ภาวะเร่งด่วนทางหู (Ear emergencies)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร?

ภาวะเร่งด่วนทางหู (Ear emergencies) คือ โรค/ภาวะผิดปกติทางหู ที่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติรุนแรงฉับพลัน/เฉียบพลัน ที่ควรต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างรีบด่วนทันที ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึง ภาวะเร่งด่วนทางหูในเรื่องของ

  • ใบหูฉีกขาด (Pinna laceration)
  • สิ่งแปลกปลอมเข้าหู (Ear foreign body)
  • แก้วหูทะลุ (Acute perforated ear drum)
  • หูดับฉับพลัน (Sudden hearing loss)
  • เวียนศีรษะ (Dizziness)
  • และขี้หูอุดตัน (Earwax blockage)

ภาวะเร่งด่วนทางหู-01

ใบหูฉีกขาดหมายความอย่างไร?  ปฐมพยาบาลอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร? มีแนวทางรักษาอย่างไร?

ใบหูฉีกขาด (Pinna laceration) คือภาวะหูบาดเจ็บที่มักเกิดจากของมีคมบาด ฟัน(ถูกกัด) หรืออุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์

การปฐมพยาบาล การพบแพทย์ และแนวทางการรักษา: ได้แก่

  • ล้างแผลให้ทั่วและให้สะอาดด้วยน้ำเกลือ 0.9% (Normal saline) หรือน้ำประปาสะอาด, และใส่ยาปฏิชีวนะแบบครีม หรือขี้ผึ้ง (Antibiotic ointment), เสร็จแล้วปิดด้วยผ้าก๊อซสะอาด, หลังจากนั้น รีบพบแพทย์ฉุกเฉิน/ทันที
  • ถ้าใบหูฉีกขาดไม่มาก แพทย์จะเย็บแผลให้เลย เช่น บริเวณที่ขาดหรือหายไปน้อยกว่า 2 เซนติเมตร, แต่ถ้ามากกว่า 3 เซนติเมตร อาจต้องเอาเนื้อเยื่อที่อื่นมาเย็บซ่อม
  • ถ้าใบหูหลุดออกมา: ให้ล้างให้สะอาดด้วยน้ำเกลือ 0.9% ถ้าเป็นน้ำเกลือที่แช่เย็นยิ่งดี  
    • และถ้าหาน้ำยาได้: ควรแช่ใบหูในภาชนะที่บรรจุสารน้ำริงเกอร์ที่ผสมเฮปพาริน (Heparinized Ringer’s lactate solution) และผสมยาปฏิชีวนะ เช่น ยา Penicillin เป็นต้น, แล้วรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินพร้อมหูที่หลุดออกมา
      • ถ้าไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ การรักษาจะมีประสิทธิภาพกว่า เพราะมีทีมแพทย์ผ่าตัดประจำ
    • ถ้าหาน้ำยาไม่ได้: ควรห่อใบหูที่ล้างแล้วด้วยผ้าเปียกสะอาดแล้วใส่ในภาชนะสะอาดปิดมิดชิด, แล้วแช่ภาชนะนั้นในน้ำแข็ง, แล้วรีบพบแพทย์ฉุกเฉิน/ทันที เพื่อนำมาให้แพทย์เย็บต่อใบหู

สิ่งแปลกปลอมเข้าหูมีอาการอย่างไร? ปฐมพยาบาลอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ผู้ป่วยที่มาด้วยประวัติมีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู จะมีอาการ หูอื้อ   ปวดหู  บางครั้งมีเลือดออกจากหูด้วย สิ่งแปลกปลอมแบ่งเป็น

  • สิ่งที่มีชีวิต
  • สิ่งที่ไม่มีชีวิต ที่พบบ่อย คือ เมล็ดพืช

 การปฐมพยาบาล:

