็นความผิดพลาด อาจในลักษณะที่ ‘มีโรคแต่ตรวจไม่พบ’ หรือ ‘ไม่มีโรคแต่ให้ภาพว่ามีโรค’

ดังนั้นในการวินิจฉัยโรค แพทย์จึงใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งการตรวจประกอบเข้าด้วยกัน  ที่สำคัญ เช่น จากอาการผู้ป่วย, จากการตรวจร่างกาย,  จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ, จากการตรวจภาพของเนื้อเยื่อ/อวัยวะ เช่น การเอกซเรย์,  และอาจต้องมีการตรวจทางพยาธิวิทยา (และ/หรือการตรวจทางเซลล์วิทยา), ร่วมด้วย

การเอกซเรย์บ่อยๆเป็นอะไรไหม?

ดังได้กล่าวแล้วว่า ‘รังสีเอกซ์’ อาจก่อโทษได้เมื่อได้รับในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com  บทความเรื่อง  รังสีจากการตรวจโรค)  ดังนั้นเพื่อป้องกันผลกระทบเหล่านั้น การเอกซเรย์ จึงจำเป็นต้องตรวจเฉพาะเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และผ่านดุลพินิจของแพทย์แล้ว

บรรณานุกรม

  1. Hall, E. (1994). Radiobiology for radiologist. Philadelphia: J.B. Lippincott Company.
  2. https://www.icrp.org/docs/else_icrp_2006_catalogue_final.pdf [2023,Feb11]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/X-ray [2023,Feb11]
  4. https://www.nrc.gov/about-nrc/radiation/rad-health-effects.html [2023,Feb11]
  5. https://www.iaea.org/resources/rpop [2023,Feb11]
  6. https://www.nrc.gov/reading-rm/doc-collections/cfr/part020/index.html   [2023,Feb11]