แก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

แก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum) คือ การเกิดรูทะลุของแก้วหู โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หูน้ำหนวก (หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง), การบาดเจ็บต่อแก้วหู(เช่น จากการแคะหู), หูได้รับเสียงดังมาก (เช่น เสียงระเบิด), การเปลี่ยนแปลงความดันอากาศที่รุนแรง (เช่น ขณะเครื่องบินลดความสูงเพื่อลงจอด),  ซึ่งอาการหลักของแก้วหูทะลุ คือ หูลดการได้ยินถึงหูหนวก, หูอื้อ, วิงเวียนศีรษะ/บ้านหมุน, มีสารคัดหลั่งออกจากหู, และอาจเกิดเพียงข้างเดียว หรือ2ข้าง ขึ้นกับสาเหตุ

แก้วหูทะลุ พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบได้เรื่อยๆ แต่ไม่มีรายงานสถิติเกิดที่ชัดเจน เพราะผู้ป่วยมักไม่มาพบแพทย์หูคอจมูก  ภาวะนี้พบทุกเพศ และทุกวัย

อนึ่ง: ชื่ออื่นของแก้วหูทะลุ เช่น Eardrum perforation, Tympanic membrane perforation

กายวิภาคและสรีรวิทยาของหู:

หู (Ear): เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ 2 ประการ คือ

  • การได้ยินหรือการรับฟังเสียง (Phonoreceptor)
  • และการทรงตัวของร่างกาย (Statoreceptor)

หู: แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ

ก. หูชั้นนอก: คือส่วนของหูที่อยู่ด้านนอกต่อแก้วหู  ประกอบด้วย

  • ใบหู: (Auricle หรือ Pinna): มีหน้าที่ในการรวบรวมคลื่นเสียงที่มาจากที่ต่างๆส่งเข้าสู่รูหู
  • ช่องหูชั้นนอก/รูหู (External auditory canal): เป็นส่วนที่อยู่ถัดใบหูเข้ามาจนถึงแก้วหู ทำหน้าที่เป็นทางเดินของคลื่นเสียงเข้าสู่หูส่วนกลาง, รวมทั้งในรูหูยังมีขนและต่อมสร้างขี้หู ทำหน้าที่สร้างขี้หูไว้ดักฝุ่นละอองหรือสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปลึกในรูหู
  • แก้วหู หรือบางท่านเรียกว่า เยื่อแก้วหู (Tympanic membrane หรือ Eardrum): มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-10 มม.  ปิดกั้นแยกระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง  ทำหน้าที่สั่นสะเทือนเมื่อมีเสียงมากระทบ และแยกคลื่นเสียงที่แตกต่างกันได้ แล้วส่งผ่านคลื่นเสียงไปยังกระดูกหูในหูชั้นกลาง

ข. หูชั้นกลาง: เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากแก้วหูเข้ามา, ภายในหูชั้นกลางประกอบด้วย กระดูกขนาดเล็กมากๆ 3 ชิ้น คือ กระดูกรูปค้อน (Malleus), กระดูกรูปทั่ง (Incus, แท่งเหล็กสำหรับใช้รองรับในการตีโลหะบางชนิดเช่น ตีเหล็ก), และกระดูกรูปโกลน (Stapes, ห่วงที่ห้อยลงมาจากอานม้า) เรียงตามลำดับจากด้านนอกเข้าสู่ด้านใน,  มีหน้าที่ในการขยายการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงให้มากขึ้น แล้วส่งต่อการสั่นสะเทือนเข้าสู่ประสาทหูส่วนใน, และหูชั้นในส่งต่อไปยังสมองเพื่อแปลเป็นการได้ยิน  the  

หูชั้นกลาง มีการติดต่อกับท่อปรับความดันอากาศระหว่างหูชั้นกลางกับภายนอกร่างกาย/ความดันอากาศในลำคอ เรียกว่า ท่อยูสเทเชียน (Eustachian tube) ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อกลวงขนาดเล็ก(ยาวประมาณ 35 มม., เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มม.) เชื่อมติดต่อระหว่างภายในลำคอ/คอหอยกับหูชั้นกลาง มีหน้าที่ปรับความดันอากาศภายในหูให้ภายในหูมีความดันอากาศเท่ากับความดันภายนอก, เพราะถ้าหากระดับความดันของทั้งสองแห่งไม่เท่ากัน จะมีผลทำให้รู้สึกหูอื้อ และถ้าเกิดความแตกต่างมากจะทำให้รู้สึกปวดหูได้

