การวินิจฉัยการตั้งครรภ์ (Pregnancy diagnosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

เราสามารถรู้ได้อย่างไรว่าตนเองตั้งครรภ์?

สตรีวัยเจริญพันธ์ที่มีเพศสัมพันธ์ สามารถสังเกตตนเองเกี่ยวกับอาการต่างๆว่า ตนเองอาจตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้

1. การขาดประจำเดือน: ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีเพศสัมพันธ์ เป็นอาการแสดงที่สำคัญที่สุด หากสตรีที่เคยมีประจำเดือนสม่ำเสมอแล้วต่อมาประจำเดือนขาดหายไป หรือไม่มีประจำเดือนมาตามเวลาที่ควรจะมา ต้องสงสัยอันดับแรกว่ามีการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้คุมกำเนิด

2. มีประจำเดือนมาน้อยผิดปกติ ซึ่งอาจไม่ใช่เลือดประจำเดือนปกติ แต่เป็นเลือดที่เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนที่โพรงมดลูก ที่คนทั่วไปเรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” เช่น ตามปกติ ประจำเดือนเคยมา 4-5 วัน ใช้ผ้าอนามัย 3-4 ผืนต่อวัน และในรอบเดือนต่อมามีเพียงเลือดจางๆ หรือ เลือดออกเล็กน้อยแทบไม่ต้องใช้ผ้าอนามัย อย่างนี้เป็นต้น ต้องคิดถึงการตั้งครรภ์ไว้ด้วย

3. มีอาการเต้านมคัดตึง หรือปวดที่เต้านม เด้านมขยาย/เต้านมมีขนาดโตขึ้น

4. มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการเบื่ออาหาร เหม็นกลิ่นอาหารที่เคยรับประทานได้ หรือเหม็นกลิ่นน้ำหอมทั้งๆที่เคยชอบหรือที่เคยใช้ประจำ ซึ่งอาการเหล่านี้จะมากน้อยแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย จนถึงมีอาการมาก อาเจียนมากจนต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลก็มี

5. มีอาการอ่อนเพลียมากผิดปกติ

6. ปวดหน่วงๆในท้องน้อย คล้ายจะเป็นประจำเดือน แต่ไม่เป็นเป็นประจำเดือน

7. ปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยไม่มี อาการแสบ หรือปัสสาวะขัดที่เป็นอาการปัสสาวะบ่อยจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

8. สังเกตว่าท้องน้อยโตขึ้น หรือมีพุงมากขึ้น ใส่กระโปรงหรือกางเกงคับขึ้น

9. รู้สึกว่ามีการดิ้นของทารกในครรภ์ ซึ่งอาการนี้ ต้องตั้งครรภ์จนอายุครรภ์โตมากพอสมควร(ประมาณตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป) และทารกโตพอที่จะทำให้มารดารู้สึกเมื่อมีการเคลื่อนไหว

แพทย์วินิจฉัยการตั้งครรภ์ได้อย่างไร?

การวินิจฉัยการตั้งครรภ์

แพทย์วินิจฉัยการตั้งครรภ์ได้จาก

ก. การซัก/สอบถามประวัติทางการแพทย์: แพทย์จะซักถามเกี่ยวกับประวัติการเป็นประจำเดือน ลักษณะของการเป็นประจำเดือนที่ปกติ ระยะเวลาที่ขาดประจำเดือน อาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาการคัดตึงเต้านม ประวัติการคุมกำเนิด

ข. การตรวจร่างกาย: แพทย์จะตรวจพบเต้านมคัดตึง (Breast engorgement), หัวนมและลานนมสีคล้ำขึ้น, ต่อมไขมันที่ลานหัวนมที่เรียกว่า Montgomery’s tubercle ขยายโตขึ้น จนเห็นเป็นก้อน/ปุ่มๆมองเห็นและคลำได้ชัดเจน, ที่หน้าท้องจะพบรอยแนวกลางลำตัวมีสีคล้ำดำเข้มขึ้นที่เรียกว่า Linea nigra

ค. การตรวจภายใน: จะพบว่า ผนังช่องคลอด ปากมดลูก มีสีม่วงคล้ำ เพราะมีเลือดมาเลี้ยงมาก ตัวมดลูกมีลักษณะนุ่มและมีขนาดโตขึ้นกว่าปกติ

