อะทีโนลอล/พรีโนลอล (Atenolol/Prenolol)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

อะทีโนลอล หรือ ยาพรีโนลอล (Atenolol หรือ Prenolol) คือ ยารักษาอาการ โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ภาวะหัวใจล้มเหลว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, รวมถึงโรคความดันโลหิตสูง, ใช้ป้องกันการปวดหัวจากไมเกรน, อาการวิตกกังวล, และกลุ่มอาการจากการหยุดเหล้าอีกด้วย, ซึ่งสามารถใช้เป็นยาเดี่ยวๆ หรือจะใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยากลุ่ม Calcium-channel blockerในการรักษาโรคก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการป่วยและดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ, ซึ่งยานี้จัดเป็นยากลุ่ม เบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blockers)

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาอะทีโนลอลจะเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด ยาอะทีโนลอลสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และกระจายเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 40 - 50% ตัวยาในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 6 - 16% ตับจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้เป็นปริมาณที่น้อยกว่า 10% จากตัวยาในกระแสเลือด ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 - 7 ชั่วโมงในการกำจัดยาอะทีโนลอลจำนวน 50% ออกจากกระแสโลหิตและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ข้อดีของการใช้ยาอะทีโนลอลนี้คือ รับประทานเพียงวันละ1ครั้ง จึงทำให้สะดวกต่อการใช้ยา แต่ก็ยังมีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังอยู่หลายประการที่แพทย์มักจะนำมาพิจารณาประกอบก่อนการสั่งจ่ายยานี้อย่างเช่น

  • หากผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นช้าประเภท Sinus bradycardia หรือมีภาวะช็อกจากหัวใจหยุดเต้น แพทย์จะไม่เลือกใช้ยาอะทีโนลอลในการรักษา
  • ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาอะทีโนลอลมาก่อนหรือไม่
  • มีโรคประจำตัวหลายประเภทที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากหากจะต้องใช้ยาอะทีโนลอล ด้วยอาการโรคดังกล่าวอาจเพิ่มระดับความรุนแรงได้มากขึ้นเมื่อมีการใช้ยาอะทีโนลอลนี้ เช่น โรคหืด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตต่ำ โรคซึมเศร้า ภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ โรคตับ โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma) และอื่นๆ
  • สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรหากมารดาได้รับยาอะทีโนลอลอาจสุ่มเสี่ยงทำให้ทารกมีอาการหัวใจเต้นช้าและเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำติดตามมา
  • มีประวัติการใช้ยาหรือปัจจุบันใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ด้วยมียาหลายรายการที่ใช้ร่วมกับยาอะทีโนลอลแล้วอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาและทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงติดตามมาได้อย่างมากมาย เช่น กลุ่มยาแก้แพ้, ยา Digoxin, กลุ่ม MAOI, กลุ่ม Calcium channel blocker, กลุ่มยาเบาหวาน รวมถึงกลุ่มยาลดความอ้วน ซึ่งแพทย์ต้องนำมาพิจารณาว่าสมควรใช้ร่วมกันหรือไม่ อาจต้องปรับขนาดรับประทานหรือไม่ใช้ยาอะทีโนลอล เป็นต้น
  • ถึงแม้จะมีการสั่งจ่ายยาอะทีโนลอลกับผู้ป่วยแล้วก็ตาม หากผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ยาในภาย หลัง หรือพบอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่รบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ต้องหยุดการใช้ยานี้แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ประการสุดท้าย แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ให้ตรงเวลา ต้องหมั่นคอยตรวจ สอบอาการโรคด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอเช่น การวัดความดันโลหิตเมื่ออยู่ที่บ้าน หลังการใช้ยานี้แล้วพบว่าอาการโรคไม่ดีขึ้นตามระยะเวลาที่เหมาะสม ควรต้องนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรง พยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาอะทีโนลอลอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดอยู่ในหมวดของยาอันตราย มีการใช้ยาอะทีโนลอลในสถานพยาบาลโดยทั่วไปทั้งของรัฐบาลและเอกชน รวมถึงมีจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามผู้บริโภคไม่สมควรไปหาซื้อยานี้มารับประทานเอง ควรต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

อะทีโนลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อะทีโนลอล-พรีโนลอล-01

ยาอะทีโนลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ : เช่น

  • รักษาอาการความดันโลหิตสูง
  • ป้องกันและบำบัดรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • บำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • ลดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ลดภาวะวิตกกังวล
  • ป้องกันการปวดหัวจากไมเกรน

อะทีโนลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะทีโนลอลคือ ตัวยาจะเข้าไปจับกับตัวรับ (Receptor) ในร่างกายที่เรียกว่า Beta1 receptor ซึ่งพบตามเนื้อเยื่อของหัวใจ ผนังหลอดเลือด และเนื้อเยื่อไต จากนั้นตัวยาจะปิดกั้นการทำงานของตัวรับดังกล่าวส่งผลให้หัวใจลดการบีบตัวลง ทำให้ปริมาณเลือดที่ถูกสูบ ฉีดออกจากหัวใจน้อยลงด้วย อีกทั้งส่งผลยับยั้งการปลดปล่อยสารเรนิน (Renin)จากไตทำให้เพิ่มการขับถ่ายของเกลือโซเดียมออกจากร่างกาย จากกล ไกเหล่านี้จึงส่งผลลดอัตราการเต้นของหัวใจทำให้กลับมาเต้นในจังหวะที่ปกติ ลดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และลดความดันโลหิตสูงได้ตามสรรพคุณ

อนึ่งยานี้ไม่สามารถซึมผ่านสมองได้จึงไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลางมากนัก และถือเป็นข้อดีอีกประการของยาอะทีโนลอล

อะทีโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทยยาอะทีโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด

อะทีโนลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะทีโนลอลมีขนาดรับประทานหลากหลาย ขึ้นกับว่าใช้รักษาควบคุมอาการของโรค/ภาวะอะไร ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดขนาดและระยะเวลาในการใช้ยานี้ที่แตกต่างกันไป ในบท ความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดยานี้ที่ใช้ทั่วไปในบางข้อบ่งใช้ เช่น

  • ก. สำหรับความดันโลหิตสูง: เช่น
    • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง ภายใน 1 - 2 สัปดาห์หลังใช้ยาไปแล้ว หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • ข. สำหรับป้องกันและบำบัดรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด: เช่น
    • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง ซึ่งผู้ป่วยบางกลุ่มแพทย์อาจต้องปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 200 มิลลิกรัม/วัน
  • ค. สำหรับอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ: เช่น
    • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นตามลำดับทุกๆ 1 สัปดาห์ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กยังไม่ได้ระบุการจัดทำทางคลินิก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • กรณีผู้ป่วยโรคไตแพทย์อาจจะปรับขนาดรับประทานของยานี้โดยพิจารณาเป็นกรณีๆไป
  • รับประทานยานี้ก่อนหรือหลังหรือพร้อมอาหารก็ได้ แต่ควรรับประทานยานี้พร้อมกับดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เพียงพอ
  • ระยะเวลาของการใช้ยาอะทีโนลอลจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยร่วมกับดุลยพินิจของแพทย์ว่าสมควรให้ใข้ยานี้ต่อไปหรือไม่

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะทีโนลอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะทีโนลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะทีโนลอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาอะทีโนลอลให้ตรงเวลา

อะทีโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

โดยทั่วไปยาอะทีโนลอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ตาพร่า
  • มือ-เท้าเย็น
  • รู้สึกสับสน
  • วิงเวียน
  • เป็นลม
  • เหงื่อออกมาก
  • แน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก
  • อ่อนเพลียผิดปกติ

นอกจากนี้ ยังมีอาการข้างเคียงที่อาจพบได้น้อย เช่น มีอาการหนาวสั่น ไอ วิตกกังวล เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นช้าผิดปกติ หยุดหายใจ ปวดขา ปัสสาวะมีสีเลือด ปัสสาวะน้อยลง ความดันโลหิตกลับมาสูง กระหายน้ำ ปวดกระดูก มีไข้ ฝันร้าย และอื่นๆ