ค.  หูชั้นใน: ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

  • ท่อขดก้นหอย หรือคอเคลีย (Cochlea): ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน คือ รับคลื่นเสียงจากหูชั้นกลาง แล้วส่งต่อทางเส้นประสาทหูชั้นในเข้าไปแปลความหมายที่สมอง
  • เนื้อเยื่อเกี่ยวกับการทรงตัว เรียกว่า ‘เวสทิบิวล่าร์แอพพาราตัส (Vestibular apparatus)’  ทำหน้าที่ช่วยในการทรงตัว

แก้วหูทะลุเกิดได้อย่างไร?

แก้วหู: เป็นเนื้อเยื่อบางๆ กั้นระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง แก้วหูทะลุมักเกิดจาก

  • การแคะหู เขี่ยหู
  • การพยายามนำสิ่งแปลกปลอมออกจากหู
  • การบาดเจ็บจากแรงกระแทกที่หู เช่น การตบหู ซึ่งทำให้มีการเพิ่มของความดันภายในช่องหูชั้นนอก
  • การบาดเจ็บที่กะโหลกศีรษะ ทำให้กระดูกบริเวณหลังหูหัก  
  • การได้ยินเสียงดังจากวัตถุระเบิดหรือประทัดที่อยู่ใกล้ๆ
  • และการมีความดันภายนอกหูที่สูงเกินไปจากสาเหตุต่างๆ เช่น ในการดำน้ำ เป็นต้น

นอกจากนั้น อีกสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ

  • เกิดตามหลังการติดเชื้อในหูชั้นกลาง โดยเกิดในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในหูชั้นกลางเรื้อรัง(หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง/หูน้ำหนวก) หรือรักษาไม่ดี ทำให้หนองในช่องหูชั้นกลางมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความดันในหูชั้นกลางสูงขึ้นจนดันให้แก้วหูทะลุตามมา

อนึ่ง: 

  • การทะลุของแก้วหู ทำให้การได้ยินเสียงลดลง และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่หูชั้นกลาง
  • โดยทั่วไป แก้วหูจะรักษาตัวเองให้หายได้ภายใน 2 - 3 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจจำเป็นต้องผ่าตัดรักษา

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้แก้วหูทะลุ?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแก้วหูทะลุ: เช่น  

  • การกระทบกระแทกต่างๆที่รุนแรงในบริเวณหูและ/หรือบริเวณศีรษะ
  • เกิดตามหลังหูติดเชื้อ: ที่ทำให้แก้วหูอักเสบติดเชื้อจนเกิดการฉีกขาดของแก้วหู/ แก้วหูทะลุ,  ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดปกติในการได้ยิน และอาจมีน้ำ, น้ำเหลือง, หรือเลือดไหลออกมาจากหูได้

อนึ่ง: รูทะลุของแก้วหู:

  • ถ้าอยู่ที่ขอบของแก้วหู มีโอกาสเกิดเป็นโรคหูร้ายแรงชนิดที่ทำให้เกิดมีเนื้อเยื่อหูชั้นนอกเข้าไปอยู่ในหูชั้นกลางได้ เรียกว่า โรคคอเลสทีอะโทมา (Cholesteatoma)
  • ถ้าแก้วหูทะลุบริเวณส่วนบนของแก้วหู บริเวณที่อยู่ของข้อต่อกระดูกค้อนและทั่ง (Attic perforation) ซึ่งบริเวณนั้นจะมีช่องต่อไปยังโพรงอากาศหลังหู, เป็นแก้วหูทะลุที่เป็นอันตรายเพราะอาจเกิดเป็นโรคหูร้ายแรงคอเลสทีอะโทมาในโพรงอากาศหลังหูได้, และหากมีการติดเชื้อ อาจมีการลุกลามเข้าไปในสมองได้ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

แก้วหูทะลุมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยที่มีแก้วหูทะลุจากการบาดเจ็บ มักมีอาการหูอื้อ, มีเสียงดังในหู, ปวดหู, อาจมีเลือดออกจากช่องหู