  • ก. ถ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิต: ควรทำให้ตายก่อนด้วย ยาหยอดหู หรือ ยาน้ำมันมะกอก หรือน้ำมันพืชที่สะอาด เสร็จแล้วรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที
  • ข. ถ้าเป็นเมล็ดพืชเล็กๆ: ควรรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันทีตั้งแต่แรก เพราะการพยายามเอาเมล็ดพืชออก จะก่ออาการบาดเจ็บต่อหู และอาจถึงขั้นแก้วหูทะลุได้, ซึ่งเมื่อแพทย์วินิจฉัยได้จากการตรวจหูด้วยเครื่องตรวจหู แพทย์จะให้การรักษาโดยใช้กระบอกฉีดยาที่ติดท่อดูดของเหลวแล้วค่อยๆฉีดของเหลวเข้าในรูหู เพื่อดันเมล็ดพืชให้หลุดออกมา

แก้วหูทะลุจากแรงกระทบฉับพลันเกิดจากอะไร? มีอาการอย่างไร? ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ผู้ป่วยที่มีแก้วหูทะลุจากแรงกระทบฉับพลัน/เฉียบพลับ(Acute perforated ear drum)มักเกิดจากหูได้รับอุบัติเหตุ เช่น แคะ/แยงหูเข้าไปลึกๆ, หรือเกิดแรงอัด, หรือเสียงดังรุนแรง เช่น จากแรงระเบิด

อาการ: ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อทันที, ปวดหู, มีเลือดไหลจากหู, ซึ่งโดยทั่วไปรูทะลุจะปิดเองได้ภายใน 3 เดือน

แนวทางการรักษา: คือ

  • การอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ
  • ให้ยาแก้ปวดกินตามอาการ
  • ห้ามหยอดยาหรือสารใดๆเข้าไปในช่องหูเพราะจะเพิ่มโอกาสติดเชื้อของหูชั้นกลาง

การดูแลตนเองและการพบแพทย์:

*เมื่อได้รับบาดเจ็บที่หูทันทีและมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที ต่อจากนั้นปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ และพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

*ทั้งนี้ ระหว่างรอแก้วหูปิดเองตามธรรมชาติ เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น มีหนองจากรูหู, หูได้ยินลดลง, ปวดหูมากต่อเนื่อง, และ/หรือปวดหัวมาก, *ควรรีบด่วนพบแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูก/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ หรือทันที/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

หูดับฉับพลันคืออะไร? มีอาการอย่างไร? มีสาเหตุจากอะไร? แพทย์วินิจฉัยและหาสาเหตุได้อย่างไร? แพทย์รักษาอย่างไร? ควรดูแลตนเองอย่างไร?

หูดับฉับพลัน/เฉียบพลัน (Sudden hearing loss) คือ/หมายถึงการที่ประสาทหูชั้นในเกิดการเสื่อมทันทีทันใด, ส่งผลให้ไม่ได้ยิน หรือได้ยินน้อยลงกว่าปกติทันที (มากกว่า 30 เดซิเบล ใน 3 ความถี่คลื่นเสียงที่ติด ต่อกัน),  โดยอาการเกิดขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 3 วัน, ซึ่ง 85-90% ไม่ทราบสาเหตุ

โรคนี้พบได้ 'ไม่บ่อย' ส่วนใหญ่มักพบในช่วงอายุ 40-70 ปี และมักเกิดกับหูเพียงข้างเดียว, โอกาสเกิดกับข้างซ้ายและข้างขวาใกล้เคียงกัน, โดยพบในเพศชายเท่ากับในเพศหญิง

ก. อาการ:

  • อาการหลัก: อาการจากการสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับฟังเสียง/ประสาทหูชั้นในเสีย/หูดับฉับพลัน ที่สำคัญ/ที่ใช้ช่วยวินิจฉัยโรค คือ การไม่ได้ยินหรือได้ยินน้อยลง‘ที่เกิดทันที’ และการไม่ได้ยินเกิดต่อเนื่องนานอย่างน้อย3วัน
    • อาการดังกล่าว อาจเพียงรู้สึกได้ยินน้อยลงเล็กน้อย, หรือ อาจจะรู้สึกสูญเสียการได้ยินมากจนไม่ได้ยินในหูข้างที่เป็นเลยก็ได้
    • อาการอาจเป็นเพียงชั่วคราว: เช่น   
      • ได้ยินเสียงดังทำให้หูอื้อ และสักพักหูจะหายอื้อ
      • หรือจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาขับปัสสาวะ, เมื่อยาดังกล่าวหมดฤทธิ์, อาการหูอื้อดังกล่าวก็จะหายไป  
    • หรืออาจเป็นถาวรก็ได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา, หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป

*ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปโรงพยาบาล*ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ฉุกเฉิน/ทันที ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ

  • อาการอื่นๆที่เกิดร่วมด้วยกับการสูญเสียการได้ยิน:
    • หูอื้อ
    • การได้ยินลดลงในหูข้างที่เป็นอย่างฉับพลัน มักไม่ค่อยได้ยินเสียงเมื่อผู้พูดอยู่ไกล และมักได้ยินดีขึ้นในบรรยากาศที่เงียบสงัดปราศจากเสียงรบกวน
    • มักเป็นกับหูข้างเดียว, ถ้าเป็นทั้งสองข้าง ผู้ป่วยจะพูดดังกว่าปกติ
    • อาจมีเสียงดังในหู ซึ่งมักจะเป็นเสียงที่มีระดับความถี่สูง เช่น คล้ายเสียงจิ้งหรีด เสียงจักจั่น
    • อาจมีเวียนศีรษะร่วมด้วย
    • ผู้ป่วยบางรายอาจกลัวเสียงดังๆ หรือทนฟังเสียงดังไม่ได้ (เสียงดังจะทำให้เกิดอาการปวดหู, และจับใจความไม่ได้)

ข. หูดับฉับพลันมีสาเหตุจากอะไร?

หูดับฉับพลัน มีทั้งที่ เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ, และเกิดโดยทราบสาเหตุ

