มีลอกซิแคม (Meloxicam)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- มีลอกซิแคมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- มีลอกซิแคมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มีลอกซิแคมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีลอกซิแคมมีขนาดรับประทานยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- มีลอกซิแคมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มีลอกซิแคมอย่างไร?
- มีลอกซิแคมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามีลอกซิแคมอย่างไร?
- มีลอกซิแคมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- กลุ่มยาแก้ปวด และยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- ยาลดไข้ ยาแก้ไข้ (Antipyretics) และยาแก้ปวด (Analgesic or Pain Killer)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
บทนำ: คือยาอะไร?
มีลอกซิแคม (Meloxicam) คือ ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAID, Non steroidal anti-inflam matory drug) ใช้บรรเทาอาการปวดและเป็นยาลดไข้ ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์หลังจากรับประทานได้ประมาณ 30 - 60 นาที อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงที่เด่นของยานี้เป็นเรื่องที่ตัวยาอาจทำให้เกิด ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว กับผู้ป่วยบางรายสามารถเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือดของเส้นเลือดและถึงขั้นตายได้ในที่สุด เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยก่อนการใช้ยานี้ควรต้องได้รับการตรวจคัดกรองและมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
ยามีลอกซิแคมในต่างประเทศจะรู้จักกันดีในชื่อการค้าว่า “Mobic” รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด
ยามีลอกซิแคมสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 89% เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 99% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาอย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาประมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยได้จัดให้ยามีลอกซิแคมเป็นยาอันตราย มีวางจำหน่ายตามร้านขายยาและสถานพยาบาลขนาดใหญ่ๆทั่วไป
มีลอกซิแคมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยามีลอกซิแคมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บรรเทาอาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
- บรรเทาอาการปวดกระดูก/โรคข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
มีลอกซิแคมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมลอกซิแคมคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์ของร่างกายในการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin, สารที่เกี่ยวข้องกับการปวด), ทรอมบอกเซน(Thromboxane, สารที่เกี่ยวข้องกับการหดตัวของหลอดเลือด และช่วยการจับตัวรวมกันของเกล็ดเลือด), และโพรสตาไซคลิน (Prostacyclin, สารที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวของหลอดเลือด) จากกลไกการลดสารเคมีเหล่านี้จึงอาจส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษา
มีลอกซิแคมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยามีลอกซิแคมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 7.5 และ 15 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีด ขนาด 15 มิลลิกรัม/1.5 มิลลิลิตร
มีลอกซิแคมมีขนาดรับประทานยาอย่างไร?
ยามีลอกซิแคมมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 7.5 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง หากจำเป็นแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็น 15 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลระบุการใช้ยากับเด็กที่ชัดเจน การใช้ยานี้กับเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้หลังหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมลอกซิแคม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมลอกซิแคมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเมลอกซิแคม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
มีลอกซิแคมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามีลอกซิแคมสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- อาจทำให้การทำงานของหัวใจและหลอดเลือดผิดปกติ
- ความดันโลหิตสูง
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- รู้สึกไม่สบายในช่องทางเดินอาหาร
- เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (แผลเปบติค)
- มีภาวะเลือดออกง่าย
- เกิดผิวหนังอักเสบ
- มีอาการ Stevens - Johnson syndrome
- เป็นพิษกับไต และ ทำให้ไตวายได้
- อาจเกิดภาวะ ตับอักเสบ ตับวาย
- คลื่นไส้
- อ่อนเพลีย
- ดีซ่าน
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะมีอาการดังนี้ เช่น ง่วงนอน คลื่นไส้อาเจียน มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร (เลือดออกในทางเดินอาหาร) หากอาการพิษของยานี้รุนแรงมากสามารถพบภาวะความดันโลหิตสูง ไตวายเฉียบพลัน ตับไม่ทำงาน/ตับวาย หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เกิดอาการ โคม่า มีอาการชัก หัวใจหยุดเต้น หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบพาผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งการปฐมพยาบาล แพทย์จะให้ยาถ่านกำมันต์เพื่อดูดซับพิษของยามีลอกซิแคม นอกจากนี้ อาจเร่งการกำจัดยามีลอกซิแคมออกจากร่างกายโดยให้กินยา Cholestyramine ขนาด 4 กรัม 3 ครั้ง/วัน และต้องเร่งให้มีการกำจัดยาโดยขับออกมากับปัสสาวะให้มากขึ้นโดยให้ดื่มน้ำสะอาดเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อย 8 - 10แก้ว/วันเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
มีข้อควรระวังการใช้มีลอกซิแคมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยามีลอกซิแคม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือผู้ที่แพ้ยากลุ่ม Aspirin หรือแพ้ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) -
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่เป็นลมพิษ ผื่นคัน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดหัวใจ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้/แผลเปบติค ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามีลอกซิแคมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
มีลอกซิแคมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยามีลอกซิแคมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยามีลอกซิแคม ร่วมกับยา Cyclosporine สามารถเพิ่มความเป็นพิษกับไตได้มากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยามีลอกซิแคม ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารมากยิ่งขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยามีลอกซิแคม ร่วมกับยาต้านไวรัส เช่นยา Tenofovir อาจก่อให้เกิดภาวะไตทำงานผิด ปกติ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- ห้ามใช้ยามีลอกซิแคม ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบด้วยจะทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่ายยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษามีลอกซิแคมอย่างไร?
สามารถเก็บยาเมลอกซิแคม:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
มีลอกซิแคมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมลอกซิแคม มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cambic 15 (แคมบิก 15) | L. B. S. |
M.P. Osoth 15 (เอ็ม.พี. โอสถ 15) | Osoth Interlab |
Melcam (เมลแคม) | Unison |
Melobic (มีโลบิก) | T.O. Chemicals |
Mel-OD (เมล-โอดี) | Zydus Cadila |
Melox (มีลอกซ์) | Siam Bheasach |
Mobic (โมบิก) | Boehringer Ingelheim |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/meloxicam?mtype=generic [2022,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Meloxicam [2022,May21]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/meloxicam?mtype=generic [2022,May21]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/meloxicam.html [2022,May21]