รอยทะลุบนแก้วหูที่เกิดจากการบาดเจ็บ  มักพบเป็นรูปรีๆ หรือแตกออกเป็นหลายแฉกคล้ายรูปดาว  ขอบไม่เรียบ  และมักมีเลือดคั่งอยู่บริเวณขอบของรอยทะลุหรือภายในช่องหู ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นภายในหูชั้นกลางและชั้นใน

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีแก้วหูทะลุมีอาการ: เช่น

  • มีการได้ยินที่ผิดปกติไป คือ ได้ยินเสียงเบาลง
  • ถ้าเบ่งออกแรง เช่น ตอนสั่งน้ำมูก จะรู้สึกว่ามีลมออกมาจากในหู, เกิดจากตอนเบ่งจะมีลมจากในจมูกผ่านออกมาทาง’ท่อยูสเตเชียน’มาถึงหูชั้นกลาง จากนั้นลมจะผ่านแก้วหูที่ทะลุออกมาภายนอกหูได้
  • ในรายที่เกิดจากการกระทบกระแทก เช่น หลังปั่นหู อาจมีเลือดไหลออกมาจากหูได้
  • ถ้ามีการติดเชื้อในหูชั้นกลางแทรกซ้อน จะทำให้ผู้ป่วยมีน้ำ หรือ น้ำเหลือง หรือ หนอง ไหลออกมาจากหู
  • ผู้ป่วยมักไม่มีอาการปวดหู ยกเว้นเกิดตามหลังการกระทบกระแทกอย่างเฉียบพลัน

แพทย์วินิจฉัยแก้วหูทะลุได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยแก้วหูทะลุได้โดย

ก. ภาวะแก้วหูทะลุ: สามารถวินิจฉัยได้ง่ายจากการตรวจทางหูคอจมูกด้วยเครื่องตรวจหู (Otoscope), แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีหนองหรือขี้หูในหูชั้นนอกมากจนทำให้แพทย์ไม่สามารถมองเห็นแก้วหูได้ชัดเจน แพทย์อาจมีความจำเป็นต้องให้หยอดยาละลายขี้หูก่อน, หรือใช้เครื่องมือเข้าไปดูดเอาหนองหรือขี้หูออกให้สะอาด เพื่อจะได้มองเห็นแก้วหูได้ชัดเจน

ข. ตรวจการได้ยิน: ผู้ป่วยแก้วหูทะลุจะมีการสูญเสียการได้ยินรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของรูทะลุที่แก้วหู

แก้วหูทะลุมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากแก้วหูทะลุ เช่น

  • สูญเสียการได้ยิน: จนกระทั่งการฉีกขาดนั้นจะถูกรักษา, ขนาดและตำแหน่งของ การฉีกขาดจะส่งผลต่อระดับของการสูญเสียการได้ยิน
  • การติดเชื้อในหูชั้นกลาง: หากมีการติดเชื้อเนื่องจากการฉีกขาดไม่ได้รับการรักษา และไม่หาย การติดเชื้อจะเรื้อรังต่อไปและอาจทำให้สูญเสียการได้ยินถาวร
  • โรคหูรุนแรงที่เรียกว่าโรคคอเลสทีอะโทมา: คือถุงน้ำในหูชั้นกลางซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์ผิวหนัง, ขี้หู, และเศษซากต่างๆที่ควรออกมายังหูชั้นนอกกลายเป็นขี้หู,  แต่ถ้ามีการฉีกขาดของแก้วหู จะทำให้เศษซากนี้เคลื่อนเข้าไปที่หูชั้นกลาง และเกิดเป็นถุงน้ำซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อ, และทำลายกระดูกในหูชั้นกลางต่อไป

แก้วหูทะลุมีวิธีรักษาอย่างไร?