  • หูดับฉับพลันที่ไม่ทราบสาเหตุ: อาจเกิดจาก
    • โรคติดเชื้อไวรัสที่รักษาหายไปแล้ว เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิด โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคงูสวัด โรคคางทูม และโรคไข้หวัดใหญ่  อาจทำให้มีการอักเสบของประสาทหู ทำให้อวัยวะดังกล่าวทำหน้าที่ผิดปกติไป ซึ่งเชื้อไวรัสสามารถผ่านเข้าสู่หูชั้นในทางกระแสเลือด, ผ่านทางน้ำไขสันหลัง (ซีเอสเอฟ/CSF), หรือ ผ่านเข้าหูชั้นในโดยตรง (โรคหัด และไข้หวัดใหญ่ มักทำให้ประสาทหูเสื่อมทั้ง 2 ข้าง, ส่วนโรคคางทูม มักทำให้ประสาทหูเสื่อมเพียงข้างเดียว)
    • การอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในลดลง ทำให้เซลล์ประสาทหูขาดเลือด และทำหน้าที่ผิดปกติไป, หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน หรือเลี้ยงเซลล์ประสาทหูนั้น ไม่มีแขนงจากหลอดเลือดใกล้เคียงมาช่วย เมื่อมีการอุดตันจะทำให้เซลล์ประสาทหูตาย และเกิดประสาทเสื่อมได้ง่าย, โดยหลอดเลือดอาจอุดตันจาก หลอดเลือดแดงหดตัวเฉียบพลันจาก ความเครียด, การพักผ่อนไม่เพียงพอ, อ่อนเพลีย, หรือไม่ทราบสาเหตุ
    • หลอดเลือดเสื่อมตามวัย แล้วมีไขมันมาเกาะตามหลอดเลือด/โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Arteriosclerosis), และมีโรคบางโรคที่อาจทำให้หลอดเลือดดังกล่าวตีบแคบมากขึ้นร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน
    • เลือดข้น จากภาวะขาดน้ำ, และการขาดออกซิเจนเรื้อรัง
    • มีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด (Embolism หรือ Thrombosis)ของประสาทหู โดยลิ่มเลือดอาจไหลมาจากผู้ป่วยมี โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมีการบาดเจ็บที่อวัยวะต่างๆ
    • การอักเสบของหลอดเลือด/โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) จากสาเหตุต่างๆ เช่น ในโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
    • การรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง (Perilymphatic fistula) ซึ่งอาจเกิดจากการเบ่ง/การออกแรงมาก, การสั่งน้ำมูกแรงๆ, การไอแรงๆ, หรือการที่มีความดันในสมองสูงขึ้น ทำให้ประสาทหูชั้นในเสื่อม และมีอาการ เวียนศีรษะ บ้านหมุน และเสียงดังในหู/หูอื้อ
  • หูดับฉับพลันที่ทราบสาเหตุ: โดยอาจเกิดได้จาก
    • การบาดเจ็บ: เช่น
      • การบาดเจ็บที่ศีรษะ: อาจทำให้เกิดการรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง หรือกระดูกบริเวณกกหูหัก (Fracture of temporal bone) ทำให้มีการบาดเจ็บของเส้น ประสาทหูชั้นใน หรือมีเลือดออกในหูชั้นใน
      • การผ่าตัด: โดยเฉพาะการผ่าตัดหูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโกลน (Stapedectomy) เพื่อให้การได้ยินดีขึ้น หรือการผ่าตัดเนื้องอกเส้นประสาทหู หรือของประสาทการทรงตัว (Acoustic neuroma)
      • การเปลี่ยนแปลงของความกดดันของหูชั้นใน: เช่น การเปลี่ยนแปลงของความกดดันของบรรยากาศ (Barotrauma) เช่น ดำน้ำ ขึ้นที่สูง หรือเครื่องบิน หรือได้ยินเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้นๆ (Acoustic trauma) เช่น เสียงประทัด เสียงระเบิด หรือเสียงปืน
    • เนื้องอก: เช่น เนื้องอกเส้นประสาทหู  ที่มีการเพิ่มขนาดอย่างเฉียบพลัน (เช่นมีเลือดออกในก้อนเนื้องอก) จนอาจไปกดทับเส้นประสาทหูได้
    • การติดเชื้อของหูชั้นใน เช่น หูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) จากหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง (Acute or chronic otitis media), จากเชื้อซิฟิลิส, หรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (เชื้อแบคทีเรียมักเข้าสู่หูชั้นในทางน้ำไขสันหลัง ซึ่งมักจะทำให้ประสาทหูเสื่อมทั้ง 2 ข้าง)
    • สารพิษที่รวมถึงผลข้างเคียงจากยา:
      • ยาบางชนิดอาจทำให้หูตึงชั่วคราวได้ เช่น ยาแก้ปวดที่มีส่วนประกอบของ Salicylate, ยาขับปัสสาวะ, ซึ่งหลังหยุดยาดังกล่าว อาการหูอื้อ หรือหูตึงมักจะดีขึ้น และอาจกลับมาเป็นปกติ
      • ยาบางชนิดอาจทำให้ประสาทหูเสื่อมอย่างถาวรได้ เช่น ยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะ กลุ่ม Aminoglycosides เช่น Streptomycin, Kanamycin, Gentamicin, Neomycin, และ Amikacin, ประสาทหูที่เสื่อมจากยาเหล่านี้ อาจเกิดทันทีหลังจากใช้ยา หรือเกิดหลังจากหยุดใช้ยาไประยะหนึ่งแล้วก็ได้
    • โรคมีเนีย/ โรคเมนิแยร์  หรือน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere disease): โรคนี้น้ำในท่อหูชั้นในที่มีปริมาณมาก อาจกดเบียดทำลายเซลล์ประสาทหู ทำให้ประสาทหูเสื่อม ฉับพลันได้ มักมีอาการเสียงดังในหู/หูอื้อ หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนร่วมด้วย

ค. แพทย์วินิจฉัยหูดับฉับพลันและหาสาเหตุได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหูดับฉับพลันโดยอาศัย

  • การซักประวัติอาการ
  • การตรวจหู
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • การตรวจต่างๆทางห้องปฏิบัติการและทางรังสีวิทยาเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์

การซักประวัติอาการ:  ได้แก่ การสอบถามอาการทางหู และสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมด ที่จะทำให้เกิดประสาทหูเสื่อมฉับพลัน