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: อาจพบอาการวิตกกังวล มีภาวะโคม่า ตัวเย็น ผิวหนังซีด เส้นเลือดดำบริเวณลำคอขยายตัว/โป่งพอง อ่อนเพลียอย่างมาก ปวดหัว หิวอาหาร หายใจผิดปกติ เกิดภาวะลมชัก พูดจาไม่ชัด หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้อะทีโนลอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะทีโนลอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอะทีโนลอล
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือผู้ที่มีอาการช็อกจากภาวะหัวใจหยุดเต้น
  • การใช้ยากับสตรีวัย 54 ปีขึ้นไปอาจพบอาการเต้านมโต เจ็บ/คัดตึงเต้านม อย่างไรก็ตามเมื่อหยุดการใช้ยานี้อาการเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้นและหายไปเอง
  • หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดแพทย์จะหยุดการใช้ยาอะทีโนลอล ด้วยตัวยาจะก่อให้เกิดผล กระทบต่อการตอบสนองของหัวใจในขณะทำการผ่าตัด
  • หากพบอาการน้ำหนักตัวเพิ่มหลังการใช้ยานี้ อาจเป็นเหตุผลมาจากระบบการเผาผลาญอา หารของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อมีอาการแพ้ยาเช่น เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก เกิดลมพิษขึ้นเต็มตัว มีอาการบวมของมือ-เท้า-ใบหน้า-ลำคอ เมื่อมีอาการดังกล่าวต้องพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • หมั่นตรวจสอบความดันโลหิตในระหว่างการใช้ยานี้ว่าเป็นปกติหรือไม่ตามแพทย์พยาบาล แนะนำ
  • มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะทีโนลอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะทีโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะทีโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอะทีโนลอล ร่วมกับยากลุ่ม Calcium channel blockers อาจนำมาซึ่งภาวะ หัวใจเต้นช้าหรือถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น รวมถึงทำให้ความดันโลหิตในขณะที่มีการคลายตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายเพิ่ม ขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาอะทีโนลอล ร่วมกับยา Aminophylline อาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของอะทีโนลอลลด ลงและเพิ่มอาการข้างเคียงจากยา Aminophylline โดยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ ตัวสั่น กระสับกระส่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาอะทีโนลอล ร่วมกับยา Atazanavir อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และพบอาการวิงเวียน เป็นลมร่วมด้วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาอะทีโนลอล ร่วมกับยา Ephedrine อาจทำให้ประสิทธิภาพการขยายหลอดลมของ การใช้ยา Ephedrine ในกรณีฉุกเฉินด้อยลงไปดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งสองตัวร่วมกัน

ควรเก็บรักษาอะทีโนลอลอย่างไร?

ควรเก็บยาอะทีโนลอล: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อะทีโนลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะทีโนลอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Atcard (แอทการ์ด) Utopian
Atenol (อะทีนอล) T. O. Chemicals
Atenolol Community Pharm (อะทีนอล คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) Community Pharm PCL
Atenolol Kopran (อะทิโนลอล โคพราน) Kopran
Betaday-50 (เบต้าเดย์-50) Vesco Pharma
Enolol (อีโนลอล) Charoon Bhesaj
Esnolol (เอสโนลอล) Emcure Pharma
Eutensin (ยูเทนซิน) Greater Pharma
Oraday (ออราเดย์) Atlantic Lab
Prenolol (พรีโนลอล) Berlin Pharm
Tenocard (ทีโนคาร์ด) IPCA
Tenolol (ทีโนลอล) Siam Bheasach
Tenormin (ทีนอร์มิน) AstraZeneca
Tenrol (เทนรอล) Unique
Tetalin (ทีตาลิน) Pharmasant Lab
Tolol (โทลอล) Suphong Bhaesaj
Velorin (วีโลริน) Remedica

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Atenolol  [2022,July9]
  2. https://www.drugs.com/atenolol.html  [2022,July9]
  3. https://www.rxlist.com/atenolol-drug.htm  [2022,July9]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=atenolol&page=0   [2022,July9]
  5. http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/essential_book_56.pdf  [2022,July9]
  6. https://www.mims.com/thailand/drug/info/atenol  [2022,July9]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Beta-1_adrenergic_receptor  [2022,July9]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/atenolol-index.html?filter=3&generic_only  [2022,July9]