ง. การตรวจปัสสาวะ: เป็นการตรวจฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่สร้างจากรกที่เรียกว่า Human chorionic gonadotropin (hCG) ที่ออกมาในปัสสาสะ เป็นวิธีที่สะดวกสบาย สามารถซื้อชุดตรวจได้เองตามร้านขายยาทั่วไป ราคาถูก ชุดตรวจมีความไวและความแม่นยำสูงมาก ลักษณะจะปรากฎเป็นแถบสีแดงเมื่อจุ่มในปัสสาวะที่อยู่ในถ้วย หากสตรีที่มีฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ จะเห็นเป็น “แถบสีแดง 2 แถบ” แต่หากไม่มีการตั้งครรภ์ ไม่มีฮอร์โมน hCG ในปัสสาวะ จะไม่เกิดการทำปฏิกิริยากับสารที่เคลือบไว้ จึงเป็นเป็นแถบสีแดง “เพียงแถบเดียว” ชุดตรวจสามารถตรวจพบว่ามีฮอร์โมนนี้ตั้งแต่มีระดับฮอร์โมนนี้ มากกว่าหรือเท่ากับ(>) 25 หน่วย(mIU/ml) ซึ่งระดับฮอร์โมนนี้จะตรวจพบได้ตั้งแต่ตัวอ่อนฝังตัวที่โพรงมดลูก หรือประมาณ “6-12 วัน”หลังการปฏิสนธิ หรือประมาณวันที่ “21-22 ของรอบประจำเดือน”นั้นๆในสตรีที่มีประจำเดือนสม่ำเสมอทุก 28 วัน ซึ่งสามารถตรวจพบว่า มีการตั้งครรภ์ได้ก่อนที่จะขาดประจำเดือนในเดือนถัดมา

กรณีสำหรับสตรีที่มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ อาจคาดเดาวันฝังตัวของตัวอ่อนยากกว่า ดังนั้นแม้จะเลยกำหนดวันที่ประจำเดือนควรมา แต่อาจยังตรวจปัสสาวะไม่พบการตั้งครรภ์ได้ จึงต้องมีการตรวจปัสสาวะซ้ำในอีก 1-2 สัปดาห์ต่อมา ขึ้นกับระยะที่เป็นประจำเดือนในแต่ละรอบเดือน

การตรวจปัสสาวะหากพบว่าตั้งครรภ์ ไม่สามารถบอกระดับ/ปริมาณฮอร์โมนการตั้งครรภ์ได้ ว่าสูงมากน้อยเพียงใด และไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกตามปกติ หรือเป็นการตั้งครรภ์/ท้องนอกมดลูก ต้องอาศัยประวัติอาการ และการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดช่วยเพื่อดูระดับฮอร์โมนนี้ และการตรวจอัลลราซาวด์ท้องน้อยช่วยในรายที่แพทย์สงสัยว่าท้องนอกมดลูก เพื่อทำการวินิจฉัยโรคให้ได้แม่นยำ(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ท้องนอกมดลูก ได้ในเว็บ haamor.com)

จ. การตรวจเลือด: เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ด้วยวิธีเฉพาะที่เรียกว่า “Serum beta(β) human chorionic gonadotropin” ย่อว่า “β-hCG” การตรวจนี้ไม่ได้ตรวจเป็นกิจวัตรในเวชปฏิบัติ มักใช้ในกรณีที่คิดว่าอาจมีการตั้งครรภ์ผิดปกติ เช่นการตั้งครรภ์นอกมดลูก การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก และใช้ในการติดตามผลการรักษาโรคดังกล่าวด้วย สามารถตรวจพบ Serum β- hCG ได้ ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ ระดับ serum β-hCG ในอายุครรภ์ต่างๆ จะแตกต่างกันไป และมีระดับสูงสุดช่วงอายุครรภ์ 9- 12 สัปดาห์ ดังตาราง

ประโยชน์อย่างหนึ่งของการตรวจ Serum β- hCG คือใช้ในการติดตามว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติ หรือ ผิดปกติในกรณีที่ตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออก หรือสงสัยว่ามีการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่

  • สำหรับการตั้งครรภ์ปกติภายใน 30 วันแรก ทุก ๆ 29-53 ชั่วโมง ระดับ Serum β- hCG จะเพิ่มเป็น 2 เท่า
  • หากเป็นการตั้งครรภ์ผิดปกติ หรือการตั้งครรภ์/ท้องนอกมดลูก ระดับ Serum β- hCG จะไม่สูงขึ้นตามเกณฑ์ และ
  • กรณีที่เป็นการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) ระดับ Serum β- hCG จะสูงมากผิดปกติ