การตรวจหู: ได้แก่ การตรวจหูด้วยเครื่องตรวจหู (Otoscope) เพื่อดูพยาธิสภาพของช่องหู, ของแก้วหู, ของหูชั้นกลาง, และตรวจบริเวณรอบหู

การตรวจร่างกายทั่วๆไป: ที่พยายามหาสาเหตุของประสาทหูเสื่อมชนิดฉับพลัน: เช่น การตรวจฟังเสียงหัวใจ เป็นต้น

การตรวจอื่นๆเพิ่มเติมฯ: เช่น

  • ตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของสารเคมีในเลือด
  • การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจการได้ยินเพื่อยืนยันและประเมินระดับความรุนแรงของประสาทหูเสื่อมฉับพลัน
  • การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง

และการถ่ายอวัยวะที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอ (MRI)  สมอง หรือกระดูกหลังหู ในผู้ป่วยบางราย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ง. แพทย์รักษาหูดับฉับพลันอย่างไร?

แนวทางการรักษาหูดับฉับพลัน: 

  • ในรายที่ทราบสาเหตุ: แพทย์จะให้รักษาตามสาเหตุ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาประสาทหูที่เสื่อมให้คืนดีได้ มักเป็นการรักษาตามอาการ (เช่น อาการ เวียนศีรษะ เสียงดังในหู/หูอื้อ) หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงต่างๆ (เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
  • ในรายที่ไม่ทราบสาเหตุ: มักจะมีโอกาสหายได้เองสูงถึง 60-70% การรักษามุ่งหวังให้มีการลดการอักเสบของประสาทหู, ให้มีเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น, และลดการรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลางซึ่งอาจจากมีการเพิ่มความดันในหูอย่างรุนแรงทันที เช่น การยกน้ำหนักมาก หรือการดำน้ำ(ถ้ามี)โดยการเลิกพฤติกรรมนั้นๆที่เป็นสาเหตุ

ทั้งนี้ การรักษาทั้ง 2 กรณี อาจมีการรักษาโดยการใช้ยาต่างๆตามดุลพินิจของแพทย์: เช่น

  • ยาลดการอักเสบจำพวกสเตียรอยด์ (เช่นยา Prednisolone): มีจุดมุ่งหมายลดการอักเสบของประสาทหู อาจเป็นชนิดกิน หรือฉีดเข้าหู หรือทั้งสองวิธีขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • ยาขยายหลอดเลือด: มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น เช่น ยา Nicotinic acid และ Betahistine
  • ยาวิตามิน อาจช่วยบำรุงประสาทหูที่เสื่อม เช่น วิตามินบี
  • ยาลดอาการเวียนศีรษะ (ถ้ามีอาการ)

*อนึ่ง: การนอนพัก: มีจุดประสงค์เพื่อลดการรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าในหูชั้นกลาง (ถ้ามี) แนะนำให้ผู้ป่วยนอนพัก โดยยกศีรษะสูงประมาณ 30 องศาจากพื้นราบเพื่อให้มีความดันในหูชั้นในน้อยที่สุด, ไม่ควรทำงานหนัก, หรือออกกำลังกายที่หักโหม, บางรายแพทย์อาจแนะนำให้นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 สัปดาห์

การรักษาวิธีอื่นๆ: แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจวัดระดับการได้ยินเป็นระยะๆเพื่อ ประเมินผลการรักษา *และอาจนัดติดตามผู้ป่วยในระยะยาว เนื่องจากผู้ป่วยบางรายที่ไม่ทราบสาเหตุ อาจพบสาเหตุในภายหลังได้ซึ่งจะช่วยให้มีวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพขึ้น

จ. ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อหูดับฉับพลัน?