โดยทั่วไป การรักษาแก้วหูทะลุขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดแก้วหูทะลุ  เช่น

ก. แก้วหูทะลุจากการกระทบกระแทก (Traumatic tympanic membrane perforations): ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสที่แก้วหูที่ขาดทะลุจะกลับมาติดกันได้เองสูงมาก จึงมักไม่จำเป็นต้องผ่าตัดซ่อมแซม คือ จากข้อมูลพบว่า แก้วหูที่ขาดจะกลับมาติดกันได้เองภายในเวลา ประมาณ 1 เดือนได้ประมาณ 68% ของผู้ป่วย, และที่เวลา 3 เดือน พบว่าประมาณ 94% ของผู้ป่วยมีแก้วหูกลับมาเป็นปกติ  

แต่ในระหว่างรอเวลาให้แก้วหูซ่อมแซมตัวเอง ผู้ป่วยต้อง

  • รักษาหูให้แห้งอยู่เสมอ
  • ห้ามไม่ให้น้ำเข้าไปในหูข้างนั้นเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา
  • ห้ามว่ายน้ำ และ
  • เวลาอาบน้ำ ต้องใช้โฟมอุดในหูชั้นนอกเพื่อไม่ให้น้ำเข้าหู

ข. แก้วหูทะลุที่เกิดตามหลังการติดเชื้อในหูชั้นกลาง: ผู้ป่วยกลุ่มนี้แก้วหูทะลุมีสิ่งสกปรกหรือ มีการติดเชื้อในหูชั้นนอก/หูชั้นกลาง เช่น ใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดแคะหู หรือแก้วหูทะลุแล้วมีน้ำสกปรกเข้าหู

กรณีนี้ แพทย์ต้องพยายามนำสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในช่องหูชั้นนอกและหูชั้นกลางออกให้มากที่สุด,  แล้วให้ยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน และชนิดหยอดหูเป็นระยะเวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์, หลังจากนั้นอาจรอให้แก้วหูปิดเองซึ่งมักเป็นระยะเวลาประมาณ 4 - 6 สัปดาห์

ค. การผ่าตัดปะแก้วหู: กลุ่มนี้แก้วหูทะลุมักไม่สามารถหายได้เอง มักต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเอาเยื่อมาปิดบริเวณแก้วหูที่ทะลุ, หรือแพทย์อาจปลูกแก้วหู โดยจี้แก้วหูด้วยสารเคมีเพื่อกระตุ้นให้เซลล์แก้วหูงอก แล้วปะด้วยกระดาษบางๆก่อน,  แต่ถ้ารูทะลุไม่สามารถปิดเองได้ด้วยวิธีนี้ จึงพิจารณาทำการผ่าตัดปะแก้วหูต่อไป

แก้วหูทะลุรักษาหายไหม?

แก้วหูทะลุรักษาให้หายได้ โดยขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้แก้วหูทะลุ:

  • ถ้าเกิดจากการฉีกขาดเพราะแคะหูหรือถูกตบหู อาจหายเองได้รวดเร็ว
  • แต่ถ้าเกิดจากหูน้ำหนวกซึ่งมีการติดเชื้อของหูชั้นกลาง ก็ต้องรักษาการติดเชื้อให้หายก่อน และ
  • กรณีแก้วหูทะลุเพราะเป็นโรคภูมิแพ้/ โรคภูมิแพ้หูคอจมูก ก็ต้องควบคุมโรคภูมิแพ้ฯให้ปราศจากอาการก่อน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อแก้วหูทะลุ?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการดังกล่าว และสงสัยว่ามีแก้วหูทะลุ ควรปฏิบัติดังนี้ เช่น

  • ไม่ควรทำความสะอาดภายในช่องหูด้วยตนเองรวมทั้งการใช้ไม้แคะหูหรือไม้พันสำลี (Cotton bud)
  • ไม่ควรหยอดยาหยอดหูใดๆทั้งสิ้น
  • ห้ามน้ำเข้าหูเด็ดขาด
  • รีบพบแพทย์/แพทย์หูคอจมูก เพื่อการวินิจฉัยรักษาและการดูแลหูที่เหมาะสม

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การพบแพทย์/มาโรงพยาบาล:

  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดถ้ามีอาการแก้วหูทะลุดังกล่าวข้างต้น
  • และกรณีมีเลือดออกจากช่องหู,  หูอื้อ, และ/หรือการรับเสียง/การได้ยินบกพร่อง  ควรรีบมาโรงพยาบาลพบแพทย์หูคอจมูกฉุกเฉินหรือภายใน 24 ชั่วโมง

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK557887/  [2022,Dec10]
  2. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ruptured-eardrum/symptoms-causes/syc-20351879  [2022,Dec10]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/858558-overview#showall   [2022,Dec10]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Perforated_eardrum   [2022,Dec10]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/858684-overview#showall  [2022,Dec10]