ฉ. การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องน้อยเพื่อดูการตั้งครรภ์: เป็นการตรวจที่นิยมมาก แต่ความไวในการเห็นถุงการตั้งครรภ์ไม่เร็วเท่าการตรวจฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในปัสสาวะ หรือการตรวจเลือดดูค่า Serum β- hCG การตรวจอัลตราซาวน์ผ่านทางช่องคลอด จะสามารถเห็นถุงการตั้งครรภ์ได้เร็วกว่า( ประมาณที่ 5 สัปดาห์)การตรวจผ่านทางหน้าท้อง ซึ่งการตรวจอัลลตราซาวด์ทางหน้าท้อง จะเห็นถุงการตั้งครรภ์ได้เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6 สัปดาห์ หลังจากระยะ 5-6 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ไปแล้ว จะเริ่มเห็นตัวทารก และเห็นการเต้นของหัวใจทารก

เมื่อประจำเดือนขาด เบื้องต้นควรทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าตั้งครรภ์หรือไม่?

เมื่อมีประจำเดือนขาดในหญิงวัยเจริญพันธ์ที่มีเพศสัมพันธ์ การตรวจฮอร์โมนการตั้งครรภ์จากปัสสาวะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ปัจจุบันสตรีสามารถตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง โดยสามารถชื้อชุดตรวจการตั้งครรภ์ได้ตามร้ายขายยา หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป ราคาไม่แพง วิธีการตรวจไม่ยุ่งยาก(อ่านและทำตามได้จากเอกสารกำกับที่มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์) สามารถบอกผลได้รวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 2-3 นาทีในการอ่านผล ความแม่นยำมากกว่า 99% สามารถตรวจปัสสาวะตอนไหนของช่วงวันก็ได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์และการแปลผล)

ในสตรีกลุ่มดังกล่าว ที่ประจำเดือนเคยมาอย่างสม่ำเสมอ หากประจำเดือนเลยกำหนดไป 1 วัน และมีการปฏิสนธิในรอบเดือนนั้น จะสามารถตรวจฮอร์โมนการตั้งครรภ์ให้ผลบวกได้เลย เพราะหากนับเป็นสัปดาห์ของการตั้งครรภ์ จะเป็นสัปดาห์ที่ 4 ของการตั้งครรภ์ (ในทางการแพทย์ นับว่ามนุษย์มีการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ หลังจากมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย)

ควรพบสูติแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อตรวจพบว่า มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจากการตรวจปัสสาวะ หรือจากการตรวจเลือด หรือ การตรวจอัลตร้าซาวด์ท้องน้อยก็ตาม ควรรีบไปพบสูติแพทย์ เพื่อที่จะได้รับการดูแลจากสูติแพทย์ ที่เราเรียกกันว่า “การฝากครรภ์” สตรีตั้งครรภ์ไม่ควรปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไป หรือรอจนอายุครรภ์มากๆ จึงไปฝากครรภ์

การไปฝากครรภ์ ตั้งแต่เนิ่นๆ นั้น แพทย์จะได้ค้นหาความผิดปกติต่างๆทั้งของมารดาและของทารกในครรภ์ เช่น การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย ความผิดปกติทางโครโมโซมของทารก และแพทย์จะได้วางแผนการดูแลทั้งมารดาและทารกในครรภ์ระหว่างตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม เพื่อให้เป็นการฝากครรภ์ที่มีคุณภาพ

ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนพบสูติแพทย์?

เมื่อตรวจพบมีการตั้งครรภ์ การเตรียมตัวพบสูติแพทย์ คือ ทำจิตใจให้สดชื่น ไม่วิตกกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ ควรงดมีเพศสัมพันธ์ในคืนก่อนไปฝากครรภ์ครั้งแรก เพราะแพทย์อาจมีการตรวจภายใน และมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหากสตรีตั้งครรภ์ไม่เคยตรวจมาก่อนหรือตรวจมานานเกิน 1 ปี

หลังจากพบสูติแพทย์แล้ว ก็ให้ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ ร่วมกับการมาพบสูติแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดสม่ำเสมอ

บรรณานุกรม

  1. http://emedicine.medscape.com/article/262591-overview[2017,April8]
  2. http://www.healthline.com/health/hcg-blood-test-quantitative#Results6[2017,April8]
  3. https://www.uptodate.com[2017,April8]