ผู้ป่วยควรดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น โดย  

  • หลีกเลี่ยงเสียงดัง
  • ถ้าเป็น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคไตเรื้อรัง  โรคเกาต์  ภาวะซีด โรคเลือด ควรต้องรักษาควบคุมโรคเหล่านั้นให้ดี
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู เช่นยา แอสไพริน,  ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycoside, ยารักษาโรคไข้จับสั่น/ยาต้านมาลาเรีย, หรือ โรคตะคริว กลุ่ม Quinine
  • หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหู (หูติดเชื้อ) และ/หรือการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
  • ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น คาเฟอีน (เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลมชนิดมีคาเฟอีน  เครื่องดื่มชูกำลังชนิดมีคาเฟอีน)
  • งดสูบบุหรี่ เพราะมีสารนิโคติน (Nicotine) ที่ผลต่อเส้นประสาทได้เช่นกัน
  • พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ลดความเครียด ความวิตกกังวล และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

*อนึ่ง: ส่วนใหญ่ประสาทหูเสื่อมชนิดฉับพลันแบบไม่ทราบสาเหตุ ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็วโดยเฉพาะใน 2 สัปดาห์แรกหลังเกิดอาการ และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมมีโอกาสสูงที่จะมีการได้ยินกลับมาเป็นปกติได้ (ส่วนใหญ่การได้ยินมักจะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกของการสูญเสียการได้ยิน) ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่ามีการได้ยินในหูลดน้อยลงอย่างฉับพลัน อย่านิ่งนอนใจ*ให้รีบพบแพทย์หู คอ จมูกโดยเร็ว อาจภายใน 24 ชั่วโมงหรือฉุกเฉิน/ทันทีขึ้นกับสาเหตุ เพื่อลดโอกาสเกิดหูหนวกถาวร

เวียนศีรษะ (Dizziness):

อาการเวียนศีรษะ เป็นอาการพบได้บ่อย เป็นความรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจริง ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนไป หรือรู้สึกว่าตัวผู้ป่วยเองหมุน หรือไหวไป

ความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในการรับข้อมูล หรือการเสียสมดุลของระบบประสาททรงตัวของร่างกายซึ่งประกอบด้วย  ตา, ประสาทสัมผัสบริเวณข้อต่อ, อวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นใน, ระบบประสาทส่วนกลางที่ฐานสมอง, และที่ตัวสมองเอง,  ความผิดปกติดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจไปว่ามีการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นทั้งๆที่ความจริงไม่มี

เนื่องจากอวัยวะการทรงตัว และอวัยวะการได้ยิน อยู่ใกล้ชิดสัมพันธ์กันจากหูไปสู่สมอง  โรคของระบบทรงตัวจึงมักสัมพันธ์กับการเสียการได้ยิน, หูอื้อ, และมีเสียงดังรบกวนในหูได้

เมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะ มักจะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของลูกตา (ตากระตุก หรือ Nystagmus) การเซ การล้ม อาการคลื่นไส้อาเจียน เหงื่อแตก ร่วมด้วยได้

หมายเหตุ:  แนะนำอ่านบทความเต็มของเรื่อง ‘เวียนศีรษะ’ ได้จากบทความที่ได้เขียนแยกต่างหากในเว็บhaamor.com นี้

ขี้หูอุดตัน (Earwax blockage):

ขี้หู (Earwax) สร้างจากต่อมสร้างขี้หู ซึ่งอยู่ในช่องหูชั้นนอก ขี้หูมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ มีสารต่อต้านเชื้อโรค และไม่ละลายน้ำ มีหน้าที่ช่วยปกป้องผิวหนังของช่องหูชั้นนอก และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปลึกในช่องหู บางคนมีขี้หูเปียก บางคนมีขี้หูแห้ง บางคนมีขี้หูมาก บางคนมีขี้หูน้อย

โดยปกติ ขี้หูจะมีการเคลื่อนที่จากเยื่อบุแก้วหูออกไปยังช่องหูชั้นนอกได้เอง ไม่จำเป็นต้องไปแคะออก

ปัญหาของขี้หูเกิดขึ้นได้ ถ้าขี้หูมีปริมาณมากและอุดตันช่องหูชั้นนอก ทำให้มีอาการหูอื้อ  มีเสียงดังในหูหรือปวดหูหน่วงๆได้  

*ทั้งนี้ เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์/แพทย์หู คอ จมูก เพื่อหาสาเหตุ และได้รับการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆ

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้ขี้หูมีปัญหา คือ การใช้ไม้พันสำลี (Cotton bud) ทำความสะอาดช่องหูชั้นนอก โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ แล้วมีน้ำเข้าหู ซึ่งทำให้รู้สึกรำคาญ การกระทำดังกล่าวจะยิ่งกระตุ้น ทำให้ต่อมสร้างขี้หูทำงานมากขึ้น มีปริมาณขี้หูที่ผลิตออกมามากขึ้น และยิ่งดันขี้หู ในช่องหูให้อัดแน่นยิ่งขึ้น ทำให้ขี้หู อุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น

เมื่อสงสัยว่ามีขี้หูอุดตัน ทำให้เกิดอาการผิดปกติของหู ควรไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นขี้หูอุดตันจริงหรือไม่ แพทย์จะใช้เครื่องตรวจหู ส่องตรวจช่องหูชั้นนอกว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติของหู เกิดจากขี้หูอุดตันหรือไม่ ถ้าเป็นขี้หูอุดตันจริง

  • แพทย์จะพยายามนำขี้หูออกให้ อาจโดยการล้างช่องหูชั้นนอกด้วยน้ำเกลือ การคีบ หรือดูด หรือใช้เครื่องมือแคะขี้หูออก
  • ถ้าไม่สามารถเอาขี้หูออกได้ เนื่องจากขี้หูอัดกันแน่นมาก หรือเอาออกได้เพียงบางส่วน แพทย์จะสั่งยาละลายขี้หูให้ไปหยอด เช่น โซเดียมคาร์บอเนต (Sodium carbonate) ซึ่งหลังจากหยอดหูครั้งแรก จะทำให้ขี้หูในช่องหู ขยายตัว และอุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น ทำให้หูอื้อมากขึ้น ควรหยอดบ่อยๆ ยิ่งบ่อย ยิ่งดี (วันละ 7-8 ครั้ง) จะทำให้ขี้หูอ่อนตัวมากขึ้น และเอาออกได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ผู้ป่วยไปหยอดยาละลายขี้หูประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วนัดมาดูอีกครั้ง ผู้ป่วยไม่ควรที่จะลืมหยอดหูในวันที่แพทย์นัด เพราะอาจทำให้ขี้หูแห้ง และเอาออกยาก
  • *หลังจากแพทย์เอาขี้หูออก จนบรรเทาอาการผิดปกติของหูแล้ว ควรป้องกันไม่ให้ขี้หูอุดตันอีกโดย
    • ไม่ใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาดหู หรือปั่นหูอีก
    • ถ้าน้ำเข้าหู ทำให้รู้สึกรำคาญจนต้องปั่น หรือเช็ดหู ควรป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหูจะดีกว่า เช่น ที่อุดหูสำหรับนักดำน้ำ ซึ่งมีขายตามร้านกีฬา มาอุดหูเวลาอาบน้ำ หรือผู้หญิงที่สวมหมวกอาบน้ำ ควรดึงหมวกให้มาคลุมใบหู เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู
  • อาจใช้ยาละลายขี้หู หยอดในหูเป็นประจำ เพื่อทำการล้างขี้หู อาจใช้เพียง อาทิตย์ละครั้ง ถ้าไม่มีปัญหา อาจห่างออกไป เป็น 2 หรือ 3 หรือ 4 อาทิตย์ หยอด 1 ครั้ง ก็จะช่วยลดการอุดตันของขี้หู ในช่องหูชั้นนอกได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้ ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก ก่อนเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Christian JM. Odontogenic infections. In: Cummiongs CW, Flint PW, Haughey BH, et al. Otolaryngology: Head & Neck Surgery. 5th ed. Philadelphia, Pa: Mosby Elsevier;2010: chap 12.
  2. Scott A, Stiernberg N, Driscoll. Deep Neck Space Infections; Bailey Head & Neck Surgery– Otolaryngology. 1998, Lippincot-Raven Cap. 58: 819-35.
  3. https://www.mountsinai.org/health-library/injury/ear-emergencies [2022,Aug20]